21 ส.ค. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1 คน พบจากสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,390 คน รักษาหายเพิ่ม 1 คน รวมรักษาหายสะสม 3,219 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 58 คน
21 ส.ค. 2563 Thai PBS รายงานว่านพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ COVID-19 ระบุว่า ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คนใน State Quarantine ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม 3,390 คน หายป่วยเพิ่ม 1 คน รวมหายป่วยสะสม 3,219 คน รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 113 คน และเสียชีวิตคงที่ 58 คน
สำหรับผู้ป่วยใหม่เป็นเพศชาย อายุ 56 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางมาจากสิงคโปร์ เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 3 คน เข้าพักใน State Quarantine จ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 วันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ
สำหรับสถานการณ์โลก พบผู้ป่วยสะสม 22,859,239 คน ป่วยเพิ่มวันเดียว 278,153 คน รักษาหาย 15,513,997 คน เสียชีวิต 797,009 คน ขณะที่สหรัฐอเมริกายังมีผู้ป่วยสะสมมากสุด 5,746,272 คน รองลงมาคือ บราซิล อินเดีย รัสเซีย และแอฟริกาใต้ ส่วนไทยอยู่อันดับ 115 ของโลก
“ญี่ปุ่น มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 951 คน สถิติจากหลักหน่วยเป็นหลักสิบ ขึ้นเป็นหลักร้อยและใกล้แตะหลักพัน ต้องจับตาการแพร่ระบาดระลอก 2 ซึ่งตัวเลขกำลังสูงขึ้น”
WHO เตือนคน 20-40 ปี เสี่ยงแพร่ COVID-19 มากขึ้น
ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า คนช่วงอายุ 20-40 ปี กำลังเป็นแรงผลักดันให้ COVID-19 ระบาดกระจายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงระบาดไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคอื่นๆ รวมไปถึงรุ่นเด็ก สำหรับวัยเรียน วัยทำงาน เป็นกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวและเคลื่อนย้ายมากที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็แข็งแรง ทำให้มีอาการป่วยไม่มากและสู้กับเชื้อโรคได้ แต่ติดเชื้ออยู่ในตัวเอง โดยสหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่างหลังจากที่มีการชุมนุมจนเชื้อแพร่ระบาดกระจายไปทั่วประเทศ
นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ ยังได้รายงานผลจากที่ประชุม ศบค. พบว่า ความก้าวหน้าของโครงการ 1 แลป 1 จังหวัด คืบหน้าถึง 92% หรือมี 71 จังหวัดแล้ว โดยตรวจเชื้อสะสมแล้ว 799,936 ตัวอย่าง หรือ 12,011 ตัวอย่างต่อ 1 ล้านประชากร ตรวจพบเชื้อเพียง 0.43% ตรวจเยอะแต่เจอน้อย นี่คือศักยภาพของประเทศไทย
ความพร้อมด้านเวชภัณฑ์ หน้ากาก N95 มีจำนวน 1,740,111 ชิ้น, ชุดป้องกัน PPE 557,989 ชุด, เครื่องช่วยหายใจว่าง 11,156 เครื่อง และยาฟาวิพิราเวียร์ 590,440 เม็ด หรือใช้ได้สำหรับผู้ป่วยประมาณ 8,434 คน ส่วนความคืบหน้าวัคซีนของไทย อยู่ในขั้นก่อนทดสอบในมนุษย์ ส่วนจีน เยอรมนี สหรัฐฯ รัสเซียและอังกฤษ เข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว
ศบค.เตรียมพร้อมรอจอง - เร่งผลิต "วัคซีน" COVID-19
สำหรับแนวทางการดำเนินงานของไทยจะต้อง 1.เตรียมการผลิตโดยรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตต่างประเทศ ซึ่ง รมว.สาธารณสุข ได้สนับสนุนงบฯ เพื่อส่งเสริมทีมวิจัยให้ทำงานมากขึ้น 2.ต้องสั่งซื้อ/สั่งจองวัคซีนจากผู้ผลิตจากทุกแหล่งที่เป็นไปได้ และ 3.สนับสนุนการวิจัยในประเทศและความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่ง 3 แนวทางเป็นการสนับสนุนความมั่นคงทางด้านวัคซีนที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย
นอกจากนี้ ในที่ประชุม ศบค.ยังมีมติเห็นชอบตามที่ สมช.เสนอขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากสถานการณ์นอกประเทศยังติดเชื้อสูง ส่วนในประเทศมีการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งการเปิดโรงเรียน แข่งกีฬาแบบมีผู้ชม และให้ที่นั่งขนส่งสาธารณะเต็มความจุ จึงควรเสนอขยายระยะเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน
นพ.ทวีศิลป์ ยืนยันว่า มติการขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศบค.มีการหารือกันทุกกระทรวง โดยต้องเกาะติดสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถควบคุมโรคได้ จึงเห็นชอบว่าต้องขยายเวลาอีก 1 เดือน เพื่อบูรณาการกันหลายกฎหมาย ยืนยัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ทำให้ชีวิตประจำวันของประชาชนเปลี่ยนไป
“หากมีการระบาดระลอก 2 จะสื่อสารกับประชาชนอย่างไรว่าการกลับมาระบาดไม่ใช่ความผิดของใคร เพราะทุกคนดูแลตัวเองเป็นอย่างดี จึงอาจต้องเรียนรู้จากต่างประเทศด้วย”
สำหรับการผ่อนคลายมาตรการแข่งขันกีฬาแบบมีผู้ชมนั้น เบื้องต้น มีการแบ่งชนิดกีฬาออกเป็น 2 ประเภท คือ กลางแจ้งและในร่ม โดยในร่มอาการปิด อาจติดเชื้อได้ นอกจากแบ่งสนามแล้วยังมีการแบ่งเป็นชนิดกีฬาที่ตะโกนเชียร์และไม่ตะโกนเชียร์ ซึ่งกีฬากลางแจ้งอย่างฟุตบอล รักบี้ วอลเลย์บอลชายหาด กีฬาในร่มที่ตะโกนเชียร์ เช่น บาสเกตบอล วอลเลย์บอล มวย มีการตะโกนเชียร์ ต้องนั่งชมแบบเว้นระยะห่าง ส่วนกีฬากลางแจ้งที่ไม่มีการตะโกนเชียร์ เช่น เทนนิส กอล์ฟ ธนู ยิงปืน เปตอง และกีฬาในร่มที่ไม่ตะโกนเชียร์ เช่น สนุ๊กเกอร์ หมากรุก ฟันดาบ จะให้มีจำนวนที่นั่งมากขึ้น
“นอกจากนี้ยังมีการแบ่งสีเป็นสีขาว สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง โดยดูจำนวนผู้ชมในสนามต่อความจุสนามโดยต้องไม่เกิน 70%”
ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีทั้งกลุ่มคนที่กังวลและสนใจเรื่องสุขภาพ ต้องการและสนใจมาตรการต่างๆ ที่จะออกมา ส่วนอีกกลุ่มได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ทำมาหากินไม่ได้ อยากให้ผ่อนคลายเร็วๆ ศบค.ต้องบริหารสถานการณ์และอารมณ์ของคนทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อประคองการควบคุมโรคและเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปพร้อมกัน
ในโลกจริงไม่สามารถยืนระยะความเป็นเลข 0 ไปได้ตลอด อย่างไรก็ต้องกลับมาระบาด เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่คนก็สามารถอยู่กับโรคนี้ได้ เมื่อป่วยก็ต้องรักษา ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างการรับรู้ให้ประชาชน วัคซีนยังไม่มี แต่เกราะป้องกันเบื้องต้น คือ หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ