แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงมีรายงานข่าวว่า ศาลมีคำสั่งตามคำขอของรัฐบาลให้ปิดทุกแพลตฟอร์มของ 'วอยซ์ทีวี' ระบุการสั่งปิดสื่อเป็นยุทธศาสตร์สร้างความหวาดกลัว ท่ามกลางการชุมนุมที่ขยายวงกว้างมากขึ้น
21 ต.ค. 2563 AMNESTY INTERNATIONAL THAILAND รายงานว่า มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ที่ผ่านมาวอยซ์ทีวีทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการชุมนุมโดยสงบที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ยุทธศาสตร์เหล่านี้เป็นความพยายามอย่างชัดเจนของทางการในการข่มขู่และคุกคามเพื่อปิดปากประชาชน เช่นเดียวกับการตั้งข้อหากับแกนนำผู้ชุมนุม
“การคุกคามสื่อเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีช่องทางการสื่อสารของทางการไทยในปัจจุบัน รวมทั้งการข่มขู่ที่จะปิดกั้นแพลตฟอร์มการส่งข้อความอย่างเทเลแกรม (Telegram) และการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์และแชร์ข้อความออนไลน์
"ประชาชนทุกวัยเข้าร่วมการชุมนุม ทำให้การชุมนุมโดยสงบที่มีเยาวชนเป็นแกนนำขยายตัวมากขึ้น ทางการไทยควรเคารพและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งเสรีภาพสื่อด้วย ควรให้ประชาชนสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นโดยสงบ ทั้งผ่านทางโซเชียลมีเดียและการชุมนุมบนท้องถนน เช่นเดียวกับการให้นักข่าวทำหน้าที่รายงานข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
“เราจึงขอเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการไทย ปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยสงบที่ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ทางการไทยควรยกเลิกข้อหาทั้งหมดต่อผู้ชุมนุม และในระหว่างนี้ ให้ประกันว่าผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดสามารถเข้าถึงและติดต่อทนายความ
"เรายังขอเรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกคำสั่งห้ามออกอากาศของสื่อต่างๆ ภายใต้วอยซ์ทีวี และสำนักข่าวอื่นๆ และอนุญาตให้สื่ออิสระสามารถทำงานได้อย่างเสรี โดยปราศจากการข่มขู่ คุกคาม หรือความหวาดกลัวว่าจะถูกตอบโต้”
ข้อมูลพื้นฐาน
เมื่อวันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2563 ศาลอาญามีคำสั่งตามคำขอของรัฐบาล โดยกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ที่สั่งปิดการออกอากาศทางโทรทัศน์และสื่อดิจิทัลทั้งหมดของวอยซ์ทีวี คำสั่งดังกล่าวยังมีผลต่อสำนักข่าวอื่นอีกสามแห่ง ได้แก่ ประชาไท The Standard และ The Reporters แม้ว่าศาลจะยังไม่มีคำสั่งในกรณีเหล่านี้ก็ตาม ทางการกล่าวหาว่า สื่อมวลชนเหล่านี้ละเมิดคำสั่งที่ประกาศใช้ตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังเสริมว่า วอยซ์ทีวียังอาจมีความผิดฐานละเมิดพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
นับแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 ทางการได้ควบคุมตัวผู้ประท้วงอย่างน้อย 49 คน โดยบางส่วนเป็นการใช้อำนาจควบคุมตัวในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อต้นปีนี้ ต่อมามีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มี “ความร้ายแรง” เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ในขณะที่รายงานข่าวการจับกุมและควบคุมตัวเพิ่มเติมยังเกิดขึ้นต่อไป การชุมนุมได้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย เพื่อเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ยุติการคุกคามบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
ทางการไทยยังได้เริ่มการดำเนินคดีอาญากับบุคคลอย่างน้อย 65 คนในปีนี้ สืบเนื่องจากการชุมนุมโดยสงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ชุมนุมรายงานว่าถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุม โดยมีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้านและว่าขู่จะดำเนินคดี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ