NCITHS จัดเสวนา CPTPP ครั้งที่ 3 หารือข้อกังวลต่อกลไกระงับข้อพิพาทรัฐ-เอกชน “กต.” ยืนยัน นักลงทุนฟ้องรัฐได้ยาก-โอกาสชนะคดีน้อย ด้านผู้แทนภาคเอกชน-กระทรวงสาธารณสุข ถอดบทเรียน “เหมืองทอง-ภาพคำเตือนบุหรี่-แอลกอฮอล์” หวั่น แม้รัฐไม่แพ้คดีแต่ต้องเสียเงิน-เสียโอกาสมหาศาล
คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (National Commission on International Trade and Health Studies : NCITHS) จัดเวทีเสวนาวิชาการความตกลง CPTPP ผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมไทย ครั้งที่ 3 เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ในประเด็น “การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS)” เพื่อหารือในประเด็นข้อกังวลต่างๆ ของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่เกี่ยวข้องกับการกลไก ISDS
นายวรพล เจนสวัสดิชัย กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการลงนามในความตกลงคุ้มครองการลงทุนรวมแล้ว 37 ฉบับ แบ่งออกเป็นความตกลงยุคเก่าที่ดูเหมือนจะให้ประโยชน์กับนักลงทุนมากเกินไป และความตกลงยุคใหม่ที่มีการเพิ่มบทบัญญัติเพื่อแก้ไขสิ่งเหล่านั้น โดย CPTPP ถือเป็นความตกลงอย่างหลัง
สำหรับความตกลงยุคใหม่ ได้เพิ่มพื้นที่ให้รัฐสามารถใช้อำนาจในการกำกับดูแลการลงทุนได้โดยไม่ถือว่าผิดพันธกรณีของความตกลง แต่มาตรการของรัฐเหล่านั้น ต้องไม่ทำให้ผู้ประกอบการล้มละลายหรือหยุดดำเนินกิจการอย่างถาวร จากนั้นจึงค่อยประเมินต่อว่ามาตรการนั้นๆ เป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะที่มีความชอบธรรมหรือไม่ “รัฐจะถูกฟ้องร้องในเรื่องนี้ยากมาก ส่วนใหญ่ถูกตีตกตั้งแต่ข้อแรก เพราะตราบใดที่รัฐไม่ได้ทำผิดร้ายแรงก็จะไม่ถือว่าเป็นความผิด” นายวรพล กล่าวและว่า หากต้องการให้นักลงทุนเข้ามาสร้างงาน สร้างรายได้ รัฐก็ต้องพร้อมที่จะรับประกันและให้ความคุ้มครอง ถ้าเกิดอะไรผิดพลาดรัฐก็ต้องชดเชยให้ ซึ่งทุกวันนี้มีถึง 141 ประเทศทั่วโลกที่มีความตกลงคุ้มครองการลงทุน ฉะนั้นการฟ้องร้อง ISDS จึงถือเป็นเรื่องธรรมดา
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากที่นักลงทุนจะฟ้องร้องและชนะคดีภาครัฐ เพราะนักลงทุนต้องพิสูจน์ในหลายประเด็น มีค่าใช้จ่ายสูง ใช้ระยะเวลาดำเนินการมากกว่า 3 - 4 ปี แต่การที่นักลงทุนขู่ฟ้องรัฐ ก็มีผลทำให้รัฐมีความกังวลและไม่กล้าออกมาตรการเพื่อประโยชน์สาธารณะเช่นกัน ฉะนั้นรัฐต้องมีความเข้มแข็งที่จะไม่สนับสนุนพฤติกรรมที่ไม่ดีของนักลงทุน
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีกรอบการเจรจาการลงทุนที่กำหนดรายละเอียดขอบเขตต่างๆ เช่น จำกัดเฉพาะการลงทุนโดยตรง คุ้มครองตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด หรือการระงับข้อพิพาทต้องพิจารณาถึงมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะ แต่หลังรัฐประหารกรอบเจรจานี้ก็สิ้นสภาพไป ขณะนี้จึงไม่มีเกณฑ์ให้ยึดและเป็นสิ่งที่น่ากังวล โดยเฉพาะกรณี Pre-establishment ใน CPTPP ที่ในอนาคตแม้จะยังไม่ต้องลงทุน ยังไม่ต้องมีการจ้างงาน ก็สามารถได้รับการคุ้มครองแล้ว ฉะนั้นการตัดสินใจจึงต้องคิดอย่างรอบคอบ “แม้จะบอกว่าการถูกฟ้องร้องด้วยกลไก ISDS เป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องเสียค่าใช้จ่ายในขณะที่ถูกฟ้องแพงมาก ตัวอย่างเช่นการสู้คดีเหมืองทองอัคราที่ใช้งบสู้คดีไปแล้ว 300 ล้านบาทใน 2 ปี และจะขอเพิ่มอีก 111 ล้านบาท นี่เป็นค่าสู้คดีในกรณีที่ไม่แพ้ และถึงชนะก็ไม่ใช่ว่าจะได้เงินคืน”
นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค ยกตัวอย่างกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถูกฟ้องร้อง โดยระบุว่า สธ.ได้ออกประกาศเพิ่มขนาดภาพคำเตือนในซองบุหรี่ ทำให้ผู้ประกอบการยื่นฟ้องในหลายรูปแบบเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ตลอดจนรวมตัวกันคัดค้านกฎหมาย แทรกแซงนโยบายรัฐ วิ่งเต้นฝ่ายการเมือง ฯลฯ “โดยสรุปแล้ว ผลจากการฟ้องร้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายนี้ล่าช้าออกไปประมาณ 327 วัน ซึ่งนอกจากกระทบต่อการปกป้องเยาวชนจากยาสูบแล้ว ประเทศยังต้องระดมทรัพยากรต่างๆ มาใช้ต่อสู้คดีอีกด้วย”
ด้าน นพ.พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภายหลังประเทศไทยมีการออกประกาศเรื่องฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงในราชกิจจานุเบกษา สิ่งที่ถาโถมตามมาคือการขอทุเลาคำสั่ง การที่บริษัทฟ้องขอเพิกถอนกฎหมาย ทำให้หน่วยงานต้องมีการจัดประชุมชี้แจงต่างๆ รวมแล้วกว่า 13 ครั้ง สูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก “แม้เราจะมั่นใจว่า ถ้าโดนฟ้องเราก็น่าจะชนะ แต่สิ่งที่เรากังวลคือแมวไม่กัดแต่แมวค่อยๆ ข่วนไปเรื่อยๆ ทีละนิด บริษัทนั้นฟ้องบ้าง บริษัทนี้ฟ้องบ้าง บวกลบแล้วทุกอย่างล้วนเป็นค่าใช้จ่าย จึงอยากทิ้งท้ายว่าเราไม่ได้กังวลเรื่องการฟ้อง แต่กังวลเวลาเขามาตอดเรื่องนี้ เป็นภาระที่เราต้องเสียทรัพยากร เสียงบประมาณ แทนที่จะนำไปใช้ในการสร้างมาตรการใหม่ๆ เพื่อควบคุม กลายเป็นต้องมาใช้ในการจัดการกับเรื่องแมวข่วนพวกนี้ เป็นการสูญเสียของประเทศ”
สำหรับความตกลง CPTPP ที่มีข้อบทเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะ แต่ยังมีเนื้อหาไม่ชัดเจน เช่น เรื่องฉลาก supplementary label ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะตีความอย่างไร หรือที่ระบุว่า be visible คือตำแหน่งไหน เหล่านี้คือ ลักษณะที่น่ากังวล
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ