ปี 2562 ไทยมีสัดส่วนการใช้ ‘แก๊สโซฮอล์ E85’ แค่ 4% ของกลุ่มเบนซินทั้งหมด คาดจะยกเลิกการส่งเสริมภายในปี 2564 เคยมีงานศึกษาชี้ว่าการส่งเสริม E85 ของไทยยังไม่เหมาะสม เพราะแนวทางที่เป็นธรรมในราคาเอทานอลยังไม่ชัดเจน พลังงานที่ใช้ในการผลิตก็ยังไม่มีการศึกษาเชิงประจักษ์ และนโยบายส่งเสริมไบโอดีเซล-เอทานอล ไม่บูรณาการกัน ด้านนักวิชาการเห็นว่าส่วนต่างราคายังไม่จูงใจ อัตราการใช้สิ้นเปลืองกว่า หาปั้มเติมยาก ชี้ภาครัฐไม่ควรส่งเสริมน้ำมันที่ต้องอุดหนุนมากอย่าง E85 ล่าสุดต้นปี 2563 ปตท. ทยอยเปลี่ยนหัวจ่าย E85 ที่มียอดขายน้อย มาเป็น B10 แทน แต่ย้ำยังไม่เลิกขาย | ที่มาภาพประกอบ: Energy News Center
แก๊สโซฮอล์ E85 เป็นเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly Fuel) ลดมลพิษที่ปล่อยจากไอเสีย ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลัก ของการเกิดภาวะโลกร้อน โดยจะลดลงมากเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเบนซิน นอกจากนั้นแก๊สโซฮอล์ E85 ยังช่วยลดการพึ่งพานำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เนื่องจากการใช้ แก๊สโซฮอล์ E85 ของผู้บริโภค 1 ลิตร จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยลดการใช้น้ำมันเบนซินลงได้ถึง 0.85 ลิตร และเนื่องจากเอทานอลมีค่าออกเทนที่สูงมากกว่า 100 ดังนั้นแก๊สโซฮอล์ E85 จึงมีค่าออกเทนที่สูงกว่าน้ำมันเบนซินทั่วไปรวม แก๊สโซฮอล์ E10 และ E20 ด้วย
ในปัจจุบันแก๊สโซฮอล์ E85 หรือมากกว่ามีใช้อย่างแพร่หลายในประเทศบราซิล สวีเดนและในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา แถบมินนิโซต้า มีการกำหนดอัตราการผสมของเอทานอลแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ทั้งนี้อยู่กับสภาพภูมิอากาศในแต่ละฤดูกาลของประเทศนั้น ๆ ส่วนในประเทศไทย ตามข้อกำหนดคุณภาพของกรมธุรกิจพลังงาน แก๊สโซฮอล์ E85 คือ น้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอลชนิดความบริสุทธิ์ 99.5% อยู่ระหว่างร้อยละ 75 - 85 กับน้ำมันเบนซินพื้นฐานสามารถใช้เติมในรถยนต์ที่ผลิตให้รองรับแก๊สโซฮอล์ที่มีส่วนผสมของเอทานอลในสัดส่วนที่สูงได้ หรือเรียกว่ารถยนต์ E85 (Flex Fuel Vehicle – FFV) [1]
ปี 2562 ใช้ E85 สัดส่วนแค่ 4% ของกลุ่มเบนซินทั้งหมด
จากข้อมูลสถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้า ในปี 2562 พบว่าการใช้น้ามันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 67.44 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.2% ราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 26.46 บาทต่อลิตร ลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในเดือน ธ.ค. 2562 มียอดจ้าหน่ายน้้ามัน B20 อยู่ที่ 241.97 ล้านลิตร
ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 32.19 ล้านลิตรต่อวัน โดยน้ำมันเบนซิน 95 คิดเป็น 3% ของการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินทั้งหมด มีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 0.95 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 12.7% เนื่องจากผู้ใช้รถส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปใช้น้้ามันแก๊สโซฮอลเพราะรถยนต์ในปัจจุบันสามารถรองรับการใชี้น้ำมันแก๊สโซฮอลได้
น้ำมันแก๊สโซฮอล คิดเป็น 97% ของ การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินทั้งหมด มีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 31.24 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.3% โดยน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 (E10) คิดเป็น 30% ของการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินทั้งหมด มีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 9.55 ล้านลิตรต่อวัน, น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 (E10) มีสัดส่วน การใช้สูงสุด คิดเป็น 43% ของการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินทั้งหมด มีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 13.88 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 6.9% น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 (E20) คิดเป็น 20% ของการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินทั้งหมด มีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6.52 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 12.1% ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 (E85) คิดเป็น 4% ของการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินทั้งหมดเท่านั้น มีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.29 ล้านลิตรต่อวัน [2]
สบพน. จะชงยกเลิกการอุดหนุนราคา E85 ในปี 2564
เมื่อช่วงปลายปี 2562 มีข่าวระบุว่าสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) หรือ สบพน. ได้จัดทำแผนลดการชดเชยราคาน้ำมันจากเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยจะนำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ความเห็นชอบ โดยแผนฉบับนี้ในเบื้องต้นมีความชัดเจนแล้วในส่วนของการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากเอทานอลหรือน้ำมันแก๊สโซฮอล์นั้น จะผลักดันให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันเบนซินหลัก โดยจะยกเลิกการส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ภายในปี 2564 ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 นั้นอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 95 หรือยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91
ซึ่งหากเป็นไปตามข่าว ผลจากการยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ในปี 2564 นั้นจะทำให้ราคา E85 ปรับเพิ่มขึ้นอีก 7.38 บาทต่อลิตร (จากราคาขายปลีก ณ เดือน ธ.ค.2562) อยู่ที่ 19.79 บาทต่อลิตร ซึ่งมีการคาดว่าประชาชนคงจะหันไปเติมน้ำมัน E20 ที่รัฐส่งเสริมให้เป็นน้ำมันพื้นฐานหลักแทน ทำให้ในที่สุดผู้ค้าน้ำมันคงจะยกเลิกการจำหน่ายน้ำมัน E85 โดยคาดว่า E85 จะเริ่มหายจากตลาดไปภายในปี 2564 หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายการส่งเสริมน้ำมัน E85 มาตั้งแต่ปี 2551 [3]
ประกาศใช้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ เตรียมยกเลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2562 พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ ที่จะมาใช้บริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเดิม ได้มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าวจะส่งผลให้กระทรวงพลังงาน ต้องยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้แก่ แก๊สโซฮอล์ E20 E85 ไบโอดีเซล B10 และ B20 ภายใน 3 ปี จากปี 2562 โดยในขณะนั้นรัฐนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชดเชยราคา แก๊สโซฮอล์ E20 ในอัตรา 0.78 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ E85 ในอัตรา 6.38 บาท/ลิตร ไบโอดีเซล B10 ในอัตรา 0.65 บาท/ลิตร และไบโอดีเซล B20 ในอัตรา 4.50 บาท/ลิตร โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่ ดำเนินการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยทุกรอบระยะเวลาหนึ่งปี และให้นำประกาศดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีก็มีอำนาจที่จะให้ ขยายระยะเวลา การชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพดังกล่าวต่อไปได้ ตามคำแนะนำของ กพช. แต่ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ จะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งรวมถึงก๊าซ LPG และ NGV ในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีการนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ด้วย โดยกระทรวงพลังงานซึ่งเป็นผู้นำเสนอกฎหมายฉบับดังกล่าว เห็นว่ารายได้หลักของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาจากการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน จึงไม่ควรจะนำไปอุดหนุนเกษตรกรผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งในส่วนของเอทานอล และไบโอดีเซล ซึ่งการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรควรจะเป็นเรื่องของการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลลงมาเป็นการเฉพาะในลักษณะเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย [4] |
ผลกระทบจากนโยบายส่งเสริมน้ำมัน E85
จากงานศึกษา 'ผลกระทบจากนโยบายส่งเสริมน้ำมัน E85' โดยวิชิต หล่อจีระชุณห์กุล และจิราวัลย์ จิตรถเวช เผยแพร่ในวารสารพัฒนบริหารศาตร์ NIDA Development Journal ปีที่ 50 ฉบับที่ 3/2010 (พ.ศ. 2553) ที่ได้ศึกษาการส่งเสริมเอทานอล และไบโอดีเซลเพื่อใช้ผสมกับน้ำมันปิโตรเลี่ยมของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2546-2551 โดยได้สรุปไว้ว่าการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนการใช้น้ำมันปิโตรเลียมเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำและต้องการการวางแผนที่ดี เพื่อให้เกิดการทดแทนน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลด้วยเอทานอลผสมเบนซินและไบโอดีเซลในอัตราส่วนที่เหมาะสม และควรจะกระทำด้วยความรอบคอบ จึงจะสามารถลดการนําเข้าน้ำมันดิบได้ และการทดแทนจะต้องมีการวางแผนให้มีจำนวนผลผลิตของวัตถุดิบในปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่การเกษตรของประเทศ โดยงานศึกษาชิ้นนี้ระบุว่าหากโรงงานผลิตเอทานอลสามารถดำเนินการผลิตได้ตามการประเมินในขณะนั้น (ดำเนินการผลิตแล้วจำนวน 11 แห่ง, ระหว่างดำเนินการจำนวน 16 แห่ง และที่จดทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการอีก 18 แห่ง) ไทยจะมีกําลังการผลิตทั้งสิ้น 11.295 ล้านลิตร/วัน ซึ่งต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว
ทั้งนี้ นโยบายการส่งเสริมน้ำมัน E85 ไม่ควรที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างรีบเร่งหากเทคโนโลยีรถยนต์ Flex Fuel Vehicle (FFV) หรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E85 ยังไม่ได้มีการพัฒนาให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพน้ำมัน E85 ได้มากขึ้นภายใต้เทคโนโลยีของการสันดาปของเครื่องยนต์ในปัจจุบัน รถ FFV ต้องเติมน้ำมันบ่อยกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน 1.38 เท่า ทำให้สามารถลดการใช้น้ำมันเบนซินลงได้เพียงร้อยละ 79.28 เท่านั้นแทนที่จะเป็นร้อยละ 85 ราคาน้ำมัน E85 จะต้องไม่เกินร้อยละ 67.53 ของราคาน้ำมันเบนซิน จึงทำให้ค่าใช้จ่ายพลังงานในเอทานอลและน้ำมันเบนซินเท่ากันแต่ราคาเอทานอลในประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่า หรืออีกนัยหนึ่งคือพลังงานที่ได้จากเอทานอลยังมีราคาสูงกว่าพลังงานที่ได้จากน้ำมันเบนซิน
งานศึกษาชิ้นนี้ชี้ว่าการกำหนดราคาเอทานอลเพื่อเกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตและยังแปรเปลี่ยนตามราคาพลังงานที่ได้จากน้ำมันเบนซินที่ถูกทดแทน ดังนั้นในขณะที่แนวทางที่เป็นธรรมในราคาเอทานอลยังไม่ชัดเจน ตลอดจนพลังงานที่ต้องใช้ในการผลิตเอทานอลในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาในเชิงประจักษ์และนโยบายการส่งเสริมไบโอดีเซลยังไม่ได้บูรณาการกับนโยบายการส่งเสริมเอทานอล นโยบายที่ก่อให้เกิดการทดแทนน้ำมันเบนซินในปริมาณสูงอย่าง เช่น นโยบายการส่งเสริมน้ำมัน E85 จึงยังไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาปริมาณการใช้น้ำมันของประเทศพบว่าอัตราเพิ่มการใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลย้อนหลัง 10 ปี โดยเฉลี่ยลดลงอย่างรวดเร็วเท่ากับร้อยละ 0.26 และ 2.50 ตามลำดับ ดังนั้นนโยบายที่ควรสนับสนุนในช่วงนี้ คือการลดใช้น้ำมันดีเซลลงจะด้วยแก๊สธรรมชาติ หรือน้ำมัน B10 ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้น้ำมัน E10 เป็นหลัก โดยเสริมด้วยน้ำมัน E20 โดยเฉพาะน้ำมัน B5 หรือ B10 ซึ่งมีมลพิษต่ำกว่าน้ำมันดีเซลมาก การส่งเสริมควรจะทำเป็นขั้นตอนเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ มิฉะนั้นประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน และหาก มองในภาพรวมก็เป็นการสูญเสียเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะทำให้มีแรงผลักเพื่อให้ประชาชนต้องซื้อรถยนต์ใหม่ หรือต้องมีการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ซึ่งอาจไม่คุ้มค่ากับผลที่ได้จากการใช้พลังงานทดแทน
นอกจากนี้การกำหนดนโยบายควรต้องคำนึงถึงพื้นที่เพาะปลูกของประเทศ เนื่องจากเนื้อที่เพาะปลูกของประเทศมีจํากัด การปลูกพืชชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้นก็อาจทำให้พื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารลดน้อยลง ปัญหาเรื่องดุลยภาพอาจต้องมีการศึกษาอย่างจริงจัง ในระยะแรกควรส่งเสริมให้มีการเพิ่มผลผลิตต่อไร่แทนการขยายพื้นที่เพาะปลูก และหากมีความจําเป็นควรให้มีการใช้พื้นที่ที่รกร้างในการปลูกพืชน้ำมัน แทนการลดเนื้อที่เพาะปลูกพืชอาหารลง ทรัพยากรน้ำที่ต้องใช้เพิ่มขึ้นในการเพาะปลูกควรจะต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ และสร้างความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดขึ้นมิฉะนั้นจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรขึ้นได้
งานศึกษาชิ้นนี้เสนอว่า การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนการใช้น้ำมันปิโตรเลี่ยมจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผน แบบบูรณาการเพื่อให้เกิดการประสานงานระหว่างโครงการทางเกษตรและอุตสาหกรรม ตั้งแต่พื้นที่เพาะปลูก วัตถุดิบพืชน้ำมัน ความต้องการน้ำที่จะต้องใช้ในการเพาะปลูก การทดแทนน้ำมันปิโตรเลี่ยมโดยเฉพาะสัด ส่วนการลดของน้ำมันเบนซินกับการลดของน้ำมันดีเซล ตลอดจนนโยบายการส่งเสริมการส่งออกน้ำมันสําเร็จรูปและความสามารถในการแข่งขันการส่งออกน้ำมันสําเร็จรูป ภายใต้การกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นที่ใช้อยู่ ในปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับราคาหน้าโรงกลั่น ณ ประเทศสิงคโปร์ บวกด้วยค่าขนส่งระหว่างประเทศสิงคโปร์ถึงท่าเรือแหลมฉบัง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสีย ฯลฯ ยังไม่เหมาะสม ควรจะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อให้ เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคภายในประเทศและความสามารถในการแข่งขันการส่งออกน้ำมันสําเร็จรูป [5]
นักวิชาการชี้เป็นแรงผลักทางการเมือง-ส่วนต่างราคาไม่จูงใจ อัตราการใช้สิ้นเปลืองกว่า หาปั้มเติมยาก
นอกจากนี้ มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ Logisticstime Magazine เมื่อปี 2562 ว่าการนำ E85 มาจำหน่ายนั้น เกิดจากแรงผลักดันทางการเมือง และนำมาซึ่งความผิดพลาดในเชิงนโยบายในปัจจุบัน เพราะราคาไม่สามารถแข่งขันได้ และอยู่ได้ด้วยการอุดหนุนของกองทุนน้ำมันฯเท่านั้น แต่กลับเป็นว่าปัจจุบัน E85 ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้รถ ถึงแม้รถของตนจะเติม E85 ได้ก็ตาม ทั้งนี้เพราะส่วนต่างราคายังไม่จูงใจ เนื่องจากอัตราการใช้สิ้นเปลืองกว่า และหาปั้มเติมได้ยาก (มีเฉพาะในปั้ม ปตท.และบางจากบางแห่งเท่านั้น) อีกทั้งการที่เรามีชนิดของน้ำมันมากเกินไปก็ทำให้การบริหารจัดการของผู้ประกอบการมีความยุ่งยาก ต้องลงทุนมากขึ้น ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น และผลักภาระมาให้ผู้บริโภคในที่สุด
"สิ่งที่ภาครัฐควรใคร่ครวญต่อไปก็คือนโยบายส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพจึงควรผลักดันอย่างระมัดระวัง และไม่ควรทำให้เกิดความผิดพลาดเหมือนในอดีต ที่ส่งเสริมเปรอะไปหมด ทั้งแก๊สโซฮอล 95/91 E20/E85 ทั้ง ๆ ที่เราควรเลือกที่จะส่งเสริมเพียงหนึ่งหรือสองชนิดเท่านั้น และไม่ควรส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ต้องอุดหนุนมาก ๆ อย่างเช่น E85 แต่ควรส่งเสริม E20 แทนอย่างนี้เป็นต้น" มนูญ ระบุกับ Logisticstime Magazine [6]
ปตท. ทยอยเปลี่ยนหัวจ่าย E85 เป็น B10 แทน ย้ำยังไม่เลิกขาย
บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เผยจะขยายหัวจ่ายน้ำมันดีเซล B10 ให้มีครบทุกแห่ง 1,850 ปั๊มทั่วประเทศ ภายในวันที่ 1 มี.ค.2563 ตามนโยบายกระทรวงพลังงาน โดยส่วนหนึ่งจะใช้วิธีทยอยเปลี่ยนหัวจ่ายแก๊สโซฮอล์ E85 ในปั๊มที่มียอดขายน้อยมาเป็นดีเซล B10 แทน | ที่มาภาพ: Energy News Center
ช่วงต้นปี 2563 นายบุญมา พนธนกรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า OR กำลังเร่งเพิ่มหัวจ่ายน้ำมันดีเซล B10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ในทุกลิตร) ให้ครบ 1,850 แห่งทั่วประเทศภายในวันที่ 1 มี.ค. 2563 ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน โดยปัจจุบัน OR มีหัวจ่ายดีเซล B10 แล้ว 550 ปั๊มยังเหลืออีก 1,300 ปั๊ม และมียอดจำหน่ายเฉลี่ยอยู่ที่ปั๊มละ 1,500 ลิตรต่อวัน
นอกจากนี้ OR ยังมีแนวทางที่จะทยอยยกเลิกหัวจ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 85% ในทุกลิตร) เพื่อปรับเปลี่ยนมาขายนำมันดีเซล B10 แทน เนื่องจากยอดขายแก๊สโซฮอล์ E85 ยังมีปริมาณน้อย เฉลี่ยรวมอยู่ที่ประมาณ 7 แสนลิตรต่อวันเท่านั้น จากจำนวนปั๊ม 1,058 แห่ง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนหัวจ่ายแก๊สโซฮอล์ E85 มาเป็นดีเซล B10 แทนได้ประมาณ 40-50 แห่ง [7]
ทั้งนี้ในช่วงเดือน ก.พ. 2563 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่าเนื่องจากมีการแชร์ในสื่อโซเชียลว่าใกล้ถึงอวสานน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ที่รัฐส่งเสริมมาตั้งแต่ปี 2551 ทางบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขอชี้แจงว่า สถานีบริการ PTT Station ไม่ได้ยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ E85 ตามที่เป็นข่าว ยังคงมีขายตามปกติ โดยข้อมูลล่าสุดมีการระบุจำนวนสถานีบริการ PTT Station ที่จำหน่าย E85 อยู่ ซึ่งมี 1,030 แห่ง จากจำนวนสถานีบริหารทั้งหมดทั้งหมด 1,756 แห่ง
และจากการที่กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B10 ในทุกสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ เพื่อผลักดันให้น้ำมัน HSD B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานของประเทศ แต่เนื่องจากสถานีบริการ PTT Station มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันในสถานีบริการมากถึง 9 ชนิด ส่งผลให้สถานีบริการ PTT Station บางแห่ง ที่มีจำนวนถังน้ำมันจำกัด ไม่สามารถเพิ่มการจำหน่ายน้ำมันชนิดใหม่ (ดีเซล B20 ดีเซล B10) ที่เพิ่มเข้ามาได้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนถังน้ำมัน โดยเปลี่ยนจากการขายน้ำมันบางชนิดไปขายน้ำมันดีเซล B10 เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ตามที่กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือ [8]
ข้อมูลอ้างอิง
[1] รายงานฉบับสุดท้ายโครงการว่าจ้างที่ปรึกษารณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่อง การใช้น้ำมันคุณภาพ E85 (กระทรวงพลังงาน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19 มิ.ย. 2563)
[2] สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้า ในปี 2562 (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19 มิ.ย. 2563)
[3] ใกล้อวสานน้ำมัน E85 รัฐชงยกเลิกการอุดหนุนราคาในปี 2564 (Energy News Center, 3 ธ.ค. 2562)
[4] พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว เตรียมยกเลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพใน 3 ปี (Energy News Center, 28 พ.ค. 2562)
[5] ผลกระทบจากนโยบายส่งเสริมน้ำมัน (วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล และจิราวัลย์ จิตรถเวช, วารสารพัฒนบริหารศาตร์ NIDA Development Journal ปีที่ 50 ฉบับที่ 3/2010)
[6] กระหน่ำซัมเมอร์เซล B20 ระวัง!ซ้ำรอย E85 (Logisticstime Magazine, 1 เม.ย. 2562)
[7] โออาร์ เร่งอีก 1 เดือนขยายหัวจ่ายดีเซล B10 ให้ครบทุกปั๊มทั่วประเทศ 1 มี.ค. 63 (Energy News Center, 31 ม.ค. 2563)
[8] ข่าวปลอม! ปตท.เลิกขายน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ E85 (ผู้จัดการออนไลน์, 20 ก.พ. 2563)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ