10 หนังสือวรรณกรรม ที่ตัวละครเอก เป็นคนสูงวัย

We Are Young | 18 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 5419 ครั้ง


อย่างที่การ์เบรียล การ์เซีย มาเกซ เคยหล่นบางประโยคไว้ว่า ความแก่ชราไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณจะอายุมากน้อยแค่ไหน แต่อยู่ที่ความรู้สึกของคุณว่าจะรู้สึกแก่ไปมากเท่าไหร่ ในโลกของวรรณกรรมก็เป็นอีกพื้นที่แสดงให้เห็นว่า ความชราบางทีไม่ได้เป็นตัวชี้วัดสังขารหรือความแก่เฒ่าแต่อย่างใด บางทีขวบปีที่มากขึ้น นั่นหมายถึงความสุขุมมองอะไรรอบด้าน ด้วยผ่านพบประสบการณ์ชีวิตมากมาย

มากกว่านั้นด้วยชีวิตที่ต่างคนต่างเผชิญ บ้างแหว่งหวิ่น บ้างประสบความสำเร็จ และอีกบ้างที่อยู่กึ่งกลางในลักษณาการ ‘ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฎ’ แต่ทั้งหมดคืออุทาหรณ์ที่คอยย้ำเตือนเรื่องราวให้คนรุ่นหลังเพ่งมองไปใน ‘แบบ’ แต่ละรูปรอยที่พวกเขากำลังผลิตสร้างตัวตน
และนี่คือตัวอย่าง 10 หนังสือวรรณกรรม ที่ให้ตัวละครเอก เป็นคนสูงวัย

1. The Old man and the Sea

อมตะนวนิยาย จากเออเนสต์ เฮมิงเวย์ ที่สั่นสะเทือนอารมณ์นักอ่านวรรณกรรมทั่วโลก ตั้งแต่เฒ่าทะเลทอดสมอล่องเรืออย่างเชื่องช้าสู่มหาสมุทร น่านน้ำวรรณกรรมโลกก็เหมือนจะเปิดพรมแดนถึงกันไปด้วย

ริมชายฝั่งแห่งหนึ่งในประเทศคิวบา ซานติเอโก ชายชรา ออกไปหาปลาแต่ก็ไม่สามารถจับปลามาได้ในช่วง 84 วัน โดยพบมิตรต่างวัยเป็นเด็กชายคนหนึ่งผ้มีความฝันจะทำอะไรบางอย่างแบบคนหนุ่ม

“มาโนลิน” เสนอตัวเป็นแรงงานหาปลากับเขา แต่เมื่อเวลาผ่านไปภารกิจของทั้งสองก็ยังไม่สำเร็จ กระทั่งพ่อแม่ของเด็กหนุ่มตัดสินใจให้ไปหางานอื่นทำแทน เมื่อมาโนลินกลับมาขอช่วยงานมิตรสูงวัยอีกครั้งก็ถูกปฏิเสธก่อนจะได้รับการยินยอมครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งสุดท้าย ซานติเอโกขอพิสูจน์ตนเองด้วยการออกหาปลาตามลำพัง ในเบื้องต้นเขาจับได้แต่ปลาตัวเล็ก ทว่าในที่สุดเขาก็ได้พบกับ ปลามาร์ลินขนาดยักษ์และมีความฉลาดเป็นพิเศษ เมื่อปลาติดเบ็ดแล้ว ปลากลับเป็นฝ่ายลากเรือไปเสียเอง ทำให้ชายเฒ่าเริ่มนึกถึงมาโนลิน

ซานติเอโกสู้กับปลายักษ์ตัวนี้ข้ามคืนถึงสามวัน ก่อนเข้าฝั่งมามือเปล่า แต่สิ่งที่เขาได้ค้นพบนั้น กลายเป็นสมบัติล้ำค่า อย่างน้อยๆ นักอ่านจำนวนมากก็เอาใจช่วยซานติเอโกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ภายใต้ประโยคสุดคลาสสิค .. “มนุษย์ถูกทำลายได้ แต่พ่ายแพ้ไม่ได้”

วรรณกรรมชื้นนี้ จะว่าเป็นภาวะ Comming Of age ก็ได้ แต่เป็นการค้นพบในวัยวันที่ใบไม้แห่งชีวิตผลัดใบใกล้ร่วงโรย ท้ายที่สุดทุกอย่างที่พบเจอ ก็ต้องผ่านพ้นไป ราวกับช่วงชีวิตที่ต้องปลิดปลิวลิ่วไป ไม่หวนกลับมา

“เฒ่าผจญทะเล” ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศทั่วโลก และแปลเป็นภาษาไทยอีกหลายสำนวน เป็นผลงานที่ส่งผลให้เฮมิงเวย์ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลพูลิตเซอร์ ในปี 1953 ก่อนได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในภายหลัง

2. ชายร้อยปีผู้ปีนออกทางหน้าต่างแล้วหายตัวไป

“การแก้แค้นไม่ใช่เรื่องดี
การแก้แค้นก็เหมือนการเมือง เรื่องหนึ่งจะนำไปสู่อีกเรื่อง จากความเลวกลายเป็นความชั่วร้าย และจากความชั่วร้ายเป็นเรื่องวายป่วง”

ในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 100 ปีของอัลลัน คาร์ลซอน ที่สถานดูแลคนชราแห่งหนึ่ง เจ้าของวันเกิดตัดสินใจปีนออกนอกหน้าต่าง แล้วหายลับไปออกผจญภัยสุดประหลาดล้ำเหนือจริง โดยตัดสลับกับเหตุการณ์ในอดีตของชายชราผู้นี้ ราวกับคนสูงอายุที่มักย้อนเล่าถึงภาพหลังและความทรงจำสุดเก่าเก็บ การเดินทางครั้งนี้เผยอดีตของ อัลลัน คราวที่มีส่วนร่วมในการสร้างระเบิดปรมาณู เป็นสหายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าพบจอมเผด็จการรัสเซียกับผู้นำจีนและข้องเกี่ยวอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของศตวรรษที่ 20

การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนได้ท่องไปกับประวัติศาสตร์โลก พร้อมกับคุณตาข้างบ้านที่มาเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ฟัง บางทีก็พนักหน้าเห็นด้วยว่าอันนี้เคยอ่านเจอมาในตำรา บางทีก็ขมวดคิ้วว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า

“คนเราอยากทำอะไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ โดยวิสัยปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องหงุดหงิดพลุ่งพล่าน หากมีโอกาสที่จะไม่ต้องรู้สึกอย่างนั้น” ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปชายร้อยปีผู้ปีนออกทางหน้าต่างแล้วหายตัวไป

3. เวลา

วรรณกรรมจาก ชาติ กอบจิตติ นักเขียนซีไรต์ 2 สมัย ของประเทศไทย เล่าถึงผู้ป่วยสูงอายุติดเตียง ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งชาติ กอบจิตติใช้กลวิธีการเขียนแบบละครเวทีกำกับการเล่าเรื่อง ก่อนลงมือเขียนอย่างมองโลกในแง่จริง 

สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามสะท้อนคือ เราอาจหลงลืมบางอย่าง โดยเฉพาะคนที่อยู่ข้างหลัง และอยู่ห่างไกลออกไปในความรู้สึกทุกที เช่น ญาติผู้สูงอายุในบ้าน อย่างที่ใครหล่นประโยคนี้ไว้  “เวลา” ทำให้อดคิดถึงยายย่าของตัวเองไม่ได้ โชคดีที่เราไม่ได้มองเห็นย่ายายตัวเองเป็นภาระ ทุกวันนี้มีผู้สูงอายุหลายคนทำงานหนัก นั่นเป็นเพราะสิ่งสำคัญนอกจากชีวิตจะแวดล้อมไปด้วยลูกหลานที่รักแล้ว คือการทำตัวให้มีคุณค่า ผู้สูงอายุที่ทำงานหนักจนตัวตายอาจจะไม่ได้ทำเพื่อเลี้ยงปากท้องเพียงอย่างเดียว แต่ความสุขที่สุดนั้นคือการที่สังคมยอมรับและเห็นคุณค่าแม้วันที่ทำหน้าที่ไม่ได้แล้ว

“ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรจริง ๆ” ไม่มีหญิง ไม่มีชาย โลกนี้มีแต่ความว่างเปล่า เช่นเดียวกับเวลา ที่ล่วงผ่านไปในหน้าฉากนวนิยายเล่มนี้

4.โอล์แมนวอร์  

“ผมทำอยู่สองอย่างในวันเกิดปีที่เจ็ดสิบห้า
คือไปเยี่ยมหลุมศพภรรยากับสมัครเป็นทหาร”

หนังสือชุด 6 เล่ม ที่พาเราไปสู่อนาคต ขณะอ่านเหมือนดูซีรี่ย์ใน Netflix ดีๆสักเรื่อง พลอตหลักของเรื่องเล่าถึง อาณาเขตของมนุษย์ที่ไปไกลเกินกว่าวงโคจรระบบสุริยจักรวาล และเริ่มชิดเชื้อกับมนุษย์ต่างดาว กองกำลังป้องกันอาณานิคมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่เผอิญกองกำลังป้องกันอาณานิคม ไม่ใช่คนหนุ่มสาว หากเต็มไปด้วยคนแก่อายุ 75 ปีขึ้นไป เท่านั้น ด้วยเพราะข้อบังคับของโลกอนาคตคือ เมื่อคุณอายุ 75 ปี คุณจะมีทางเลือก หนึ่งแก่ไปอย่างนั้น รอตายไปเรื่อยๆ ใช้ชีวิตมีความสุขกับครอบครัว ลูกหลาน ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง ที่สั่งสมมาตั้งแต่หนุ่ม หรือสอง ทิ้งมันทุกอย่าง และมาเป็นทหารเกณฑ์อวกาศ ร่วมปกป้องอาณานิคมจากชนต่างดาว 

ตัวละครสำคัญ จอห์น เพอร์รี่ ชายแก่ที่เมียตาย ลูกชายคนเดียวประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว ตัดสินใจในวันเกิดอายุ 75 ปีอย่างไม่ต้องคิดย้อนซ้ำสอง เขาเดินทางไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์และมุ่งหน้าสู่จักรวาลโดยทิ้งโลก ครอบครัวไว้เบื้องหลัง แม้จะไม่มีความกระจ่างอะไรมากมายนักกับทางที่เขาเลือก แต่เขาก็ไม่คิดจะย้อนกลับ และเรื่องราวมหากาพย์ก็เริ่มขึ้นอีกครั้งในวัยที่ เราเริ่มสงสัยว่าตัวละครเอกเราอายุไม่น้อยไปหน่อยเหรอ แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผู้อ่านต้องไปพิสูจน์กันเองนะ

5.ชายชราผู้อ่านนิยายรัก

“แกอ่านหนังสือออก เป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต แกอ่านหนังสือออก แกเป็นผู้ครอบครองยาถอนพิษร้ายแห่งความชรา แกอ่านหนังสือออก แต่แกไม่มีอะไรจะอ่าน หนังสือเกี่ยวกับความรัก มันเป็นยังไงล่ะ”

งานจากหลุยส์ เซปุล์เบดา นักเขียนอาวุโส ผู้ที่เพิ่งเสียชีวิตจากไวรัส โควิด -19 ในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อันนำความเศร้าโศกมาสู่แวดวงวรรณกรรมทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ สำหรับ ‘ชายชราผู้อ่านนิยายรัก’ นักเขียนสร้าง อันโตนิโอ โฆเซ่ โบริบาร์ โปรอานโญ เป็นภาพแทนชายชราทระนงคนหนึ่ง ในฉากยุคบุกเบิกป่าแอมะซอน ซึ่งดูจะแยกส่วนกับชื่อของนิยายนี้ออกไปเลย แต่สิ่งที่หลุยส์ เซปุล์เบดา เล่าออกมาคือการใช้ปรัชญาประโลมใจแทรกซึมไปกับมนุษย์ที่พันผูกกับธรรมชาติ และความรัก

6.ราชินีนักอ่าน

“เราอ่าน เราคิด เพราะเรามีหน้าที่ที่จะต้องรู้ให้ได้ว่าผู้คนเป็นอย่างไร”
เรื่องราวของควีนอลิซาเบธที่สอง แห่งสหราชอาณาจักร ที่พระองค์กลับกลายเป็นนักอ่านในวัยไม้ใกล้ฝั่ง เพียงเพราะบังเอิญไปเจอกับห้องสมุดเคลื่อนที่แห่งหนึ่งชิดใกล้วังวินเซอร์ ห้องสมุดที่แทบไม่มีความหมายแล้ว แต่กลับฟื้นตื่นอีกครั้งเพียงเพราะหวังเฝ้ารอนักอ่านกิตติมศักดิ์ผู้หนึ่ง

ว่าด้วยราชินีนักอ่าน แม้ผู้เขียน อลัน เบนเน็ตต์ ใช้ชื่อว่า The Uncommon Reader แต่เรื่องราวในเล่มก็เป็นไปเพียงเพื่อจะบอกว่า การอ่านหนังสือนั้นไม่มีชนชั้น การเข้าถึงและกำซาบรสวรรณกรรมนั้น เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ต่อให้มีศักดินาสูงส่งแค่ไหน หากคุณไม่เปิดใจให้การอ่านหนังสือเล่มนั้นๆ เรื่องราวและสิ่งที่เป็นไปในหน้ากระดาษก็จะปิดลับสำหรับคุณไปตลอดกาล

การได้เห็นแง่งามของสิ่งที่เคยมองข้ามไปจากการอ่านอีกครั้ง ทำให้ราชินีที่ค่อยๆจำแลงเป็นราชินีนักอ่าน มีพฤติกรรมที่ค่อยๆแปรเปลี่ยน และคัดง้างกับจารีตปฏิบัติของการวางตัวตามราชประเพณี โดยเฉพาะการเป็นประมุขของอดีตเจ้าอาณานิคมดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน พระองค์อาจจะทำกิจกรรมหลากหลายอย่าง ทั้งขี่ม้าโปโล ร้องเพลง หรือมีปฏิสันถารกับประชาชน แต่พระองค์ไม่อาจมีกิจกรรมทรงโปรดได้ ?

7.คดีดาบลาวยาวแดง

นิยายสืบสวนที่ตั้งชื่อมาจากปลาชนิดหนึ่ง โดยนักเขียนภานุ ตรัยเวช อดีตแฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมเยาวชน เรื่องนี้ให้ตัวละครเป็นชายชราที่เท่มาก เพราะนอกจากเป็นนักสีไวโอลินแล้ว ยังมีความสามารถรอบด้าน ยิ่งกับการไขปริศนาคดีความคดีหนึ่ง ที่สั่นสะเทือนต่อแวดวงสังคมชั้นสูงและบางเสี้ยวฉากการเมืองไทยหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไม่นาน

8.มือสมัครเล่น

รวมเรื่องสั้นจากเรมอนด์ คาร์เวอร์ ที่ประเด็นส่วนใหญ่เป็นไปในทางชีวิตสุดแสนชำรุดของผู้ชายวัยกลางคน ค่อนไปทางสูงอายุ เรื่องสั้นเหล่านี้แทบจะเขียนออกมาจากประสบการณ์ตรง นั่นเพราะชีวิตของเรย์มอน คาร์เวอร์ มีปัญหาทางด้านรายได้ครอบครัวพ่วงกับติดเหล้าเป็นแอลกอฮอลลิซึ่ม ส่งผลให้ชีวิตเขายุ่งเหยิงชำรุด ไม่แพ้ตัวละครที่ปรากฎในหนังสือของเขา

ไม่รู้ว่าการเขียนฉากและชีวิตในช่วงนั้นออกมาจะช่วยเยียวยาอะไรเขาได้บ้างหรือไม่ แต่มันทำหน้าที่เป็นสื่อกลางสำหรับคนที่มีจุดร่วมคล้ายคลึงกัน อ่านแล้วเข้าใจชีวิตเบื้องหน้าและเศษเสี้ยวความรู้สึกผิดหวังของใครหลายๆคนได้ดีหากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่อง Birdman ที่ได้แรงบัลดาลใจจากเรื่องสั้นชุดนี้ ก็จะเห็นว่าตัวละครชายสูงวัยมีภาวะแหวิ่งวิ่นและโหยหาความสำเร็จเก่าๆและชีวิตที่เคยดีอยู่ลึกๆ

9.สำนึกของช้าง

ชายชราคนหนึ่งนามว่าปิเอโตร ประวัติดูคลุมเครือลึกลับ เขาเดินทางมาเริ่มงานเป็นผู้ดูแลตึกพักอาศัยแห่งหนึ่งในมิลาน พร้อมกับจักรยานคันเก่าๆหนึ่งคันและกระเป๋าเดินทางซึ่งอัดแน่นด้วยอดีต ไม่นานนัก เราก็ได้เห็นว่าเขาไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ หากมีเหตุผลลึกๆ เป็น’สำนึกของช้าง’ แอบซ่อนอยู่ สำนึกของช้าง ดูเป็นคำที่น่าพิศวงชวนตั้งคำถาม ตั้งแต่แรกเริ่มอ่าน ก่อนเรื่องราวในนิยายเล่มนี้ จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกชาย ความศรัทธา ความผิดบาป ความสำนึกได้ และความรับผิดชอบ  

Marco Missiroli นักเขียนรุ่นใหม่อิตาลี เขียนเรื่องนี้ออกมาได้อย่างสนุก ยิ่งอ่านยิ่งสงสัยในพฤติกรรมตัวละครแบบปิเอโตร ที่ดูกลายเป็นภาพพ่อคนหนึ่งที่เฝ้ามองดูลูกอยู่ห่างๆ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปน่านเนิ่นแค่ไหน เพียงแต่ความใกล้ชิดทางสายเลือดจะทำให้สถานะที่ดูห่างไกลขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้นหรือไม่

10.ชายชื่ออูเว

เรื่องราวของมนุษย์ลุงคนหนึ่ง ที่มองผ่านๆอาจเป็นแค่ปถุชนทั่วไป แต่เรื่องของบุคคลสามัญนี่แหละ ที่ดูจะเป็นสากล และเข้าถึงความรู้สึกกันและกันได้ง่าย

“อูเวเป็นชายวัยห้าสิบเก้าที่ทั้งชีวิตถนัดแค่สามอย่าง ซ่อมรถ ซ่อมบ้าน และรักผู้หญิงคนเดียวตลอดชีวิต

จนวันหนึ่งที่ผู้หญิงคนนั้นตายจากไป และอูเวต้องกลายเป็นคนตกงานเพราะบริษัทมีนโยบาย “ล้างเลือดเก่า” อูเวจึงไม่เหลือเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่อีก”

นิยายเล่มนี้จะเขียนอ่านให้เศร้าก็ซึมลึกไปกับอารมณ์เดียวดายได้ จะอ่านให้ตลกร้ายก็เป็นเรื่องขันขื่น มากกว่านั้นคือบางทีเราอาจหันมาสำรวจคนรอบข้างตัวเองว่า ‘มีชายชื่ออูเว’ อยู่รายรอบเราบ้างหรือไม่

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ We Are Young


 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: