แถลงการณ์แอมเนสตี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี พฤษภา 53 ย้ำความยุติธรรมยังมาไม่ถึง

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1541 ครั้ง

แถลงการณ์แอมเนสตี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี พฤษภา 53 ย้ำความยุติธรรมยังมาไม่ถึง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี พฤษภา 53 เหตุการณ์ปราบปรามที่ร้ายแรงสุดครั้งหนึ่งของรัฐบาลในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ระบุว่านอกจากการดำเนินคดีอาญากับแกนนำและผู้ชุมนุมประท้วงบางส่วนแล้ว ความยุติธรรมยังคงไม่เกิดขึ้น ไม่มีการเปิดเผยความจริง และไม่มีการเยียวยาต่อครอบครัวของผู้ที่ถูกสังหารในระหว่างความรุนแรงครั้งนั้น รัฐบาลไทยต้องนำตัวผู้ที่คาดว่ามีส่วนรับผิดชอบทางอาญาต่ออาชญากรรมระหว่างการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 มาลงโทษ

19 พ.ค. 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี พฤษภา 53 เหตุการณ์ปราบปรามที่ร้ายแรงสุดครั้งหนึ่งของรัฐบาลในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ระบุว่า นอกจากการดำเนินคดีอาญากับแกนนำและผู้ชุมนุมประท้วงบางส่วนแล้ว ความยุติธรรมยังคงไม่เกิดขึ้น ไม่มีการเปิดเผยความจริง และไม่มีการเยียวยาต่อครอบครัวของผู้ที่ถูกสังหารในระหว่างความรุนแรงครั้งนั้น รัฐบาลไทยต้องนำตัวผู้ที่คาดว่ามีส่วนรับผิดชอบทางอาญาต่ออาชญากรรมระหว่างการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 มาลงโทษ

ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทางการไทยเริ่มปฏิบัติการทางทหารครั้งสุดท้าย เพื่อสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงหลายพันคน หลังการประท้วงติดต่อกันหลายเดือนในกรุงเทพฯ ซึ่งบางครั้งเกิดความรุนแรงขึ้น และมีการโจมตีทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ระหว่างวันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม การเผชิญหน้าที่รุนแรงหลายครั้งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 94 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1,283 คน โดยในบรรดาผู้เสียชีวิตประกอบด้วยผู้ประท้วง นักข่าว ผู้ที่ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่มีการพิสูจน์ถึงสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตบางหลาย ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของวันสุดท้ายในการปราบปรามที่รุนแรง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้นำตัวผู้มีส่วนรับผิดชอบทางอาญาทั้งหมดมาลงโทษทันที ตามกระบวนการที่เป็นธรรมของศาลพลเรือน และให้การเยียวยาอย่างเป็นผลต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต

ภายหลังเหตุความรุนแรง รัฐบาลประกาศในวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ว่าจะมี “การสอบสวนอย่างเป็นอิสระต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดระหว่างการประท้วง” “ในลักษณะที่โปร่งใส” แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ผู้บัญชาการทหาร หรือเจ้าหน้าที่ทหารรายใดที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการครั้งนั้นถูกดำเนินคดี ในขณะที่ได้มีการดำเนินคดีอาญากับแกนนำและผู้ชุมนุมประท้วงบางส่วนแล้ว แอมเนสตี้ระบุว่าเมื่อมีการละเมิดและปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ที่คาดว่ามีส่วนรับผิดชอบทางอาญาทั้งหมดต้องถูกนำมาลงโทษตามการพิจารณาที่เป็นธรรมของศาลพลเรือน หากพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน การลงโทษทางวินัยหรือตามมาตรการของฝ่ายบริหารอาจไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเน้นย้ำว่า การขาดความยุติธรรม ความจริง และการเยียวยาจากรัฐบาลสำหรับผู้ที่ถูกสังหารและทำร้ายระหว่างการชุมนุมในปี 2553 เน้นให้เห็นปัญหาการลอยนวลพ้นผิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังเกิดขึ้นต่อไป รวมทั้งรัฐบาลเพิกเฉยต่อกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมและการใช้กำลัง เหตุที่ทางการไม่สามารถแก้ไขปัญหาจากการละเมิดเหล่านี้ได้ ทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวโดยทั่วไป และเปิดโอกาสให้มีการปฏิบัติมิชอบและการละเมิดเช่นนี้อีก โดยผู้กระทำไม่ต้องถูกลงโทษ ทางการไทยต้องดำเนินคดีทางอาญาโดยทันทีต่อเจ้าหน้าที่ทั้งในปัจจุบันและอดีต และบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบ รวมทั้งผู้ทำหน้าที่สั่งการ โดยต้องรับประกันว่าจะมีการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ทั้งยังต้องจัดให้มีการเยียวยาอย่างเต็มที่ต่อญาติของผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างสอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ

แถลงการณ์ฉบับเต็ม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: