จับตา: ประเมิน 'ไวรัสโคโรนา' กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง?

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 ก.พ. 2563 | อ่านแล้ว 4195 ครั้ง


การระบาดของ 'ไวรัสโคโรนา' นอกเหนือจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยโดยตรงแล้ว ยังพบว่าอาจจะไม่ได้จำกัดวงเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องของเอเชียและไทยเท่านั้น ผลกระทบเริ่มลุกลามสู่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานโลก ภาคส่งออก ภาคเกษตรกรรม ภาคการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกมีความซับซ้อนมากขึ้นจากปัญหาดังกล่าว | ที่มาภาพประกอบ: Bloomberg

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2563 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่โคโรนาไวรัสได้ลุกลามสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ นอกจากภาคการท่องเที่ยวและกลายเป็นประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก คาดการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่โคโรนากระทบเศรษฐกิจโลกมากขึ้นจากยอดพุ่งกว่า 14,000 คนและมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น 304 คน ผ่านผลกระทบเริ่มลุกลามสู่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานโลก ภาคส่งออก ภาคเกษตรกรรม ภาคการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกมีความซับซ้อนมากขึ้นจากปัญหาดังกล่าว ค่อนข้างชัดเจนว่าผลกระทบไม่ได้จำกัดวงเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องของเอเชียและไทยเท่านั้น หลังจากมีการปิดเมือง ปิดโรงงาน ปิดสำนักงานของบริษัทต่างๆ ทั้งบริษัทจีนและบรรษัทข้ามชาติในจีน ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆที่มีฐานผลิตส่วนประกอบสำคัญในจีน เช่น การออกตัวไอโฟนรุ่นใหม่ต้องเลื่อนออกไปก่อน เป็นต้น

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนชะงักงันทำให้โรงงานอุตสาหกรรมในไทยบางส่วนหยุดผลิตชั่วคราว ทำให้เกิดการปิดงานในโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนเพิ่มขึ้น เช่น ล่าสุด มีการปิดโรงงานของบริษัทซีก้า นิว แมททีเรียลส์ (ประเทศไทย)จำกัด โดยไม่แจ้งพนักงงานทั้งหมดล่วงหน้า และ คนงานยังไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย เป็นต้น ส่วนผลกระทบต่อส่งออกในภาคเกษตรกรรมนั้น ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน มูลค่า ประมาณ 900,000 กว่าล้านบาท โดยสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง มูลค่า 64,535 ล้านบาท 2. ยางพารา มูลค่า 50,131.29 ล้านบาท 3. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 42,300.67 ล้านบาท 4. ข้าว มูลค่า 9,336 ล้านบาทและ 5. ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 6,858 ล้านบาท ผลกระทบระยะสั้นต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีนลดลง 1-2% กดราคาสินค้าเกษตรบางตัวในระยะ 2-3 เดือนปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ยังกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมค้าปลีกของไทย แต่ทำให้การค้าออนไลน์และธุรกิจจัดส่งสินค้าและโลจิสติกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก การปิดพรมแดนไม่ให้คนจีนเดินทางเข้าออกประเทศของบางประเทศ การยกเลิกเที่ยวบินเข้าออกจีนของสายการบินต่างๆของบางประเทศเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นสิทธิในการดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้เข้ามาในประเทศ แต่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์และเป็นประเด็นอ่อนไหวในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กรณีของไทยนอกจากการคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศจีนเข้าไทยแล้ว ในเบื้องต้น ต้องให้ชาวจีนที่เดินทางจากประเทศจีนต้องขอวีซ่าในช่วงนี้เป็นการชั่วคราวเพื่อให้อำนาจต่อรัฐไทยในการพิจารณาว่าจะให้เข้าประเทศหรือไม่ ส่วนการปิดพรมแดนหรือการยกเลิกเที่ยวบินเข้าออกจีนนั้นเช่นบางประเทศนั้นควรหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไปหากสถานการณ์แพร่ระบาดลุกลาม การประกาศให้ “การแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่โคโรนา” เป็นภาวะฉุกเฉินของโลก ช่วยทำให้การจัดการการแพร่ระบาดระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้ การปิดเมืองอาจก่อให้เกิดภาวะการขาดแคลนสินค้าจำเป็นเนื่องจากกระทบต่อการไหลเวียนของสินค้า สร้างความไม่พอใจของประชาชนจีนต่อรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่มขึ้น เกิดการตั้งคำถามต่อการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเพิ่มขึ้น ความไม่พอใจดังกล่าวของประชาชนอาจนำมาสู่ภาวะความตึงเครียดทางการเมืองในจีนได้

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวสรุปว่าสำหรับประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการบริหารจัดการภัยสาธารณะฉุกเฉินกันใหม่ทั้งระบบ หากไม่ดำเนินการไทยจะเผชิญหน้าความท้าทายจากโรคระบาดอุบัติใหม่ ผลกระทบจากภัยสิ่งแวดล้อมและความรุนแรงของภัยธรรมชาติได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ไทยมีความเสี่ยงมากขึ้นในการเผชิญภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีแรก และ อาจมีความจำเป็นมากขึ้นที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% ในการประชุมสัปดาห์นี้

เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกระทบเศรษฐกิจไทยปี 2563

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2563 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ประเมินผลกระทบจาก 5 ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ประกอบด้วย 1.ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กระทบท่องเที่ยว 2.การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่มีผลต่อความต้องการสินค้าไทยลดลง 3.ปัญหาภัยแล้ง 4.ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) และ 5.ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ คาดว่าทั้ง 5 ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจไทยรวมถึงกัน 226,700 ล้านบาท และได้มีผลกระทบต่อการขยายตัวจีดีพีลง 1.3% แต่ยังไม่ปรับลดประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ตั้งไว้ 2.8% เพราะต้องรอดูมาตรการรัฐบาลที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อน

สำหรับรายละเอียดของปัจจัยเสี่ยงที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยแบ่งเป็น

ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่มีผลกระทบท่องเที่ยว หากสามารถควบคุมการระบาดและท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวได้ในเดือน มี.ค.2563 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง 2.41 ล้านคน แบ่งเป็นจีน 1.84 ล้านคนและประเทศอื่น 0.57 ล้านคน รวมมูลค่าเสียหายต่อเศรษฐกิจ 117,300 ล้านบาท กระทบจีดีพี 0.67% แต่ถ้าหากสถานการณ์ลากยาวไปถึงเดือน พ.ค.นี้ จะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวภายใน 5 เดือนหลังจากนั้น และจะทำให้มีความเสียหาย 189,200 ล้านบาท กระทบจีดีพี 1.08%

ที่ผ่านมาทางการจีนได้ออกมาตรการที่เข้มข้นในการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เช่น การปิดเมือง การยกเลิกเที่ยวบินและรถโดยสาร การยกเลิกกรุ๊ปทัวร์ที่จะไปท่องเที่ยวต่างประเทศ การยกเลิกกิจกรรมฉลองตรุษจีนและขยายวันหยุดช่วงตรุษจีน

สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีจุดเริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562

ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยหากมีความล่าช้า 6 เดือน หรือสามารถเบิกจ่ายได้เดือน เม.ย.นี้ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อจีดีพี 77,500 ล้านบาท ทำให้จีดีพีลดลง 0.44% แต่หากล่าช้ากว่าปกติ 8 เดือน หรือเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 167,000 ล้านบาท หรือกระทบจีดีพี 0.96%

ผลกระทบจากไวรัสโคโรนาทำให้ความต้องการสินค้าไทยลดลง โดยมีการประเมินว่า การระบาดของไวรัสโคโรนา จะทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีจีนในปี 2563 ลดลง 0.5-1.0% จากเดิมที่คาดไว้ขยายตัวที่ระดับ 5.9% หรือขยายตัวอยู่ที่ 4.9-5.4%

การที่จีดีพีของจีนปรับตัวลดลงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงตามไปด้วย รวมทั้งส่งจะกระทบต่อเนื่องถึงความต้องการของสินค้าไทยลดลง โดยถ้าหากจีนสามารถควบคุมการระบาดได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในวงจำกัดเพียง 15,500 ล้านบาท มีผลต่อจีดีพี 0.09%

แต่หากว่าการควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างเป็นมูลค่า 36,700 ล้านบาท และกระทบจีดีพี 0.21%

ภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งหากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลา 1 เดือน และปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ต่ำกว่าปีก่อนประมาณ 10% จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ 10,200 ล้านบาท มีผลต่อจีดีพี 0.06% แต่หากสถานการณ์เกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน และปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำกว่าปีก่อนประมาณ 20% จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 21,800 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.12%

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในรูปแบบของค่าเสียโอกาสใน 4 ลักษณะ คือ ค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพของประชาชน เช่น ค่ากากอนามัย ค่าเครื่องฟอกอากาศ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

รวมถึงค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว ค่าเสียโอกาสของธุรกิจที่ทำในพื้นที่และค่าเสียโอกาสของภาครัฐในการใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหา โดยประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในกรณีที่สถานการณ์ฝุ่น พีเอ็ม 2.5 มีความรุนแรงไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 3,800 ล้านบาท กระทบจีดีพี 0.02 % แต่หากมีความรุนแรงไม่เกิน 1 เดือน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 6,200 ล้านบาท มีผลต่อจีดีพี 0.04%

“อีกปัจจัยที่ทำให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ยังไม่ปรับประมาณการณ์ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ชัดเจน เพราะอยู่ที่การควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเป็นไปได้ 2 ทางคือ จบเร็วคลายตัวและยืดเยื้อยาวนานก็เป็นไปได้ แต่เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นยอมรับว่าสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากแม้ว่าในอนาคตรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการเยียวยาต่างๆเข้าลดปัญหาความเดือดร้อนและพยุงเศรษฐกิจ แต่ความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจต่ำกว่า 2.5%“

ขณะนี้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวดูจากราคาน้ำมันที่อยู่ 59-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิม 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแน่ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในจีนจะทำจีดีพีของจีนลดลงเท่าไร ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะลดลง 0.5-1 % ก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาได้เร็วหรือไม่ การที่จีนมีภาวะเศรษฐกิจที่ลดลงทั้งการซื้อภายในและภายนอก แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเนื่องจากเศรษฐกิจจีนเป็นอันดับ 2 ของโลก

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล เช่น ทำตลาดเชิงรุกในตลาดนักท่องเที่ยวอื่นที่มีศักยภาพ ออกมาตรการฟรีวีซ่าในระยะสั้น และเพิ่มประเทศที่สามารถขอวีซ่า VOA ได้

รวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของงบเหลื่อมปีหรืองบค้างท่อ และเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเบิกจ่ายงบลงทุนเร็วขึ้น รวมถึงการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

ในขณะที่การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนควรพิจารณาปรับเพิ่มขึ้น เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนขยายการลงทุน และควรผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเอื้ออำนวยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น และบริหารจัดการให้เงินบาทอ่อนค่าใกล้เคียงระดับ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์

ผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยปี 2563

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ 'ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค 2019 Novel Coronavirus (n-CoV) ในจีน ต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยปี 2563 ... ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด' ระบุว่าจากการระบาดของเชื้อไวรัส 2019 Novel Coronavirus (n-CoV) ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงขณะนี้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจีนยังคงเพิ่มขึ้น มีผู้เสียชีวิต และพบผู้ติดเชื้อในอีกหลายประเทศในเอเชียซึ่งรวมถึงไทย และสหรัฐฯ ส่งผลตามมาให้ทางการจีนประกาศปิดการคมนาคมในเมืองอู่ฮั่นและอีกหลายเมืองในวันที่ 23 ม.ค. 2563 เพื่อควบคุมสถานการณ์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลจากการปิดท่าอากาศยานในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเกิดขึ้นก่อนเทศกาลตรุษจีน 1 วัน อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 3.55-3.58 แสนคน จากเดิมที่คาดไว้ที่ประมาณ 3.66 แสนคน

สำหรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส 2019 Novel Coronavirus (n-CoV) ในจีน ต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยทั้งปี 2563 เบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์เป็น 2 กรณี

กรณีที่ 1 การระบาดของเชื้อไวรัส 2019 Novel Coronavirus (n-CoV) อยู่ในกรอบระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน จากการที่ทางการจีนออกมาตรการขั้นสูงเพื่อควบคุมสถานการณ์อย่างรวดเร็ว และไม่มีการแพร่ระบาดในไทยและประเทศอื่นๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะจากเมืองอู่ฮั่น แต่น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยและการเดินทางท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่เป็นตลาดเป้าหมายของไทย ทำให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในปี 2563 น่าจะมีประมาณ 11.10-11.30 ล้านคน โดยกรอบล่างของประมาณการน่าจะสามารถรองรับได้

กรณีที่ 2 การระบาดของเชื้อไวรัส 2019 Novel Coronavirus (n-CoV) ขยายเวลาเป็นประมาณ 1-3 เดือน โดยทางการจีนอาจต้องใช้ระยะเวลาควบคุมสถานการณ์นานขึ้น กรณีนี้แม้ไม่พบการระบาดในไทยและประเทศอื่นๆ แต่อาจกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจจีน กำลังซื้อของประชาชนชาวจีน มีผลต่อบรรยากาศและความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนอาจเปลี่ยนจุดหมายไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัยหรือไม่มีข่าวเกี่ยวกับโรคดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในปี 2563 อาจลดลงเหลือประมาณ 10.94-10.77 ล้านคน หรือหดตัวประมาณ 0.5%-2.0%

​โดยรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส 2019 Novel Coronavirus (n-CoV) ในจีน น่าจะยังส่งผลจำกัดต่อการท่องเที่ยวไทยในปี 2563 เนื่องด้วยสถานการณ์ครั้งนี้ทางการจีนมีระบบการจัดการที่รวดเร็วและเข้มข้น ประกอบกับวิวัฒนาการทางการแพทย์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น และการสื่อสารที่ทั่วถึงทำให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยอาจจะยังไม่ยกระดับเท่ากับกรณีการแพร่ระบาดของโรค SARS ที่เกิดขึ้นนาน 6 เดือนจนส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวจีนและต่างชาติเที่ยวไทยหดตัวลงในปี 2546 อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบต่อไป

 

'ทิสโก้' ชี้หุ้นไทยลงรับข่าวโคโรน่าไปมากแล้ว หากตัวเลขผู้ติดเชื้อนิ่ง ดัชนีมีโอกาสดีดกลับเร็ว

3 ก.พ. 2563 นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่าสำหรับมุมมองเรื่องผลกระทบของการระบาดของไวรัสโคโรน่านั้น TISCO ESU ประเมินว่า การควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ น่าจะทำได้รวดเร็วกว่าการควบคุมการระบาดของโรค SARS ที่เกิดขึ้นในปี 2546 เนื่องจากเทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น และจีนมีบทเรียนจากโรค SARS แล้ว นอกจากนี้ ทางการจีนยังให้การตอบสนองอย่างรวดเร็วโดยได้แจ้งไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) ภายใน 23 วันหลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรก

ในขณะที่กรณีของโรค SARS จีนพยายามปิดข่าวและรอถึง 86 วันก่อนจะเปิดเผยถึงการระบาด นอกจากนี้ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ยังดูมีความรุนแรงน้อยกว่าโดยข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่าผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 3% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าโรค SARS ที่มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยวไทย โดยหากย้อนไปดูผลกระทบของการระบาดของโรค SARS ซึ่งมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 8,000 รายและเสียชีวิตเกือบ 800 รายทั่วโลกนั้น ได้ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยในช่วงไตรมาส 2/2546 หดตัวถึง 40% นำโดยนักท่องเที่ยวจีนที่มีจำนวนลดตัวลงแรงถึง 79%

"ในกรณีเลวร้ายหากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่ายังขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยรุนแรงกว่าการแพร่ระบาดของโรค SARS เนื่องจากนักท่องเที่ยวเอเชียที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากในอดีต โดยเฉพาะตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด จากปี 2545 ที่มีสัดส่วนเพียง 7%" นายคมศรกล่าว

สำหรับผลกระทบในด้านการลงทุนนั้น TISCO ESU ประเมินว่าราคาหุ้นไทยได้ปรับตัวลงมาสะท้อนผลกระทบไปมากแล้ว โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยกลุ่มท่องเที่ยว (SET TOURISM) ปรับลดลงมาประมาณ 18% นับจากวันที่มีการค้นพบโรค ในขณะที่ปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงที่โรค SARS แพร่ระบาดนั้น ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงเพียง 10% และหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มีแนวโน้มลดลงตลาดหุ้นไทยก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น จึงประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับลดลง (Downside) จำกัด โดยปัจจุบันนักลงทุนยังคงติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 3 - 4 วันที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 1,700-2,000 ราย/วัน หากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มนิ่ง และมีแนวโน้มกลับมาลดลง จะเป็นสัญญาณบวกที่จะทำให้ตลาดหุ้นดีดกลับได้อย่างรวดเร็ว

บล.เคทีบี ชี้ไวรัสโคโรนาฉุดหุ้นไทยเดือน ก.พ. 2563 ลงต่อ

3 ก.พ. 2563 นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST SEC กล่าวว่าภาวะตลาดหุ้นไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ยังถูกกดดันจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งยังต้องติดตามว่าจะยืดเยื้อแค่ไหนและระดับความรุนแรง โดยเฉพาะการติดเชื้อจากคนสู่คน ซึ่งหากเทียบกับการระบาดโรคซาร์สและโรคเมอร์สที่เคยเกิดขึ้น ตลาดหุ้นจะรับข่าวและถูกกดดันอย่างน้อย 60-90 วัน ดังนั้น การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยเดือนนี้ดัชนียังแกว่งตัวขาลง แต่อาจจะลดลงไม่มากเพราะสภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีสูงมาก และภาวะดอกเบี้ยต่ำมาก เมื่อตลาดหุ้นปรับลดลงก็มีแรงซื้อสลับ ดังนั้น จึงเชื่อว่าดัชนีที่แนวรับ 1,450 จุดน่าจะรับอยู่

“การระบาดของไวรัสโคโรนานั้น ประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบหนักกว่าหลายประเทศ เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเที่ยวไทยต่อปีมากถึง 11 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก ดังนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวชาวจีนหายไปจึงกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว การบริโภค รวมทั้งเศรษฐกิจไทย” นายวินกล่าว

สำหรับคำแนะนำการลงทุน ให้นักลงทุนย้ายกลุ่มมาลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล หุ้นปลอดภัย และหุ้นปันผลสูง รวมทั้งกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ หุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุส่งออกของไทยในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบ เพราะการส่งออกไปจีนไม่ได้

4 ก.พ. 2563 น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 จะเติบโตได้ 0-1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยังไม่รวมผลกระทบที่อาจเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1. การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในหลายประเทศทั่วโลก อาจส่งผลกระทบเชิงลบ เช่น 1.1 ภาคการท่องเที่ยว จะมีเม็ดเงินหายไปเกือบแสนล้านบาท 1.2 การลงทุนและการส่งออกของไทยในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบ เพราะการส่งออกไปจีนไม่ได้ ทำให้ Over Inventory เนื่องจากตลาดจีนมีสัดส่วนการส่งออกในปี 2562 กว่า 11.8% ของการส่งออกไทยไปทั่วโลก ทั้งนี้ สรท. ประเมินว่าการส่งออกของไทยไปจีนในไตรมาสแรกของปี 2563 อาจสูญรายได้หลายพันล้านบาท 1.3 การขนส่งสินค้าเข้าจีนบางสายเรือยังเปิดรับจองระวางไปเมืองอื่น (ยกเว้นอูฮั่น) แต่ศุลกากรปลายทางยังไม่อนุญาตให้เคลียร์สินค้าเข้าประเทศจีนได้ ทำให้สินค้ายังคงค้างอยู่ที่ท่าเรือปลายทาง และเมื่อเปิดบริการตามปกติ (คาดว่าหลังวันที่ 10 ก.พ. เป็นต้นไป) จะมีเรือและสินค้าจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในท่าเรือซึ่งอาจนำไปสู่การเรียกเก็บค่า Port Congestion Surcharge

2. กรณีค่าเงินบาทแข็งค่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอให้ผู้ประกอบการในประเทศเร่งนำเข้าวัตถุดิบมาสต็อกเตรียมการผลิต หากแต่วัตถุดิบบางรายการโดยเฉพาะสินค้าเกษตรถูกจำกัดด้วยมาตรการจำกัดการนำเข้า (หรือโควตา) อาทิ มะพร้าว หอมหัวใหญ่ กาแฟ ส่งผลกระทบภาคอุตสาหกรรมที่ไม่มีผลิตเพียงต่อผลิตเพื่อส่งออก 2.1 ปัญหาภัยแล้ง ที่คาดว่าปีนี้จะส่งผลรุนแรงกว่าที่ผ่านมา ย่อมส่งผลโดยตรงต่อผลิตทางการเกษตร ซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรมเรื่องวัตถุดิบในประเทศที่ไม่เพียงพอต่อการผลิต

3. ผลกระทบจากการออกมาตรการจำกัดการวิ่งของรถบรรทุกในการเข้าพื้นที่วงแหวนกาญจนาภิเษก และการห้ามวิ่งรถในวันคี่ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานนั้น ส่งผลต่อผู้ประกอบการ อาทิ ต้นทุนการขนส่งทางรถบรรทุกเพิ่มขึ้น ประมาณ 1,000 – 5,000 บาทต่อเที่ยวขนส่ง ประกอบกับปริมาณรถสะสมจำนวนมากจะไปถึงสถานที่ปลายทาง อีกทั้งส่งผลต่อการปฏิบัติงานขนส่งและความแออัดในประตูการค้าหลัก (บริเวณรอบท่าเรือและชุมชนรอบโรงงาน)

4. ความล่าช้าในการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขาดความต่อเนื่องในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอันเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มนักลงทุน ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงภาคประชาชน

ส่วนปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ 1. การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในหลายประเทศทั่วโลก อาจส่งผลกระทบเชิงบวก เช่น ไทยอาจได้รับอานิสงค์สำหรับ spot shipment จากลูกค้าของจีนหันมานำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากไทยเพื่อทดแทน 2. ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย เป็นโอกาสดีในระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการส่งออกในการประมาณการซื้อ forward rate ได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงช่วยดึงนักท่องเที่ยวชาติอื่นให้เข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ทดแทนนักท่องเที่ยวจีน 3. การลงนามความตกลง สหรัฐฯ และจีน ระยะแรก ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกทำให้บรรยากาศการค้าระหว่างประเทศผ่อนคลายมากขึ้น และ 4. การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปในช่วงที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1. เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต 1.1 สรท. สนับสนุนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 ม.ค. 2563 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต ดังต่อไปนี้ 1) ความเข้มงวดในการตรวจสอบตรวจจับรถยนต์ รถโดยสารและรถบรรทุก ควันดำอย่างเคร่งครัด 2) การออกคำสั่งห้ามการใช้รถที่มีมลพิษเกินมาตรฐานที่กำหนดมาใช้ในทางเดินรถ 3) การตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง หากตรวจสอบแล้วไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนด ให้สั่งปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ 4) การแก้ไขปัญหาการจราจรจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง โดยการคืนพื้นที่จากการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สาย ระยะทาง 500 กโลเมตร รอบกรุงเทพและปริมณฑล 5) การออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ควบคุมการเผาขยะมูลฝอย ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของตนเองหรือที่สาธารณะ และ 6) ข้อเสนออื่นๆ อาทิ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน รถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน การลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm การให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี

1.2 ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต ในระยะยาว 1) สนับสนุนผู้ประกอบการให้ปรับเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกพลังงานสะอาดให้มากขึ้น อาทิ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ลดต้นทุนประกันภัย และควรผ่อนผันให้รถบรรทุกที่ใช้พลังงานสะอาด อาทิ NGV และ B10 ซึ่งลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศสามารถเดินรถได้ตามปกติ 2) เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เข้า-ออก ท่าเรือหลักของประเทศเป็นอย่างน้อย 25% จากจำนวนตู้สินค้าทั้งหมด 3) ควรเร่งรัดการทำสัญญาสัมปทานสถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดีลาดกระบัง) เพื่อให้สามารถปรับปรุงบริหารจัดการทั้งการบำรุงรักษาพื้นที่และการจราจรภายในไอซีดี และ 4) ควรเร่งรัดดำเนินโครงการ Bangkok Port Warehouse Development ท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณสินค้าในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ

2. เรื่อง ปัญหาการจำกัดโควตานำเข้าสินค้า ขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องผ่อนคลายมาตรการนำเข้าวัตถุดิบ โดย 1) การกำหนดเพิ่มโควตานำเข้าวัตถุดิบบางรายการโดยเฉพาะสินค้าเกษตรเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะในปีนี้ที่คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงกว่าที่ผ่านมา 2) ผ่อนคลายกฎระเบียบในการขออนุญาตนำเข้าให้มีความสะดวกมากขึ้นในช่วง Short stock และ 3) เรื่อง หาตลาดใหม่ทดแทนตลาดจีนในระยะสั้น จากปัญหาโคโรน่าไวรัสทำให้จีนปิดเมืองสำคัญหลายเมืองทำให้การส่งออกสินค้าทั้งทางอากาศและทางเรือได้รับผลกระทบ ขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งหาตลาดทดแทนจีนในระยะสั้นโดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปจีน

สำหรับส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค. 2562 มีมูลค่า 19,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -1.28% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 573,426 ล้านบาท หดตัว -9.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าในเดือน ธ.ค. 2562 มีมูลค่า 18,559 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 563,799 ล้านบาท หดตัว -6.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือน ธ.ค. 2562 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 9,627 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันเดือน ธ.ค. ขยายตัว 1.2%)

ส่วนภาพรวมช่วงเดือน ม.ค.- ธ.ค. 2562 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 246,245 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 7,627,663 ล้านบาท หดตัว -5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 236,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 7,627,663 ล้านบาท หดตัว -5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2562 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 9,605 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 190,352 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันเดือน ม.ค.- ธ.ค. หดตัว -2.65%)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: