สกสว. เผยนักวิจัยจีนพบวัคซีนกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรค COVID-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2152 ครั้ง

สกสว. เผยนักวิจัยจีนพบวัคซีนกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรค COVID-19

นักวิจัยโครงการ 'สนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)' สกสว. เผยนักวิทยาศาสตร์จีนผลิตวัคซีน PiCoVacc ซึ่งเป็นวัคซีนประเภทวัคซีนเชื้อตายได้สำเร็จ และพบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรค COVID-19 ในลิงวอกได้

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 ดร. สิทธิพร ภัทรดิลกรัตน์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยโครงการ 'สนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)' สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่านักวิทยาศาสตร์ในประเทศจีน (บริษัท Sinovac Biotech Ltd., Beijing, China.) ได้ผลิตวัคซีน PiCoVacc ซึ่งเป็นวัคซีนประเภทวัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine) ได้สำเร็จ และพบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคโควิด-19 ในลิงสายพันธุ์ Rhesus Monkey หรือลิงวอกได้ วัคซีน PiCoVacc ได้มาจากการแยกเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ CN2 จากผู้ป่วยในประเทศจีน ซึ่งสายพันธุ์นี้มีความใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสโคโรน่าที่พบในค้างคาว โดยถูกแยกและนำมาเลี้ยงเพิ่มจำนวนในจานเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการ โดยใช้เซลล์ของมนุษย์เป็นเซลล์เจ้าบ้าน หลังจากที่ไวรัสถูกนำมาเลี้ยงและสามารถขยายพันธุ์ใน Vero cells (เซลล์เพาะเลี้ยงที่ได้จากไตของลิง) ได้ดี จึงนำมาเลี้ยงเพิ่มในถังเลี้ยงขนาดใหญ่ (Cell Factory System) จากนั้นนำไวรัสมาฆ่าให้ตายโดยผสมกับสาร β-propiolactone จากนั้นนำมาทำให้บริสุทธิ์ด้วยวิธี Depth Filtration และ Two Optimized Steps of Chromatography และได้วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตาย ชื่อว่า "PiCoVacc"

หลังจากที่ผลิตวัคซีน PiCoVacc เป็นที่เรียบร้อย นักวิทยาศาสตร์ได้นำวัคซีนไปทดสอบความปลอดภัยและศึกษาประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลอง 2 ชนิด

1. การทดสอบในหนูทดลอง นักวิทยาศาสตร์นำวัคซีน PiCoVacc ไปฉีดให้กับหนูทดลอง (Mus musculus สายพันธุ์ BALB/c) จำนวน 2 ครั้ง (วันที่ 0 และ วันที่ 7) ร่วมกับสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (adjuvant) ผลการศึกษาพบว่า หนูทดลองสร้างแอนติบอดี Immunoglobulin G (Ig G) ที่มีความจำเพาะต่อ S Protein ได้อย่างรวดเร็ว โดย IgG มีระดับสูงสุดภายในเวลา 6 สัปดาห์ และเมื่อนำ IgG จากเลือดหนูไปทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสในจานเพาะเชื้อ โดยใช้ Microneutralization Assays (MN50) พบว่าระบบภูมิคุ้มกันของหนูได้สร้าง Neutralizing Antibody (NA) หรือ แอนติบอดีที่ยับยั้งเชื้อไวรัสได้ภายในสัปดาห์แรกหลังจากได้รับวัคซีน

2. การทดสอบในลิง ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้นำวัคซีน PiCoVacc ไปฉีดให้กับลิงวอก (Macaca mulatta) จำนวน 3 ครั้ง (วันที่ 0, 7 และ 14) โดยแบ่งลิงเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ได้วัคซีนขนาดสูงต่อครั้ง หรือ high dose (6 ไมโครกรัม), กลุ่มที่ได้วัคซีนขนาดกลาง หรือ medium dose (3 ไมโครกรัม) และกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ผลการศึกษาพบว่า ลิงที่ได้รับวัคซีนเริ่มสร้าง IgG ที่จำเพาะต่อโปรตีน S และสร้างแอนติบอดีที่ยับยั้งเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 และระดับแอนติบอดีทั้งสองชนิดมีค่าสูงสุดภายในสัปดาห์ที่ 3 และเมื่อนำลิงที่ได้รับวัคซีนเเล้วไปรับละอองฝอยที่มีไวรัส SARS-CoV-2 (challenge infection) พบว่า ลิงที่ได้รับวัคซีนแบบ high dose มีภูมิคุ้มกันที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสในร่างกายได้หมดในเวลา 7 วัน โดยไม่พบเชื้อในคอหอย และปอด แสดงให้เห็นว่า วัคซีน PiCoVacc ป้องกันเชื้อโควิดได้อย่างความปลอดภัย

ขณะนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้นำ PicoVacc มาฉีดให้ประชาชนทั่วไป เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในมนุษย์ ตลอดจนศึกษาผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่เมษายน 2020 ที่ผ่านมา หากการทดสอบวัคซีนในขั้นที่ 1 ประสบความสำเร็จ (การทดสอบจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนธันวาคม 2020) ก็จะเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในขั้นที่ 2 และ 3 ต่อไปซึ่งต้องกินเวลาอีกอย่างน้อย 12–18 เดือน ถ้าวัคซีนได้ผลดี เราน่าจะมีวัคซีนอย่างเร็วที่สุดประมาณในปี 2022

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: