จับตา: ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองไทยได้อานิสงส์เข้าร่วม RCEP ในกรอบจำกัด

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 4605 ครั้ง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ไทยได้อานิสงส์เข้าร่วม RCEP ในกรอบจำกัด ผลทางตรงจะมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก แต่แทบไม่เปลี่ยนภาพโครงสร้างการค้าของไทยมากนัก เนื่องจากผลบวกทางตรงเพิ่มเติมจากการเปิดเสรีการค้ามีจำกัด เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่นั้นได้ลดภาษีไปแล้วตามกรอบ FTA อาเซียนไปแล้ว | ที่มาภาพประกอบ: Times of News 24x7

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563 ว่าศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าในที่สุดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งประกอบด้วยชาติสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมกับ Plus 5 คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็สามารถบรรลุการเจรจาร่วมกันที่มีมายาวนานตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งมาถึงการลงนามที่จะมีขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 37 ที่ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563

โดยความตกลง RCEP นี้นับเป็นกรอบการค้าเสรีที่มีทั้งขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกคิดเป็นร้อยละ 31 ของ GDP โลก และขนาดตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนประชากรถึง 2,300 ล้านคน อย่างไรก็ดี RCEP คงต้องรอให้รัฐสภาของชาติอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และ Plus 5 อย่างน้อย 4 ประเทศ ให้สัตยาบันจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า RCEP จะส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของไทยใน 2 ประเด็นหลัก ดังนี้

RCEP เป็นความตกลงที่เปิดกว้างที่สุดและมีมาตรฐานด้านต่างๆ สูงที่สุดเท่าที่ไทยเคยมีมา ทั้งในแง่ของเป้าหมายการลดภาษีสินค้าสูงที่สุดถึงร้อยละ 99 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด นับว่าสร้างโอกาสให้สินค้าไทยทำตลาดได้มากขึ้นจากความตกลงเดิมที่มีอยู่ โดยปัจจุบันไทยส่งออกไปตลาดนี้มีมูลค่า 9.18 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ (ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2563) คิดเป็นร้อยละ 53.1 ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก นอกจากนี้ RCEP ยังเป็นความตกลงที่มีมาตรการฐานการเจรจาที่สูงกว่าความตกลงใดๆ ที่ไทยเคยมี อันจะช่วยยกกระดับการผลิตและการส่งออกของไทยไปสู่มาตรฐานของความตกลงในรูปแบบพหุภาคีในระดับที่สูงขึ้น โดย RCEP มีการเจรจาครอบคลุมในเกือบทุกเรื่อง (ยกเว้นด้านแรงงาน สิ่งทอและประเด็นด้านรัฐวิสาหกิจ) ที่ใกล้เคียงกับแผนงานของ CPTPP (ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกหรือ Comprehensive and Progressive agreement for Trans-Pacific Partnership) แต่ต่างกันที่ RCEP มีความผ่อนปรนและเอื้อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแก่ประเทศสมาชิกมากกว่า และไม่ส่งผลกระทบเชิงลบทางด้านสังคมเหมือนกรอบ CPTPP

การเกิดขึ้นของ RCEP ช่วยสร้างสมดุลการค้าและการลงทุนในสองฟากฝั่งของโลก โดยเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของชาติเอเชียที่มีจีนเป็นแกนนำความตกลงเพื่อให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก คานอิทธิพลชาติตะวันตกที่มีต่อประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า RCEP จะกลายเป็นกลุ่มการค้าที่มีห่วงโซ่การผลิตเหนียวแน่น เอื้อประโยชน์ต่อการผลิตและการค้าในซีกโลกตะวันออก ด้วยจุดเด่นของกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins: ROOs) ที่เป็นหนึ่งเดียวกันและมีความยืดหยุ่นมากกว่าความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนกับประเทศในกลุ่ม Plus 5

สำหรับไทยที่มีความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุนอย่างเหนียวแน่นกับประเทศสมาชิก RCEP อยู่แล้ว ศูนย์วิจัยกสิการไทย มองว่า ในระยะข้างหน้าไทยจะได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น โดยผลทางตรงจะมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ขณะที่ผลทางอ้อมจะมาจากการที่ประเทศ Plus 5 จะลดกำแพงภาษีระหว่างกันเป็นครั้งแรก ซึ่งการเกิดขึ้นของ RCEP จะยิ่งทำให้ไทยยังคงเป็นตัวเลือกหลักของฐานการผลิตที่สำคัญในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยยังคงมีความได้เปรียบในด้านการผลิตและส่งออก อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อนึ่ง การที่ประเทศ Plus 5 มีแนวโน้มค้าขายกันเองมากขึ้นจากการลดกำแพงภาษีระหว่างกันครั้งนี้คงไม่ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงตลาดกับสินค้าอาเซียนและสินค้าไทยที่ทำตลาดอยู่ก่อนแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นสินค้าคนละประเภทกัน อนึ่ง แม้ว่าไทยอาจได้อานิสงส์ทางด้านการค้าการลงทุนจากการเข้าเป็นสมาชิก RCEP ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อตกลง RCEP อาจเอื้อประโยชน์ทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่ม Plus 5 มากกว่า โดยการเกิดขึ้นของ RCEP แทบไม่เปลี่ยนภาพโครงสร้างการค้าของไทยมากนัก เนื่องจากผลบวกทางตรงเพิ่มเติมจากการเปิดเสรีการค้ามีจำกัด เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่นั้นได้ลดภาษีไปแล้วตามกรอบ FTA อาเซียนกับประเทศ Plus 5 ขณะที่ผลบวกทางอ้อมก็กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งไปยัง Plus 5

นอกจากนี้การที่อินเดียยังไม่ได้เข้าร่วมความตกลง RCEP อย่างเป็นทางการนั้น ทำให้ข้อตกลง RCEP มีความน่าสนใจน้อยลงในสายตาของนักลงทุนต่างชาตินอกกลุ่ม RCEP ซึ่งยังคงต้องรอท่าทีจากอินเดียว่าจะตัดสินใจกลับเข้ามาร่วมกับกรอบความตกลง RCEP นี้อีกหรือไม่ อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ทั่วโลกต่างใช้มาตรการกีดกันการค้าการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อปกป้องธุรกิจของประเทศตนเอง ประกอบกับในปัจจุบันความสามารถทางการแข่งขันของไทยเริ่มลดน้อยลงเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอื่นใน RCEP โดยเฉพาะบทบาทมากขึ้นของเวียดนามในการเป็นฐานการผลิต ด้วยจุดเด่นที่สามารถเชื่อมโยงการค้าการลงทุนได้ทั้งภูมิภาคเอเชียผ่านความตกลง RCEP และเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับฝั่งประเทศในแถบตะวันตกผ่านความตกลง FTA เวียดนาม-EU และ CPTPP ซึ่งไทยยังไม่ได้เข้าร่วม ดังนี้แล้ว สิ่งสำคัญสำหรับไทยเวลานี้คงต้องยอมรับว่าการจัดทำความตกลงทางการค้าเสรีกับนานาชาติเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดปลายทางได้เป็นอย่างดี และเป็นอีกปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติเองก็ให้ความสำคัญในการวางแผนขยายธุรกิจด้วยเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องเลือกว่าจะปรับตัวอย่างไรท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดโลก ระหว่าง 1) ปรับตัวให้สอดรับกับมาตรฐานของความตกลง FTA ที่มีมาตรฐานสูง โดยเข้าร่วมเจรจากับ CPTPP หรือเจรจากับสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ตลอดจนอังกฤษ หรือ 2) ปรับตัวให้เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติแม้ไม่มี FTA กับชาติตะวันตก พร้อมทั้งยกระดับภาคการผลิตของไทยให้สอดคล้องกับความต้องการตามกระแสตลาดโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม S-Curve ซึ่งไม่ว่าจะทางไหน ไทยก็ต้องปรับตัว เพราะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ และผู้ที่เสียประโยชน์ที่ต้องการมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: สรุปประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 - ไทยจับมืออาเซียน+5 ลงนาม RCEP แล้ว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: