เปิดเอกสาร 'ขอขยายสถานการณ์ฉุกเฉินชายแดนใต้ 20 มี.ค.-19 มิ.ย. 63'

กองบรรณาธิการ TCIJ: 22 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2637 ครั้ง

เปิดเอกสาร 'การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2563 ถึงวันที่ 19 มิ.ย. 2563)' โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่เข้า ครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 – วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ไว้ว่า “อาจมีการก่อเหตุขนาดใหญ่ในพื้นที่ตอนในและเขตเศรษฐกิจโดยเป้าหมายยังคงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติภารกิจ และอาจก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ในห้วงวันสำคัญรวมทั้งพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุระดับสั่งการได้หลบซ่อนพักพิงกับแนวร่วมในอิทธิพลของตนซึ่งคาดว่ามีการรวมกำลังและขนย้ายวัตถุระเบิดแสวงเครื่องเพื่อโจมตีต่อจุดตรวจในพื้นที่” | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ในการการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เสนอเรื่อง 'การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2563 ถึงวันที่ 19 มิ.ย. 2563)' โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจอาทิเช่น

ในเอกสารได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มสถานการณ์ไว้ว่า "อาจมีการก่อเหตุขนาดใหญ่ในพื้นที่ตอนในและเขตเศรษฐกิจ โดยเป้าหมายยังคงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติภารกิจ และอาจก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ในห้วงวันสำคัญรวมทั้งพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุระดับสั่งการที่หลบซ่อนพักพิงกับแนวร่วมในอิทธิพลของตนซึ่งคาดว่ามีการรวมกำลังและขนย้ายวัตถุระเบิดแสวงเครื่องเพื่อโจมตีต่อจุดตรวจในพื้นที่"

"นอกจากนี้ แกนนำภาคประชาสังคมที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เข้ามามีส่วนร่วมควบคู่กับการชูประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในเรื่องเขตการปกครองพิเศษ รวมทั้งปลุกกระแสมลายูนิยมและเปิดแนวรุกด้านต่างประเทศ"

ซึ่งในวันที่ 10 มี.ค. 2563 ครม.มีมติ

  1. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ทุกอำเภอ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้นอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอสุคิริน อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2563 ถึงวันที่ 19 มิ.ย. 2563           
  2. เห็นชอบและรับทราบร่างประกาศ รวม 3 ฉบับ ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ ดังนี้ 2.1 เห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอแม่ลาน และร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ 2.2 รับทราบร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ [1] [2]

โดยรายละเอียดทั้งหมดของเอกสารดังกล่าวที่ผ่านมติ ครม. มีดังนี้

 

เอกสาร 'การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตั้งแต่วัน... by TCIJ on Scribd

ราชกิจจาฯเผยแพร่ประกาศ 3 ฉบับ ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

จากนั้นในวันที่ 11 มี.ค. 2563 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังต่อไปนี้

ฉบับแรก ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอแม่ลาน

ตามที่ได้มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอแม่ลาน ตามประกาศลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2562 ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถขยายผลการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสามารถจับกุมตัวกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง รวมทั้งสามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น แต่ปรากฏว่ายังคงมีการก่อเหตุการณ์ร้ายแรงเพื่อสร้างสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงยังมีศักยภาพในการปฏิบัติการ และยังมีความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงด้วยการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่เพื่อทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยมุ่งหวังให้เกิดการเกรงกลัวอันเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความปลอดภัยของประชาชนจนไม่อาจดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข

จึงสมควรขยายระยะเวลาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั้งของรัฐและของบุคคล ซึ่งจำเป็นต้องใช้มาตรการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในการแก้ไขปัญหาให้ยุติลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้น อำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอแม่ลาน ออกไปอีกเป็นเวลาสามเดือน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2563 [3]

ฉบับที่ 2 ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ

ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอแม่ลาน ลงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2563 แล้วนั้น

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข หรือระงับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้บรรดาประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2548 และตามประกาศ เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2550 ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป [4]

ฉบับที่ 3 ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ

ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอแม่ลาน ลงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2563 แล้วนั้น

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข หรือระงับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีจึงให้บรรดาประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2548 คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 1/2550 เรื่อง การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2550 และตามประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ดังกล่าวเท่าที่ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่านายกรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป โดยประกาศทั้ง 3 ฉบับ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี [5]

เกิดเหตุวางระเบิดหน้า ศอ.บต. ยะลา ระหว่างประชุมรับมือ COVID-19

เหตุระเบิดหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยะลา เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 เวลาประมาณ ประมาณ 10.30 น. มีรายงานเกิดเหตุระเบิดหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยะลา เบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บ 18 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร สื่อมวลชน และประชาชน ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบที่เกิดเหตุ

มีรายงานว่า ผู้ก่อเหตุวางระเบิดลูกแรก หน้า ศอ.บต. จากนั้นไม่นานได้กดชนวนระเบิดที่ซุกไว้ในรถยนต์กระบะโตโยต้า สีขาว ไม่ทราบหมายเลขทะเบียน ซึ่งจอดอยู่หน้าป้าย ศอ.บต.

พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นบริเวณด้านหน้า ศอ.บต. ทำให้ป้ายศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับความเสียหาย และมีเจ้าหน้าที่และประชาชนบางส่วนได้รับบาดเจ็บจากแรงระเบิดที่เกิดขึ้น โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นขณะที่ เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมประชุมศูนย์ประสานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบ โรค COVID-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ว่า ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเหตุเกิดจากผู้ไม่หวังดีมุ่งทำร้ายชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยกัน โดยขับรถจักรยานยนต์ พร้อมด้วยรถบรรทุกไม้ ซึ่งเป็นคาร์บอมมาจอดตามและเกิดระเบิดขึ้น

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่จะต้องยืนด้านไหน ในขณะที่อีกด้านเป็นการประชุมเพื่อแก้ปัญหาของโรค COVID-19 เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยกันป้องกันและดูแลไม่ให้มีการระบาดต่อเนื่อง แต่ในขณะที่คนอีกกลุ่มต้องการทำลายทุกอย่าง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกด้วยว่า การประชุมก็จะยังคงดำเนินต่อไป เพราะรัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทยมุสลิมแตกต่างจากพื้นที่อื่น มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และปฏิบัติศาสนกิจในวันศุกร์ ซึ่งมีกลุ่มคนหมู่มากมารวมตัวกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหามาตรการร่วมกันต่อไป อีกทั้งยังมีการเกิดโรค COVID-19 ในกลุ่มคนที่ไปร่วมชุมชนทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซียด้วย ซึ่งมีการยืนยันแล้ว 2 คน จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังการแพร่เชื้อจากคนกลุ่มนี้ด้วย [6] [7]

'OHCHR - กสม.' ประณามเหตุวางระเบิด

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2563 สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์ถึงกรณีการก่อเหตุระเบิดสองครั้งหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมเพื่อแก้ปัญหาโรค COVID-19 ของหน่วยงานราชการเมื่อวันที่ 17 มี.ค.

รายงานท้องถิ่นระบุว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก 5 จังหวัดในภาคใต้ นักข่าว และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และมีผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดดังกล่าวอย่างน้อย 25 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และในจำนวนนี้อย่างน้อย 10 คนเป็นผู้หญิง

“การใช้อาวุธอย่างไม่เลือกปฏิบัติโดยมีเป้าหมายเป็นพลเรือนเป็นข้อห้ามภายใต้กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และการก่อเหตุดังกล่าวระหว่างที่มีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขเป็นการกระทำที่ไม่สามารถยอมรับได้” ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนประจำภูมิภาคของสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเทพมหานคร กล่าว

“เราประณามการก่อเหตุครั้งนี้อย่างที่สุดและขอเรียกร้องให้เคารพต่อพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ”

ขณะที่คณะกรรมการการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่อง ขอประณามการวางระเบิดหน้า ศอ.บต. ยะลา ขณะประชุมเตรียมรับมือสถานการณ์โรค COVID-19 ระบุว่าตามที่ได้เกิดเหตุคนร้ายปาและวางระเบิดรถยนต์หน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยะลา เมื่อช่วงสายวันที่ 17 มีนาคม 2563 ในขณะที่หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังประชุมเตรียมรับปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นเหตุให้มีประชาชน เจ้าหน้าที่ และผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บหลายราย รวมทั้งป้ายและกำแพงบริเวณทางเข้าของ ศอ.บต. ยะลา ได้รับความเสียหายด้วย นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการคุ้มครองและส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ขอประณามการกระทำอันอุกอาจของกลุ่มคนร้ายที่มุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่และประชาชนได้รับอันตรายต่อชีวิต และขาดมนุษยธรรมในการเลือกโจมตีระหว่างที่ฝ่ายต่าง ๆ กำลังร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่กำลังคุกคามชีวิตและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ การโจมตีครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคแล้ว ยังก่อให้เกิดความไม่มั่นใจแก่ประชาชนในการเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิในสุขภาพและชีวิต ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้

กสม. ขอเป็นกำลังใจให้แก่ประชาชนและส่วนราชการทุกหน่วยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งนอกจากจะต้องเผชิญกับความหวาดหวั่นและต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แล้ว ยังต้องมีความกังวลต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้บาดเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างทั่วถึง และขอให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ได้ติดตามนำกลุ่มผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการแก่ประชาชนที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีขวัญและกำลังใจในการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19  ซึ่งเป็นมหันตภัยที่ผู้คนทั้งประเทศและทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ [8]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2563) (มติคณะรัฐมนตรี, 10 มี.ค. 2563)
[2] การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2563) (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, 4 มี.ค. 2563)
[3] ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอแม่ลาน (ราชกิจจานุเบกษา, 11 มี.ค. 2563)
[4] ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ (ราชกิจจานุเบกษา, 11 มี.ค. 2563)
[5] ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ (ราชกิจจานุเบกษา, 11 มี.ค. 2563)
[6] เกิดเหตุระเบิด หน้า ศอ.บต.ยะลา เจ็บ 18 คน (Thai PBS, 17 มี.ค. 2563)
[7] คนร้าย ลอบวางระเบิดคาร์ บอม์ หน้า ศอ.บต. ตร. – ผู้สื่อข่าว เจ็บหลายราย (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 17 มี.ค. 2563)
[8] ‘OHCHR - กสม.’ ประณามเหตุวางระเบิดหน้า ศอ.บต. ยะลา ระหว่างประชุมรับมือโควิด-19 (ประชาไท, 18/3/2563)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: