สำรวจจักรวาลความคิด จะทำอย่างไรให้ชีวิต 'มีค่า'

นิสิตชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ | 22 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 10251 ครั้ง


(อ้างอิงจากงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องผลกระทบทางลบของการเปรียบเทียบทางสังคมบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยรวบรวมข้อมูลเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563)

 

มนุษย์นั้นมีความต้องการการได้รับความเชื่อถือ ได้รับการสนับสนุน และการยอมรับนับถือจากผู้อื่น โดยมีความคิดที่ว่าหากเราประสบความสำเร็จในชีวิตก็จะทำให้ชีวิตดู “มีค่า” และได้มาซึ่งการเป็นที่ยอมรับจากบุคคลอื่นในสังคม ซึ่งสามารถอธิบายได้ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของ อับราฮัม มาสโลว์ (1943) ลำดับที่ 4 ความต้องการการยกย่อง (Esteem Needs) ที่พูดถึงความต้องการที่จะให้ผู้อื่นเห็นว่าตนเองมีความสามารถ มีคุณค่า ต้องการได้รับความยกย่องนับถือจากผู้อื่นเพื่อให้ตนรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ดังที่ แซสซี่ (1978) กล่าวว่า ความรู้สึกของบุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเอง มีความภาคภูมิใจในตนเองเกิดมาจากการเป็นที่ยอมรับ ในทางกลับกันหากไม่ได้เป็นที่ยอมรับก็จะทำให้บุคคลนั้นไม่ภูมิใจในตนเอง   

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองมีคุณค่า? 

“การเปรียบเทียบทางสังคม” ถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะคนเราจำเป็นต้องมี ตัวแบบ เพื่อประเมินความสามารถของตนเอง หาจุดเด่น จุดด้อยและคุณค่าในตนเองผ่านการยึดบุคคลอื่นเป็นบรรทัดฐานในการใช้ชีวิต ในอีกมุมหนึ่งตามที่ ลีออน เฟสทิงเจอร์ (1954) กล่าวว่า บางครั้งคนเราก็เกิดการเปรียบเทียบทางสังคมเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับตนเอง เป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้ตนเองรู้สึกดี ซึ่งการเปรียบทางสังคมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลที่เหนือกว่าตน (Upward Social Comparison) และการเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลที่ด้อยกว่า (Downward Social Comparison)

การเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลที่เหนือกว่าตน (Upward Social Comparison) คือ การเปรียบเทียบกับคนที่คิดว่าดีกว่าตนเองซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจ และเพิ่มความมั่นใจให้กับตนเอง เช่น เมื่อเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จก็จะไปดูวิธีการที่เขาใช้พฤติกรรมที่เขาทำแล้วนำมาปฏิบัติตามเผื่อว่าจะประสบความสำเร็จตามเขา

แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังส่งผลให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ รู้สึกว่าตนเองด้อยค่า เช่น การเห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จก่อนเราทั้ง ๆ ที่เริ่มต้นพร้อมกัน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกอิจฉา รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ เป็นต้น

การเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลที่ด้อยกว่า (Downward Social Comparison) คือ การเปรียบเทียบกับคนที่แย่กว่าตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเองสูงขึ้น รู้สึกดีกับตนเองมากขึ้น เช่น พยายามมองชีวิตของคนที่แย่กว่าเราเพื่อให้ตนเองรู้สึกว่าเป็นคนโชคดี ในอีกด้านหนึ่งอาจทำให้เกิดพฤติกรรมกดขี่ผู้อื่นและทำให้คุณค่าของผู้อื่นต่ำลง เช่น เมื่อขาดความมั่นใจก็จะเล่าความสำเร็จของตัวเองให้คนอื่นฟังเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเราเก่งกว่า

โลกโซเชียลทำให้เกิดการเปรียบเทียบมากขึ้น?

การเปรียบเทียบทางสังคมเกิดขึ้นมาก่อนที่คนเราจะรู้จักกับโลกโซเชียลมักจะเกิดกับคนที่เรารู้จัก หรือใกล้ชิดกัน เพราะยังไม่มีพื้นที่ที่จะแสดงตัวตน หรืออวดความสำเร็จของตัวเองให้คนอื่นรับรู้มากเท่าไร ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกโซเชียลเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเรามากขึ้น ซึ่งทำให้คนเราเชื่อมต่อกันได้ง่ายและทั่วถึงมากขึ้น ในขณะเดียวกันความรวดเร็วของการสื่อสาร และการเข้าถึงข้อมูลหรือเรื่องราวของผู้อื่นได้ง่ายก็ทำให้เกิดการเปรียบเทียบทางสังคมเป็นวงกว้างมากขึ้นเช่นกัน ดังที่ อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์ทำให้เราเห็นและเกิดการพิจารณาถึงผู้อื่นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเพื่อนกัน ซึ่งการสังเกตได้ง่ายขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เท่ากับว่าโอกาสการเปรียบเทียบก็มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบมากขึ้นบนโลกโซเชียล คือการที่เราสามารถใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงตัวตนหรือแชร์เรื่องราวของเราให้ผู้อื่นรับรู้และแน่นอนว่าเราก็รับรู้เรื่องราวของผู้อื่นด้วย อย่างการโพสต์เฟซบุ๊กว่าวันนี้เราเจออะไรมาบ้าง ลงรูปบนอินสตาแกรมตามกระแสวันสำคัญ เช่น วันวาเลนไทน์ วันปีใหม่ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่ทำเพื่อให้คนอื่นเข้าใจความเป็นตัวเรา หรือการแชร์เรื่องราวที่ตัวเองสนใจ แชร์โพสต์ที่เราชื่นชอบเพื่อให้คนอื่นรู้ความสนใจของเรา นอกจากนั้นการเข้าร่วมกลุ่มที่ตัวเองสนใจก็แสดงถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ต้องการความรู้สึกแปลกแยก

ยิ่งทุกวันนี้ทุกคนมีทางเลือกในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างอิสระ ซึ่งในแต่ละแพลตฟอร์มก็มีลักษณะการใช้งาน ข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นแต่ละสื่อยังทำให้เกิดการเปรียบเทียบทางสังคมบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ต่างกันด้วย โดยจากการศึกษางานวิจัยพบว่าสื่อที่มีแนวโน้มทำให้เกิดการเปรียบเทียบมากที่สุดคือ อินสตาแกรม เพราะนอกจากจะเป็นโซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในตอนนี้แล้วอินสตาแกรมยังเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นรูปภาพ วิดีโอ ซึ่งสอดคล้องกับความนิยมในปัจจุบันที่คนชอบเสพสื่อที่เป็นรูปภาพ หรือวิดีโอเพราะสามารถดึงดูดความสนใจของคนได้มากกว่าตัวหนังสือ ซึ่งเรียกว่า Visual content หรือการสื่อสารด้วยภาพ การโพสต์ภาพบนอินสตาแกรมส่วนใหญ่มักจะผ่านการปรับแต่งมาอย่างดี และแสดงแต่ความสมบูรณ์แบบของตนเองออกมา เรียกได้ว่าเป็นการนำเสนอเพียงด้านเดียว และคนเรายังสามารถนำเสนอไลฟ์สไตล์ของตัวเองที่อยากให้คนอื่นรับรู้ผ่านรูปภาพเหล่านั้นได้ด้วย ซึ่งอาจเป็นต้นตอของการเปรียบเทียบไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากการคาดหวังยอดไลก์ หรือความเป็นจุดสนใจ 

นอกจากนั้นอินสตาแกรมยังมีสตอรี่ หรือที่คนนิยมเรียกว่า ไอจี สตอรี่ ที่ทำให้การแชร์เรื่องราวในชีวิตประจำวันง่ายขึ้นไปอีก เพราะการถ่ายลงนั้นทำโดยไม่ต้องคิดถึงผลกระทบทางลบเยอะ เนื่องจากไอจี สตอรี่จะมีเวลาอยู่เพียง 24 ชม. เพราะฉะนั้นเราจึงต้องโพสต์สิ่งที่เพอร์เฟคที่สุด สวยที่สุด น่าสนใจมากที่สุดเพื่อดึงดูด และสร้างความจดจำให้คนที่มาดูสตอรี่ของเรา ซึ่งอาจจะไปกระตุ้นต่อมอิจฉาของผู้อื่นได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีฟีเจอร์ถาม-ตอบ สร้างโพลเพื่อให้คนอื่นมาตอบ เรียกได้เลยว่ามันคือการเช็คเรตติ้งดี ๆ นี่เอง

การเปรียบเทียบเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร อย่างไร

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลล้วนผ่านการสร้างสรรค์ให้ออกมาเพอร์เฟคมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเองหรือผู้อื่น เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบก็จะเกิดในทุกขณะที่เราเลื่อนฟีดแล้วไปเจอเรื่องราวของผู้อื่น ยกสถานการณ์ให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น เมื่อคุณเห็นเพื่อนโพสต์รูปเค้าท์ดาวน์ที่ญี่ปุ่นในช่วงปีใหม่ แต่คุณนั่งเค้าท์ดาวน์อยู่ที่บ้าน ก็จะมีความคิดแว๊บเข้ามาในหัวว่า “ทำไมเราไม่ได้ไปบ้าง ทำไมเพื่อนชีวิตดีจัง” หรือคุณเห็นคู่รักโพสต์ภาพให้ของขวัญกันในวันวาเลนไทน์ แล้วคุณรู้สึกอิจฉาพาลคิดไปว่า “สิ้นเปลือง ไร้สาระทำไมต้องซื้อของราคาแพงโพสต์อวดลงด้วย” 

หากเกิดกับคนที่จัดการความรู้สึกตัวเองไม่ได้ ก็จะทำให้คุณรู้สึกว่าไม่อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิตกับเพื่อนคนนั้นไปเลย เพราะคุณไม่อยากรับรู้ว่าคนอื่นดีกว่าตัวคุณ และถึงแม้ว่าการเปรียบเทียบนี้จะอยู่บนโลกเสมือนจริงแต่ก็ส่งผลกระทบไปสู่โลกจริงของคุณด้วย เช่น บางครั้งคุณก็ไม่อยากออกไปเจอเพื่อนคนที่โพสต์ชีวิตดี ๆ บนโลกโซเชียล ขั้นหนักสุดคือคุณอยากเก็บตัวเงียบ ๆ คนเดียวไม่อยากออกไปเจอโลกภายนอก

การเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นทำให้คุณเห็นคุณค่าในตนเองต่ำลง ซึ่งมันเกิดมาจากการที่คุณเสพสื่อมากเกินไป ทำให้คุณขาดการรับรู้ในตนเอง ว่าคุณมีข้อดีอะไรที่ควรรักษาและภูมิใจ หรือมีข้อเสียอะไรที่ควรปรับปรุง จนทำให้อิทธิพลของคนอื่นบนโซเชียลมีเดียเข้ามาแทรกแซงตัวตนของคุณ และท้ายที่สุดคุณอาจจะสูญเสียตัวตนของตนเองไป

รับรู้เสียงที่อยู่ภายในตัวเรา

เมื่อเรื่องราวความสุข ความทุกข์ หรือความสำเร็จของผู้อื่น มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเรา แน่นอนว่าการรับรู้เหล่านั้นอาจส่งผลให้หลาย ๆ คนเกิดความรู้สึกแย่กับตนเอง เพราะคิดว่าตนเองไม่มีข้อดีเหมือนคนอื่น ไม่โดดเด่นหรือไม่เป็นที่จับตามอง จนปล่อยให้ผู้อื่นเข้ามามีอิทธิพลต่อตัวเรานำไปสู่การทำในสิ่งที่สังคม คนรอบข้าง    คาดหวังให้ทำ หรือทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าสังคมหรือคนรอบข้างจะพอใจ เพียงเพราะการกระทำเหล่านั้นจะทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งกับพวกเขา จนทำให้เกิดความขัดแย้งในตนเอง ไม่รู้จักตัวตนของตนเอง ดังนั้น ประตูบานแรกที่จะก้าวสู่จักรวาลของตนเองนั่นคือ การรับรู้ตนเอง หมายถึงการรับรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของตนเอง เข้าใจและยอมรับข้อดี ข้อเสียเหล่านั้น คนที่สามารถรับรู้ตนเองได้ เขาจะกล้าทำในสิ่งที่เขาคิดแม้มันจะไม่เหมือนสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นการซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตน นอกจากนั้นการรับรู้ตนเองยังส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ยึดมั่นในสิ่งที่ตนเองเชื่อและใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับค่านิยมและความเชื่อเหล่านั้น

สร้างความสุขด้วยการเห็นคุณค่าในตนเอง

การเปรียบเทียบทางสังคมส่งผลต่อมุมมองความคิดมากมายไม่ว่าจะเป็น รู้สึกว่าตนเองไม่มีอะไรดีเลย ไม่มีสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ หรือถึงขั้นที่รู้สึกว่าตนเองนั้นไร้ค่า เป็นคนล้มเหลว เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่ต้องการไขว่คว้าความสำเร็จ เพื่อให้ตัวเองพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง เพราะมนุษย์ต้องการการยอมรับ เป็นที่นับถือ และได้รับการชื่นชมจากคนในสังคม จนอาจหลงลืมความธรรมดา และละเลยสิ่งที่ตนเองมี เพราะฉะนั้นเราควรเข้าใจว่าทุก ๆ คนมีคุณค่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มีคุณค่าในแบบที่ตนเองเป็น เนื่องจากทุกคนบนโลกล้วนแตกต่างกัน ปรับแนวคิดจากการมองหาแต่สิ่งที่ตนเองไม่มี ไปมองหาสิ่งที่เรามีและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เราควรให้ความสำคัญกับการเปรียบเทียบเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อน สร้างพลังในการใช้ชีวิต ไม่ใช่เปรียบเทียบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบของตนจนสูญเสียคุณค่าของตนเองไป สุดท้ายการเห็นคุณค่าในตนเองจะทำให้คุณมีความสุขในการใช้ชีวิต เกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเชื่อว่าตนเองสามารถทำทุกสิ่งได้อย่างดีที่สุดตามความสามารถที่ตนเองมี

แสดงตัวตนที่แท้จริง หรือตัวตนที่อยากให้คนอื่นเห็น

ผลกระทบจากการเปรียบเทียบต่อมาคือ อาจส่งผลให้เราไม่กล้าที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงให้ผู้อื่นเห็น ซ่อนตัวตนที่แท้จริง ทำตัวเหมือน ๆ คนอื่น เพราะไม่อยากให้ตนเองดูแปลกแยกหรือแตกต่าง ดังนั้นประตูบานสุดท้ายคือ การนำเสนอตนเอง ในรูปแบบที่ตนเองเป็น หรืออาจกล่าวได้ง่าย ๆ จงเป็นตัวของตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในรูปแบบของตัวเอง เป็นอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ อย่าปล่อยให้การรับรู้เรื่องราวของผู้อื่นนั้นกลายเป็นข้อจำกัด หรือทำลายสิ่งที่น่ายินดีของตัวเรา สุดท้ายความสุข คือ รางวัลที่ยิ่งใหญ่จากการยอมรับในตนเอง การเห็นคุณค่าในตนเอง สามารถพูดความรู้สึกของตนเองได้อย่างเปิดเผย และกลายเป็นตัวของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับผู้อื่นอีกต่อไป 

การเปรียบเทียบที่ดี คือการเปรียบเทียบอย่างรู้เท่าทัน

การแชร์เรื่องราวดี ๆ ลงบนโลกโซเชียล อัปโหลดเรื่องราวการเดินทางที่น่าสนใจ เซลฟี่รูปสวย ๆ อาจจะส่งผลให้หลายคนเข้าใจผิดว่าทุกสิ่งบนโลกโซเชียลนั้นเป็นของจริง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นเพียงโลกเสมือนจริงที่เราสามารถปรุงแต่ง หรือสร้างขึ้นเพื่อนำเสนอด้านที่ดีที่สุดของตนเอง เมื่อโซเชียลมีเดียทำให้เราเห็นชีวิตของคนอื่นง่ายขึ้น สิ่งที่สำคัญคงเป็นการมีวิจารณญาณในการกรองข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างโลกแห่งความเป็นจริง และโลกเสมือน เราอาจกล่าวได้ง่าย ๆ ว่า การเปรียบเทียบอย่างรู้เท่าทัน คือ การรู้เท่าทันความคิดของตนเองโดยแยกความคิดและอารมณ์ออกจากกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างแนวทางการปฏิบัติหลังจากเกิดการเปรียบเทียบ และปรับพฤติกรรมของตนไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ไม่ให้เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลเหนือตนเอง หรือเหนือความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด อาจกล่าวได้ว่าเมื่อมีการเปรียบเทียบอย่างรู้เท่าทันมากขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิดการเปรียบเทียบน้อยลง และสามารถใช้โซเชียลได้อย่างมีความสุข

คุณค่าของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในชีวิตเพราะทุกคนล้วนมีคุณค่าในตนเองอยู่แล้วโดยไม่ต้องพยายามพิสูจน์ ดังนั้น ไม่ต้องเอาตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเพราะการเปรียบเทียบที่สร้างแรงขับเคลื่อนได้ดีที่สุดคือการเปรียบเทียบกับเราคนเมื่อวาน

 

 

บรรณานุกรม

กองบรรณาธิการ HONESTDOCS.  (2562).  โซเชียลมีเดียส่งผลต่อสุขภาพจิตได้อย่างไร ? งานวิจัยมีคำตอบ.  สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2562, จาก https://www.honestdocs.co/social-media-affects-mental-health

ณัฐกาญชน์ กอมณี.  ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการเปิดรับสื่อสังคมออนไลน์อย่างมีวิจารณญาณ.  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2559.

ทรงเกียรติ ล้นหลาม.  ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบวิตกกังวล การมองโลกในแง่ดีและการเห็นคุณค่าในตนเองของนิสิตมหาวิทยาลัย.  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

ธิดารัตน์ แย้มนิ่ม.  ปัจจัยทางชีวจิตสังคมที่สัมพันธ์กับเอกลักษณ์แห่งตนของวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น.  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2558.

พสุ เดชะรินทร์.  (2560).  พฤติกรรมของคนกับสื่อสังคมออนไลน์.  สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2562, จาก https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641565

พีรวิชญ์ คำเจริญ; และ วีรพงษ์ พลนิกรกิจ.  เด็กกับการรู้เท่าทันดิจิทัล.  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, 2561.

ยลรวี โรจน์ทอง.  การศึกษาการเปรียบเทียบความภาคภูมิใจในตนเอง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6. สารนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการแนะแนว คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ, 2556.

รมย์รวินท์.  (2561).  Self Esteem.  สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2562, จาก https://romravin.wordpress.com/2011/02/11/self-esteem/

วริษฐา แซ่เจีย.  (2563).  “ทำยังไงก็คงดีไม่พอ” หรือการเปรียบเทียบที่ไม่สิ้นสุดบนโลกออนไลน์กำลังบั่นทอน ตัวตน?.  สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2562, จาก https://thematter.co/social/how-endless-comparison-on-social-media-ruins-your-life/100153

สรุปบุ๊ค ทีม.  (2561).  How to Raise Your Self-Esteem หรือพลังแห่งการเพิ่มความนับถือตัวเอง.  สืบค้น เมื่อ 5 ตุลาคม 2562, จาก http://www.saroopbook.com/book/how-to-raise-your-self-esteem-summary/

อภิสิทธิ์ ไชยประสิทธิ์.  (2560).  ถึงเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันให้คนในยุค 4.0.  สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2562, จาก http://www.cioworldmagazine.com/apisith-chaiyaprasith-digital-immunity/

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ.  (2562).  Social Comparison ความทุกข์จากการเปรียบเทียบกันบนโซเชียลมีเดีย.  สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2562, จาก https://thematter.co/thinkers/social-media-comparison/70205

อังศิญาณัฐ ศรีจันทร์.  (2561).  Upward and Downward Comparisons Influence Our Self-Esteem.  สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2562, จาก https://sookjai.me/contents/1785

เฮีย อยู่ดี.  (2561).  ผลสำรวจพบ เห็นรูปคนไปฟิตเนสบนโซเชียล ทำเรารู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้น.  สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2562, จาก http://www.healthandtrend.com/healthy/what-the-health/fitness-posts-ruining-your-self-esteem

Festinger, L. (1954). A Theory of Social Comparison Processes. Human Relations, 7(2), 117–140. Retrieved October 5, 2018, from https://doi.org/10.1177/001872675400700202

Maslow A. (1970). The Instinctual Nature of Basic Needs. Motivation and Personality, 77–96. Retrieved October 10, 2018, from http://s-f-walker.org.uk/pubsebooks/ pdfs/Motivation_and_Personality-Maslow.pdf

Sasse, C. R. (1978). Person to Person. Peoria: Benefit.

 

 

 


 

ผู้เขียน

นางสาวพนิดา แมงกลาง

นางสาววณิชยา สืบประสิทธิ์

นางสาวกัญจน์ชญา อาจหาญ

นิสิตชั้นปีที่ 4 เอกการสื่อสารเพื่อการจัดการนวัตกรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 


ที่มาภาพจาก: avi_acl (CC0 Public Domain)

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: