เปิดรายละเอียด MOU สำรองน้ำเฉพาะกิจฤดูฝนปี 2563 พื้นที่ EEC

ทีมข่าว TCIJ | 20 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 5910 ครั้ง

‘การประปา-ภาคอุตสาหกรรม-บริษัท East Water-ตัวแทนภาคเกษตรกร’ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ‘สำรองน้ำเฉพาะกิจฤดูฝนปี 2563 (ก.ย-ต.ค. 2563) พื้นที่ EEC’ ต้องไม่ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำปะแกต ลงมาอย่างเด็ดขาด ยกเว้นกรณีพร่องน้ำรับฝนที่คาดการณ์จะตกทำให้น้ำล้นอ่างฯ เกินควบคุม - น้ำเหนือฝายทดน้ำในคลองวังโตนด ต้องเต็มทุกฝาย โดยเฉพาะที่ฝายวังใหม่ระดับน้ำต้องไม่น้อยกว่า +16.00 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง หากมีระดับต่ำกว่าต้องหยุดการสูบน้ำทันที - ทั้งนี้ตามแผนจัดหาน้ำให้ EEC ปี 2569 จะใช้น้ำเพิ่มขึ้น 781 ล้านลบ.ม. ปี 2579 1,000 ล้านลบ.ม. | ที่มาภาพประกอบ: กรุงเทพธุรกิจ

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2563 นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะทำงานบริหารจัดการน้ำ ภาคตะวันออก เปิดเผยว่าคณะทำงานบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก พร้อมด้วย นายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 9 นายวิทวัฒน์ วันทนียกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจันทบุรี นายกิตติธัช เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ผศ.เจริญ ปิยารมณ์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำแม่น้ำวังโตนด นายพีระศักดิ์ สนั่นเครื่อง นายอำเภอแก่งหางแมว นายโชคชัย มนตร์อมรเชษฐ์ กรรมการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายวิทยา สามสุวรรณ ผู้อำนวยการประปาส่วนภูมิภาคเขต 1 ตัวแทนภาคอุตสาหกรรม ตัวแทนภาคเกษตรกร บริษัท East Water และภาคเอกชน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมชลประทาน และคณะทำงานลุ่มน้ำแม่น้ำวังโตนด ณ สถานีสูบน้ำบ้างวังประดู่ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เพื่อดำเนินการสูบผันน้ำส่วนเกินที่ไหลทิ้งทะเลในคลองวังโตนด จ.จันทบุรี มาเก็บในอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง สำรองน้ำเฉพาะกิจฤดูฝนปี 2563 สำหรับรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เปิด MOU 2 ข้อสำคัญ ผันน้ำเข้า EEC

‘การประปา-ภาคอุตสาหกรรม-บริษัท East Water-ตัวแทนภาคเกษตรกร’ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ‘สำรองน้ำเฉพาะกิจฤดูฝนปี 2563 พื้นที่ EEC’ เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2563

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ คณะทำงานพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานอนุกรรมการ ได้มอบหมายให้วางแผนการพัฒนาและบริหารการจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อทุกภาคส่วนเพื่อรองรับฤดูแล้งปี 2563/64 ตามข้อสั่งการของประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด มีมติไม่ขัดข้องให้ดำเนินการสูบน้ำได้ในช่วงฤดูฝน ก.ย-ต.ค. 2563 โดยเริ่มทดลองเดินเครื่องตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

  1. ต้องไม่ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำปะแกต ลงมาอย่างเด็ดขาด ยกเว้นกรณีพร่องน้ำรับฝนที่คาดการณ์จะตกทำให้น้ำล้นอ่างฯ เกินควบคุม
  2. น้ำเหนือฝายทดน้ำในคลองวังโตนด ต้องเต็มทุกฝาย โดยเฉพาะที่ฝายวังใหม่ระดับน้ำต้องไม่น้อยกว่า +16.00 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง หากมีระดับต่ำกว่าต้องหยุดการสูบน้ำทันที

ด้วยระบบสูบผันน้ำแม่น้ำวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นระบบสูบผันน้ำขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยเครื่องสูบน้ำขนาด 0.625 ล้านลูกบาศก์เมตร/วินาที จำนวน 9 เครื่อง (สูบ 8 สำรอง 1) โดยมีท่อขนาด 1.80 เมตร ความยาว 45.7 กิโลเมตร สูบผันน้ำจากสถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ ตำบลสามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เติมลงสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาได้รับน้ำใจจากชาวลุ่มน้ำวังโตนดและชาวจันทบุรี แบ่งปันน้ำไปให้ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์ในช่วงวันที่ 1-25 มี.ค. 2563 ได้ปริมาณน้ำ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือวิกฤตฤดูแล้งที่ผ่านมาให้ผ่านพ้นไปได้

ลุ่มน้ำคลองวังโตนด พื้นที่ที่จะถูกดึงน้ำไปให้กับ EEC (ภาพจากพื้นที่บางส่วนเมื่อปี 2559) ใน MOU นี้ ระบุไว้ว่าน้ำเหนือฝายทดน้ำในคลองวังโตนด ต้องเต็มทุกฝาย โดยเฉพาะที่ฝายวังใหม่ระดับน้ำต้องไม่น้อยกว่า +16.00 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง หากมีระดับต่ำกว่าต้องหยุดการสูบน้ำทันที| ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์

อย่างไรก็ดี สำหรับการสูบผันน้ำส่วนเกินที่ไหลทิ้งทะเลในคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี มาเก็บในอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง สำรองน้ำเฉพาะกิจ ฤดูฝน ปี 2563 ระหว่าง กรมชลประทาน และคณะทำงานลุ่มน้ำแม่น้ำวังโตนด เป็นการบำรุงรักษาระบบสูบผันน้ำขนาดใหญ่ให้มีความมั่นคง และป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนดอันเกิดจากน้ำส่วนเกินที่จะไหลลงสู่แม่น้ำวังโตนดและสูญเสียลงสู่ทะเล เพื่อให้เกิดประโยชน์ของทรัพยากรน้ำอันสูงสุด จึงได้เกิดความเข้าใจร่วมกันให้ดำเนินการสูบผันน้ำส่วนเกินที่ไหลลงสู่แม่น้ำวังโตนด มาเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อสร้างความมั่นคงสำรองน้ำในช่วงฤดูฝนเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในปีต่อไป [1] [2]

ตามแผนจัดหาน้ำให้ EEC ปี 2569 ใช้น้ำเพิ่มขึ้น 781 ล้านลบ.ม. ปี 2579 1,000 ล้านลบ.ม.

ข้อมูลจาก กรมชลประทาน ระบุว่าพื้นที่ 4 ลุ่มน้ำในภาคตะวันออกจะมีน้ำท่าเฉลี่ยปีละ 26,081 ล้านลบ.ม. สามารถเก็บกักได้ 2,556.92 ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ 9.8 ของน้ำท่า ปัจจุบันใน 3 จังหวัด เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คือ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ 1,308.89 ล้านลบ.ม. จากแหล่งเก็บกักน้ำ 79 แห่งสามารถรองรับความต้องการใช้น้ำด้านอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมและการชลประทานได้อย่างเพียงพอ ซึ่งปริมาณที่สามารถจัดสรรน้ำให้ภาคอุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภคได้ 427 ล้านลบ.ม. (ปริมาณน้ำดังกล่าวเหลือจากเมื่อส่งน้ำให้ภาคการเกษตรและนิเวศอย่างเพียงพอแล้ว)

หลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 4 ม.ค. 2560 และ 6 ก.พ. 2561 เห็นชอบในแผนการจัดหาน้ำต้นทุนที่กรมชลประทานได้จัดทำแผนรองรับพื้นที่อีอีซี ในระยะเวลา 10 ปี โดยได้ดำเนินการจัดหาน้ำต้นทุนตามแผน เพื่อให้สอดคล้องกับภาพใหญ่ของนโยบาย และเมื่อคาดการณ์ความต้องการน้ำที่จะเพิ่มขึ้นภายใต้โครงการ EEC พบว่าในปี 2569 เพิ่มขึ้น 781 ล้านลบ.ม. และในปี 2579 จะต้องการน้ำเพิ่มขึ้นถึง 1,000 ล้านลบ.ม.

ปี 2557 ถึงปี 2580 ในพื้่นที่ EEC กรมชลประทานได้มีการก่อสร้างโครงการสำคัญมากขึ้น เช่น การเพิ่ม การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จ.ระยอง ทำให้ได้ความจุเพิ่ม 71 ล้านลบ.ม. และมีการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จ.จันทบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำคลองประแกต และกำลังก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และเมื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนด ทำให้สามารถผันน้ำไปช่วยพื้นที่ EEC ได้ 70 ล้านลบ.ม.

โดยมีแผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนภายในประเทศให้สมดุลกับการเติบโตของภาคเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมได้น้ำ 245 ล้านลบ.ม.เป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ภาคประชาชน ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งมีตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ร่วมด้วย เนื่องจากการสร้าง การขยาย การต่อเติมอ่างเก็บน้ำต้องได้รับความยินยอมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในทุกจังหวัดนั้น จะต้องเป็นการตกลงร่วมกันและเป็นที่ยินยอมจากทุกฝ่ายในการบริหารน้ำทั้งฤดูฝนและแล้ง ต้องจัดหาน้ำเพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำบริโภค อุปโภค รวมถึงใช้เพื่อการเกษตร อุตสาหกรรมต่าง ๆ และกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม ตรงตามความต้องการทั่วถึงทุกพื้นที่

ในส่วนของพื้นที่ EEC ตามมติคณะรัฐมนตรีแผนของกรมชลประทานได้น้ำ 277 ล้านลบ.ม.แล้ว และตามมติครม.มีแผนงานป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่สำคัญของ EEC และจะมีการพัฒนาแหล่งน้ำของเอกชน+สระทับมาอีก 77 ล้านลบ.ม.ทำให้ได้น้ำเพิ่มอีก 354 ล้านลบ.ม.ในปี 2569 ซึ่งจะเพียงพอสำหรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ในปี 2563 ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรม ต้องมีการบำบัดน้ำหรือนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในกิจกรรมอื่น ๆ หรือนำน้ำที่บำบัดไปใช้กับภาคการเกษตร สวนผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน หรือมังคุด หรือการสนับสนุนให้นำหลัก 3R มาใช้ ได้แก่ Reduce Reuse Recycle การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในภาคารเกษตรสามารถนำระบบหยดน้ำ มาใช้ เพื่อให้เกิดการประหยัดน้ำ จะทำให้การใช้น้ำจะสามารถขยายพื้นที่รับประโยชน์ไปได้อีกมากหรือการปลูกข้าวที่เป็นพื้นที่ใช้น้ำมาก มีการพัฒนาเทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งเพื่อการลดการใช้น้ำได้ถึงร้อยละ 20-50 ก็เป็นการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าอีกทางหนึ่ง [3]  

ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่โครงการสำคัญ ผลักดันโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รองรับพื้นที่ EEC

ขณะนี้กำลังมีการศึกษาวิธีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลอยู่ 3 รูปแบบ เพื่อผลิตน้ำจืดรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) | ที่มาภาพประกอบ: New Atlas

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2563 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่โครงการสำคัญ ครั้งที่ 3/2563  ติดตามการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 6 ด้าน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำว่า รัฐบาลได้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ โดยมุ่งเน้นให้มีการดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง ที่สำคัญคือต้องมีทรัพยากรน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค การทำเกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมถึงการดูแลระบบนิเวศ การกักเก็บแหล่งน้ำต้นทุน และต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า

โอกาสนี้ ที่ประชุมมีมติรับทราบแผนการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ 557 โครงการ ได้รับงบประมาณดำเนินการแล้ว 31 โครงการ ยังเหลือ 526 โครงการที่ต้องเร่งรัดให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นไป  แบ่งการขับเคลื่อนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จำนวน 182 โครงการ  กลุ่ม 2 โครงการที่เตรียมเสนอ กนช. รายโครงการ จำนวน 131 โครงการ และ กลุ่ม 3 โครงการที่ต้องรายงานความก้าวหน้าต่อ กนช. จำนวน 244 โครงการ ซึ่งได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการผ่านแอปพลิเคชัน Application Thai Water Plan เพื่อให้เป็นการรวมศูนย์ของฐานข้อมูล

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการคณะทำงานทางเทคนิคการพัฒนาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี  โดยได้ศึกษาวิธีการผลิตน้ำจากจากน้ำทะเลด้วยเทคโนโลยี 3 รูปแบบด้วยกัน รูปแบบที่ 1 คือ การบำบัดขั้นต้น (Pre-Treatment) ประกอบไปด้วย Multimedia Filtration (MF) Ultrafiltration (UF) และ Ceramic Filtration รูปแบบที่ 2 คือ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) ได้แก่ Thermal Desalination และ Membrane Desalination หรือ Reverse Osmosis (RO) และ รูปแบบที่ 3 คือ การจัดการของเหลวจากระบบ (Brine Management) ได้แก่ การเจือจางของเหลว (Dilution) Membrane Brine และ กำจัดของเหลวให้เหลือศูนย์ (Zero Liquid Discharge : ZLD) เพื่อรองรับการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC ในอนาคต โดยรองนายกรัฐมนตรีย้ำให้มีการศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อม และเร่งรัดให้มีการจัดทำ Road Map เพื่อให้มีการพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องของการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือ PPP รวมถึงการลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อลดต้นทุนในการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วย

สำหรับพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2565 ของหน่วยงาน ทั้งหมด 6 โครงการ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จังหวัดเชียงราย และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง และเห็นชอบในหลักการสถานีสูบน้ำดิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จังหวัดปัตตานี  สำหรับโครงการอื่นๆ ให้นำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป [4]

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] กรมชลฯ MOU ผันน้ำคลองวังโตนดเติมอ่างฯประแสร์ สร้างความคงด้านน้ำพื้นที่ EEC (สยามรัฐ, 10 ก.ย. 2563)
[2] ข่าวประชาสัมพันธ์: ชป. ลงนามบันทึกข้อตกลงสำรองน้ำเฉพาะกิจฤดูฝนปี 2563 หวังสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจ EEC (กรมชลประทาน, 14 ก.ย. 2563)
[3] กรมชลฯเปิดแผนจัดการน้ำอีอีซี 10 ปี (กรุงเทพธุรกิจ, 11 ก.ย. 2563)
[4] รอง นรม. พลเอก ประวิตรฯ ผลักดันโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รองรับพื้นที่ EEC (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 18 ก.ย. 2563)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดแผนผันน้ำป้อน EEC - นักวิจัยเร่งศึกษาสมดุล ตั้งเป้าลดการใช้น้ำลง 15%
จับตา: ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: