จับตา: คาด 'ธุรกิจโรงพยาบาล' ปี 2563 เติบโตชะลอลงเหลือแค่ 3-6%

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 ม.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3656 ครั้ง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพรวมกำไรสุทธิของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ) ปี 2563 น่าจะเติบโต 3-6% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2562 โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มคนไข้กำลังซื้อปานกลางถึงสูง สาเหตุหลักมาจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยจำนวนคู่แข่งทยอยเพิ่มขึ้น แต่คนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม | ที่มาภาพประกอบ: DarkoStojanovic (CC0)

เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ ซึ่งประเมินว่าในปี 2563 ภาพรวมกำไรสุทธิของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ) น่าจะเติบโต 3-6% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2562 โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มคนไข้กำลังซื้อปานกลางถึงสูง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยจำนวนคู่แข่งทยอยเพิ่มขึ้น แต่คนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม จึงกดดันการเติบโตของรายได้ให้ชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ยังคงมีต่อเนื่องจากการปรับตัวของผู้ประกอบการ เช่น ค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการแพทย์ การลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและบริการเฉพาะทางที่สร้างความแตกต่าง หรือแม้แต่การเสนอส่วนลดสำหรับคนไข้บางกลุ่ม

อย่างไรก็ดี มองว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งน่าจะยังมีกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2563 โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ในทำเลที่ยังไม่มีคู่แข่ง และเน้นเจาะกลุ่มคนไข้ที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลของรัฐ ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว คนไข้ที่ไม่มีประกันสุขภาพเอกชนและต้องจ่ายเงินสด น่าจะหันมาเลือกใช้บริการผ่านสิทธิของรัฐมากขึ้น และหากในปี 2563 มีการปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลต่อหัวของประกันสังคม ก็น่าจะช่วยหนุนรายได้และทำให้กำไรของธุรกิจโรงพยาบาลกลุ่มนี้ยังคงเพิ่มขึ้น

ในระยะข้างหน้า เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการสร้างรายได้และทำกำไรของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกจากจะมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนด้านต่างๆ รวมถึงการรักษาคุณภาพของการให้บริการแล้ว ผู้ประกอบการควรปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ามาเสริมนอกเหนือไปจากรายได้หลักที่เป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งธุรกิจในกลุ่ม Non-hospital เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น

ทั้งนี้ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จัดเป็นธุรกิจที่มีอัตราการขยายตัวของรายได้เป็นตัวเลข 2 หลักมาอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10.0% ต่อปี (CAGR ปี 2556-2561) ขณะที่กำไรสุทธิของธุรกิจเติบโตเฉลี่ย 10.7% ต่อปี (CAGR ปี 2556-2561) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากค่ารักษาพยาบาลที่ปรับสูงขึ้นตามการรักษา ความซับซ้อนของโรคและเทคโนโลยีที่ใช้ และการขยายการลงทุนโรงพยาบาลเอกชนแห่งใหม่ ขณะที่กลุ่มคนไข้ต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) และกลุ่มคนไข้คนไทยที่เป็นกลุ่มประกันสุขภาพเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางขึ้นบน ถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

อย่างไรก็ดี ทั้งรายได้และความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นถึงการเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะมาตรการควบคุมราคาสินค้ายา เวชภัณฑ์และการบริการทางการแพทย์ ที่น่าจะกดดันการทำกำไรของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแตกต่างกันไปในแต่ละราย แม้ว่าในมุมหนึ่ง มาตรการฯ ดังกล่าว จะอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ในเรื่องของการรับรู้ข้อมูลหรือเปรียบเทียบราคายา และสามารถตัดสินใจซื้อยาเองนอกโรงพยาบาลได้ หากพบว่ามีราคาที่ถูกกว่า แต่ในอีกมุมหนึ่งของธุรกิจ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นรายได้จากค่ายาราวร้อยละ 36 ของรายได้ทั้งหมด ดังนั้น ผลจากมาตรการฯ ดังกล่าว อาจจะกดดันการทำกำไรของกลุ่มผู้ประกอบการในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการประเมินผลกระทบเบื้องต้น พบว่า ผลจากมาตรการควบคุมราคายา น่าจะทำให้รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนโดยรวมเฉลี่ยลดลงราวร้อยละ 1.0-2.0 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ ควบคุม และเป็นไปได้ว่า ผลกระทบดังกล่าวอาจจะเพิ่มขึ้นหากกรมการค้าภายในมีการขยายการควบคุมราคาไปยังสินค้าและบริการทางการแพทย์อื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งอาจจะต้องติดตามประเด็นดังกล่าวต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: