แนะพัฒนา ‘งานส่งเสริม-ป้องกันโรค’ แก้ปัญหาสุขภาพ ‘ประชากรแฝง’ เชียงใหม่

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ก.พ. 2563 | อ่านแล้ว 1397 ครั้ง

แนะพัฒนา ‘งานส่งเสริม-ป้องกันโรค’ แก้ปัญหาสุขภาพ ‘ประชากรแฝง’ เชียงใหม่

ตัวแทนศูนย์ฯหลักประกันสุขภาพเชียงใหม่ ชูความสำคัญ ‘งานส่งเสริมป้องกันโรค’ แก้ไขปัญหาประชากรแฝง พบติดขัดด้านงบประมาณ-กองทุนฯ พร้อมชี้ปัญหา ‘เด็กกลุ่มจี-เชื้อดื้อยา’ ผลพวงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา นางอัญชลี สุใจคำ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยในเวทีสาธารณะระดมสมองเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตอนหนึ่งว่า ระบบหลักประกันสุขภาพนั้นไม่ใช่เพียงให้ผู้ที่ป่วยแล้วนึกถึงสิทธิการรักษา แต่ควรส่งเสริมป้องกันโรคผู้ที่ยังไม่ควรป่วย เพื่อไม่ให้เงินกองกลางถูกนำมาใช้ไปกับค่ารักษาเสียหมด

นางอัญชลี กล่าวว่าแม้งานส่งเสริมป้องกันโรคจะมีงบประมาณสนับสนุน ซึ่งคุ้นเคยกันดีในฐานะกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) แต่งบประมาณที่ลงมานั้นนับตามรายหัวประชากรที่มีเลขบัตรประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นหากพื้นที่ใดมีประชากรแฝงครึ่งหนึ่ง งบจึงลงมาเพียงครึ่งเดียว ขณะที่งานส่งเสริมป้องกันต้องทำกับประชากรทั้งหมด ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาบางอย่างได้ เช่น โรคระบาด

“โดยปกติแล้วประชากรแฝง หากเป็นคนไทยที่มาจากต่างจังหวัดก็ยังสามารถทำการย้ายสิทธิได้ ขณะที่กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ส่วนหนึ่งก็มีเลขบัตรในระบบที่สามารถใช้สิทธิได้ หรือในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีนายจ้าง ก็ยังมีการซื้อประกันได้ ดังนั้นปัญหาประชากรแฝงในพื้นที่คือกลุ่มที่ไม่ปรากฏตัวตน ที่เราจะต้องนับให้เห็นและนำเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ” นางอัญชลี ระบุ

ทั้งนี้ นอกจากกองทุนสุขภาพระดับตำบล กองทุนดูแลระยะยาวฯ (LTC) ที่นำมาใช้ในการส่งเสริมป้องกันโรค ยังมีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ที่สามารถนำมาใช้เน้นในผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง แต่ปัจจุบัน จ.เชียงใหม่ กลับยังไม่มีกองทุนนี้ และยังไม่เป็นที่รู้จักหรือมีการพูดถึงมากนัก ขณะที่จังหวัดรอบข้างอย่างเชียงราย หรือลำพูนนั้นมีแล้ว

ด้าน น.ส.กิ่งแก้ว จั๋นติ๊บ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เครือข่ายชาติพันธุ์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงกลุ่มประชากรแฝง อันดับแรกหากเป็นคนไทยก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ ส่วนผู้ที่เป็นแรงงานข้ามชาติก็สามารถใช้กองทุนต่างด้าว และหากเป็นกลุ่มชนเผ่า ชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่มีสัญชาติไทย จะเข้าไปอยู่ในกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ระหว่างที่รอการพิสูจน์สถานะและสัญชาติ

“ในกลุ่มคนที่กำลังพิสูจน์สถานะของตนเอง ระหว่างที่กระทรวงมหาดไทยกำลังสำรวจ เขาได้ให้เลขจำลองในระบบชั่วคราวไว้ก่อนเป็นเลข 0 ซึ่งยังไม่ได้รับสิทธิด้านสถานะ แต่ได้รับสิทธิด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีสิทธิเทียบเท่าคนสัญชาติไทยในการรักษา ยกเว้นเพียงการคุ้มครองตามมาตรา 41 หากได้รับความเสียหายจากการรักษา” น.ส.กิ่งแก้ว ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกองทุนคืนสิทธิ แม้ตามระเบียบจะมีการให้สิทธิในเรื่องของการส่งเสริมป้องกันโรคไว้ แต่กลับไม่มีงบประมาณรายหัวลงไปเหมือนกับสิทธิบัตรทอง ดังนั้นประชากรแฝงในเขตเมืองที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จึงยังเข้าไม่ถึงการส่งเสริมป้องกันโรคโดยตรง เช่น หากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาตรวจวัดความดัน เจาะน้ำตาล หรือให้ยาต่างๆ กลุ่มเหล่านี้จะไม่ได้รับสิทธิแม้อยู่ในท้องที่

น.ส.กิ่งแก้ว กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาคือเด็กกลุ่มจี คือกลุ่มเด็กที่ไม่มีเลข 13 หลัก ซึ่งอาจเข้ามาพร้อมกับพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลใดๆ ทั้งยังพบว่าปัจจุบันมีเด็กกลุ่มนี้เยอะมากโดยเฉพาะในเขตเมือง ซึ่งเชียงใหม่มีเด็กกลุ่มจีที่อยู่ในระบบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 1.5 หมื่นคน จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายว่าประชากรแฝงในเขตเมืองนั้นไม่ใช่เพียงแรงงานข้ามชาติ แต่ยังหมายรวมถึงผู้ติดตามที่ไม่ปรากฎตัวอีกด้วย

น.ส.กิ่งแก้ว กล่าวอีกว่า ยังมีปัญหาเรื่องสถานพยาบาลที่รองรับสิทธิ ซึ่งในเขตเมืองกลับเข้าถึงยากที่สุด เพราะมีโรงพยาบาลที่รองรับแห่งเดียวคือ รพ.นครพิงค์ ฉะนั้นหากต้องใช้เวลาในการเดินทาง หรือรอการรักษาเป็นเวลานาน เขาจึงเลือกที่จะไม่ไป และใช้สถานพยาบาลโดยเสียเงินเอง เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติ แม้เขารู้ว่ามีโรงพยาบาลที่ให้การรักษา แต่ไม่สามารถไปในช่วงเวลาเปิดบริการได้ ก็ต้องเลือกไปสถานพยาบาลหรือคลินิกต่างๆ ที่จ่ายเงินเอง

“การป่วยหลายวันทำให้เขาขาดรายได้ ดังนั้นถ้าเขาใช้ยาแรงได้ก็จะเอาเลย เอาแบบฉีดวันเดียวหายทำงานต่อได้ ไม่ต้องกินยา เราจึงพบว่าสถานการณ์ของคนกลุ่มนี้ ยังอาจเป็นกลุ่มที่มีเสี่ยงเรื่องการดื้อยาจำนวนมาก เพราะใช้ยาแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอาจยังไม่เคยคุยกัน” น.ส.กิ่งแก้ว ระบุ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: