งานวิจัยในต่างประเทศระบุ การจ้าง Outsourcing ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก่อให้เกิดคำถามด้านจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้เงินทุนสาธารณะ กับการไปจำกัดโอกาสพัฒนาอาชีพของนักวิชาการในประเทศนั้นๆ แม้จะคุ้มทุนในระยะสั้น แต่อาจจะส่งผลเสียต่อวงการวิชาการและการวิจัยในระยะยาว – ทั้งนี้ยังพบ ‘นักวิชาการฟรีแลนซ์’ รายได้ต่ำมาก | ที่มาภาพประกอบ: medium.com/@sophbazile
สื่อ Times Higher Education รายงานเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2020 มีงานวิจัยพบว่านักวิชาการบางรายได้ค่าตอบแทนดีจากสัญญารับงานต่างประเทศ แต่อาจกีดกันผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับสูงภายในประเทศ
งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่านักวิชาการได้ค่าตอบแทนดีจากการรับงานจากต่างประเทศ แต่เตือนว่าการจ้างคนภายนอก (Outsourcing) ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก่อให้เกิดคำถามด้านจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้เงินทุนสาธารณะกับการไปจำกัดโอกาสพัฒนาอาชีพของนักวิชาการในประเทศ
งานวิจัยเบื้องต้นเข้าไปศึกษาอัตรารายได้ต่อชั่วโมงของนักวิชาการอิสระ (academic freelancer) จำนวน 427 คนบนแพล็ตฟอร์มหางานเว็บไซต์ Upwork และพบว่า 3 ใน 4 มีรายได้เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แต่มีนักวิชาการ 42 คนได้ค่าตอบแทนมากกว่า 10,000 ดอลลาร์ (7,600 ปอนด์) และ 10 คนทำเงินได้สุทธิมากกว่า $ 50,000 และหนึ่งในสาม (35 เปอร์เซ็นต์) อยู่ในอเมริกาเหนือ
นักวิจัยด้านวิชาการชาวรัสเซียคนหนึ่ง โฆษณาในเว็บดังกล่าวว่า มีรายได้ในอัตรา 40 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เขาทำเงินได้กว่า 200,000 ดอลลาร์จากการรับงานอิสระ 40 งาน
ตัวอย่างโครงการวิชาการในเว็บ Upwork ได้แก่ งานเขียนสิ่งพิมพ์ วารสาร เอกสารทางวิชาการหรือบทวิจารณ์วรรณกรรม จากผลการวิจัยดังกล่าว ซึ่งนำเสนอเมื่อเดือนที่แล้วในที่ประชุมของสมาคมเพื่อการวิจัยในระดับอุดมศึกษา ประเทศสหราชอาณาจักร
นักวิชาการรับจ้างอิสระในโอเชียเนียลงโฆษณารายได้ในอัตราเฉลี่ยสูงสุด 53 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง, 42 ดอลลาร์ในอเมริกาเหนือและสหราชอาณาจักร แต่ผู้ที่อยู่ในเอเชียตะวันออก มีรายได้ในอัตราเฉลี่ยต่ำสุดคือ 20 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าว ระบุว่า นักวิชาการรับจ้างอิสระในประเทศที่มีรายได้สูง โดยทั่วไปทำเงินได้น้อยกว่างานประจำ แม้กระทั่งงานทางวิชาการที่ไม่เป็นทางการ ในขณะที่อัตรารายได้ของผู้รับจ้างอิสระในประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจแย่ยิ่งกว่าที่มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเสนอซะอีก
Peter Bentley ที่ปรึกษาด้านนโยบายของมหาวิทยาลัยวิจัยนวัตกรรม (Innovative Research Universities) ซึ่งเป็นสมาชิกของสถาบันการศึกษา 7 แห่งของออสเตรเลียและผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าว กล่าวว่า นักวิชาการอิสระนั้นเป็น “ตลาดเกิดใหม่และกำลังเติบโต” แต่ก่อให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมหลายประการ
ในขณะที่เว็บไซต์จ้างงานอิสระเปิดโอกาสให้นักวิชาการใช้ทักษะความเชี่ยวชาญของพวกเขาในตลาดระดับโลกที่ใหญ่กว่าโดยไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดน แต่พวกเขาก็คุกคามกระบวนการพัฒนาอาชีพวิชาการแบบดั้งเดิมด้วย เนื่องจากงานเฉพาะบางอย่างของตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัยถูกเปิดให้มีการแข่งขันสูงในตลาดโลก
“การใช้เงินทุนวิจัยสาธารณะไปจ่ายค่าจ้างให้ฟรีแลนซ์อาจเพิ่ม“ความคุ้มทุน” ในระยะสั้น แต่ส่งผลเสียต่อการพัฒนางานวิจัยภายในประเทศในระยะยาว” เขากล่าว
“มันไปจำกัดโอกาสสำหรับนักวิจัยที่เพิ่งทำงานและนักศึกษาปริญญาเอกที่จะมีส่วนร่วมในโครงการวิจัยในประเทศของพวกเขา”
ดร.เบนท์ลีย์ กล่าวเสริมว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับนักวิชาการที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกมาทำหน้าที่ถอดความและพิสูจน์อักษรงานอิสระ แต่โครงการที่เปิดรับในเว็บ Upwork บอกว่า สถาบันต่าง ๆ กำลังมองหานักวิจัยอิสระที่มีทักษะสูง
นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่า นักวิจัยอิสระจะถูกพิจารณาเป็นผู้เขียนงานวิจัยนั้นหรือไม่
ดร. เบนท์ลีย์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนตลาดงานอิสระที่เกิดขึ้นใหม่นี้หรือไม่
“ถ้ามองว่าเป็นเรื่องดี มหาวิทยาลัยก็ควรแจ้งให้นักวิจัยของตนทราบว่า สามารถจ้างคนนอกรับเหมางานวิจัยไปทำ แทนการจ้างผู้ช่วยวิจัย แต่หากพิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนานักวิจัยในอนาคต พวกเขาจำเป็นต้องกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการให้ทุนวิจัย” เขากล่าว
ที่มาเรียบเรียงจาก
www.timeshighereducation.com/news/academic-freelancing-growth-could-damage-researcher-development
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ