Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์อุตสาหกรรมเหล็กไทยเผชิญความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญทั้งด้านอุปสงค์และราคา จากผลกระทบของ COVID-19 แนะผู้ประกอบการควรเร่งปรับตัว | ที่มาภาพประกอบ: ผู้จัดการออนไลน์
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2563 Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เผยแพร่บทวิเคราะห์ 'EIC มองอุตสาหกรรมเหล็กไทยเผชิญความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญทั้งด้านอุปสงค์และราคา จากผลกระทบของ COVID-19 แนะผู้ประกอบการควรเร่งปรับตัว' ประเมินว่า การระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กของไทยผ่าน 3 ช่องทางได้แก่
1. อุปสงค์การใช้เหล็กในปี 2020 ของไทยคาดลดลงประมาณ 10%YOY มาอยู่ที่ 16.7 ล้านตัน โดยแบ่งเป็น เหล็กทรงแบนหดตัว 14%YOY มาแตะที่ระดับ 10 ล้านตัน จากผลของการผลิตรถยนต์และการก่อสร้างภาคเอกชนที่หดตัว เนื่องจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ประชาชนชะลอการใช้จ่ายและภาคธุรกิจมีแนวโน้มลงทุนลดลง ขณะที่เหล็กทรงยาวคาดปรับตัวลงเล็กน้อย 3.5%YOY มาอยู่ที่ 6.7 ล้านตัน เนื่องจากยังได้รับอานิสงส์จากงานก่อสร้างโครงการภาครัฐช่วยพยุงไว้
2. ความเสี่ยงจากภาวะอุปทานหยุดชะงัก (Supply disruption) การบริโภคเหล็กขั้นปลายของไทยรวมถึงวัตถุดิบ เช่น เหล็กขั้นกลาง เศษเหล็ก จำเป็นต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคเหล็กทรงแบนขั้นปลายซึ่งมีการนำเข้าในสัดส่วนที่สูงถึงราว 75% อย่างไรก็ดี EIC มองว่า ความเสี่ยงโดยรวมยังไม่มากนัก เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ สามารถควบคุมสถานการณ์ COVID-19 จนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงปกติในปัจจุบัน
3. ราคาเหล็กมีแนวโน้มลดลง โดยราคาเฉลี่ยปี 2020 ของเหล็กทรงแบนคาดมีแนวโน้มหดตัว 9%YOY มาอยู่ที่ 18.0 บาท/กก. ขณะที่เหล็กทรงยาวคาดปรับตัวลดลง 7%YOY มาอยู่ที่ 18.3 บาท/กก. ตามทิศทางราคาเหล็กจีนและประเทศแถบเอเชียตะวันออกที่ถูกกดดันจากความต้องการใช้เหล็กและราคาวัตถุดิบที่ลดลง อย่างไรก็ดี ราคาเหล็กในจีน มีโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 จากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในจีน ซึ่งอาจส่งผลกับราคาเหล็กในไทย เนื่องจากไทยพึ่งพาการนำเข้าเหล็กจากจีนในปริมาณที่ค่อนข้างสูง
EIC เสนอ 3 แนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการเหล็กภายใต้ภาวะที่ปัจจัยลบรุมเร้า ได้แก่
1. การบริหารสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับเหมาะสมรวมถึงการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
2. การมองหาตลาดส่งออกใหม่ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่มากนัก เช่น กลุ่มประเทศ CLMV อย่างไรก็ดี การส่งออกเหล็กไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ยังมีสัดส่วนที่ไม่สูงมากนักจึงอาจบรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วนการพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบและคุณภาพที่สามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น
3. การพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบและคุณภาพที่สามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ