ในวิกฤต COVID-19 ชาวโรฮิงญาจำนวนมากยังต้องลี้ภัยทางเรือ

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1902 ครั้ง

ในวิกฤต COVID-19 ชาวโรฮิงญาจำนวนมากยังต้องลี้ภัยทางเรือ

ท่ามกลางการระบาดของโรคระบาด COVID-19 ชาวโรฮิงญาจำนวนมากยังคงต้องแสวงหาความปลอดภัยด้วยการลี้ภัยทางเรือ

18 เม.ย. 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเริ่มปฏิบัติการตรวจค้นและให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนที่กำลังประสบภัยอยู่กลางทะเลโดยทันที เนื่องจากมีรายงานมากมายที่ระบุว่า เรือเหล่านี้เสี่ยงภัยอันตรายเดินทางเพื่อแสวงหาความปลอดภัย ระบุรัฐบาลในภูมิภาคต่างเคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน และมีช่องทางที่จะช่วยชีวิตพวกเขาได้หากร่วมมือกัน 

วิกฤติด้านมนุษยธรรมครั้งนี้คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในภูมิภาคเมื่อห้าปีก่อน ที่ผ่านมาทางการมาเลเซียผลักดันอย่างเต็มที่ไม่ให้เรือเหล่านี้เข้าฝั่ง และผลักให้ชาวโรฮิงญาที่ต้องการความช่วยเหลือออกจากชายฝั่งไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้ระบุว่าได้ให้ความช่วยเหลือต่อเรือลำใดที่แล่นเข้ามาใกล้ชายฝั่งของตน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้พบเห็นเรือกลางทะเลที่บรรทุกชาวโรฮิงญาหลายพันคนที่ต้องการความช่วยเหลือ และหลบหนีจากการประหัตประหารในเมียนมาหรือค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ พวกเขาต้องการขอลี้ภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลในภูมิภาคให้อนุญาตพวกเขาขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย และขอให้รัฐภาคีของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) ให้ความเห็นชอบต่อมาตรการเร่งด่วนโดยทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรม พร้อมกับปฏิบัติตามมาตรการเพื่อควบคุมโรค COVID-19 ที่มีอยู่ตามแนวพรมแดนประเทศของตน 

แคลร์ อัลแกร์ ผู้อำนวยการอาวุโสแผนกวิจัย รณรงค์กดดันและนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การต่อสู้กับโรค COVID-19 ต้องไม่กลายเป็นข้ออ้างสำหรับรัฐบาลในภูมิภาค ที่จะปล่อยให้ทะเลกลายเป็นสุสานสำหรับชาวโรฮิงญาที่ต้องการความช่วยเหลือ 

“รัฐบาลในภูมิภาคเคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาแล้ว และมีช่องทางที่จะช่วยชีวิตพวกเขา”

 “หากปราศจากความร่วมมือ อาเซียนจะต้องเผชิญกับวิกฤติด้านมนุษยธรรมครั้งใหม่ ในระหว่างที่ต้องต่อสู้กับโรคระบาดระดับโลก เราไม่อาจยอมรับได้ที่จะปล่อยให้เรือล่องไปโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือ และเรือหลายลำถูกผลักดันให้ออกจากชายฝั่งที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา”

รายงานข่าวผู้เสี่ยงภัยเดินทางที่อันตราย 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับข้อมูลว่า มีผู้พบเห็นเรือประมาณสามถึงห้าลำที่น่าจะบรรทุกผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ด้านนอกชายฝั่งของมาเลเซียและภาคใต้ของไทยในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เชื่อว่ามีคนอยู่บนเรือหลายร้อยคน   

ในวันที่ 16 เม.ย. กองทัพเรือมาเลเซียผลักดันเรือที่ขนชาวโรฮิงญาประมาณ 200 คน ทั้งผู้หญิง ผู้ชายและเด็กออกจากชายฝั่ง โดยมีรายงานว่าได้จัดเสบียงอาหารให้กับคนบนเรือ รัฐบาลมาเลเซียอ้างความจำเป็นจากมาตรการควบคุมโรค COVID-19 เพื่อผลักดันเรือออกจากชายฝั่งของตน

ในวันที่ 15 เม.p. หน่วยลาดตระเวนชายฝั่งบังคลาเทศได้ช่วยชีวิตชาวโรฮิงญา 396 คนจากเรือขนาดใหญ่ลำหนึ่ง เป็นเรือที่ถูกทางการมาเลเซียผลักดันออกมาก่อนหน้านี้ และเชื่อว่าลอยลำอยู่กลางทะเลมาสองเดือนแล้ว 

รายงานในเบื้องต้นระบุว่า มีผู้อยู่บนเรือ 32 คนที่เสียชีวิตกลางทะเล แต่คาดว่าตัวเลขในปัจจุบัน น่าจะเพิ่มเป็นเกือบสองเท่าแล้ว เป็นเหตุให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า ผู้รอดชีวิตต่างอยู่ในสภาพขาดอาหารและขาดน้ำอย่างรุนแรง

ต้องมีมาตรการระดับภูมิภาคอย่างเร่งด่วน 

รัฐบาลในภูมิภาคได้ประกาศใช้มาตรการจำกัดสิทธิในภาวะฉุกเฉินตามแนวพรมแดนของตน เพื่อรับมือกับโรค COVID-19 มาเลเซียและไทยได้ติดตามการเคลื่อนไหวของเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญานอกชายฝั่งของตนมาตลอด ในขณะที่มาเลเซียยอมให้เรือลำหนึ่งเข้าฝั่ง แต่ก็ได้ผลักดันเรืออีกหลายลำให้ออกไป ส่วนประเทศไทยไม่ได้ระบุว่ามีการตรวจพบเรือลำใด หรือได้ให้ความช่วยเหลืออย่างไร 

“ทั้งไทยและมาเลเซียต่างทราบว่าชีวิตคนเหล่านี้อยู่ในอันตราย การปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือกับคนในเรือเหล่านี้ย่อมเป็นเหมือนการเสแสร้งว่าตาบอด ย่อมทำให้ชะตากรรมของพวกเขาเลวร้ายลงอย่างจงใจ”  

“ไทยและมาเลเซียควรส่งเรือออกไปตรวจหาและช่วยชีวิตคนเหล่านี้ทันที ให้ส่งอาหาร น้ำ และเวชภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วนของคนหลายร้อยคนที่ติดอยู่กลางทะเล รัฐบาลประเทศเหล่านี้ควรอนุญาตให้คนเหล่านี้ขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัยทันที และให้ปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับมาตรการด้านโรค COVID-19 ดังที่มาเลเซียได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในเรื่องนี้ช่วงต้นเดือนนี้” แคลร์กล่าว

ในวันที่ 5 เม.ย. กรมเจ้าท่าของมาเลเซีย ตรวจพบ เรืออีกลำหนึ่งซึ่งมีชาวโรฮิงญา 202 คน และมีการนำตัวผู้โดยสารเรือเหล่านี้เข้าฝั่งอย่างปลอดภัย และอยู่ระหว่างการกักตัวตามมาตรการโรค COVID-19   

ช่วงต้นสัปดาห์นี้ รัฐภาคีอาเซียนเผยแพร่ปฎิญญาภายหลังการประชุมผ่านอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับโรค COVID-19 ยืนยันพันธกิจของหน่วยงานภูมิภาคที่จะ “ดูแลและแบ่งปันในประชาคมอาเซียน โดยรัฐภาคีอาเซียนจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในช่วงเวลาอันท้าทาย” หน่วยงานภูมิภาคนี้ เคยแสดงพันธกิจก่อนหน้านี้ว่า “จะเรียนรู้จากวิกฤติในอดีตและจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้พลัดถิ่น” โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน 

“เมื่อสัปดาห์นี้เอง รัฐบาลอาเซียนส่งสัญญาณแสดงความเป็นเอกภาพท่ามกลางช่วงเวลาที่ยุ่งยาก” แคลร์ อัลแกร์กล่าว “พวกเขาต้องขยายความเมตตาเช่นนี้ไปยังผู้ที่กำลังเสี่ยงภัยอยู่กลางทะเลด้วย” 

“รัฐภาคีอาเซียนต้องประกันว่า นโยบายเกี่ยวกับโรค COVID-19 จะคุ้มครองสิทธิของบุคคลทุกคน และไม่ทำร้ายผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการคุ้มครองระหว่างประเทศ”

ข้อมูลพื้นฐาน 

UNHCR ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ยืนยัน ว่าเอกสิทธิของรัฐต่าง ๆ ที่จะกำกับดูแลการเข้ามาของชาวต่างชาติในดินแดนของตน ไม่อาจนำไปสู่การปฏิเสธสิทธิของบุคคลที่จะแสวงหาที่ลี้ภัยจากการประหัตประหารได้ แม้ในภาวะที่เกิดโรคระบาดระดับโลก ในทำนองเดียวกัน หน่วยงานผู้พลัดถิ่นระหว่างประเทศ (International Organization for Migration) ระบุว่าต้องมีการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ในระหว่างที่ใช้มาตรการรับมือกับโรค COVID-19 เมื่อสัปดาห์นี้ คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของคณะมนตรียุโรป ยังเรียกร้อง ให้รัฐภาคีของสหภาพยุโรป ดำเนินการต่อไปเพื่อช่วยชีวิตผู้เสี่ยงภัยกลางทะเล และยอมให้ผู้โดยสารบนเรือขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย แม้ในขณะที่เกิดภาวะโรคระบาดอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

ยังคงมีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติกับชาวโรฮิงญาประมาณ 600,000 คนที่ยังอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ของเมียนมาต่อไป ภายหลังปฏิบัติการทางทหารที่โหดร้ายหลายครั้งต่อเนื่องกันในปี 2559 และ 2560 ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาเกือบหนึ่งล้านคนหลบหนีไปอาศัยอย่างแออัดยัดเยียดในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้อยู่รอดได้ 

กฎหมายระหว่างประเทศ กำหนดเป็นพันธกรณีให้รัฐต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาถึงชายฝั่งประเทศตน 

หลักการไม่ส่งกลับกำหนดว่า ต้องไม่ส่งบุคคลใดไปยังดินแดนที่มีความเสี่ยงจะถูกประหัตประหารหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง หลักการนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการคุ้มครองผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ และเป็นหลักการพื้นฐานของข้อห้ามอย่างเบ็ดเสร็จต่อการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี 

มาเลเซียและไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย ปี 2494 (อนุสัญญาผู้ลี้ภัย) หรือพิธีสารปี 2510 อย่างไรก็ดี หลักการไม่ส่งกลับได้รับการคุ้มครองโดยทั่วไปตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ต่อทุกรัฐ ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนยังคุ้มครองสิทธิ “ที่จะแสวงหาและได้รับการลี้ภัย” 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: