นักเศรษฐศาสตร์แนะสอบสวนต้นเหตุภาวะล้มละลาย 'การบินไทย' โดยสภาผู้แทนราษฎร

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2488 ครั้ง

นักเศรษฐศาสตร์แนะสอบสวนต้นเหตุภาวะล้มละลาย 'การบินไทย' โดยสภาผู้แทนราษฎร

อดีตกรรมการกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ระบุต้องหยุดยั้งความตื่นตระหนกของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ถือหุ้นกู้การบินไทย รัฐบาล-ผู้ถือหุ้นต้องลดทุน เจ้าหนี้บางส่วนต้องลดหนี้หรือแปลงหนี้เป็นทุน ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายบางส่วนก่อนใส่เงินภาษีประชาชนเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งตั้งคณะทำงานสอบสวนต้นเหตุแห่งภาวะล้มละลายโดยสภาผู้แทนราษฎร ประเมินการบินไทยต้องใช้เงินงบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 130,000 ล้านบาท | ที่มาภาพประกอบ: Daisuke Matsumura (CC BY-NC-ND 2.0)

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้กล่าวแสดงความเห็นกรณีการเข้าสู่ภาวะการล้มละลายของการบินไทยว่าเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ คือ ประการแรก ต้องหยุดยั้งความตื่นตระหนกของบรรดาสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหลายที่ถือหุ้นกู้การบินไทยอยู่ หากไม่หยุดยั้งความตื่นตระหนกจะนำมาสู่ปัญหาของฐานะทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งเพราะเกิดการไปแห่การถอนเงินฝากและขายหุ้น ขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้ลุกลามไปสู่สหกรณ์ออมทรัพย์อื่นๆที่มีธุรกรรมระหว่างกัน ส่วนสถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์นั้นยังไม่น่าห่วง ณ ขณะนี้เพราะยังมีฐานทุนแข็งแกร่ง

ประการที่สอง รัฐบาลต้องลดทุน ผู้ถือหุ้นต้องลดทุน ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายบางส่วนก่อน เจ้าหนี้บางส่วนต้องยอมลดหนี้ให้หรือแปลงหนี้เป็นทุนก่อนรัฐบาลนำเอางบประมาณมาดูแล ประเมินการบินไทยต้องใช้เงินงบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 130,000 ล้านบาทจัดการปัญหาสภาพคล่องและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ประการที่สาม รัฐบาลปล่อยเงินกู้ หรือ ค้ำประกันเงินกู้ โดยรัฐบาลต้องให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับการบินไทยนำเงินเพื่อไปใช้ในแผนฟื้นฟูกิจการให้การบินไทยมีสภาพคล่องในการดำเนินกิจการและรักษาพันธสัญญาต่อเจ้าหนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อความเชื่อมั่นตลาดการเงินของประเทศ โดยหุ้นกู้ที่ออกมาใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้เดิมนี้ ให้มีสิทธิในการแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ งบประมาณช่วยเหลือจากรัฐบาลนี้ต้องมีการกำกับดูแลให้มีการใช้เงินให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟู

ประการที่สี่ การบินไทยยื่นขอล้มละลายเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และให้ศาลล้มละลายกลางตั้งผู้บริหารแผนซึ่งเป็นมืออาชีพมีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารแผนฟื้นฟู

ประการที่ห้า ปรับโครงสร้างองค์กรโดยนำผู้บริหารชุดใหม่ทั้งระดับกรรมการและระดับผู้บริหารฝ่ายจัดการออกแทนที่ด้วยผู้บริหารชุดใหม่ทั้งชุดเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เงินภาษีที่ใช้ไปเพื่อแก้ปัญหาจะไม่สูญเปล่า ปรับลดขนาดองค์กรโดยปรับลดพนักงานโดยต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

ประการที่หก หลังจากฟื้นฟูกิจการการบินไทยได้แล้ว ให้ทยอยเปิดเสรีน่านฟ้าประชาชนจะได้ค่าโดยสารที่ถูกลงจากการแข่งขันที่มากขึ้น คุณภาพดีขึ้น และกดดันให้การบินไทยต้องปรับตัวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากอำนาจผูกขาดที่ลดลง

ประการที่เจ็ด ประเมินว่ามีความจำเป็นที่การบินไทยยังต้องเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่มีความจำเป็น เพราะหากยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่จะไม่ได้แก้ปัญหา หากเห็นว่าการบินไทยยังมีความจำเป็นในทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลก็ยังสามารถถือหุ้นได้ในสัดส่วนต่ำกว่า 50% โดยยังคงมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ ส่วนหุ้นที่เหลือของรัฐก็ขายให้กับพันธมิตรภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน และราคาหุ้นที่ขายได้ก็กลับมาเป็นรายได้กลับคืนรัฐไปหลังจากฟื้นฟูกิจการแล้ว ทำให้สามารถลดหนี้สาธารณะลงได้ระดับหนึ่ง นอกจากการบินไทยแล้วยังมีรัฐวิสาหกิจอีกอย่างน้อย 4-5 แห่งที่อาจอยู่ในภาวะขาดสภาพคล่อง มีสถานะทางการเงินที่ใกล้เข้าสู่การล้มละลายทางการเงินเช่นเดียวกัน รัฐวิสาหกิจแห่งไหนหากไม่มีความจำเป็นแล้วก็ควรปิดกิจการไป หากฝืนที่เปิดดำเนินการต่อไปจะสร้างต้นทุนต่อสาธารณชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและเป็นภาระต่อประชาชนผู้เสียภาษี แต่การปิดกิจการต้องทำอย่างมีการบริหารจัดการและมียุทธศาสตร์เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพนักงานหรือผู้ใช้แรงงาน ส่วนรัฐวิสาหกิจยังมีความจำเป็นและไม่มีเอกชนทำหน้าที่แทนได้ ก็ต้องปรับโครงสร้างองค์กร ปฏิรูปกิจการให้ฐานะการเงินแข็งแกร่งขึ้นพร้อมกับฟื้นฟูกิจการให้สามารถแสวงหารายได้พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ใช่ต้องอาศัยเงินกู้จากรัฐหรือการค้ำประกันจากรัฐ อันจะส่งผลให้ฐานะทางการคลังของรัฐเกิดปัญหาในอนาคต

ประการสุดท้าย ควรตั้งคณะทำงานสอบสวนต้นเหตุแห่งภาวะล้มละลายของการบินไทยโดยสภาผู้แทนราษฎร

นายอนุสรณ์ ยังได้ให้ความเห็นต่อว่ายังโชคดีอยู่บ้างที่การเร่งรัดจัดซื้อฝูงบินจำนวน 23 ลำใช้งบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทไม่ได้ดำเนินการจนสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว หากจัดหาไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาล คสช. กับ รัฐบาลกึ่งประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้ง เมื่อเดือน มี.ค.2562 ปัญหาวิกฤติฐานะทางการเงินของการบินไทยจะรุนแรงกว่านี้และจะส่งผลต่อฐานะทางการคลังของไทยยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนการฟื้นฟูการบินไทยแบบไหนที่จะเป็นภาระต่อภาษีประชาชนน้อยที่สุดและมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุดต้องคิดอยู่บนฐานของมูลค่าทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของชาติมากกว่าการวิเคราะห์ทางการเงินอย่างเดียว

ทั้งนี้การจะดำเนินการตามแนวทาง Privatization แบบไหนที่ดีที่สุดควรศึกษาบทเรียนความสำเร็จกรณี Japan Airline, Sinagpore Airline, Quantas Airline, Lufthansa, Southwest Airline และอื่น ๆ ส่วนการใช้แนวทาง Nationalization แปรสภาพให้เป็นของรัฐ 100% นั้นเป็นสิ่งสุดท้ายที่ควรเลือกสำหรับประเทศไทย เพราะการบินไทยจะมีสภาพไม่ต่างจาก ขสมก. และ การรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งจะไม่สามารถแข่งขันได้กับสายการบินนานาชาติ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: