เปิดระบบบาดาลยักษ์ บ่อน้ำบาดาลใหญ่ที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3061 ครั้ง

เปิดระบบบาดาลยักษ์ บ่อน้ำบาดาลใหญ่ที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย

โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดทำโครงการศึกษาเทคนิคการเจาะและก่อสร้างบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ซึ่งนำแนวคิดการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย Riverbank Filtration (RBF) โดยที่ บ้านธัญญอุดม ต.หาดท่าเสา อ.เมือง จ.ชัยนาท ถือเป็นบ่อน้ำบาดาลใหญ่ที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย | ที่มาภาพ: กรมทรัพยากรน้ำบาดาล (อ้างในสำนักข่าวไทย)

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2563 ว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 สุพรรณบุรี จัดทำโครงการศึกษาเทคนิคการเจาะและก่อสร้างบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ซึ่งนำแนวคิดการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย Riverbank Filtration (RBF) กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการต่อยอดโครงการ และดำเนินการศึกษาเทคนิคการเจาะและก่อสร้างบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 600 มิลลิเมตร (24 นิ้ว) เพื่อให้สามารถนำน้ำมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ พร้อมก่อสร้างระบบประปาบาดาลขนาดใหญ่ ทำให้มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้บริหารจัดการระบบกระจายน้ำและส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่าโครงการศึกษาเทคนิคการเจาะและก่อสร้างบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่จังหวัดชัยนาท ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการพัฒนาน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินในบริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำสายหลัก ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่บ้านธัญญอุดม ต.หาดท่าเสา อ.เมือง จ.ชัยนาท 8 หมู่บ้าน 1,484 ครัวเรือน ประชากรกว่า 5,000 คน ให้มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี

โดยโครงการศึกษาเทคนิคการเจาะและก่อสร้างบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่เป็นการเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย เทียบเท่าระบบประปาบาดาลขนาดใหญ่ ที่เมือง Wellingford ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบ่อที่ใช้ทำระบบประปาส่งให้ชาวเมือง Oxford ใช้ทั้งเมือง ซึ่งประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาลขนาด 24 นิ้ว พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ vertical turbine 125 แรงม้า หอถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาด 300 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ชุด ถังกรองสนิมเหล็ก และจุดจ่ายน้ำสำหรับชุมชน ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะมีปริมาณน้ำที่สามารถพัฒนาได้กว่า 1,460,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถให้ประชาชนใช้สำหรับอุปโภคบริโภค ไม่น้อยกว่า 8,000 คน และสามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านเกษตรกรรม ไม่น้อยกว่า 6,255 ไร่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: