เสียงสะท้อนของหญิงแรงงานข้ามชาติในไทยจากสถานการณ์โควิด 19

กนกวรรณ มีพรหม และ ปวีณา หมู่อุบล | 21 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 4904 ครั้ง


“อยากกลับบ้าน แต่กลับไม่ได้ ถ้าไปทำงานตอนนี้ ก็ไม่คุ้ม”
ซินหม่า ทวน (สัมภาษณ์ 30 พฤษภาคม 2563)

คำพูดจากปากหญิงแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่สะท้อนให้เห็นภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ของชนชั้นแรงงานในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด 19 ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดนี้เช่นเดียวกัน หากแต่ด้วยการมีสถานะ “มนุษย์ล่องหน” ทำให้แรงงานข้ามชาติฟันเฟืองสำคัญอันหนึ่งในทางเศรษฐกิจพบกับความเสี่ยงทางการงานและการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งการเรียกร้องสิทธิต่อรัฐและนายจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่สมควรจะได้รับตามบทบาท หน้าที่ ก็เป็นไปได้ยาก (อานันท์ กาจนพันธุ์ และชัยพงษ์ สำเนียง 2557) อุปสรรคของคนกลุ่มนี้จึงมิได้มีเพียงการถูกพักงานหรือเลิกจ้าง แต่หมายรวมถึงความยากลำบากในการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพียงเพราะพวกเขาไม่ได้เป็นผู้ถือ สัญชาติไทย

เนื่องจากผู้เขียนมีโอกาสได้ลงพื้นที่พูดคุยสอบถามหญิงแรงงานข้ามชาติกลุ่มหนึ่งในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งพักอาศัยอยู่ร่วมกันภายในทาวนเฮ้าส์ขนาดสองคูหาที่แบ่งเป็น 17 ห้องพัก พบว่าหญิงแรงงานกลุ่มนี้อยู่ในสถานะว่างงานมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพราะนายจ้างส่วนใหญ่จำต้องปิดกิจการตามมาตรการล็อกดาวน์ บ้างก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้กิจการให้สอดคล้องกับหลักการ social distancing ทำให้ต้องลดจำนวนและพักงานลูกจ้างบางส่วนเพื่อให้สามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้

ซิมหม่า ถวน (อายุ 42 ปี) หนึ่งในหญิงแรงงานข้ามชาติชาวพม่าเล่าว่า ตนเองเข้ามาทำงานในไทยได้ 10 กว่าปีแล้ว แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้ตกงานและขาดรายได้ เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมหอพักคนอื่นๆ ขณะที่แรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นผู้ชายบางคนยังคงทำงานและมีรายได้ตามปกติ ที่เป็นเช่นนี้เพราะส่วนใหญ่แล้วหญิงแรงงานข้ามชาติมักอยู่ในภาคงานบริการ อาทิ เป็นพนักงานร้านอาหาร และพนักงานทำความสะอาดของโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้มากที่สุด

“ทุกวันนี้ก็ไปเดินหาของกินที่เขาเอามาใส่ตู้ไว้บ้าง
ของใช้ก็ไปซื้อตามร้านยี่สิบบาท ต้องทยอยซื้อ”
ซินหม่า ทวน (สัมภาษณ์ 30 พฤษภาคม 2563)

จากคำบอกเล่าของซิมหม่าและเพื่อนๆ สะท้อนให้เห็นว่าพวกเธอไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่รัฐบาลไทยจัดตั้งขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันเป็นผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ เนื่องจากไม่ใช่แรงงานที่เป็นพลเมืองของรัฐไทย ขณะเดียวกันก็ไม่มีมาตรการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาลของประเทศบ้านเกิด ซิมหม่าและเพื่อนร่วมหอพักจึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากการใช้จ่ายเงินเดือนก้อนสุดท้าย ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้พวกเธอต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยากกลับบ้าน” แต่ดูเหมือนความต้องการนี้ไม่อาจเป็นไปได้ เพราะการเดินทางในสถานการณ์เช่นนี้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ อีกทั้งเมื่อไปถึงด่านข้ามแดนแล้วจำต้องถูกกักตัวเป็นจำนวน 21 วัน นอกจากนี้ยังไม่อาจมั่นใจได้ว่าที่หมู่บ้านของพวกเธอแต่ละคนจะต้อนรับอย่างเช่นเคย

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรและประชากรข้ามชาติ กล่าวใน เสวนาแรงงานข้ามชาติคุณค่าที่ถูกลืมในสมรภูมิโควิด 19 เขาพบว่าการเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ เนื่องด้วยข้อจำกัดทางภาษา และเงื่อนไขทางกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงสิทธิประกันสังคมที่เป็นไปค่อนข้างยาก ทั้งนี้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ เมื่อเกิดวิกฤติโควิด 19 อดิศรได้ฉายภาพของการ “อยู่ต่อก็ไม่ไหว กลับไปก็ไม่ถึง” เมื่อประเทศต้นทางปิดชายแดนและประเทศไทยเองได้มีนโยบายห้ามการเดินทางเข้าออก

ทั้งนี้ อดิศรได้สรุปถึงแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในสถานประกอบการซึ่งมีสภาวะช่วงโควิด 19  ดังนี้  หนึ่ง กิจการถูกปิด แรงงานถูกเลิกจ้างทันที หลายคนไม่ได้รับเงินค่าชดเชย และไม่ได้รับสวัสดิการคุ้มครอง เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ ระบบได้ล็อกเลข 13 หลักของแรงงานที่เข้ามายื่นขอรับประโยชน์ทดแทน ประกอบกับขั้นตอนการลงทะเบียนกำหนดให้ยื่นยันตัวตนผ่านอีเมล์ต่อแรงงานหนึ่งคน ทำให้เกิดความยุ่งยากต่อแรงงาน สอง กรณีแรงงานเหมาช่วง ซึ่งมีการทำ MOU เมื่อเกิดวิกฤติดังกล่าวขึ้นได้มีการส่งแรงงานข้ามชาติไปยังบริษัทต้นทาง ทำให้แรงงานในกลุ่มนี้ไม่สามารถขอรับรองจากบริษัทหรือนายจ้างเพื่อออกหนังสือรับรอง กรณี “ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย”[1] เพื่อที่จะลงทะเบียนรับเงินเยียวยาได้ เพราะมีความไม่ชัดเจนต่อสถานะการทำงาน  และสาม ถูกลดเวลาทำงาน  แรงงานในกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้  เหตุเพราะแรงงานที่จะขอรับเงินเยียวยาตามสิทธิ์ผู้ประกันตนได้จะต้องมีความชัดเจนว่าถูกเลิกจ้างงาน หรือว่างงาน และต้องมีการออกหนังสือรับรองจากบริษัทหรือนายจ้างเช่นเดียวกัน

“ก็ยังดีกว่าไม่มีงานทำ”
หญิงแรงงานข้ามชาติ ย่านวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ (สัมภาษณ์ 30 พฤษภาคม 2563)

อีกหนึ่งตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงของแรงงานข้ามชาติที่ต้องถูกลดเวลาทำงาน เพื่อนหญิงแรงงานข้ามชาติชาวพม่าของซิมหม่า ได้เล่าถึงการทำงานที่ถูกลดชั่วโมงลง ซึ่งมีผลทำให้รายได้ลดลงไปด้วย จากที่เคยทำงานร้านอาหารอิตาลีวันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง และถ้าทำเกินเวลาก็จะได้รับโอที แต่หลังจากหยุดงานไปกว่า 2 เดือน เมื่อนายจ้างได้เรียกให้เธอกลับไปทำงานปรากฏว่าชั่วโมงงานของเธอถูกลดลงเหลือเพียง 3 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น เธอเล่าเรื่องราวให้ฟังขณะอุ้มเด็กชายตัวเล็กไว้บนตักที่บ่อยครั้งต้องฝากให้เพื่อนที่อาศัยร่วมกันช่วยดูเเล ในยามที่เธอต้องไปทำงาน

รูปซินหม่า ทวนและเพื่อนหญิงแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่

 

ที่ผ่านมา มีความผ่อนปรนที่เกิดขึ้นจากรัฐไทยถึงแรงงานข้ามชาติ (3 สัญชาติ) จากวาระการลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อ สู่มาตรการควบคุมการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด และการระงับการเข้าออกภายในประเทศไทย ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ให้ขยายเวลาแรงงานข้ามชาติ ในกลุ่มซึ่งเข้ามาทำงานตามข้อตกลง MOU สัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่มีวาระงานจ้างงานครบ 4 ปี สิ้นสุดลง และคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ที่ถือบัตรผ่านแดนอนุญาตให้เข้ามาทำงานในไทยแบบไป - กลับ  หรือแบบตามฤดูกาล ซึ่งไม่สามารถออกนอกราชอาณาจักรได้ในช่วงวิกฤตโควิด สามารถอยู่ทำงานในไทยได้ถึง 31 กรกฎาคม 2563 และในส่วนของแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่อยู่ในช่วงกำลังต่อใบอนุญาตสามารถอยู่ในไทยได้ถึง 30 พฤศจิกายน 2563

แต่กระนั้นก็ตาม ข้อจำกัดและเงื่อนไขของการเป็นแรงงานที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติเผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต เสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย อาทิ หากเป็นแรงงานข้ามชาติแบบรับเหมาช่วง ซึ่งหมายถึงว่าการจ้างงานยังคงมีอยู่เพียงแต่สถานประกอบการปิดชั่วคราว ทำให้แรงงานไม่สามารถหางานใหม่ได้ อาจไม่ได้รับเงินค่าจ้างหรือได้รับลดลง หรือในกรณีกิจการปิดทำการ แรงงานข้ามชาติจะต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะมีสถานะกลายเป็นคนผิดกฎหมายทันที นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงทางสุขภาพ เนื่องด้วยความเป็นอยู่ที่แออัดหรือการเดินทางไปทำงานหรือหางานใหม่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ และที่สำคัญเสียงจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติสะท้อนว่า การขาดรายได้ไม่มีงานทำทำให้ไม่มีเงินค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วรายได้ในแต่ละเดือนจะถูกส่งกลับไปยังครอบครัวที่ประเทศบ้านเกิด ดังนั้นจึงไม่มีเงินเก็บหรือเงินสำรองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในระยะยาว

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ นอกเหนือจากอคติทางชาติพันธุ์ที่พวกเขาได้เผชิญมาอย่างยาวนาน เช่น การถูกมองว่าเป็น “คนอื่น” ที่เข้ามาแย่งงานคนในประเทศ ซึ่งการถูกมองว่าเป็นอื่นมีผลทำให้พวกเขาได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมขณะดำรงอยู่ในสังคมไทย ทั้งนี้ John Rawls ได้เสนอถึง หลักความเที่ยงธรรม อันหมายถึงหลักในการตกลงใจยอมรับ “สถานะที่เท่าเทียมในความเป็นมนุษย์” ซึ่งใช้ในการกำหนดหลักความยุติธรรม เพื่อก่อให้เกิดการปฏิบัติแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม ประกอบด้วย หลักเสรีภาพและหลักความแตกต่าง อันหมายถึงการที่ยอมรับว่า “ทุกคนต้องมีเสรีภาพอย่างเท่าเทียม”

การได้รับความไม่เป็นธรรมของแรงงานข้ามชาติสะท้อนเห็นได้จากความยากลำบากในการเข้าถึงโอกาสและข้อมูล เป็นต้นว่า ภาษาที่ถูกสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตทำงานและลงทะเบียนรับเงินเยียวยาพบว่าเป็นภาษาไทยแทบทั้งสิ้น  รวมถึงการขอรับคำแนะนำช่วยเหลือก็เป็นไปอย่างยากลำบาก หลากหลายเสียงของแรงงานทั้งชาวไทยและแรงงานข้ามชาติต่างสะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าในการขอรับเงินเยียวยาจากสิทธิประกันสังคม การรอคอยการตอบรับหลังจากส่งเอกสารทั้งทางระบบออนไลน์และทางไปรษณีย์ ขณะที่แรงงานข้ามชาติหลายคนไม่เข้าเงื่อนไขขอรับเงินเยียวยาในกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย เนื่องจากส่งเงินสบทบไม่ถึง 6 เดือน เป็นแรงงานเหมาช่วง หรือถูกลดชั่วโมง/วันทำงาน ทำให้ไม่สามารถรับเงินเยียวยาได้ อีกทั้งยังไม่สามารถลงทะเบียนมาตรการเยียวยาที่มีขึ้นเพื่อรองรับเฉพาะแรงงานสัญชาติไทยได้อย่างมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน)  

หน้าเวปไซต์ของระบบออนไลน์เพื่อลงทะเบียนขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าว (3 สัญชาติ) พบว่ามีเฉพาะภาษาไทยเท่านั้น
ที่มา: ระบบออนไลน์ https://e-workpermit.doe.go.th/

การรับมือกับวิกฤติโควิด 19 อาจเป็นสถานการณ์ที่เกินความคาดหมายจากหลายภาคส่วน และอาจเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะในภาครัฐที่ควรตระหนักถึงการจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับความหลากหลายของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันภายในประเทศ    รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพวกเขาคือฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินไปข้างหน้า สิ่งสำคัญที่รัฐควรคำนึงถึงคือ มุมมองทางมนุษยธรรม เพื่อช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถเข้าถึงโอกาสทางสังคมโดยพื้นฐานเมื่ออยู่ในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ การตรวจโรค และได้รับการรักษาเช่นเดียวกับคนไทย และที่สำคัญคืออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงมาตรการเยียวยา เช่น กำหนดให้มีการใช้ภาษาของแต่ละกลุ่มแรงงานข้ามชาติในระบบออนไลน์ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สามารถสื่อสารภาษาของกับแรงงานข้ามชาติได้ในกรณีที่พวกเขาต้องการคำแนะนำหรือคำปรึกษา รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างรัฐบาลไทย สถานทูตจากประเทศต้นทาง และภาคประชาสังคมในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติมีสภาพความเป็นอยู่ที่ห่างไกลจากการเป็นมนุษย์ล่องหน

 

อ้างอิง

อานันท์ กาจนพันธุ์ และชัยพงษ์ สำเนียง. 2557. แรงงานข้ามชาติอัตลักษณ์และสิทธิความเป็นพลเมือง.       เชียงใหม่: สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เสวนาแรงงานข้ามชาติคุณค่าที่ถูกลืมในสมรภูมิโควิด 19 (ออนไลน์). (2563). สืบค้นจาก : https://www.youtube.com/watch?v=1_gqRmwxWCs&t=618s [8 พฤษภาคม 2563]

ชัยยศ ยงค์เจริญชัย, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย. โควิด-19 : แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายกับความยากลำบากในการเข้าถึงสวัสดิการรัฐ. (ออนไลน์). 2563. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/โควิด-19: แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายกับความยากลำบากในการเข้าถึงสวัสดิการรัฐ. [8 พฤษภาคม 2563]

นักปรัชญาชายขอบ:มองความยุติธรรมของสังคม-การเมืองไทย ผ่านทฤษฎีความยุติธรรม ของ จอห์น รอลส์. (ออนไลน์). 2563. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2010/11/31926. [8 พฤษภาคม 2563]


 

[1] ได้รับเงินว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ แต่ไม่เกิน 90 วัน (อยู่ระหว่างแก้กฎกระทรวงตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม ม.79/1) เมื่อลูกจ้างมีการจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนกักตัว และนายจ้างออกหนังสือรับรองให้หยุดงาน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: