นิพพานหรือนรก: Burmese Days กับอีกด้านของจักรวรรดิอังกฤษ

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ | 21 ม.ค. 2563 | อ่านแล้ว 5044 ครั้ง


ที่มาภาพ: The VII Foundation

หากเอ่ยชื่อ George Orwell หลายคนอาจคุ้นหูจากนิยายเรื่อง 1984 ที่เต็มไปด้วยนัยยะทางการเมืองและความเลวร้ายของระบอบเผด็จการ หรือเรื่อง Animal Farm นิยายที่จำลองโลกของสัตว์และการเมืองเอาไว้ มากกว่าจะคิดไปถึงเล่มอื่น ๆ อย่าง Burmese Days หรือในชื่อไทยว่า "พม่ารำลึก"

Burmese Days เป็นเรื่องของชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งในเมืองห่างไกลของพม่า ชื่อ เจ้าท์ตะดา (Kyauktada) ตัวเอกของเรื่องคือ จอห์น ฟลอรี่ (John Flory) หนุ่มโสดวัย 35 ปี ที่มีชีวิตเรื่อยเปื่อยไม่มีอะไรทำมากนัก นอกจากจะออกไปประจำที่สถานีกลางป่าบ้างเป็นครั้งคราวละนาน ๆ ชีวิตของฟลอรี่ไม่ได้แตกต่างจากชาวยุโรปคนอื่น ๆ ที่ชีวิตประจำวันของคนกลุ่มนี้ดูจะเวียนวนกับการนั่งๆนอนๆ ไปสังสรรค์ดื่มเหล้าที่สโมสร เล่นเทนนิสทุกเย็น เข้าป่าล่าสัตว์บ้างบางครั้ง การปฏิสัมพันธ์กับชนพื้นเมืองพม่าดูจะเป็นเรื่องต้องห้าม เส้นแบ่งของการเป็นคนขาวและการเป็นคนพม่าขีดไว้อย่างชัดเจน

ภาพปก Burmese Days ที่ถูกพิมพ์ในหลายประเทศหลายภาษา

นิยายเรื่องนี้มีฉากหลังอยู่ที่ทศวรรษ 1920 ช่วงเวลาที่แสงของจักรวรรดินิยมอังกฤษในตะวันออกกำลังโรยราก่อนการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 และการบุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นในอีกสิบปีต่อมา ดังนั้นภาพของความรุ่งเรืองของนายฝรั่งจากยุคบริติชราชจึงเกือบจะกลายเป็นเพียงอดีตไปแล้ว ยิ่งในเมืองที่ห่างไกลความเจริญอย่างเจ้าท์ตะดา ไม่ต้องพูดถึงว่าชีวิตความเป็นอยู่ของนายฝรั่งและนายแหม่มจะลำบากอย่างไร กำแพงกั้นระหว่างชาวตะวันตกและชาวพม่าดูจะอยู่เพียงแค่สายเลือดเท่านั้น

ภายใต้บรรยากาศของการกีดกันระหว่างเชื้อชาติผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง การได้เอื้อมแตะกับรัศมีแห่งความศิวิไลซ์หรือความมีอารยะของคนผิวขาวจึงเป็นที่ปรารถนายิ่งของคนพื้นเมือง อูโพจีงและหมอวีรสวามี ชาวพม่าและชาวอินเดียผู้ใฝ่ฝันอย่างแรงกล้าที่จะเข้าเป็นสมาชิกสโมสรให้ได้ จนนำมาสู่เรื่องราวทั้งหมดในนิยายเล่มนี้ ออร์เวลล์บรรยายความรู้สึกของอูโพจีงไว้อย่างน่าสนใจโดยเปรียบเทียบการได้เข้าเป็นสมาชิกสโมสรเทียบเท่ากับการได้ถึงนิพพาน

"สโมสรชาวยุโรป วิหารเร้นลับเกินเอื้อมแห่งนั้น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สุดยอดที่บรรลุถึงได้ยากเสียยิ่งกว่านิพพาน! โพจีง เด็กกะโปโลล่อนจ้อนจากข้างถนนแห่งมัณฑะเลย์ เสมียนขี้ฉ้อและเจ้าพนักงานต่ำต้อยไม่มีหน้ามีตา จะได้เข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้น ได้เรียกชาวยุโรปว่า "เพื่อนยาก" ได้ดื่มวิสกี้กับโซดาและไปดีดลูกกลมๆสีขาวให้กลิ้งไปมาบนโต๊ะปูผ้าสีเขียว! มะขิ่น หญิงชาวบ้านซึ่งลืมตาเห็นแสงสว่างครั้งแรกในชีวิตลอดผ่านทางไม้ไผ่ขัดแตะของกระต๊อบหลังคามุงจาก จะได้นั่งบนเก้าอี้สูง ตีนจะได้สวมถุงน่องไหมและรองเท้าส้นสูง (ใช่แล้ว นางจะได้สวมรองเท้าในที่แห่งนั้นจริงๆ!) ได้พูดกับสุภาพสตรีชาวอังกฤษในฮินดูสถานถึงเรื่องผ้าอ้อมเด็ก! เป็นความคาดหวังซึ่งใครก็ย่อมอดทึ่งตะลึงงันเสียมิได้"

เช่นเดียวกับหมอวีรสวามีที่เห็นว่าการได้เป็นเพื่อนกับชาวยุโรปนั้นถือเป็นเกียรติแก่ชีวิตอย่างมากและการได้เข้าร่วมสโมสรชาวยุโรป นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้ไม่มีใครมาทำอันตรายแก่ชื่อเสียงของตนเองในฐานะหมอได้

แต่ในความคิดของชาวยุโรปเอง การเดินทางมาอยู่ที่พม่า การใช้ชีวิตอย่างเปล่าเปลืองที่สโมสรนับเป็นนิพพานเช่นนั้นหรือ ออร์เวลสร้างให้ตัวละครอังกฤษมองเห็นพม่าเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของผู้ที่เดินทางออกจากอังกฤษมาเเสวงหาชีวิตใหม่ ชีวิตที่มั่งคั่งและมั่นคงกว่าเดิม เสมียนชั้นล่างและนายทหารที่ไม่มีโอกาสเติบโตไต่เต้าในแผ่นดินแม่ต่างเดินทางมายังตะวันออกไกลด้วยความหวังจะเก็บเงินได้สักก้อน หวังว่าเมื่อเกษียณตนเองจะมีเงินพอซื้อบ้านหลังเล็กในอังกฤษก่อนจะตายจากไป ในแง่นี้ เมืองใต้การปกครองของอังกฤษจึงเปรียบเสมือนโอเอซิสกลางทะเลทรายให้กับผู้แสวงหาโอกาสนอกบ้านเกิด

ความเป็นจริงกลับยากยิ่งที่จะเป็นดังหวัง ในเมืองที่ห่างไกลความเจริญ ไข้ป่าและยุงที่ชุกชุม อาหารการกินหน้าตาแปลกประหลาดรสชาติไม่เคยคุ้น ผู้คนรายล้อมมีแต่ชาวพื้นเมืองหน้ากลมแป้นผิวสีดำคล้ำ ทั้งหมดดูจะไม่ใช่ชีวิตที่พึงปรารถนา คนจำนวนมากฆ่าความว้าเหว่เปลี่ยวเหงาโดยการดื่มเหล้า เล่นบิลเลียด เทนนิส ล่าสัตว์และสร้างสัมพันธ์ชั่วคราวกับสตรีพื้นเมืองที่ยินยอมพร้อมใจ ความมั่งคั่งที่หลายคนแสวงหาจึงไม่เคยปรากฎเป็นความจริง เช่นเดียวกับเหล่าสตรีสาวจำนวนมากที่ยอมดั้นด้นเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังเมืองห่างไกลเพื่อแต่งงานกับข้าราชการหนุ่มเนื่องจากที่อังกฤษบ้านเกิดตนเองไม่สามารถหาคู่ครองที่เหมาะสมได้ พวกเธอหลายคนผิดหวังจากการหาคู่ต้องเดินทางกลับ หลายคนประสบความสำเร็จในการแต่งงานแต่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่หรือไม่เป็นอีกเรื่อง

Burmese Days ก็เป็นเหมือนกับหนังสือเล่มอื่นของออร์เวลล์ที่ไม่ได้จบลงด้วยความสุข ฟลอรี่ ตัวเอกของเลือกเรื่องที่สุดท้ายก็ต้องยอมจำนนต่อ “ระบบ” เขาเลือกจะปลิดชีพตนเองหลังถูกปฏิเสธการแต่งงานจากหญิงสาวชาวอังกฤษเพราะทนไม่ได้ที่จะต้องกลับไปมีชีวิตในวัฏจักรเดิม ๆ ชีวิตที่เมื่อมองจากสายตาคนนอกที่เป็นชาวพื้นเมืองอย่างอูโพจีงและหมอวีรสวามีเห็นว่าเป็นประหนึ่ง "นิพพาน" ที่ขอให้ได้สัมผัสสักครั้งกลับเป็นเหมือนนรกสำหรับผู้ที่อยู่ในนั้น

ออร์เวลล์เล่าเรื่องทั้งหมดด้วยสำนวนสั้น กระชับ สอดแทรกความเศร้าที่ทำให้คนอ่านสะอื้นไปกับความเหยียดหยันไม่เท่าเทียมระหว่างเชื้อชาติ ขณะเดียวกันประโยคต่อมาก็ทำให้ตลกออกมาได้กับการเสียดสีที่ชวนขำ การบรรยายถึงสภาพแวดล้อมและผู้คนพม่าอย่างละเอียดและเต็มไปด้วยเสน่ห์ทำให้คนอ่านเข้าใจได้ว่าออร์เวลล์ที่ไปใช้ชีวิตในฐานะตำรวจที่พม่าอยู่หลายปีมองเห็นพม่าและถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างดีผ่านนิยายเล่มนี้

จักรวรรดิอังกฤษนั้นยิ่งใหญ่และแผ่ขยายอิทธิพลและวัฒนธรรมออกไปอย่างไพศาลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 การเกิดขึ้นของบริติช ราช (British Raj) ในอินเดียและพม่าตั้งแต่ 1858-1947 ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อทั้งผู้ปกครองจนถึงสามัญชนชนิดที่เรียกได้ว่าจากหน้ามือเป็นหลังมือ

"จักรวรรดิอังกฤษ" จึงไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จของประเทศอังกฤษโดยรวม คำนี้ยังก่อให้เกิดความหวังสำหรับคนอังกฤษเองให้เดินทางออกจากบ้านเกิดไปแสวงหาโอกาสในดินแดนต่าง ๆ ภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด ความยากลำบาก สภาพแวดล้อมแปลกถิ่น สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนเหล่านี้ดูจะมีไม่มาก นอกเหนือจากศักยภาพและความสามารถส่วนบุคคล อาจเรียกได้ว่าศรัทธาและความหวังต่อ "ชาติ" หรือ "จักรวรรดิ" ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ชาวอังกฤษในดินแดนอื่นจึงยึดถือและยึดมั่นในความเป็นชาติและความเป็นอังกฤษเอาไว้อย่างที่สุด

ไม่แปลก ที่มักจะพูดกันว่าคนกลุ่มนี้คือคนอังกฤษเสียยิ่งกว่าคนอังกฤษที่บ้านเกิด เมื่อสิ่งที่เป็นตัวยึดเหนี่ยวเดียวคือการเป็นคนอังกฤษผู้ปกครองชาวพื้นเมือง (Pukka sahib) ชาวอังกฤษในเรื่องนี้จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อยืนยันสถานภาพของตน และก็อาจเพื่อปลอบประโลมใจตนเองเช่นกันว่าสิ่งที่ตนเลือกเป็นทางที่ถูกต้อง ดังนั้น เมื่อความหวังไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เมื่อคนอังกฤษไม่สามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนพื้นเมือง เช่นเดียวกับคนพื้นเมืองที่จะไม่มีวันเสมอหน้าทัดเทียมกับคนผิวขาวได้ ฟลอรี่ที่ติดอยู่ระหว่างกลางของความไม่ลงรอย โดยที่เขาเป็นเหมือนคนนอกของกลุ่มคนผิวขาวที่สงสารเห็นใจคนพื้นเมือง ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถไปมีชีวิตอยู่ร่วมกับคนพม่าได้ รวมถึงการไม่ได้มีชีวิตที่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ จึงเลือกไม่ยากที่จะทำให้ตนเองหลุดพ้นจากสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นเสมือน "นรก"

จักรวรรดิอังกฤษจึงไม่ได้เป็นเพียง "ความหวัง" ธรรมดา แต่เป็นความหวังที่มาพร้อมกับการคาดหวัง ภาระของคนขาว (The White Man's burden) ที่ให้ความชอบธรรมต่อเจ้าอาณานิคมในการปกครอง ในที่นี้จึงย้อนกลับมาเป็นกับดักที่ทำให้ชาวอังกฤษจำนวนมากติดกับมายาคตินี้เช่นกัน การไม่ถึงฝั่งฝันของนิพพานของความศิวิไลซ์ จึงต้องจบลงด้วยโศกนาฎกรรม

หากใครที่ชอบผลงานของออร์เวลล์มาก่อน การได้อ่าน Burmese Days อีกเล่มอาจเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเมื่อเริ่มอ่านแล้วจะวางไม่ลงจนถึงหน้าสุดท้าย เป็นการอ่านที่ทำให้รู้สึกกระชากใจได้มากพอๆกับตอนจบของ 1984 เลยทีเดียว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: