เผยแนวปฏิบัติ 'งด-ลดค่าปรับ ขยายเวลา' คู่สัญญาภาครัฐที่ได้รับผลกระทบ COVID-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 6214 ครั้ง

เผยแนวปฏิบัติ 'งด-ลดค่าปรับ ขยายเวลา' คู่สัญญาภาครัฐที่ได้รับผลกระทบ COVID-19

กรมบัญชีกลางออกแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณางดหรือลดค่าปรับ หรือการขยายระยะเวลาทำการ มุ่งสร้างความเป็นธรรมให้แก่คู่สัญญา ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

ช่วงต้นเดือน ก.ย. 2563 นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้ซ้อมความเข้าใจการบริหารสัญญากรณีที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ว่าเหตุดังกล่าวถือเป็นเหตุสุดวิสัย ตามมาตรา 102 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งหน่วยงานของรัฐสามารถนำเหตุดังกล่าวไปพิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลงให้แก่คู่สัญญาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าวได้ แต่เนื่องจากในระยะเวลาที่ผ่านมาคู่สัญญาที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคโควิด 19 ได้ขอให้หน่วยงานของรัฐพิจารณางดหรือลดค่าปรับหรือขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลงให้กับคู่สัญญา แต่หน่วยงานของรัฐก็ไม่สามารถที่จะคำนวณระยะเวลาที่คู่สัญญาได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงได้ เป็นผลให้เมื่อคู่สัญญาส่งมอบงาน หน่วยงานของรัฐก็ได้ดำเนินการคิดค่าปรับและหักค่าปรับออกจากค่าพัสดุหรือค่าจ้างที่จะต้องชำระสำหรับการชำระเงิน ในงวดนั้น ๆ ทันทีโดยไม่ได้หักระยะเวลาที่คู่สัญญามีสิทธิที่จะได้รับการงดหรือลดค่าปรับนั้น จึงอาจเป็นเหตุให้คู่สัญญาไม่ได้รับความเป็นธรรม

เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีการปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 182 และซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลง ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคโควิด 19 ดังนี้

1. กรณีสัญญากำหนดแบ่งการชำระเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างออกเป็นหลายงวด และสัญญาได้ครบกำหนดส่งมอบพัสดุแล้ว แต่คู่สัญญายังมิได้ส่งมอบพัสดุในงวดสุดท้าย เนื่องจากมีเหตุที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคโควิด 19 เกิดขึ้น และเป็นผลให้สัญญามีค่าปรับ ให้ดำเนินการดังนี้
1.1 หากเหตุยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ไม่อาจกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดได้แน่นอน และคู่สัญญาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าวอาจไม่สามารถแจ้งเหตุภายใน 15 วัน นับถัดจากวันที่เหตุนั้นได้สิ้นสุดลง ดังนั้น เพื่อให้คู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินตามสัญญา จึงยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบฯ ข้อ 182 โดยให้คู่สัญญาแจ้งความประสงค์จะของดหรือลดค่าปรับอันเนื่องจากเหตุดังกล่าว ยังไม่สิ้นสุดต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่อาจกำหนดจำนวนวันที่จะขอแจ้งเหตุเพื่องดหรือลดค่าปรับได้ พร้อมทั้งให้หน่วยงานของรัฐจ่ายเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างตามสัญญาโดยยังไม่หักค่าปรับออกจากคำพัสดุหรือค่าจ้างสำหรับการจ่ายเงินในงวดนั้น ๆ ทั้งนี้ เมื่อเหตุ ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรดโควิด 19 ได้สิ้นสุดลงแล้ว ให้ดำเนินการตามข้อ 2 ต่อไป
1.2 หากเหตุดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว และหน่วยงานของรัฐสามารถพิจารณาจำนวนเงินค่าปรับได้ ให้หักค่าปรับออกจากค่าพัสดุหรือค่าจ้างสำหรับการจ่ายเงินในงวดนั้น ๆ โดยให้ดำเนินการตามข้อ 2 ต่อไป

2. กรณีสัญญากำหนดแบ่งการชำระเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างเป็นงวดเดียวหรือกรณีที่คู่สัญญาส่งมอบพัสดุในงวดสุดท้าย ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง

3. จากการที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และได้ขยายระยะเวลาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกหรือไม่ จึงไม่อาจกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดได้แน่นอน ดังนั้น จึงให้ถือว่าวันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นวันที่คู่สัญญาได้รับผลกระทบ หรือมีปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน หรือไม่สามารถปฏิบัติงานตามสัญญา และเป็นวันเริ่มต้นของการนับระยะเวลา การให้ความช่วยเหลือเป็นตันมา จนกว่าคู่สัญญาสามารถปฏิบัติงานตามสัญญาได้ตามปกติโดยไม่มีผลกระทบจากโรคโควิด 19 แต่อย่างใด

4. สำหรับหลักฐานหรือเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐ ให้พิจารณาจากเอกสารหรือหลักฐาน เช่น (1) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งประกาศที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ หรือประกาศจังหวัดที่เกี่ยวกับการจำกัดการเดินทาง เป็นต้น (2) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ผลิตมีการยกเลิกสายการผลิตของสินค้านั้น (3) หนังสือที่คู่สัญญาแจ้งเหตุให้หน่วยงานของรัฐทราบพร้อมทั้งรายละเอียดการชี้แจง ข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้องจากคู่สัญญา (4) รายงานผู้ควบคุมงานกรณีงานก่อสร้าง เป็นต้น” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: