นักวิจัย ม.นเรศวร แนะใช้การตรวจหาสารพันธุ์กรรม COVID-19 ในน้ำเสียของสิ่งปฏิกูลโดยใช้ประชากรตัวอย่าง ช่วยประเมินคลายล็อกดาวน์ได้เร็วขึ้น และประหยัดงบประมาณ | ที่มาภาพประกอบ: กอ.รมน.
เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2563 Thai PBS รายงานว่า ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยการใช้โฟมที่ปรับเสถียรด้วยอนุภาคแม่เหล็กนาโนร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อนทางแม่เหล็กไฟฟ้าในการเร่งการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยด้วยวิธีสกัดไอดิน จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถิติการติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ของไทยในแต่ละวันค่อนข้างคงที่ ขณะที่หลายจังหวัดรวมถึงพิษณุโลกไม่พบการติดเชื้อรายใหม่มาหลายวัน คำถามคือเมื่อใดจะเปิดเมืองได้อีกครั้ง
บทความในนิวยอร์กไทม์ส ระบุว่าสหรัฐฯ ต้องตรวจการติดเชื้อให้มากกว่าปัจจุบันอีกวันละ 3 เท่า จึงจะกลับมาเปิดเมืองได้อีกครั้ง โดยปัจจุบันสหรัฐฯ มีอัตราการตรวจที่ 10,863 ต่อประชาการ 1 ล้านคน ส่วนของประเทศไทยอยู่ที่ 1,440 การตรวจต่อประชากร 1 ล้านคน ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาประมาณ 7.5 เท่า
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีอีกหนึ่งทางเลือกในการเปิดเมือง นั่นคือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาในน้ำโสโครกเพื่อคัดกรอง ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจการติดเชื้อโดยไม่ต้องตรวจทุกคนในจังหวัด ด้วยการตรวจน้ำโสโครกหรือน้ำเสียของสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ ได้แก่ อุจจาระ ปัสสาวะ
ในหนึ่งวันคนเราขับถ่ายอุจจาระเฉลี่ยประมาณ 128 กรัมต่อคน และมีน้ำเสียจากสุขาที่รวมกิจกรรมชำระล้างการขับถ่ายอีกประมาณ 25-50 ลิตรต่อคนต่อวัน โดยผู้ติดเชื้อนั้นมีรายงานว่ามีสารพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 สูงตั้งแต่ 630,000 copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระ ถึง 30,000,000 copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระ ซึ่งงานวิจัยจากสหรัฐฯ ตรวจเจอได้ต่ำที่สุด คือ 10 copies ต่อมิลลิลิตรของน้ำเสีย วิธีการตรวจใช้ RT-qPCR ปกติแบบที่ใช้ตรวจในคน ถ้าใช้ตัวเลข 10 copies ต่อมิลลิลิตรเป็นค่าต่ำสุด และคำนวณจะพบว่าจังหวัดพิษณุโลกซึ่งมีประชากรประมาณ 866,891 คน สามารถตรวจตัวอย่างน้ำโสโครกเพียง 90 ตัวอย่าง สำหรับสมมติฐานว่าอุจจาระของผู้ติดเชื้อมีสารพันธุกรรมของไวรัสที่ 30,000,000 copies ต่อมิลลิลิตร หรือ 4,267 ตัวอย่าง สำหรับสมมติฐานว่ามีสารพันธุกรรมของไวรัส 630,000 copies ต่อมิลลิลิตร ตัวอย่างน้ำโสโครกที่เป็นตัวแทนของทั้งจังหวัดพิษณุโลกยังน้อยกว่าการตรวจทุกคนในจังหวัด ประหยัดงบประมาณและเวลาอย่างมากมาย
นักวิจัยระบุว่า สามารถใช้เทคนิคการเก็บตัวอย่างน้ำแบบผสมรวมในการเก็บตัวอย่างน้ำเสียที่เป็นตัวแทนของคน 1,000 คนได้ เช่น ถ้ามีคอนโด 200 ห้อง มีคนอยู่ 400 คน ให้เก็บตัวอย่างน้ำโสโครกรวมของคอนโดนั้น ๆ มาผสมกับคอนโดอื่นในบริเวณข้างเคียง ไล่ตรวจไปทีละโซนทีละพื้นที่ หรือหากมีจุดที่มีน้ำเสียรวมของตำบลหนึ่งไหลมารวมกันก็เก็บตรงจุดนั้นเป็นตัวแทนของตำบลนั้นได้ หากตรวจแล้วพบก็สืบหากันต่อไปโดยอาจจะต้องแยกตรวจน้ำเสียรายตึก รายคอนโด หรือโซนของหมู่บ้าน จะทำให้เข้าถึงตัวผู้ติดเชื้อได้ไวขึ้น ถึงขั้นนี้การดูประวัติการเดินทาง กิจกรรม และอาการทางสุขภาพร่วมด้วยน่าจะทำให้เข้าถึงผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น โดยที่ผู้ตรวจใส่ชุด PPE ก็เพียงพอแล้ว
งานเก็บน้ำเสียจึงเป็นงานที่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งแวดล้อมภาค สิ่งแวดล้อมจังหวัด แม้แต่สถานีอนามัยก็สามารถทำได้หากได้รับการอบรมพื้นฐานมา ไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้จังหวัดที่มีการล็อกดาวน์จนไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมาระยะหนึ่งแล้ว การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำโสโครกอาจช่วยให้เปิดเมืองได้เร็วขึ้น ทั้งยังช่วยให้เราเฝ้าระวังการกลับมาของไวรัสด้วยหลักการและตรรกะแนวคิดเดียวกัน การตรวจน้ำเสียในโรงพยาบาลหรือโรงแรมที่มีขาจรจากต่างจังหวัดเข้ามาพักหลังเปิดเมืองจะทำให้เราเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงได้ ในทำนองเดียวกันการตรวจน้ำโสโครกจากห้องน้ำในสนามบิน หรือแม้แต่จากห้องน้ำของเครื่องบินเองก็จะช่วยเฝ้าระวังได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการวัดอุณหภูมิแบบปัจจุบัน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ