แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา 49 คน ตกลงรับเงิน 2,414,976 บาท ภายหลังศาลแรงงานภาค 6 ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน กรณีพนักงานตรวจแรงงานออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้าง จำนวน 6,856,967.97 บาท
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 ศาลแรงงานภาค 6 (ศาลจังหวัดแม่สอด) ได้นัดสืบพยานโจทก์กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด แพสีห์แดง พืชไร่ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พนักงานตรวจแรงงาน เพื่อเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก ที่ 5/2563 เรื่อง ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ระหว่างนายโซหน่ายกับพวกรวม 49 คน ลูกจ้าง ในฐานะผู้ร้อง กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัดแพสีห์แดง นายจ้าง โดยต่อมานายโซหน่ายกับพวกรวม 49 คน ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดี
ก่อนเริ่มพิจารณาคดีศาลได้ทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยนายจ้างต่อรองจ่ายเงินให้กับแรงงานทั้ง 49 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,414,976 บาท จาก จากจำนวนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จำนวน 6,856,967.97 บาท หรือคิดเป็นอัตราเพียง ร้อยละ 37 ของค่าจ้างที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมายเท่านั้น โดยนายจ้างได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้กับลูกจ้างครบตามที่ตกลงไกล่เกลี่ยที่ศาล ส่วนลูกจ้างบางส่วนที่มิได้มาศาล นายจ้างได้มอบเงินให้กับพนักงานตรวจแรงงานและเก็บไว้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดตาก สาขาแม่สอดเพื่อจ่ายให้กับลูกจ้างที่เหลือต่อไป
ที่มาของคดีนี้ สืบเนื่องจาก
- นายโซหน่ายกับพวก รวม 49 คน ได้ทำงานเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดแพสีห์แดง พืชไร่ เริ่มตั้งแต่ 23 ก.ค. 2546-13 พ.ค. 2562 เป็นต้นมา ปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมกร ทำหน้าที่แบกหามพืชผลการเกษตร เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ข้าวโพด ข้าวสาร รวมทั้งพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ มีหน้าที่แต่ละวันแตกต่างกันไป ได้รับค่าจ้างตามผลงาน เช่น หากได้ค่าจ้าง ตั้งแต่ 200-400 บาท นายจ้างจะหักค่าจ้าง 30-100 บาท เพื่อเป็นค่าทำบัตรใบอนุญาตทำงาน ตามมาตรา 64 แห่งพรก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560
- 10 ส.ค. 2562 นายซอหน่าย และลูกจ้างคนอื่นๆ ของห้างหุ้นส่วนฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 ของพรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง วันที่ 13 ส.ค. 2562 นายจ้างของห้างหุ้นส่วนฯ และตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างจำนวน 7 คน ได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ 10 ข้อ โดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตากได้ดำเนินการจดทะเบียนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของบริษัทฯไว้เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2563 ได้แก่
1. เรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทุกคน ไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ในพื้นที่อำเภอแม่สอด ที่กำหนดไว้เป็นวันละ 310 บาท ผลการเจรจา นายจ้างตกลงจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้ลูกจ้างทุกคนในอัตราวันละ 310 บาท
2. เรียกร้องให้นายจ้างกำหนดเวลาทำงาน และเวลาทำงานล่วงเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คือวันละ 8 ชั่วโมง ให้มีเวลาหยุดพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และการทำงานล่วงเวลาทุกครั้งต้องแจ้งล่วงหน้าแก่ลูกจ้างทุกคน ผลการเจรจา นายจ้างตกลงกำหนดเวลาทำงานตามกฎหมายที่กำหนด
3. เรียกร้องให้นายจ้างกำหนดวันหยุดและวันลา ตามที่กฎหมายกำหนด ผลการเจรจา นายจ้างตกลงปฏิบัติตามกฎหมาย
4. เรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 พรบ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 พรบ.ประกันสังคม 2533 และอื่นๆเพื่อให้ลูกจ้างทุกคนได้รับสิทธิตามกฎหมาย ผลการเจรจา นายจ้างตกลงปฏิบัติตามกฎหมาย
5. เรียกร้องนายจ้างอำนวยความสะดวกการประกาศรายชื่อลูกจ้างที่บัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงานใกล้หมดอายุ เพื่อให้ลูกจ้างรับทราบและเตรียมค่าใช้จ่าย และให้นายจ้างจัดเตรียมเอกสารของนายจ้างไว้ให้ลูกจ้างไปดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานด้วยตัวเอง โดยให้นายจ้างยกเลิกการหักค่าใช้จ่าย ผลการเจรจา นายจ้างตกลงตามข้อเรียกร้อง
6. ข้อเรียกร้องที่ 6-10 ขอให้นายจ้างจัดทำสลิปค่าจ้างระบุรายละเอียดที่กฎหมายกำหนด เรื่องสวัสดิการที่พักอาศัย น้ำดื่มที่สะอาด ข้าวสารที่สะอาด รถรับ-ส่งไปรักษาพยาบาล กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน การจัดห้องพยาบาลภายในโรงงาน การจัดล่ามแปลภาษาให้ลูกจ้าง การกำหนดน้ำหนักที่ลูกจ้างยกได้ตามที่กฎหมายกำหนด คือไม่เกิน 50 กิโลกรัม บนพื้นราบ ผลการเจรจา นายจ้างตกลงปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนที่พักและข้าวสารสะอาด นายจ้างยกเลิกสวัสดิการโดยตกลงจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายแก่ลูกจ้างทุกคน
- ช่วงเดือน ก.ย. 2562 นายจ้างเริ่มทยอยเลิกจ้างลูกจ้างในโรงงาน กระทั่งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นายจ้างได้ประกาศชื่อของจำเลยร่วม ในคดีนี้เพื่อแจ้งการเลิกจ้าง ทำให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด และวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 พนักงานตรวจแรงงาน ออกคำสั่งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด แพสีห์แดง พืชไร่ นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน และค่าชดเชย ให้กับนายโซหน่ายและลูกจ้างคนอื่น รวม 49 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,856,967.91 บาท แต่ฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 6 เพื่อเพิกถอนคำสั่ง มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทูตแรงงานประเทศเมียนมา เครือข่ายให้การช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ เช่น ยองชิอู ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานทั้ง 49 คน
นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) เห็นว่านับแต่ปี 2558 ที่รัฐบาลไทยได้มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 14 ของพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งต่อมาได้ถูกแก้เป็น มาตรา 64 แห่งพรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อเปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถจ้างลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติตามแนวชายแดนเพื่อทำงานเป็นการชั่วคราวหรือตามฤดูกาลได้ โดยใช้บัตรผ่านแดนที่ต้องต่ออายุทุกๆ 30 วัน และได้รับอนุญาตให้ทำงานระยะสั้นคราวละ 3 เดือน โดยให้จ้างเป็น กรรมกร ใน 24 อาชีพรวมทั้งลูกจ้างทำงานบ้าน ทำให้นายจ้างในสถานประกอบการที่มีการจ้างงานที่เป็นลักษณะประจำ เปลี่ยนจากการจ้างลูกจ้างประจำมาจ้างแรงงานตามมาตรา 64 ที่มีการจ้างงานแบบระยะสั้น 3 เดือน โดยใช้วิธีต่อสัญญาและใบอนุญาตทำงานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อลูกจ้างตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทน มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการจ้างงานตามกฎหมายอื่นเช่น แรงงานประเภท MOU ทำให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มดังกล่าวนี้ เป็นกลุ่มเปราะบาง ตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้านแรงงาน เข้าไม่ถึงสิทธิและการคุ้มครองต่างๆ และกลายเป็นกรณีพิพาทแรงงานที่ลูกจ้างก็ไม่ไม่ได่รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เท่าที่ควร นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯยังได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างของโรงงานที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ให้เข้าถึงเงินทดแทนตามพรบ.เงินทดแทน แต่ปัจจุบันกระบวนการเข้าถึงของคนงานยังมีความล่าช้าและยังเข้าไม่ถึง
นายสมชาย เห็นว่า รัฐบาลควรทบทวนนโยบายการจ้างงานตามมาตรา 64 แห่งพรก.ฯ เพื่อทำให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย คุ้มครองแรงงานฉบับต่างๆอย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ตามกฎหมายและสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านแรงงาน ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยยังคงไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว และมิได้เร่งดำเนินการลงนามตามที่ได้มีการประกาศไว้ในแผนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตามหลักการสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights 2011 : UNGP)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ