จากกิจกรรมเปิดจุดรับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยกรมควบคุมมลพิษ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีไม่ให้เกิดอันตราย แค่ 16 วัน (14-29 ธ.ค. 2562) พบประชาชนส่งคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 3.2 ตัน ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีสถิติตัวเลขขยะอิเล็กทรอนิกส์ปีละกว่า 400,000 ตัน แต่มีการจัดเก็บนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 100,000 ตันต่อปีเท่านั้น | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2563 ว่าจากกิจกรรมของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ประจำปี 2563 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานเขต กทม. 50 เขต เปิดจุดรับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ที่ทิ้งหรือไม่ใช้งานแล้วจากประชาชน เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีไม่ให้เกิดอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 14-29 ธ.ค. 2562 นั้น
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่าระยะเวลาเพียง 16 วัน มีประชาชนนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาคืนตามจุดที่กำหนดไว้รวมกว่า 3,200 กิโลกรัม หรือ 3.2 ตัน ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียไม่สามารถซ่อมแซมกลับมาใช้งานได้แล้ว โดยสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครฯ รวบรวมได้สูงสุดกว่า 2,548 กิโลกรัม, จังหวัดสมุทรสาคร 250 กิโลกรัม, จัหวัดนครปฐม 200 กิโลกรัม, อาคารกรมควบคุมมลพิษ 121 กิโลกรัม, จังหวัดปทุมธานี 108 กิโลกรัม และจังหวัดนนทบุรี 70 กิโลกรัม
โดยกรมควบคุมมลพิษจะส่งมอบขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดให้กับบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด(มหาชน) นำไปคัดแยก และกำจัดตามกระบวนการที่ถูกต้องได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ตามบ้านเรือนถูกทิ้งในที่สาธารณะอย่างไม่ถูกวิธี ซึ่งมีอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ภายในมีอุปกรณ์แผงวงจร ที่หากชำรุดเสียหาย หรือแยกชิ้นส่วนอย่างไม่ถูกต้อง จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือมีสารเคมีรั่วไหลลงสู่ดินและน้ำเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้ประชาชนที่ยังมีขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานแล้ว สามารถนำส่งมอบกรมควบคุมมลพิษ หรือสำนักเขต กทม. ได้ซึ่งจะมีการรวบรวมจัดเก็บอย่างถูกต้องต่อไป
นายสุเมธ เลาคำ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการและเทคโนโลยีฯ กล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะถูกนำไปแยกชิ้นส่วนอย่างถูกวิธี โดยยึด หลัก 3R แยกประเภทของชิ้นส่วน ส่วนที่นำกลับไปใช้ใหม่ได้เป็นอะไหล่มือ 2 ,ส่วนที่นำไปรีไซเคิล แปรสภาพนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ที่เพิ่มมูลค่าขึ้น เช่น อะลูมิเนียม ทองแดง พลาสติกบางประเภท และส่วนที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จะนำไปกำจัดและบำบัดตามวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งจะมีความปลอดภัยและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันประเทศไทยมีสถิติตัวเลขขยะอิเล็กทรอนิกส์ปีละกว่า 400,000 ตัน แต่มีการจัดเก็บนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 100,000 ตันต่อปีเท่านั้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ