ส่องรายชื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ 428 รายการ ที่กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศห้ามนำเข้า เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา งานศึกษาชี้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทย มีแนวโน้มล้นประเทศ เหตุคนใช้งานสั้นลง-เปลี่ยนใหม่บ่อย ผลักดัน 'นนทบุรี-บุรีรัมย์' โมเดลกำจัดซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ หวังมีให้มีกฎหมายสำหรับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ | ที่มาภาพประกอบ: Eco-Business
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าปัจจุบันในไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ประมาณ 400,000 ตันต่อปี [1] การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะยิ่งทำให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น
เมื่อเดือน ก.ย. 2563 กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศ เรื่อง ‘กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563’ โดยห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 428 รายการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ เมื่อช่วงปลายปี 2561 ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาทิ้งในประเทศ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ภายในประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังช่วยบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อย่างถูกวิธีมากขึ้น สนับสนุนแนวคิด Circular Economy และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียในประเทศ
ทั้งนี้ "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" หมายถึง ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษซากจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า และแบตเตอรี่อื่น ๆ สวิทซ์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอกติเวเต็ดกลาสอื่น ๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล ซึ่งเป็นของเสียเคมีวัตถุ จำนวน 428 รายการ ตามบัญชีท้ายประกาศฯ ผู้ฝ่าฝืนนำเข้ามีโทษจำคุก 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ [2]
รายชื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ 428 รายการ ที่ไทยห้ามนำเข้า
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมีแนวโน้มล้นประเทศ เหตุคนใช้งานสั้นลง-เปลี่ยนใหม่บ่อย
ในงานศึกษา 'การขับเคลื่อนและอุปสรรคของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย' โดยพีรนาฏ คิดดี และสุทธิพร บุญมาก ที่การคาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างปี 2559-2564 จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษและสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อปี 2558 พบว่าปี 2559-2564 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นจาก 947,881 พันชิ้น ในปี 2559 เป็น 1,067,767 พันชิ้น ในปี 2564 โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี การคาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2564 โดยจำแนกเป็นชนิด พบว่าการคาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2564 คือ แบตเตอรี่มีจำนวนสูงถึง 718,000 พันชิ้น รองลงมาคือ หลอดฟลูออเรสเซนต์จำนวน 317,012 พันชิ้น และโทรศัพท์มือถือ/บ้าน จำนวน 13,419 พันชิ้นตามลำดับ และเมื่อคำนวณอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์พิจารณาตามชนิด พบว่าไมโครเวฟมีอัตราการเพิ่มขึ้นเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงสุดที่ร้อยละ 9.03 ต่อปี รองลงมาคือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ร้อยละ 8.01 ต่อปี โดยลำดับสุดท้ายคือเครื่องพิมพ์/โทรสารที่ร้อยละ 0.33 ต่อปี
นอกจากนี้ พบว่าปัจจุบันอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมีอายุการใช้งานสั้นลงอย่างมาก ตัวอย่างเช่นโทรทัศน์ ซึ่งในอดีตใช้แบบจอ Cathode Ray Tube (CRT) ณ ปี 2547 มีอายุใช้งานเฉลี่ย 18 ปี แต่ในปัจจุบันโทรทัศน์แบบจอ CRT นี้ไม่ได้รับความนิยมในตลาดแล้ว โดยผู้บริโภครุ่นใหม่หันมาใช้โทรทัศน์แบบจอ LCD แทน ซึ่งมีอายุใช้งานที่สั้นกว่ามาก โดยในปี 2555 โทรทัศน์แบบจอ LCD นี้มีอายุใช้งานเพียง 3.80 ปี เท่านั้น [3]
ทั้งนี้ ในงานศึกษาของพีรนาฏ และสุทธิพร ที่ใช้ข้อมูล ณ ปี 2558 นั้น ยังไม่ได้พิจารณาถึงพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของคนไทยที่เริ่มเปลี่ยนไป การครอบครองโทรศัพท์มือถือของคนในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมีอายุการใช้งานที่สั้นลงเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2561 พบว่าจากประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปประมาณ 63.3 ล้านคน มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือถึง 56.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 89.6 ของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปทั้งประเทศ เมื่อพิจารณาแนวโน้มการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยระหว่างปี 2557-2561 พบว่าผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นจากจำนวน 48.1 ล้านคน เป็นจำนวน 56.7 ล้านคน [4]
กฟผ. ผลักดัน 'นนทบุรี-บุรีรัมย์' โมเดลกำจัดซากขยะอิเล็กทรอนิกส์
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังมีความพยายามที่จะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … เพื่อให้มีกฎหมายสำหรับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ โดยโครงการ 'ศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์' ที่สนับสนุนโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มุ่งจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญ 5 ประเภทอย่างถูกวิธี ได้แก่ คอมพิวเตอร์, เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องรับโทรทัศน์ และตู้เย็น กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 15 เดือน ตั้งแต่ ก.ย. 2563 – พ.ย. 2564 โดยเริ่มรับคืนซากราวเดือน ม.ค.-มี.ค. 2564 จะนำร่องใน 2 พื้นที่ตัวอย่าง ได้แก่ จ.นนทบุรี ตัวแทนขยะพิษของกลุ่มคนเมือง และ จ.บุรีรัมย์ ตัวแทนเศษซากของกลุ่มชุมชนชนบท โดยผลศึกษาวิจัยใช้สนับสนุนให้เกิด ร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … ขึ้นมา โดยจะเป็นการดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ผ่านระบบฐานข้อมูล Digital WEEE Manifest ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาเพื่อเป็นเครื่องมือติดตามซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า 5 ประเภท คือ ทีวี ตู้เย็น โทรศัพท์มือถือ แอร์ และโน้ตบุ๊ค การทิ้งในบ่อขยะผิด พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 บ่อขยะ 2,000 แห่งทั่วประเทศ ไม่มีที่ทิ้ง ส่วนท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กรมกำหนด บ้างก็บอก”รองบ”โรงไฟฟ้าจากขยะ ปล่อยให้ปริมาณขยะพิษเพิ่มขึ้น หน้าฝนชะล้างปนเปื้อน หน้าร้อนกองขยะลุกไหม้ สร้างมลพิษ โครงการศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการสร้างโมเดล ให้ร่างกฎหมายใหม่ครบถ้วนด้านการรับคืนซากตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ครอบคลุมถึงการจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาบริหารจัดการ และตั้งกองทุนฯ ขึ้นมาดูแล แหล่งที่มาของรายได้จะอยู่ในราคาผลิตภัณฑ์ เช่น ตู้เย็นราคา 10,000 บาท จะจัดเก็บเข้ากองทุนฯ 500 บาท เป็นต้น
ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภาครัฐต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น ออกคู่มือแนวทางจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งฝากความหวังไว้ที่การทำงานของคณะทำงาน 3 ชุด ประกอบด้วยด้านการพัฒนากลไกการจัดการพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรมควบคุมมลพิษ ด้านการส่งเสริมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์การจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติก โดยสภาอุตสาหกรรรมแห่งประเทศไทย การจัดการต้องอาศัยความร่วมมือทั้งกลุ่มผู้ผลิต ผู้รวบรวม ผู้ขนส่งและโรงงานถอดแยกชิ้นส่วน จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
ในฐานะที่ จ.นนทบุรี เป็นพื้นที่นำร่องวิจัยจำลองจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทิพย์อาภา ยลธรรม์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นนทบุรี ให้ข้อมูลว่า จ.นนทบุรี เป็นเมืองที่ขยายตัวรวดเร็วมาก ประชากรอยู่อาศัยจำนวนมาก เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ที่หมดอายุใช้งานแล้ว ปัจจุบันไม่ได้นิ่งนอนใจ อปท. เก็บขนและรวบรวมซากขยะนี้ ไปส่งที่ศูนย์รวบรวมของเสียอันตรายของชุมชนของ อบจ.นนทบุรี ตั้งอยู่ อ.ไทรน้อย เพื่อส่งให้บริษัทเอกชนนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง
"แม้จะมีศูนย์ แต่อุปสรรคปัญหาตอนนี้คือประชาชนนิยมนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปขายต่อให้ร้านรับซื้อของเก่า หรือนำไปบริจาค อีกทั้งยังมี อปท. ที่ยังไม่มีรูปแบบแยกจัดเก็บ รวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ จำนวนขยะของเสียอันตรายที่ส่งไปศูนย์รวบรวมฯ จึงมีจำนวนไม่มาก จากข้อมูลปี 62 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์เทศบาลนครนนทบุรีเก็บรวบรวมมีถึง 11.3 ตัน ส่วนปีนี้ตั้งแต่มกราคมถึงกรกฎาคม เก็บได้ 5 ตัน เราห่วงเก็บรวบรวมได้น้อย ปลายทางขยะไปที่ไหน ไม่ใช่ลักลอบทิ้ง เกิดอันตรายจากสารพิษในขยะ สำหรับโครงการศึกษาจำลองจัดเก็บซากทั้งระบบ คงไม่รอถึง 15 เดือน ให้สมบูรณ์แบบ แต่ค่อยๆ จัดทำระบบ เก็บข้อมูลต้นทาง ปลายทาง คิดว่า ตอบโจทย์ปัญหา และจะได้รับคำแนะนำ สร้างเครือข่าย ต่อยอดกับหน่วยราชการ ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เกิดโมเดลที่ดี" ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นนทบุรี ระบุ
ส่วน อนุพงศ์ สุขสมนิตย์ รองผู้ว่าราชการ จ.บุรีรัมย์ ระบุว่า จ.บุรีรัมย์ อบต.แดงใหญ่ มี 103 ครัวเรือน สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการจัดการขยะอันตราย ซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้กับประชาชน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ด้านผู้ประกอบการถอดแยกขยะชิ้นส่วนต้องจัดการอย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด รวมถึงไม่เกิดมลพิษต่อชุมชนโดยรอบ การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ต้องศึกษาวิจัยให้ครบทุกมิติ ช่วยในพื้นที่บุรีรัมย์ อีกทั้งส่งเสริมการผลักดันกฎหมายใหม่ด้วย
"บุรีรัมย์ตั้งเป้าหมายการพัฒนา จะเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอารยธรรมขอม ศูนย์กลางผลิตอาหารปลอดภัย และด้านสิ่งแวดล้อมจะพัฒนาโดยไม่มีขยะล้นเมือง ไม่มีน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ โครงการวิจัยนี้เป็นกลไกหนึ่งที่จะขับเคลื่อน ทางจังหวัดและ อบต.แดงใหญ่ พร้อมร่วมงานจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ตลอด 15 เดือน เพื่อให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น" รองผู้ว่าราชการ จ.บุรีรัมย์ ระบุ [5] [6]
ที่มาข้อมูล
[1] สฟอ. ผนึกกำลัง กฟผ. และพันธมิตร ผลักดันการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในไทย ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (EGAT Today, 16 ก.ย. 2563)
[2] ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 (และบัญชีท้ายประกาศฯ) (ราชกิจจานุเบกษา, 14 ก.ย. 2563)
[3] การขับเคลื่อนและอุปสรรคของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย (พีรนาฏ คิดดี และสุทธิพร บุญมาก, วารสารวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์, ม.ค.-ธ.ค. 2559)
[4] สรุปผลที่สําคัญ การสํารวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การมีการใช้เทคโนโลยีในครัวเรือน พ.ศ. 2561 (ไตรมาส1) (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561)
[5] สฟอ. ผนึกกำลัง กฟผ. และพันธมิตร ผลักดันการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในไทย ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (EGAT Today, 16 ก.ย. 2563)
[6] "นนทบุรี-บุรีรัมย์" โมเดลกำจัดซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ บทจำลองผลักดันร่าง กม.จัดการฯฉบับแรกของไทย (ไทยโพสต์, 20 ก.ย. 2563)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ