ท่ามกลางการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ทำให้ นักเรียน-นักศึกษาในประเทศอังกฤษ ที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย ประสบความยากลำบากอย่างแสนสาหัส หลังจากสำนักงานการบินพลเรือนออกประกาศ แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย ซึ่งสร้างความลำบากให้กับคนไทยไกลบ้านเหล่านั้น
21 มี.ค. 2563 เพจ The Isaander รายงานว่าท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ปัจจุบัน นักเรียน-นักศึกษาในประเทศอังกฤษ ที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย ประสบความยากลำบากอย่างแสนสาหัส หลังจากสำนักงานการบินพลเรือนออกประกาศ แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย ในภาวะโควิด-19 ระบาด ซึ่งสร้างความลำบากให้กับคนไทยไกลบ้านเหล่านั้น
โดยแนวทางปฏิบัติของสำนักงานการบินพลเรือน ดังกล่าว ระบุให้ คนไทยในต่างประเทศที่ต้องการเดินทางกลับบ้าน จำเป็นจะต้องมีเอกสาร 2 อย่างคือ 1. ใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่า พวกเขามีสุขภาพเหมาะสมที่จะเดินทาง และ 2. หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งต้องออกโดย สถานเอกอัคราชทูต สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศ
ปัญหาที่ตามมาคือ การได้มาซึ่งเอกสารดังกล่า ของคนไทยในประเทศอังกฤษค่อนข้างลำบาก และเสี่ยงที่จะทำให้พวกเขาติดโควิด-19
นายศโรมรณ์ (สงวนนามสกุล) นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยอายุ 29 ปี จากเมืองนอริช เปิดเผยว่าเงื่อนไขของการบินพลเรือน เป็นการผลักภาระให้กับทั้งนักศึกษาไทย เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย และแพทย์อังกฤษ
“การบินพลเรือนตั้งเงื่อนไขไม่นึกถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเลย ต้องเสี่ยงโรคไปขอที่สถานพยาบาล ซึ่งภาวะนี้เขาแนะนำให้หลีกเลี่ยงการไปที่นั่น เพราะเชื้อโรคเยอะ มันเพิ่มภาระให้หมอ-พยาบาลของเขาโดยไม่จำเป็น ศูนย์การแพทย์ของรัฐก็ไม่รับทำให้ พอไปโรงพยาบาลเอกชนก็มีน้อย แพงมาก และก็ไม่ใช่ขอกันง่ายๆ”
“ที่สำคัญใบรับรองแพทย์ fit-to-fly ที่ได้มาก็บอกอะไรไม่ได้ว่า เราติดเชื้อหรือไม่ เพราะ โรคมันฝังตัวนาน ไม่มีอาการก็แพร่เชื้อได้ สุ่มเสี่ยงที่จะนำเชื้อกลับไทยเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ สงสารเจ้าหน้าที่สถานทูต ต้องมาเสี่ยงมากขึ้น ทำงานหนักขึ้นโดยไม่จำเป็นใดๆ เลย มากไปกว่านั้นก็สงสารน้องๆ คนไทยที่กำลังจะกลับบ้าน แล้วต้องมาเจอมาตรการแบบนี้”
นายศโรมรณ์ ถือเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่พยายามเคลื่อนไหวให้มีการแก้แนวปฏิบัติของสำนักงานการบินพลเรือน โดยเขาได้พูดคุยกับนักศึกษาหลายคนที่ประสบปัญหาจากมาตรการดังกล่าว
“น้องคนหนึ่งจองตั๋วกลับบ้านเอาไว้วันที่ 29 มีนาคม แต่มาตรการดังกล่าวออกมาจึงรีบไปหาแพทย์ของมหาลัยเพื่อขอใบรับรองแพทย์ แต่เขาไม่ออกให้ เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จึงต้องหาแพทย์เอกชนเพื่อออกใบรับรองให้ แต่ก็พบว่าราคาแพงมากที่ 130-200 ปอนด์ และนัดได้อย่างเร็วที่สุดคือวันที่ 27 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ก่อนเดินทางเพียง 2 วันเท่านั้น น้องเสียใจมาก ไม่คิดว่าการกลับบ้านจะยากขนาดนี้”
“เทียบกับเคสเพื่อนคนสิงคโปร์ในมหาลัย เขามี Singporean Society ที่ประสานงานกับรัฐบาล และจองไฟลท์ของ Singapore Airlines ได้ โดยไม่ต้องใช้ใบรับรองอะไรทั้งนั้น เพียงแค่เป็นพลเมืองของประเทศ ตอนนี้เพื่อนสิงคโปร์ได้วันเดินทางเรียบร้อยแล้ว คือวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม โดยไม่ต้องเดินทางไปลอนดอนล่วงหน้าเพื่อขอใบรับรองจากสถานฑูตด้วยซ้ำ”
นายศโรมรณ์ ระบุว่า สิ่งที่สำนักงานการบินพลเรือนที่นอกจากจะไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติทางการแพทย์ ยังอาจขัดต่อกฎหมาย
“ตอนแรกปัญหาคือ ถ้าคุณจะเอาใบรับรองจากสถานทูต คุณต้องไปลอนดอน แต่มีหลายคนที่เรียนเมืองอื่น ตอนหลังโดนด่าเยอะ เขาก็ให้ขอทางอีเมลได้ แต่ปัญหาคือ การได้มาของใบรับรองแพทย์ ยากมาก ถ้าคุณอยู่เมืองใหญ่ การไปขอจากโรงพยาบาลรัฐทำไม่ได้เลย เพราะคนเยอะ คิวยาว ต้องไปขอเอกชนที่แพงมาก ซึ่งพอไปเอกชน นัดแล้วไม่ได้เวลานัด นัดแล้วไม่ได้ตรวจอีก แล้วใบที่ได้ก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะไม่ติด นี่แค่ ข้อโต้แย้งทางการแพทย์นะ ถ้าโต้แย้งทางกฎหมายคือ การที่คุณไม่ให้คนกลับประเทศ นั่นคือขัดรัฐธรรมนูญ”
---
ก่อนหน้านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เฟซบุ๊คแฟนเพจ Royal Thai Embassy, London UK และ CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand ถูกนักศึกษาไทยเข้าไปตำหนิเป็นจำนวนมาก และล่าสุดนำมาซึ่งการทำจดหมายเปิดผนึก ส่งไปยังสำนักงานการบินพลเรือน เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติ โดยจดหมายดังกล่าว มีเนื้อหาดังนี้
เรียน ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
เรื่อง ขอให้ทบทวน ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติ สำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย
ตามที่ท่านได้ออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติ สำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย คนไทยที่มีรายนามท้ายเอกสารนี้ มีความเห็นว่า ข้อ 4 ของประกาศฉบับนี้ มีผลกระทบโดยตรงต่อบุคคลสัญชาติไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย
การบังคับให้บุคคลสัญชาติไทยต้องมีใบรับรองแพทย์ประเภท fit-to-fly ตามข้อ 4(1) และหนังสือรับรองจากสถานทูตตามข้อ 4(2) นั้น น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 39 ที่กำหนดว่า ‘การห้ามคนไทยเข้าราชอาณาจักรจะกระทำไม่ได้’ เนื่องจากในขณะนี้ general practice (GP) ในประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งสามารถออกใบรับรองดังกล่าวได้ มีภาระที่จะต้องดูแลผู้ป่วย Covid 19 ของประเทศสหราชอาณาจักร จึงไม่น่าจะสละเวลาอันมีค่าของพวกเขามาออกใบรับรองแพทย์ให้กับคนไทยซึ่งต้องการกลับราชอาณาจักรไทยได้ และโดยสภาพการพบแพทย์ซึ่งสามารถออกใบรับรองแพทย์ไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายเหมือนอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น ข้อกำหนดข้อ 4 จึงมีผลเป็นการห้ามคนไทยกลับเข้าบ้านเกิดของคนเองโดยปริยาย
ทั้งนี้ แม้ทางสถานทูตไทยในประเทศสหราชอาณาจักร จะพยายามบรรเทาภาระของคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับราชอาณาจักรไทย โดยการให้มีจัดให้มีแพทย์มาช่วยออกใบรับรองให้คนไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับราชอาณาจักรที่่สถานทูตไทย แต่การเยียวยานี้ ไม่สามารถบรรเทาภาระที่เกิดกับคนไทยที่อยู่ในเมืองอื่นซึ่งอยู่ห่างไกลจากสถานทูตไทยได้ นอกจากนั้น การเดินทางมายังสถานทูตอาจเป็นการเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ประสงค์จะขอใบรับรองแพทย์ติดเชื้อ Covid 19 ระหว่างทางได้
นอกจากนี้ การจัดให้คนไทยไปขอใบรับรองแพทย์ที่สถานทูต ยังส่งผลให้ คนไทยต้องไปรวมตัวที่สถานทูตอันน่าจะเป็นการขัดนโยบาย social distancing ของประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจจะเป็นเหตุแห่งการแพร่กระจายโรค Covid 19 ต่อบุคคลอื่นอีก
คนไทยที่มีรายนามแนบท้ายเอกสารนี้ จึงขอให้ท่านทบทวน ข้อ 4 ของประกาศฉบับนี้ เพื่อให้เปิดโอกาสให้คนไทยได้กลับมาราชอาณาจักรไทยโดยไม่เป็นการสร้างภาระอันเกิดสมควร แต่สามารถป้องกันโรค Covid 19 ได้ เช่น บังคับให้คนไทยที่เข้าราชอาณาจักรต้องกักตัว ณ สถานที่ใด สถานที่หนึ่งเป็นเวลา 14 วัน เป็นต้น
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาทบทวนประกาศดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีท่าทีจากสำนักงานการบินพลเรือนต่อข้อเรียกร้องนี้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ