22 พ.ค. ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อ ยังสะสมที่ 3,037 คน เสียชีวิตสะสม 56 คน รักษาหายสะสม 2,910 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1406 ครั้ง

22 พ.ค. ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อ ยังสะสมที่ 3,037 คน เสียชีวิตสะสม 56 คน รักษาหายสะสม 2,910 คน

22 พ.ค. 2563 ศบค. แถลงไทยไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,037 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 56 คน รักษาหายเพิ่ม 13 คน รวมรักษาหายสะสม 2,910 คน ยก 3 เหตุผลคุม COVID-19 ชี้สถานการณ์โลกยังไม่นิ่ง แนวโน้มผู้ติดเชื้อสูง ไทยยังต้องมีเครื่องมือที่มีเอกภาพก่อนเดินเข้าสู่ระยะ 3-4 เปิดไทม์ไลน์เคาะผ่อนปรน 1 มิ.ย.นี้

22 พ.ค. 2563 Thai PBS นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า วันนี้ ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม หรือตัวเลขเป็นศูนย์ มีตัวเลขสะสม 3,037 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมเสียชีวิตสะสม 56 คน หายดีแล้ว 2,910 คน รักษาตัวใน โรงพยาบาล 71 คน

“ตัวเลขศูนย์รายก็ยังไม่ใช่ศูนย์อย่างเต็มที่ เพราะขณะนี้มีผู้ป่วยที่รอผลตรวจยืนยันการติดเชื้อ 2 คนที่มาจากอียิปต์และอินเดีย โดยทั้ง 2 คนกักตัว state quarantine ซึ่งอยู่ในกระบวนการรายงาน และเป็นการพบเชื้อที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 ยอมรับว่ายังไม่สบายใจนัก ถึงจะมีตัวเลขเป็นศูนย์ แต่นับตั้งแต่วันที่ 8-21 พ.ค. พบการติดเชื้อรวม 45 คน พบผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยที่กลับจากต่างประเทศ และเข้ากักตัว 15 คน สัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 11 คน ค้นหาเชิงรุก 6 คน ศูนย์กัก 5 คน ไปในสถานที่ชุมนุมชน 5 คน ซึ่งรวมกรณีของผู้ป่วยที่รายงานไปเมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) และอาชีพเสี่ยง เช่น ขายของ 3 คน ส่วนอีก 25 คนยังน่ากัลวลเพราะเดินไปมาในพื้นที่ชีวิตประจำวันทั้งกทม.และต่างจังหวัด ดังนั้นจึงเบาใจได้แต่ยังเบาใจไม่ได้

พบ 60 วันตัวเลขทางวิชาการเก็บข้อมูล

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีคำถามเข้ามาว่าทำไมถึงต้องมีการเก็บข้อมูลยาวถึง 60 วัน แต่ทั้งหมดเชื่อมโยงกับชุดข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ทซึ่งกรมควบคุมโรคได้เก็บสถิติระยะการระบาดของ COVID-19 จำแนกตามปัจจัยเสี่ยงตามวันที่รับรายงานตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-20 พ.ค.นี้ โดยแบ่งออกเป็นความเสี่ยง พบว่า

“ระยะเวลาที่สำคัญคือ 2 เดือน เมื่อพบติดเชื้อคนที่ 1 อาจไม่มีอาการ เมื่อคนที่ 2 หรือ 3 ติดเชื้อ และมีอาการก็ต้องย้อนไปสอบสวนโรค 14 วันหรือมากกว่านั้น ซึ่ง 60 วันนี้มีที่มาเชิงวิชาการเกี่ยวกับการตามเคสต่างๆ”

การประกาศเคอร์ฟิว ช่วยคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือความร่วมมือของประชาชนในการสวมหน้ากากอนามัย ทำให้คุมโรคได้และตัวเลขติดเชื้อลดลงในเดือน พ.ค. เป็นหลักหน่วย และมีตัวเลขเป็นศูนย์

คุมถึง 30 มิ.ย.นี้ ชงเข้า ครม.26 พ.ค.นี้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯต่อไปอีก 1 เดือน จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้ โดยขยายต่อถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ โดยมี 3 เหตุผล แต่เป้าหมายเพื่อความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข จากโรค COVID-19 และความมีเอกภาพ รวดเร็วต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาการระบาดของโรค

สถานการณ์โลกยังไม่นิ่งเรื่องแนวโน้มการติดเชื้อยังสูงขึ้น และไทยต้องมีระยะเวลาเตรียมเปิดประเทศ เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะกลับมาแพร่ระบาด แม้ว่าไทยจะมีกราฟที่ลดลงแม้ว่าไทยซีลประเทศดี แต่ยังไม่สามารถบอกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในต่างประเทศอาจจะไหลมาสู่ไทยเพราะโรคติดต่อไม่มีพรมแดน

“ทางศบค.หารือกันว่าต้องเสนอ ครม.เพื่อขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อจนถึ 30 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการป้องกันโรคเท่านั้น และจะเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า”

3 เหตุผลชงเสนอต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินคุม COVID-19

โฆษกศบค.กล่าวถึง 3 เหตุผลที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุม COVID-19 ต่อมี ดังนี้ 1.ต้องการเอกภาพ รวดเร็ว ต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานกลาง ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะต้องใช้กฎหมายถึง 40 ฉบับมาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้เชื่อมโยงการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. การเตรียมรองรับในระยะต่อไป เนื่องจากประเทศไทยผ่อนปรนมาตรการระยะ 1 และ 2 แล้ว แต่มาตรการผ่อนปรนระยะ 3 และ 4 เป็นกิจการกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง หากลดตัวกำกับหย่อนลง ไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะไม่สมดุลกัน ต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรการผ่อนคลายตามระยะเวลาที่เหมาะสม

ส่วนเหตุผลที่ 3. สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคยังไม่สิ้นสุด มีข้อมูลหลายประเทศยังมีการระบาดและติดเชื้อระดับสูง แม้ไทยทำครบ 4 ระยะแล้ว จำเป็นต้องมีระยะเวลาเตรียมความพร้อมเปิดประเทศ อาทิ มาตรการด้านกฎหมาย แผนปฏิบัติการบริหารวิกฤตรองรับความเสี่ยงอาจกลับมาแพร่ระบาดของโรค

“การเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือระยะ 4 ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้เรามีความมั่นใจในทุกเรื่อง การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ใช่เป็นที่สุด การประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด”

ไทม์ไลน์ผ่อนปรนระยะ 3 คาดใช้ 1 มิ.ย.นี้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาผ่อนปรนกิจการ กิจกรรมในระยะที่ 3 นั้นวันที่ 23 -24 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมข้อมูลมาตรการผ่อนปรน จากนั้นวันที่ 25-26 จะประชุมกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมต่างๆ และวันที่ 27 พ.ค.นี้ จึงประชุมคณะทำงานเฉพะกิจ เพื่อพิจารณากิจกรรมที่จะได้รับการผ่อนปรนระยะ 3 คาดว่าอย่างช้า 29 พ.ค.นี้จะเสนอต่อ ศบค.ชุดใหญ่เพื่อขออนุมัติ และจะปลดล็อกกิจกรรมระยะที่ 3 ภายในวันที่ 1 มิ.ย.นี้

“ส่วนเวลาการปรับลดเวลาเคอร์ฟิวจาก 23.00-04.00 น.หรือไม่ มีการพูดคุยกันในวงประชุม ถ้าลดจำนวนคนไม่ปฎิบัติตาม ลดการมั่วสุม ออกนอกเคหสถาน ดื่มสุราลงได้ มีโอกาสที่ศบค.จะลดเวลาเคอร์ฟิวลง แต่ต้องรอการประชุมในครั้งต่อไป ”

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: