สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) จับมือภาคีเครือข่ายประชุมเตรียมความพร้อมก่อนจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ส่งเนื้อหา 2 ระเบียบวาระ “วิกฤตอาหาร-จัดการโรคระบาด” ให้ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศทำความเข้าใจ พร้อมเสนอความเห็นเพิ่มเติม ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือทุกจังหวัด ร่วมจัดกิจกรรม Side Event ในประเด็นใกล้เคียงตามบริบทของพื้นที่ สร้างการตื่นรู้ทั่วประเทศ
คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) จัดประชุมออนไลน์ Pre NHA 13 หรือการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงให้ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศทราบถึงแนวทางการจัดงานและกระบวนการรับฟังความเห็นต่อร่างเอกสารหลักและร่างมติ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 ธ.ค. นี้ ณ หอประชุมใหญ่ สำนักงาน TOT ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 พ.ศ.2563 จะพิจารณาสองร่างระเบียบวาระ ได้แก่ “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” และ “การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่” ขณะเดียวกันทั่วประเทศจะมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Side Event) ช่วงสัปดาห์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 2-14 ธ.ค. 2563 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นเดียวกันนี้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่
นพ.สมชาย กล่าวว่า นอกจากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวาระแล้ว ภายในการประชุม Pre NHA ยังมีมุมมองจากภาคีเครือข่ายต่อการคลี่คลายวิกฤตที่น่าสนใจ อาทิ การใช้อำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่แล้วอย่างเต็มที่ หรือข้อกังวลกรณีการเพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารชั่วคราวที่อาจกระทบต่อสิทธิการครอบครองที่ดิน เหล่านี้เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงมุมมองอันหลากหลายของภาคีเครือข่ายที่มีส่วนช่วยในการคลี่คลายวิกฤตการณ์ “นับจากนี้จะเป็นโอกาสที่ภาคีต่างๆ ได้นำเอกสารร่างระเบียบวาระกลับไปอ่านและพูดคุยกัน ก่อนจะส่งกลับมาให้คณะทำงานประมวลเป็นร่างมติที่ดีที่สุด เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ขณะเดียวยังเป็นโอกาสดีที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานโยบายสาธารณะตามปัญหาหรือความสนใจของพื้นที่ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป”
ขณะที่ นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานอนุกรรมการการมีส่วนร่วมและสร้างการเรียนรู้ของภาคีเครือข่าย กล่าวว่า การจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ จะนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาผนวกกับการมีปฏิสัมพันธ์แบบเดิม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้มากและเปิดกว้างที่สุด ซึ่งกิจกรรม Side Event จะเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สำคัญ ให้ภาคีเครือข่ายในแต่ละภูมิภาคได้ร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนสังคมในประเด็นต่างๆ ที่เป็นนโยบายสาธารณะในวงกว้าง “ตัวอย่าง เมืองพัทยามีการพูดคุยถึงกระบวนการสมัชชาสุขภาพที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสมดุลเศรษฐกิจ สังคม ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ซึ่งหากเมืองใหญ่ในทุกภูมิภาคของไทยค่อยๆ ขยับ โดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน จะส่งผลให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19”
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มุ่งเน้นในปีนี้คือ การเชื่อมโยงระหว่างสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกับสมัชชาสุขภาพในระดับพื้นที่ ทั้งขาขึ้น (การจัดทำมติ) และขาเคลื่อน (การขับเคลื่อนมติ) โดยจะหยิบยกประเด็นของพื้นที่นั้นๆ ขึ้นมาเป็นตัวตั้ง ซึ่งอยู่ภายใต้หรือเชื่อมโยงกับประเด็นใหญ่ระดับชาติ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นไปอย่างสอดรับกับหลักการกระจายอำนาจ และการปฏิรูประบบต่างๆ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ