'ดีอีเอส' ให้ 'ทีโอที' เดินหน้าเอาสายสื่อสารลงดิน 48.7 กม. ภายใน 3 เดือน

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2048 ครั้ง

'ดีอีเอส' ให้ 'ทีโอที' เดินหน้าเอาสายสื่อสารลงดิน 48.7 กม. ภายใน 3 เดือน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระบุเมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2563 ถึงผลหารือ เรื่องการนำสายสื่อสารลงใต้ดินพื้นที่กรุงเทพ ได้ข้อสรุปให้ทีโอที ดำเนินการในพื้นที่ที่ทีโอที พร้อมให้บริการได้ทันที คือ 12 เส้นทาง จำนวน 48.7 กิโลเมตร ตามที่ทีโอทีเสนอว่าพร้อมดำเนินการได้ภายใน 3 เดือน โดยไม่ต้องทำจุดเชื่อมต่อจากท่อใต้ดินสู่ริมฟุตบาทเพื่อเข้าไปยังบ้านเรือนประชาชน

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2563 ว่านายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่าการหารือเรื่องการนำสายสื่อสารลงใต้ดินพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวงไม่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้า และไม่มีสภาพบังคับ ระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), กรุงเทพมหานคร และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) ได้ข้อสรุปว่า ให้ทีโอที ดำเนินการในพื้นที่ที่ทีโอที พร้อมให้บริการได้ทันที คือ 12 เส้นทาง จำนวน 48.7 กิโลเมตร ตามที่ทีโอทีเสนอว่าพร้อมดำเนินการได้ภายใน 3 เดือน โดยไม่ต้องทำไรเซอร์ หรือ จุดเชื่อมต่อจากท่อใต้ดินสู่ริมฟุตบาท เพื่อเข้าไปยังบ้านเรือนประชาชน

ทั้งนี้มติของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) มีมติให้ทีโอทีดำเนินการได้ หากพิสูจน์ได้ว่ามีท่อร้อยสายพร้อมใช้งาน ส่วนกรุงเทพมหานครเองก็มีแผนต้องทำท่อร้อยสายเพื่อวางสายเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น สายกล้องวงจรปิด สายแจ้งเตือนภัยต่างๆ เป็นต้น ส่วนพื้นที่ไหน ที่ทีโอทีต้องชุดใหม่ กรุงเทพมหานคร ไม่อนุญาตให้ทีโอทีขุดเพิ่ม เว้นแต่พื้นที่ขุดทำไรเซอร์ ก็สามารถทำเรื่องขอกรุงเทพมหานคร ขุดเป็นพื้นที่ๆไป ทั้ง กทม และ ทีโอที ก็ต่างคนต่างดำเนินการ ขึ้นอยู่กับเอกชนว่าจะใช้บริการของใคร ส่วนเส้นทางที่เหลือทีโอทีต้องสำรวจก่อนว่าสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องขุดท่อใหม่หรือไม่ เพราะหากต้องขุดท่อใหม่กทม จะไม่อนุญาตให้ทำ

ด้าน พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. จำเป็นต้องเดินหน้าตามมติบอร์ดดีอีและมติครม.ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมติครม.ให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 ปี แต่ กทม ก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้เป็นเวลา 8-9 เดือน ซึ่งกทม.ก็เร่งดำเนินการอยู่และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาขุดท่อร้อยสายเรียบร้อยแล้ว กทม เองก็มีแผนในการนำสายเกี่ยวกับความมั่นคงลงใต้ดิน อยู่แล้ว ก็ต้องเดินหน้า และ กทม ก็ไม่ได้ยังคับให้เอกชนต้องมาใช้งานของกทม เพียงแต่กทม.ต้องการผู้เช่าระยะยาว 30 ปี เพราะด้วยเทคโนโลยีใหม่ สามารถหาผู้เช่าระยะยาวได้ ไม่ต้องซ่อมบำรุงบ่อยๆ ดังนั้นพื้นที่ไหนที่ต้องขุดพื้นถนน กทม จะไม่อนุญาตให้ขุด และ การเดินทางไปดูจุดให้บริการท่อร้อยสายนำร่องที่ทีโอทีจะพาไปสำรวจนั้น ตนขอไม่เดินทางไปดูด้วย เพราะเป็นพื้นที่ที่มีหลายโครงการอยู่ในพื้นที่ หากเดินทางไปดูอาจจะมีปัญหาภายหลังได้

ขณะที่นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาองค์กร และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าทีโอที ได้ทำแผนที่ดิจิทัล เพื่อระบุถึงพื้นที่ที่ทีโอทีมีท่ออยู่ในกทม. จำนวน 2,500 กิโลเมตร ให้กับ กรุงเทพมหานครสามารถเข้ามาดูได้ตลอดเวลาแล้ว โดยภายในสัปดาห์หน้าทีโอทีสามารถดำเนินการได้ทันที 12 เส้นทาง จำนวน 48.7 กิโลเมตร ซึ่งสถานที่นำร่องที่ทีโอทีสามารถดำเนินการได้ทันทีนั้น ล้วนเป็นสถานที่ที่ไม่ต้องขุดไรเซอร์ หรือ จุดเชื่อมต่อสายจากใต้ดินขึ้นมาสู่พื้นดินตรงหน้าริมฟุตบาทสำหรับเชื่อมไปยังอาคารบ้านเรือนผู้ใช้งาน เนื่องจากทีโอทีมีอยู่แล้ว ซึ่งใน 1 ซับดัก สามารถนำสายสื่อสารร้อยลงไปได้ 2-3 เส้น

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าในส่วนของเงินสนับสนุนค่าเช่าท่อร้อยสายนั้นจะมีการนำเสนอบอร์ดดีอีเพื่อนำเงินจากกองทุนยูโซ่มาสนับสนุนร้อยละ 50 เพื่อแบ่งเบาภาระให้เอกชนที่ต้องนำสายที่เคยพาดบนเสาไฟฟ้าลงใต้ดิน แต่จะไม่ช่วยค่าเช่าสำหรับสายโทรคมนาคมเส้นใหม่ เช่น สาย 5G เพราะเป็นต้นทุนที่เอกชนต้องคำนวนไว้อยู่แล้วตอนประมูลคลื่น ขณะที่ กทม.เองก็ต้องตั้งงบประมาณในการช่วยเหลือเงินค่าเช่ามาด้วยเพราะกทม.เองก็สามารถเบิกงบประมาณมาได้ ดังนั้นกสทช.จะสนับสนุนเงินให้ กทม.ไม่เต็มร้อยละ 50 ส่วนจะเป็นสัดส่วนเท่าไหร่นั้นต้องหารือกับอีกครั้ง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: