คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) ลงมติยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาทุกปริญญา จากเดิม ป.ตรี 8 ปี ป.โท 5 ปี ป.เอก 6 ปี ขั้นต่อไปอนุกรรมการด้านกฎหมายจะหาแนวทางในการดำเนินการ ทั้งนี้หากบังคับใช้จริงนักศึกษาทำงานได้ระหว่างเรียนไม่ต้องถูกรีไทร์ | ที่มาภาพประกอบ: mohamed_hassan (Pixabay License)
เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ว่านายศุภชัย ปทุมนากุล เลขานุการคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) กล่าวว่าในการประชุม กมอ.ที่มีนายกิตติชัย วัฒนานิกร เป็นประธาน กมอ.ได้มีมติให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละระดับปริญญา กรณีกำหนดให้สำเร็จการศึกษาได้ไม่เกินกี่ปีการศึกษา ทั้งนี้ให้สภาสถาบันกำกับดูแลให้บัณฑิตมีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ทันสมัยและสอดคล้องตามมาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพที่เป็นปัจจุบันขณะสำเร็จการศึกษา อย่างไรก็ตามเนื่องจากการยกเลิกดังกล่าวเป็นการยกเลิกข้อกำหนดในเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ดังนั้นให้หารือคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายว่า กมอ.สามารถพิจารณาโดยใช้อำนาจตามข้อ 17 แห่งเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี และ ข้อ 18 แห่งเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาได้หรือไม่ หรือจะมีแนวทางอื่นใดในการดำเนินการดังกล่าว
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า การยกเลิกดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ อว. เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในการเรียนรู้องค์ความรู้และทักษะใหม่ ๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในระดับอุดม ศึกษาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ปริญญาตรี ที่แต่เดิมหากเรียนไม่จบภายในกำหนดคือ 8 ปี จะถูกรีไทร์ หรือ ถูกให้ออกจากมหาวิทยาลัย ให้ยกเลิกการรีไทร์ เช่นเดียวกับระดับปริญญาโท ที่ให้กำหนดระยะเวลาเรียนไม่เกิน 5 ปี และ ปริญญาเอก ที่ให้กำหนดระยะเวลาเรียนไม่เกิน 6 ปี โดยให้สามารถเรียนต่อได้เลย หากไม่จบการศึกษาในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ กมอ. จะให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยของแต่ละมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน สามารถกำหนดเกณฑ์ระยะเวลาได้เองให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางของแต่ละมหาวิทยาลัย
“หลังยกเลิกการกำหนดเกณฑ์แล้ว นักศึกษา สามารถเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย โดยไม่ต้องพะวงกับการถูกรีไทร์ เพราะการเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยจะช่วยในเรื่องการพัฒนาทักษะ ความชำนาญ ประสบการณ์การทำงาน” เลขาฯ กมอ.กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ