สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 23 มิ.ย. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2162 ครั้ง

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 23 มิ.ย. 2563

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 23 มิ.ย. 2563

23 มิ.ย. 2563 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
 

กฎหมาย

                    1.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....
                    2.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่
มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ในพระอุปถัมภ์ฯ)
                    3.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
(เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา)
                    4.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. ....
                    5.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการและค่าตอบแทนบุคคล หรือสถาบันที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการมอบหมาย พ.ศ. ....
                    6.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
                    7.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมหรือลดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน รวม 5 ฉบับ
                    8.       เรื่อง     การเพิ่มเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เป็นกรณีพิเศษ 
           

เศรษฐกิจ - สังคม

                    9.       เรื่อง     การเสนอพื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่
                    10.      เรื่อง     การกู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่อง หรือเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป จำนวน 2,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง
ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย
                    11.      เรื่อง     การส่งคืนพื้นที่สวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ 366 ไร่ 78 ตารางวา
                                        ให้กรมป่าไม้ เพื่อนำพื้นที่เข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล
                    12.      เรื่อง     การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
                                        8 กรกฎาคม 2523 ในกรณีที่ปรากฏว่ายังมีส่วนราชการใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต
                    13.      เรื่อง     สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2563  
                    14.      เรื่อง     ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2563         
                    15.      เรื่อง     รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)  และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 6
                    16.      เรื่อง     รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
 

ต่างประเทศ

 
                    17.      เรื่อง     กรอบการเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของอาเซียน ภายใต้รัฐมนตรีอาเซียนด้าน การเกษตรและป่าไม้
                    18.      เรื่อง     การลงนามหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ (Deed of Grant) และการส่งมอบเรือลาดตระเวนจากสาธารณรัฐสิงคโปร์
                    19.      เรื่อง     การลงคะแนนรับรองข้อเสนอเลื่อนกำหนดจัดงาน World Expo 2020 Dubai
                    20.      เรื่อง     รายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2563 และการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets)
                    21.      เรื่อง     ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                    22.      เรื่อง     การจัดทำข้อตกลงการบริหารจัดการกองทุน UN COVID-19 Response and  Recovery Multi-Partner Trust Fund (UN COVID-19 MPTF)
                    23.      เรื่อง     การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการลงนามหรือรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36
                    24.      เรื่อง     รายงานผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน สมัยพิเศษ เกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน ผ่านระบบประชุมทางไกล
                                        (Video Conference) และการขอความเห็นชอบรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน

แต่งตั้ง

                    25.      เรื่อง     รายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาของส่วนราชการต่าง ๆ   (จำนวน 4 ราย)
                    26.      เรื่อง     ขอเพิ่มเติมองค์ประกอบในคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ
                    27.      เรื่อง     การแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
                    28.      เรื่อง     แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 
                    29.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
 
 

*******************
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
 

 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้พิจารณาในประเด็นความจำเป็นในการใช้ระบบคณะกรรมการ ตามหมวด 2 คณะกรรมการ ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 
                   กำหนดความผิดฐานกระทำทรมานและความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย การเยียวยาผู้เสียหาย และการดำเนินคดีสำหรับความผิดดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี  (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishing) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance) โดยมีรายละเอียดดังนี้
                   1. กำหนดบทนิยาม “การทรมาน” “การกระทำให้บุคคลสูญหาย” “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” “ผู้ได้รับความเสียหาย” และ “คณะกรรมการ” 
                   2. กำหนดฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย การกำหนดให้ไม่เป็นความผิดทางการเมือง กำหนดให้สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้เสียหายในกรณีกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นผู้เสียหายที่สามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีได้  
                   3. ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน และมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นเลขานุการ รวมทั้งสมาชิกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมกับผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสิทธิมนุษยชน แพทย์ และด้านจิตวิทยา รวมทั้งสิ้น 19 คน โดยมีอำนาจหน้าที่เชิงนโยบายเพื่อวางแผนเกี่ยวกับการป้องกันและการเยียวยาการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย นอกจากนี้ได้กำหนดให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ 
                   4. กำหนดให้ทุกหน่วยงานที่มีการจำกัดเสรีภาพบุคคลต้องจัดทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ กำหนดเกี่ยวกับเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ และกำหนดให้มีมาตรการระงับการทรมานและเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น 
                   5. กำหนดให้ความผิดตามพระราชบัญญัติในเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนเป็นหลัก ยกเว้นกรณีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตกเป็นผู้ต้องหา ให้ตำรวจเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนแทน และหากเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจตกเป็นผู้ต้องหา ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนแทน รวมทั้งกำหนดให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ 
                   6. กำหนดระวางโทษความผิดฐานกระทำทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหาย กำหนดเหตุบรรเทาโทษ กำหนดความผิดฐานสมคบคิด และฐานผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด รวมทั้งกำหนดโทษแต่ผู้บังคับบัญชาที่ทราบการกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายของผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วไม่ดำเนินการป้องกันหรือระงับการกระทำความผิดนั้น
                   ทั้งนี้ ยธ. เสนอว่า เห็นควรดำเนินการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาเสร็จแล้วต่อไป โดยมีเหตุผลดังนี้ 
                   1. ในทางปฏิบัติยังพบว่า มีกรณีการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทย รวมถึงกรณีที่มีการร้องเรียนไปสังสหประชาชาติ โดยเฉพาะในประเด็น “การงดเว้นโทษ” (Impunity) ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยมุ่งเน้นให้มีการดำเนินการทั้งมาตรการป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : ICPPED) รวมทั้งลดช่องว่างของกฎหมายที่ส่งผลให้การบังคับใช้และการดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้กับประชาชน  
                   2. ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดความผิด บทลงโทษ รวมถึงมาตรการป้องกันและการเยียวยากรณีการกระทำทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายไว้ในกฎหมาย ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นการป้องกัน ปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้การกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐลดลงหรือหมดไป ซึ่งจะช่วยพัฒนากระบวนการยุติธรรม และยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากลเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ประชาชนมีหลักประกันการคุ้มครองสิทธิที่มีมาตรฐานตามหลักสากล สร้างความเชื่อมั่นด้านกระบวนการยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ลดการละเมิดสิทธิ อีกทั้งจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสังคมโลกอีกด้วย โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยธ. จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงใช้งบประมาณและอัตรากำลังบุคลากรของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดำเนินการ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ดำเนินงานตามหน้าที่อยู่แล้ว เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้น 
                   3. ยธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ผ่านระบบกลาง www.lawamendment.go.th ระหว่างวันที่ 4 – 31 ธันวาคม 2562 ผ่านเว็บไซต์ www.rlpd.go.th www.humanrightscenter.go.th และ facebook webpage ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ระหว่างวันที่ 4 – 31 ธันวาคม 2562 รวมทั้งจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวใน 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน องค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการและผู้เสียหาย ในภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ภาคใต้ ณ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ภาคกลาง ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 และภาคตะวันตก ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 การประชุมของคณะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 และการจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ (เวทีสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรุงเทพมหานคร ยธ. ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งได้เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าวตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เรียบร้อยแล้ว
จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ 
 
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ในพระอุปถัมภ์ฯ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
 
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   1. บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่มูลนิธิฯ 
                   สามารถหักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ และเมื่อรวมกับเงินที่ได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรที่กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ของเงินที่ได้จ่ายตามกรณีที่กำหนดไว้แล้ว ต้องไม่เกิน ร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนอื่น ๆ นั้น 
                   2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่มูลนิธิฯ
                   สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรที่กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ของรายจ่ายที่ได้จ่ายตามกรณีที่กำหนดไว้แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือ                           เพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร 
                   3. เงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือการกระทำตราสารที่มาจากการบริจาคให้แก่มูลนิธิฯ ของบุคคลธรรมดาและบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
                   กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่มูลนิธิฯ โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล  
                   4. ช่องทางการบริจาคที่ได้รับการยกเว้นรัษฎากร
                   การบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร
                   5. ระยะเวลา
                   สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565  
                   ทั้งนี้ กค. เสนอว่า  
                   1. มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปภัมภ์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่  3 สิงหาคม 2561 เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากษตริย์ผู้ประเสริฐยิ่งและถวายราชสดุดีในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดระยะเวลาที่ครองสิริราชสมบัติ  
                   2. มูลนิธิฯ ได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลของรัฐ รวมทั้งช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาล และสนับสนุนการศึกษาภายในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานมูลนิธิฯ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ
                   3. ประกอบกับมูลนิธิฯ มีรายได้จากเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เงินหรือทรัพย์สินที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ หรือที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่น ๆ รวมถึงดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิฯ รายได้อันเกิดจากกิจกรรมของมูลนิธิฯ หรือรายได้อื่น ๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่มิได้มุ่งหมายเพื่อการค้าหากำไร อันเป็นการดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ 
                   4. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อเป็นการเทิดทูนและถวายราชสดุดีในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย และเพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ซึ่งมุ่งสนับสนุนภารกิจด้านการแพทย์และช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และการศึกษาของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมทั้งเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริจาคเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ จึงสมควรกำหนดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่มูลนิธิฯ โดยยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่มูลนิธิฯ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 
                   5. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยเห็นว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวจะมีผลทำให้รัฐจัดเก็บภาษีลดลงประมาณ 5 ล้านบาท แต่ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มีดังนี้
                             5.1 ส่งเสริมให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนเงินทุนให้แก่มูลนิธิฯอันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพด้านสาธารณสุขของประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และลดรายจ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ 
                             5.2 สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศโดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาส ให้มีสุขภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
 
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา  (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ  และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 
                   ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยเป็นการแก้ไขเกณฑ์อายุของเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา จากที่ปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 12 ปี และเกณฑ์อายุของเด็กที่ใช้มาตรการอื่นแทนการรับโทษทางอาญาจากเดิมกำหนดไว้เกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี เป็นเกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ซึ่งการกำหนดเกณฑ์อายุของเด็กดังกล่าวสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเป็นไปตามแผนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563)
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                   1. กำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ  
                   2. กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดังนี้  
                             2.1 ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป  
                             2.2 ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้  มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด  
                             2.3 ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม 2.2 ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นด้วยก็ได้ 
                             2.4 ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน 2.2 ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม 
                             2.5 ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี
 
 4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้  และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. กำหนดให้ท้องที่จังหวัดนครราชสีมา เว้นแต่พื้นที่ตามที่กำหนดในร่างกฎกระทรวงนี้เป็นบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่งที่มีพื้นที่ใช้สอยอาคารรวมกันเพื่อประกอบกิจการในอาคารหลังเดียวกันหรือหลายหลังตั้งแต่ 300 ตารางเมตรขึ้นไป เว้นแต่บริเวณการก่อสร้างอาคารตามที่กำหนด 
                   2. ห้ามบุคคลใดก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่งที่มีพื้นที่ใช้สอยอาคารรวมกันเพื่อประกอบกิจการในอาคารหลังเดียวกันหรือหลายหลังตั้งแต่ 300 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร เว้นแต่จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด หรืออาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่งที่มีพื้นที่ใช้สอยอาคารรวมกันเพื่อประกอบกิจการในอาคารหลังเดียวกัน หรือหลายหลังเกิน 1,000 ตารางเมตร เว้นแต่จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด 
                   3. ห้ามบุคคลใดดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด 
                   4. กำหนดให้อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าว ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด 
                   5. กำหนดให้อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งให้เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงนี้ไม่ได้
                   ทั้งนี้ มท. เสนอว่า 
                   1. เนื่องจากพื้นที่บางส่วนในจังหวัดนครราชสีมา สมควรกำหนดเป็นบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท เพื่อประโยชน์ในด้านการป้องกันอัคคีภัย การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร เพื่อใช้บังคับต่อจากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในพื้นที่บางส่วนในท้องที่จังหวัดนครราชสีมา ตามนัยมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 137 ตอนพิเศษ 132 ง ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2563 
                   2. โดยที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นการชั่วคราวมีกำหนด 1 ปี ประกอบกับพื้นที่บางส่วนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อ 1. หากเห็นสมควรกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ตามมาตรา 13 กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองมีอำนาจออกกฎกระทรวงได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับ
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
 
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการและค่าตอบแทนบุคคล หรือสถาบันที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการมอบหมาย พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการและค่าตอบแทนบุคคล หรือสถาบันที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการมอบหมาย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. กำหนดนิยามคำว่า “คณะกรรมการผู้ชำนาญการ” 
                   2. กำหนดให้กรรมการในคณะกรรมการผู้ชำนาญการได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเฉพาะครั้งที่มาประชุม ครั้งละ 2,400 บาท  
                   3. กำหนดให้ประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการได้รับเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้นอีก 1 ใน 4 ของอัตราเบี้ยประชุมที่กรรมการนั้นมีสิทธิได้รับ (3,000 บาท) 
                   4. กำหนดให้บุคคลหรือสถาบันที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการมอบหมายให้เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเหมาจ่ายรายโครงการตามที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการกำหนด แต่ไม่เกินโครงการละ 20,000 บาท โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด
 
6. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                   1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....                มีสาระสำคัญดังนี้

ประเด็น สาระสำคัญ เหตุผล
1. การจัดตั้งบริษัท/การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น/การเลิกบริษัท · แก้ไขบทบัญญัติให้บุคคลใด ๆ ตั้งแต่สองคนขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดก็ได้ (ปัจจุบันตั้งแต่สามคนขึ้นไป)
· แก้ไขบทบัญญัติให้การประชุมใหญ่จะต้องมีผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นอย่างน้อยสองคนเข้าประชุม
· แก้ไขบทบัญญัติให้ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วยเหตุถ้ามีผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือเพียงคนเดียวหรือมีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้
· เพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจและตอบสนองการจัดตั้งธุรกิจขนาดเล็กหรือวิสาหกิจเริ่มต้น (Start Up)
· เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัท
2. ระยะเวลาในการจ่ายเงินปันผล · กำหนดให้การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นให้กระทำภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ แล้วแต่กรณี (ปัจจุบัน ไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการจ่ายเงินปันผล แต่ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ใช้บังคับในเรื่องดังกล่าวไปพลางก่อน) · เพื่อเป็นการกำหนดให้มีระยะเวลา ในการจ่ายเงินปันผล ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลเรื่องการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย
3. การรวมบริษัทจำกัดเข้ากัน แก้ไขหลักการเกี่ยวกับการควบบริษัท
    ปัจจุบัน เมื่อควบบริษัทแล้ว จะเกิดบริษัทที่มีสภาพความเป็นนิติบุคคลใหม่ทุกกรณี
    หลักการใหม่
· บริษัทจำกัดจะรวมเข้ากันมิได้เว้นแต่จะเป็นไปโดยมติพิเศษจากที่ประชุมใหญ่ โดยบริษัทตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไป จะรวมเข้ากันในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
    1. ควบกันโดยเกิดบริษัทที่มีสภาพความเป็นนิติบุคคลใหม่และบริษัทที่ควบกันหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล เรียกว่า “ควบบริษัท”
    2. ผนวกกันโดยบริษัทหนึ่งบริษัทใดยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคลเดิมอยู่ และบริษัทอื่นที่ผนวกกันหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล เรียกว่า “ผนวกบริษัท”
· เพื่อให้บริษัทสามารถรวมกันได้ใน 2 ลักษณะ คือ การควบบริษัท และการผนวกบริษัท

                   2. ร่างพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 โดยกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษกรณีการไม่จ่ายเงินปันผลภายในเวลาที่กำหนด และกรณีที่บริษัทไม่ส่งหนังสือแจ้งมติพิเศษให้รวมบริษัทเข้ากันหรือไม่โฆษณาให้ทราบความประสงค์ที่จะรวมบริษัทเข้ากัน
                   ทั้งนี้ พณ. เสนอว่า
                   พณ. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วขอยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป และ พณ. ได้รายงานผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับ ดังนี้
                   1. ผลกระทบเชิงลบ บริษัทและผู้ประกอบธุรกิจ จะต้องมีหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่น ในเรื่องของการต้องจ่ายเงินปันผลภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ
                   2. ผลกระทบเชิงบวก กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้จะส่งผลดีต่อภาพรวมและบรรยากาศของการลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถจัดตั้งธุรกิจได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัว และมีบทคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งทำให้ประเทศไทยมีมาตรการคุ้มครองผู้ถือหุ้นที่ดียิ่งขึ้น และเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาดำเนินธุรกิจในรูปบริษัทง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการประกอบธุรกิจ
                   พณ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) โทรสารหมายเลข 0 2547 4472 และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ dbd.legal@gmail.com จำนวน 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2560 รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ให้ประขาชนได้รับทราบด้วยแล้ว
 
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมหรือลดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน รวม 5 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมติหลักการ
                   1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ปละวิธีการจดทะเบียนชื่อสกุลและค่าธรรมเนียมการออกหนังสือสำคัญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   5. ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
รวม 5 ฉบับ ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับคนสัญชาติไทยที่ประสบภัยหรือได้รับผลกระทบจากภัยซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ในเขตพื้นที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ดังต่อไปนี้
                             1.1 การขอคัดสำเนาหรือคัดและรับรองสำเนารายการทะเบียนราษฎรและรายการข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร
                             1.2 การแจ้งการเกิดและการตายต่างท้องที่
                             1.3 การแจ้งการย้ายที่อยู่
                             1.4 การขอรับสำเนาทะเบียนบ้าน
                    2.  ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร  (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ประสบภัยหรือได้รับผลกระทบจากภัยซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ในเขตพื้นที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ดังต่อไปนี้
 
                             2.1 การออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
                             2.2 การขอคัดสำเนาหรือคัดและรับรองสำเนารายการทะเบียนหรือบัตรประจำตัวและรายการข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร
                             2.3 การแจ้งการเกิดและการตายต่างท้องที่
                             2.4 การแจ้งการย้ายที่อยู่
                             2.5 การขอรับสำเนาทะเบียนบ้าน
                   3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมละยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับคนสัญชาติไทยที่ประสบภัยหรือได้รับผลกระทบจากภัยซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ในเขตพื้นที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ดังต่อไปนี้
                             3.1 การออกบัตรประจำตัวประชาชน
                             3.2 การออกใบแทนใบรับบัตรประจำตัวประชาชน
                             3.3 การขอคัดและรับรองสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน
                   4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนชื่อสกุลและค่าธรรมเนียมการออกหนังสือสำคัญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับคนสัญชาติไทยที่ประสบภัยหรือได้รับผลกระทบจากภัยซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ในเขตพื้นที่ประสบภัยตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ดังต่อไปนี้ ฉบับละ 1 บาท
                             4.1 การออกหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง การรับจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล การรับจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล
                             4.2 การออกใบแทนหนังสือสำคัญตามข้อ 4.1
                    5. ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับคนสัญชาติไทยที่ประสบภัยหรือได้รับผลกระทบจากภัยซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ในเขตพื้นที่ประสบภัยตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ดังต่อไปนี้ ฉบับละ/รายละ 1 บาท
                             5.1 การขอคัดสำเนาหรือคัดและรับรองสำเนาทะเบียนครอบครัว
                             5.2 การจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียนโดยมีผู้ขอ
                             5.3 การจดทะเบียนสมรส ณ สถานที่สมรส ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้มีขึ้น
                   ทั้งนี้ มท. เสนอว่า
                   1. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 มีแนวโน้มการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ดังนั้น เพื่อดำเนินการตามาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดข้อ 12 วรรคสอง กำหนดให้ยังคงให้เปิดสถานที่ทำการของสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ในวันและเวลาราชการปกติ เว้นแต่ที่มีประกาศให้เปิดหรืองดดำเนินการไปก่อนแล้ว ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและมิให้ประชาชนต้องเสียประโยชน์หรือละเมิดกฎหมายที่มีกำหนดเวลาให้ต้องปฏิบัติ แต่ควรอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงาน และให้เพิ่มบริการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เช่น การงดเว้นการกำหนดให้ประชาชนต้องมาแสดงตน หรือยกเว้น ขยายเวลา งดหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมภายใต้กรอบกฎหมาย เป็นต้น
                   2. โดยที่การให้บริการเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร ทะเบียนครอบครัว ทะเบียนชื่อบุคคล และบัตรประจำตัวประชาชน บางกรณี ประชาชนผู้ขอรับบริการจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือ บรรทาความเดือดร้อน และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการติดต่อขอรับบริการเกี่ยวกับการทะเบียนดังกล่าว มท. จึงสมควรยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร ทะเบียนครอบครัว ทะเบียนชื่อบุคคล และบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ประชาชนที่ขอรับบริการในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และในสถานการณ์ที่เกิดสาธารณภัยอื่น
                   3. มท. ได้รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ว่า มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมและลดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร ทะเบียนครอบครัว ทะเบียนชื่อบุคคล และบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ประชาชนดังกล่าว จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 50,242,528.33 บาทต่อเดือน แต่จะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และในช่วงสถานการณ์ที่เกิดสาธารณภัยอื่นให้แก่ประชาชน
                  
8. เรื่อง การเพิ่มเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เป็นกรณีพิเศษ 
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) พิจารณาค่าตอบแทนให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในลักษณะเงินเพิ่มพิเศษรายเดือน เป็นระยะเวลา 7 เดือน โดยให้พิจารณาอัตราเงินเพิ่มพิเศษเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่แต่ละตำแหน่ง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ซึ่งมีบทบาท ความรับผิดชอบ และเป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการและขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ ในการป้องกัน ควบคุม และลดความเสี่ยง มิให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขยายตัวออกไปในวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ
                    สำหรับหลักเกณฑ์การได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เห็นควรให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง จัดทำระเบียบหรือหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ โดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินเพิ่มพิเศษให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินอื่นที่กำหนดให้จ่ายเป็นรายเดือน ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ            
                    สาระสำคัญของเรื่อง 
                   มท. รายงานว่า 
                   1. ด้วยในปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นโรคระบาดใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่และเป็นโรคติดต่ออันตราย จึงเป็นสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งต้องใช้มาตารการเข้มงวดและเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง โดยได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้การบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ระดับตำบล หมู่บ้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านการป้องกัน ควบคุมโรค มท. จึงได้บูรณาการความร่วมมือของบุคลากรทุกภาคส่วน รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ที่มีบทบาทสำคัญในการนำนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการต่าง ๆ ทางราชการไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน  
                   2. มท. พิจารณาแล้วเห็นว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ มีฐานะเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐในการนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน และเป็นตัวแทนของประชาชนในการนำปัญหาความเดือดร้อนมาสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศแต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวมีภารกิจ หน้าที่ ความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น เช่น เป็นผู้ดำเนินการคัดกรอง แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตในระดับหมู่บ้าน ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด ดำเนินการเชิงรุกในการค้นหา เฝ้าระวังคนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แจ้งเตือนราษฎรในหมู่บ้านในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทราบ หากมีบุคคลที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยเป็นโรคติดเชื้อ และเป็นหนึ่งในคณะทำงานของชุดปฏิบัติการระดับตำบล เพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดในการห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน (ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น. และปรับเป็น 23.00 – 03.00 น. ตามลำดับ) และบูรณาการจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัดในพื้นที่เพื่อคัดกรองผู้มาจากกลุ่มเสี่ยงและวัดอุณหภูมิร่างกายผู้สัญจรเข้า-ออกหมู่บ้าน จัดทำข้อมูลผู้เดินทางเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด จัดตั้งด่านคัดกรองชั่วคราวบริเวณเส้นทางสัญจรหลักของหมู่บ้าน เพื่อสำรวจบุคคลที่เดินทางเข้า-ออกหมู่บ้าน และเดินสำรวจพื้นที่เป็นรายครัวเรือนเพื่อตรวจสอบข้อมูลอีกชั้นหนึ่งและรวบรวมข้อมูลดังกล่าวจัดส่งอำเภอ รวมถึงเป็นผู้สำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฯลฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภารกิจความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวที่ได้ดำเนินการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะเห็นได้ว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน เสียสละ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้เพิ่มมากขึ้น  
                   3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวในฐานะผู้ปกครองท้องที่จะต้องดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ตลอดเวลา ไม่มีวันลาและวันหยุดราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับมอบหมายภารกิจเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเสียสละเวลาในการประกอบอาชีพส่วนตัว จนส่งผลกระทบต่อรายได้ที่สมควรได้รับ อีกทั้งในปัจจุบันเงินตอบแทนตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวยังคงไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวจำเป็นต้องออกค่าใช้จ่ายเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเอง เช่น ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันรถ ฯลฯ อันอาจเป็นสาเหตุของการบั่นทอนกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ได้
                   มท. จึงเห็นควรเพิ่มเงินตอบแทนตำแหน่งเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรภาครัฐดังกล่าว ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน เสียสละเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้เพิ่มมากขึ้น และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเข้าสู่ตำบล หมู่บ้าน
                    ทั้งนี้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ มีจำนวนทั้งสิ้น 291,416 คน แบ่งเป็น กำนัน 7,036 คน ผู้ใหญ่บ้าน 67,673 คน แพทย์ประจำตำบล 7,036 คน สารวัตรกำนัน 14,072 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง 149,418 คน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ 46,181 คน
 

เศรษฐกิจ - สังคม

9. เรื่อง การเสนอพื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เสนอพื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ต่อโครงการมนุษย์และชีวมณฑล ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. โครงการมนุษย์และชีวมณฑลของยูเนสโก [Man and the Biosphere (MAB) Programme] ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) มีวัตถุประสงค์เพื่อวางแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์โดยมีพื้นที่สาธิตของโครงการดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วโลก เรียกว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ของระบบนิเวศภาคพื้นดิน ชายฝั่ง พื้นน้ำ หรือประกอบด้วยระบบนิเวศดังกล่าวรวมกันในการประกาศจัดตั้งพื้นที่สงวนชีวมณฑล  กรอบบัญญัติการดำเนินงานของเครือข่ายพื้นที่สงวน  ชีวมณฑลโลก (Statutory Framework of the World Network of Biosphere Reserves) ระบุว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑล ถูกประกาศจัดตั้งโดยคณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Coordinating Council of the Man and the Biosphere Programme: MAB – ICC) จากการเสนอของประเทศใด ๆ ที่ได้พิจารณาแล้ว พื้นที่สงวนชีวมณฑลยังคงอยู่ในอำนาจอธิปไตยของรัฐพื้นที่สงวนชีวมณฑลตั้งอยู่ และอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐเท่านั้น การแบ่งเขตการจัดการของพื้นที่สงวนชีวมณฑลจึงเป็นเพียงการแบ่งเขตการจัดการเพื่อเป็นข้อแนะนำให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับพิจารณากิจกรรมที่จะดำเนินการในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการแสดงศักยภาพของพื้นที่สงวนชีวมณฑลใน 3 บทบาทหน้าที่ ได้แก่ (1) บทบาทด้านการอนุรักษ์ (Conservation) เป็นพื้นที่ที่อนุรักษ์สงวนรักษาทรัพยากรพันธุกรรม ชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และอนุรักษ์ระบบนิเวศ สภาพภูมิทัศน์ ตลอดจนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ (2) บทบาทด้านการพัฒนา (Development) เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม ประเพณีและวัฒนธรรม และ (3) บทบาทด้านการสนับสนุนการวิจัยและการศึกษา (Logistic) เป็นพื้นที่ที่สามารถให้การสนับสนุนการสาธิต การฝึกอบรม และให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิจัยและตรวจสอบปัญหาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติซึ่งนับตั้งแต่การริเริ่มโครงการโดยยูเนสโก โครงการได้ผ่านการพัฒนาแนวคิดและทิศทางของโครงการตามความท้าทายที่เป็นกระแสโลกและส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ ปัจจุบันมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลทั่วโลกจำนวน 701 แห่ง ใน 124 ประเทศ โดยพื้นที่สงวนชีวมณฑลในประเทศไทยมีจำนวน 4 แห่ง ดังนี้ 1) พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2519 2) พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา – คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2520 3) พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2520 และ 4) พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง ขึ้นทะเบียนเมื่อพ.ศ. 2540
                   2. คณะกรรมการโครงการมนุษย์และชีวมณฑล ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 (ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน) ได้มีมติให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามโครงการมนุษย์และชีวมณฑลและเสนอขอจัดตั้งเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลเพิ่มเติม
 
10. เรื่อง การกู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่อง หรือเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป จำนวน 2,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) กู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องหรือเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป จำนวน 2,000 ล้านบาท ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 (ปรับปรุงครั้งที่ 1) โดยมีกระทรวงการคลัง (กค.) ประกันเงินต้นและดอกเบี้ย ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และให้ กคช. รับความเห็นของ กค. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   พม.รายงานว่า
                   1. สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และหารายได้ เป็นต้น ดังนั้น กคช. จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าของ กคช. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เดือนเมษายน – มิถุนายน 2563) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
 

มาตรการ กลุ่มเป้าหมาย/รายละเอียด
1. พักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ ลูกค้าสัญญาเช่าซื้ออาคาร/อาคารพร้อมที่ดิน/ที่ดินแปลงโล่ง (สัญญาเช่าซื้อจะถูกขยายเวลาออกไป 3 เดือน)
2. ปลอดค่าเช่า 1. ลูกค้าสัญญาเช่าอาคาร/อาคารพร้อมที่ดิน/ที่ดิน
2. แผงตลาดร้านค้ารายย่อยที่ทำสัญญาตรงกับ กคช.
3. ผู้เช่ารายย่อยที่ทำสัญญาเช่ากับผู้เช่าเหมาอาคาร
3. ลดค่าเช่าลงร้อยละ 50 ผู้เช่ารายย่อยในพลาซ่าหรือตลาดเช่าเหมา
(กำหนดให้ผู้เช่ารายใหญ่ต้องลดค่าเช่าให้ผู้เช่ารายย่อยไม่น้อยกว่าที่ กคช. ให้ส่วนลด)
4. พักชำระเงินมัดจำ/เงินจอง (เงินดาวน์) ลูกค้าสัญญาจะซื้อจะขาย/สัญญาจอง
(สัญญาจะถูกขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 เดือน)
หมายเหตุ มาตรการช่วยเหลือลูกค้า กคช. ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ข้างต้น กคช. ช่วยเหลือเฉพาะค่าเช่าซื้อและค่าเช่าเท่านั้น ไม่รวมถึงค่าน้ำ ค่าภาษีโรงเรือน ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าดูแลชุมชน ค่าปรับตามสัญญาจากการชำระค่าเช่าซื้อ/ค่าเช่าล่าช้าของงวดที่ค้างชำระก่อนมีมาตรการ ซึ่งต้องชำระตามเงื่อนไขสัญญาปกติ

                  
                    2. กคช. เห็นว่า หากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีระยะเวลายาวนาน กคช. จะได้รับผลกระทบจากการขายโครงการ การรับชำระค่าเช่า และค่าเช่าซื้อที่ต่ำกว่าแผนอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น เพื่อให้ กคช. มีสภาพคล่องเพียงพอรองรับการบริหารงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงักในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง  จึงมีความจำเป็นต้องขอปรับปรุงแผนการกู้เงินโดยปรับเพิ่มวงเงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่อง หรือเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้มีสภาพคล่องในจำนวนที่เหมาะสมต่อการดำเนินงาน โดย กค. ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติได้มีมติอนุมัติแล้วในการประชุมครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 ซึ่งรวมถึงการปรับเพิ่มเงินกู้ของ กคช. แล้ว
 
11. เรื่อง การส่งคืนพื้นที่สวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ 366 ไร่ 78 ตารางวา ให้กรมป่าไม้ เพื่อนำพื้นที่เข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการส่งคืนพื้นที่สวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ 366 ไร่ 78 ตารางวา ให้กรมป่าไม้ เพื่อนำพื้นที่เข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ ทส. รับความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ทส. รายงานว่า
                   1. เรื่อง การส่งคืนพื้นที่สวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ 366 ไร่ 78 ตารางวา ให้กรมป่าไม้ เพื่อนำพื้นที่เข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล มีความเป็นมา ดังนี้

ลำดับ ช่วงเวลา รายละเอียดเหตุการณ์
1 ปี 2516 - 2525 กรมป่าไม้ได้คัดเลือกพื้นที่ปลูกสร้างสวนป่า เพื่อให้ อ.อ.ป. ไม้ปลูกทดแทนเงื่อนไขสัมปทานของบริษัท ชัยภูมิทำไม้ จำกัด โดยคัดเลือกบริเวณพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูซำผักหนาม ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติให้ อ.อ.ป. ปลูกป่าจำนวน 20,000 ไร่ เริ่มปลูกในปี 2521 และได้จัดตั้งหมู่บ้านป่าไม้และรวบรวมราษฎรที่ทำไร่เลื่อนลอยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เข้าเป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ จัดพื้นที่อาศัยครอบครัวละ 1 ไร่ จัดระบบสาธารณูปโภค สร้างวัดและโรงเรียน ให้หมู่บ้านป่าไม้ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าโดยจ้างแรงงานสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 จึงหยุดปลูกขยาย ได้พื้นที่ป่ารวม 4,401 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือจำนวน 15,599 ไร่ มีราษฎรอ้างสิทธิครอบครองทำประโยชน์มาก่อน
หมายเหตุ 1: การรวบรวมราษฎรให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปกป้องป่าไม้โดยราษฎรสามารถปลูกพืชบางชนิดเพื่อหาเลี้ยงชีพและรับเงินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นรางวัลในการดูแลพื้นที่
หมายเหตุ 2: นับตั้งแต่ลำดับที่ 2 เป็นต้นไปเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบริเวณพื้นที่ 4,401 ไร่ เท่านั้น
2 8 มิถุนายน 2538 อ.อ.ป. ได้รับมอบพื้นที่สวนป่าคอนสารมาดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2535
3 ปี 2547 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) รวมตัวเรียกร้องขอที่ดินทำกิน โดยอ้างว่าสวนป่าและป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของตน
หมายเหตุ: คปท. มีสมาชิกทั้งหมด 31 คน
4 25 กันยายน 2551 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จังหวัดชัยภูมิ ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ได้มีการประชุม โดยมีมติให้พิสูจน์สิทธิ์ โดยหน่วยงานเจ้าของพื้นที่จะออกคำสั่งทางปกครองตามผลที่ได้จากการพิสูจน์สิทธิ์ หากราษฎรไม่พอใจสามารถฟ้องศาลปกครองได้ แต่ปรากฎว่าไม่มีราษฏรที่ร้องเรียนเข้าร่วมกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์แม้แต่รายเดียว
5 ปี 2552 กลุ่ม คปท. และบริวารได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินส่วนป่าคอนสารเนื้อที่ 84 ไร่ (ในพื้นที่ป่า 4,401 ไร่ ข้างต้น) คณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เจรจาให้ราษฎรกลุ่มดังกล่าวออกจากพื้นที่เนื่องจากเป็นการกระทำผิดกฎหมายแต่ราษฎรกลุ่มนี้ไม่ยินยอมกลับปลูกสร้างบ้านเรือน ที่พักอาศัยในลักษณะถาวรและกึ่งถาวร นอกจากนี้ยังได้ปลูกพืชผลการเกษตรและตั้งชื่อบริเวณที่เข้าไปบุกรุกว่า “ชุมชนบ่อแก้ว”
หมายเหตุ : กลุ่มผู้บุกรุกป่าหรือราษฎรชุมชนบ่อแก้วมีจำนวนประมาณ 200 คน โดยภาครัฐสามารถสืบหาตัวตนได้เพียง 31 คน ซึ่งเป็นสมาชิก คปท. เท่านั้น
6 ปี 2552 คปท. ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาดและดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้เดือดร้อนโดยดำเนินการตามแนวทางโฉนดชุมชน โดยเรียกร้องพื้นที่ดำเนินการโฉนดชุมชนในพื้นที่สวนป่าคอนสาร จำนวน 1,500 ไร่ (ในพื้นที่ป่า 4,401 ไร่ ข้างต้น) โดยอ้างว่าตำบลทุ่งพระได้ประชาคมตำบลทุกหมู่บ้าน มีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารและดำเนินการจัดสรรที่ดินให้ราษฎรผู้เดือดร้อน
 
7 22 กรกฎาคม 2552 ราษฎรตำบลทุ่งพระ (ตามที่ คปท. กล่าวอ้างถึงในลำดับ 6) จำนวน 81 คน ได้มีบันทึกขอแย้งสิทธิคัดค้านผลการประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระที่อ้างว่ามีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารเนื่องจากราษฎรกลุ่มดังกล่าวไม่เคยทราบว่ามีการประชาคมให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และไม่เคยลงลายมือชื่อในกรณีดังกล่าว การปรากฏลายมือชื่อของราษฎรกลุ่มดังกล่าวเป็นการสร้างเอกสารเท็จ
8 ปี 2553 – 2562 ศาลจังหวัดภูเขียวได้ตัดสินให้จำเลยและบริวาร (ราษฎรชุมชน            บ่อแก้ว) ออกจากสวนป่าคอนสารให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ที่จำเลยและบริวารได้นำไปปลูกไว้ในพื้นที่พิพาทปรับสภาพพื้นที่สวนป่าให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในพื้นที่สวนป่าคอนสารทั้งหมดอีกต่อไป โดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาศาลจังหวัดภูเขียวได้นัดฟังคำสั่งและคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 มีคำสั่งว่า  “ให้คู่ความปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน มิฉะนั้นอาจถูกยึดทรัพย์ ถูกจับ จำขัง หรือบังคับคดีตามกฎหมาย” ศาลฎีกาพิพากษา ถือเป็นที่สุด ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม จะดำเนินการจัดที่ดินทำกินในบริเวณที่ศาลพิพากษาแล้วมิได้เนื่องจากจะเป็นการขัดอำนาจศาล
หมายเหตุ 1: จำเลยคือ สมาชิก คปท. 31 คน บริวาร คือราษฎรชุมชนบ่อแก้วที่ไม่ใช่กลุ่ม คปท. (กลุ่มที่ภาครัฐไม่สามารถสืบหาตัวตนได้) ประมาณ 170 คน รวมประมาณ 200 คน
หมายเหตุ 2: ต่อมามีการขยายระยะเวลาบังคับคดีรวม 5 ครั้ง จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563
9 13 สิงหาคม 2562 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนของ ขปส. ได้ประชุมร่วมกันในกรณีสวนป่าคอนสาร โดยสรุปได้ว่าให้กลุ่มราษฎรออกจากพื้นที่พิพาท เนื่องจากคำพิพากษาศาลถึงที่สุดแล้วหากราษฎรมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ คทช. ให้หน่วยงานของรัฐจัดหาที่ดินภายนอกสวนป่าเพื่อจัดที่ดินให้ราษฎรต่อไป เนื่องจากที่ดินสวนป่าคอนสารไม่เข้าหลักเกณฑ์ (มีภาระผูกพันตามกฎหมาย)
หมายเหตุ: คปท. ได้เข้าร่วมกับ ขปส. โดย ขปส. (ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-Move) เป็นองค์การภาคประชาชนที่รวบรวมเครือข่ายและกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเด็นปัญหาระหว่างภาครัฐกับ ขปส. รวม 266 กรณี (ข้อมูล ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563)
10  27 กันยายน 2562 ตัวแทนกำนันและผู้ใหญ่บ้านตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ โดยระบุว่า (1) คณะกรรมการตำบลทุ่งพระได้เคยจัดประชุมประชาคม แต่กลุ่มผู้เรียกร้องไม่ประสานความร่วมมืออย่างแท้จริง และ (2) ให้รายชื่อผู้เรียกร้องที่คัดกรองแล้วเข้าสู่กระบวนการประชาคมหมู่บ้านและสภาตำบลเพื่อรับรองก่อนมีการยื่นรายชื่อรับรองการจัดการที่ดินต่อไป
11 30 กันยายน 2562 ตัวแทนกลุ่ม ขปส. ได้ยื่นรายชื่อต่อจังหวัดชัยภูมิจำนวน 131 ราย เพื่อคัดกรองคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การจัดที่กินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล
หมายเหตุ: บุคคล 131 รายดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มราษฎรชุมชนบ่อแก้วจำนวนประมาณ 200 คน
12 13 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการตำบลทุ่งพระ ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 10 หมู่บ้าน ในตำบลทุ่งพระขอคัดค้านการสำรวจที่ดินเพื่อมอบให้กลุ่มราษฎรชุมชนบ่อแก้ว อีกทั้งเห็นว่า   (1) ไม่ควรยกที่ดินให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ราษฎรในพื้นที่ตำบลทุ่งพระ (2) บุคคลที่ศาลพิพากษาให้ออกจากพื้นที่สวนป่าคอนสารที่มีรายชื่อในการพิจารณาจัดที่ดินทำกินตามแนวทางการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ไม่ควรนำมาพิจารณาจัดที่ดินทำกินตามแนวทางการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล และ  (3) ควรพิจารณารายชื่อราษฎรผู้สมควรได้รับสิทธิ์จากการคัดกรองของฝ่ายปกครองและคณะกรรมการตำบลทุ่งพระ ก่อนเป็นอันดับแรก และขอให้ คทช. ได้ร่วมกันพิจารณากำหนดพื้นที่อื่นที่มิใช่พื้นที่สวนป่าคอนสาร เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งของราษฎรในตำบลทุ่งพระ และการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุขต่อไป

                   2. อ.อ.ป. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการสำรวจตรวจสอบพื้นที่สวนป่าคอนสารและได้ร่วมกันจัดทำแผนที่สวนป่าคอนสารที่จะส่งมอบให้กับกรมป่าไม้ (เพื่อส่งมอบให้ ขปส.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 จำนวน 7 แปลง รวมพื้นที่ 366 – 0 – 78 ไร่ (ในพื้นที่ป่า 4,401 ไร่ ข้างต้น) ดังนี้
                       2.1 แปลงที่ 1 แปลงปี 2524 พื้นที่ 51 – 3 – 10 ไร่
                       2.2 แปลงที่ 2 แปลงปี 2522 พื้นที่ 86 – 2 – 04 ไร่
                       2.3 แปลงที่ 3 ประกอบด้วยแปลงปี 2522 พื้นที่ 23 – 2 - 82 ไร่ และแปลงปี 2523 พื้นที่        89 – 2 – 93 ไร่
                       2.4 แปลงที่ 4 แปลงปี 2523 พื้นที่ 43 – 0 – 70 ไร่
                       2.5 แปลงที่ 5 แปลงปี 2523 พื้นที่ 13 – 3 – 49 ไร่
                       2.6 แปลงที่ 6 ประกอบด้วยแปลงปี 2522 พื้นที่ 36 – 1 – 62 ไร่
                       2.7 แปลงที่ 7 แปลงปี 2522 พื้นที่ 21 – 0 – 08 ไร่
                   3. คณะกรรมการขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2562 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 มีมติเห็นชอบให้ส่งมอบพื้นที่สวนป่าคอนสารจำนวน 366 – 0 – 78 ไร่ ให้กับกรมป่าไม้ เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลตามขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป
                    4. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 เพื่อติดตามเร่งรัดผลการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีเร่งด่วน 16 กรณี  ซึ่งรวมถึงกรณีการปลูกสร้างสวนป่าคอนสารทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ที่ประชุมมีความเห็นให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เร่งรัดการส่งคืนพื้นที่ 366 ไร่ 78 ตารางวา เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว
 
12. เรื่อง การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ในกรณีที่ปรากฏว่ายังมีส่วนราชการใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอดังนี้
                   1. เห็นชอบมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
                   2. ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการตามมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. ทส. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 โดยได้จัดประชุมเรื่อง หารือการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้และขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ในกรณีที่ปรากฏว่ายังมีส่วนราชการใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 (โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน) และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมหารือฯ ได้แก่ ทส. (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกรมป่าไม้) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) (กรมชลประทาน) กระทรวงคมนาคม (คค.) (กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท) กระทรวงมหาดไทย (มท.) (กรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) (กรมอนามัย) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งในที่ประชุมได้รับทราบรายงานข้อมูลกรณีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตและได้ดำเนินงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินงาน โดยยังมิได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวกับการป่าไม้ จำนวน 22,688 แห่ง ซึ่งต่อมากรมป่าไม้ได้รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่ามีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตใน 74 จังหวัด จำนวน 31,179 แห่ง ดังนี้

ลักษณะของแผนงาน/โครงการ จำนวน (แห่ง)
ข้อมูลที่หน่วยงานรายงาน กรมป่าไม้รวบรวมและตรวจสอบ*
1. โครงการเกี่ยวกับการสร้าง/ปรับปรุงถนน 4,610 9,560
2. โครงการเพื่อกิจการชลประทาน (อ่างเก็บน้ำ ฝาย ระบบส่งน้ำ ฯลฯ) 1,822 2,232
3. โครงการระบบประปา/แนวเดินท่อระบบประปา 1,572 1,004
4. สถานที่สาธารณะอื่น ๆ (ห้องน้ำสาธารณะ สนามกีฬา ลานกิจกรรมเอนกประสงค์ ศาลาเอนกประสงค์ ฯลฯ) 1,311 923
5. สถานศึกษา (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ) 917 10,401
6. ที่ตั้งสำนักงาน/อาคารปฏิบัติงาน/บ้านพัก ของหน่วยงานราชการ 777 1,608
7. โครงการจัดการขยะ (บ่อขยะ หลุมกลบขยะ ฯลฯ) 432 774
8. เพื่อกิจการเกี่ยวกับแหล่งน้ำ (อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ฝายน้ำล้น ฯลฯ) 399 1,519
9. สถานบริการด้านสาธารณสุข 286 895
10. เพื่อก่อสร้างวัด 260 387
11. โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบไฟฟ้า 254 253
12. สถานปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา (ลานปฏิบัติธรรม โบสถ์คริสต์ มัสยิด) 222 157
13. เพื่อกิจการส่งเสริม/ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว 91 150
14. กิจการของสำนักงานตำรวจแห่ชาติ 84 142
15. เพื่อการเกษตร 43 -
16. เพื่อกิจการทางทะเล (ท่าเทียบเรือ เขื่อนกั้นคลื่น ฯลฯ) 35 173
17. ปลูกสร้างสวนป่า (อ.อ.ป.) 26 237
18. พัฒนาระบบสาธารณูปโภค 20 522
19. โครงการอนุกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สิ่งแวดล้อม สภาวะทางอากาศ ฯลฯ) 15 8
20. เพื่อกิจการโทรคมนาคม 13 14
21. สถานีเพาะพันธุ์ ศึกษาวิจัย และดูแล พืช/สัตว์ 11 33
22. กิจการของโครงการหลวง - 40
23. กิจการรถไฟ - 6
24. ไม่ระบุ/อื่น ๆ 9,488 141

* หมายเหตุ – ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2562 และกรมป่าไม้ได้จำแนกประเภทโครงการเป็น 24 กิจกรรม (เพิ่มจากข้อมูลที่ส่วนราชการรายงานในที่ประชุมหารือฯ คือ กิจการของโครงการหลวงและกิจการรถไฟ)
                   2. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ทส. โดยกรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ดังนี้
                             2.1 การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ทุกกรณีของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว หรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ เห็นควรผ่อนผันให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ต่อไป ทั้งนี้ ให้พิจารณาเฉพาะส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นคำขออนุญาตไว้แล้ว หรือยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
                             2.2 กรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน Environmental Impact Assessment : รายงาน EIA) ของโครงการประเภทต่าง ๆ ตามแนวทางปฎิบัติที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ก่อนการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ทุกกรณีของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ดำเนินงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวกับการป่าไม้ ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐต้องเสนอรายงาน EIA ให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายต่อไป
                             2.3 การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ของส่วนราชการหรือองค์การของรัฐทุกกรณีจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ โดยจะต้องได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้ก่อน จึงจะเข้าดำเนินการได้ หากปรากฏว่ายังมีส่วนราชการหรือองค์การของรัฐใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตอีก ซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามข้อ 2.1 และ 2.2 แล้ว ให้กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
                             2.4 มิให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ป่าไม้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้
                             2.5 ในกรณีฉุกเฉินและมีความจำเป็นในการปรับปรุงและซ่อมแซมเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของราษฎร ให้สามารถดำเนินการไปพลางก่อนได้และแจ้งให้กรมป่าไม้ทราบภายหลัง ตัวอย่างเช่น กรณีเกิดเส้นทางหรือถนนที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ถูกน้ำไหลบ่าทำให้ทางขาด ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนซึ่งต้องเป็นกรณีฉุกเฉินและจำเป็นจริง ๆ
                             ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการตามมาตรการข้างต้น ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 (เรื่อง การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้)
                   3. นอกจากนี้ กรมป่าไม้ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งของเอกชน โดยได้วางกรอบแนวทางปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ วิธีการ ให้เหมาะสมกับประเภทการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ นโยบาย แผนการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ และกำหนดประเภทและขอบเขตหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท1
......................................................
1 ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งของเอกชน ซึ่งจำแนกตามลักษณะของพื้นที่ คือ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าไม้ ดังนี้
กรณีขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จะต้องพิจารณาตามมาตรา 13/1 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ได้แก่ (1) ระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้พื้นที่เป็นสถานปฏิบัติงานหรือเพื่อประโยชน์อื่นของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 (2) ระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2563 และ (3) ระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบและโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2561
กรณีขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 จะต้องพิจารณาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ. 2558
                   ทั้งนี้ เรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอมาในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวามคม 2559 (เรื่อง ขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ในกรณีจังหวัดอุตรดิตถ์ ขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด เพื่อก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน ณ ช่องภูดู่ ท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์) ที่มอบหมายให้ ทส. (กรมป่าไม้) เร่งรัดการตรวจสอบการเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทั้งหมดที่ยังมิได้ขออนุมัติการเข้าใช้พื้นที่ให้ครบถ้วนทุกกรณีในภาพรวมของประเทศ พร้อมทั้งให้ ทส. ประสานกับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดังกล่าว เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากกรณีการขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาดเพื่อก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน ณ ช่องภูดู่ นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วก่อนได้รับอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ รวมทั้งไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 (เรื่อง การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้) ซึ่งกำหนดให้ส่วนราชการ            ต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ คือ จะต้องได้รับอนุมติให้ใช้พื้นที่จาก ทส. ก่อน จึงจะเข้าไปดำเนินการได้ อย่างไรก็ดี การเข้าไปใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวของจังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน ณ ช่องภูดู่ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ               อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล คณะรัฐมนตรีจึงได้ให้ความเห็นชอบให้ ทส. ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (8 กรกฎาคม 2523) โดยให้ ทส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
                   ต่อมา ทส. (กรมป่าไม้) ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้2 โดยยังไม่ได้ขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ตามบทบัญญัติว่าด้วยการป่าไม้และตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ในพื้นที่ 74 จังหวัด จำนวน 31,179 แห่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ทส. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
..........................................
2 พื้นที่ป่าไม้ในกรณีนี้หมายถึงพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507 พื้นที่อุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พื้นที่ป่าชายเลนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 และพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่กำหนดไว้เป็นชั้นคุณภาพลุ่มน้ำตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง    
 
13. เรื่อง  สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2563  
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)  ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ  โดยที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพารา โดยเฉพาะความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ  รวมทั้ง  ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สรุปผลการประชุมได้ ดังนี้
                    1. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์
                              1.1 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 – เมษายน 2565 ระยะเวลาในการชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการฯ 1 ปี นับตั้งแต่ได้รับการอนุมัติ แต่ไม่เกิน 30 เมายน 2565
                              1.2 มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประสานกับผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินในการพิจารณาแหล่งเงินที่จะใช้สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนตามร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบก่อนเป็นลำดับแรก
                              1.3 มอบหมายให้ กษ. โดย กยท. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการชุดต่าง ๆ  ตามที่ กยท. เสนอ และจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
                    2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2
                              2.1 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2
                              2.2 มอบหมายให้ กษ. โดย กยท. และภาคเกษตรกร ร่วมหารือทบทวนหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของโครงการฯ ให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดราคายางที่ใช้ประกันรายได้ ปริมาณผลผลิต  ระยะเวลาที่ชดเชย และจำนวนพื้นที่สวนยางกรีดได้ของเกษตรกรแต่ะรายที่จะประกันรายได้ โดยให้อยู่ในกรอบอัตรายอดคงค้างภาระที่รัฐต้องรับภาระชดเชยงบประมาณ ตามนัยมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และจัดทำรายละเอียดโครงการฯ ที่ได้ปรับปรุงตามมติการประชุมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
                    3. การขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง
                              3.1 เห็นชอบขยายระยะเวลาคืนเงินกู้โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง  และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกไปจากเดิม คือ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เป็น วันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยให้กระทรวงการคลัง (กค.) ขยายระยะเวลาค้ำประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ออกไปและยกเว้นค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันเงินกู้ตามระยะเวลาการขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. พร้อมชดเชยต้นทุนเงินในอัตรา FDR+1 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 ตามขั้นตอนต่อไป
                              3.2 เห็นชอบการจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าเช่าโกดัง  ค่าประกันภัย ค่าจ้างผลิตยางและอื่น ๆ  ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 – กุมภาพันธ์ 2563 จำนวนเงิน 772.47 ล้านบาท และเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าเช่าโกดังและค่าประกันภัย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – มีนาคม 2564 จำนวนเงิน 126.286 ล้านบาท
                              3.3 มอบหมายให้ กยท. หารือกับ ธ.ก.ส. ในเรื่องงบประมาณในการขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้โครงการฯ ออกไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยให้พิจารณาถึงอัตราชดเชยต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. ด้วย
                              3.4 มอบหมายให้ กยท. ระบายยางในสต๊อก โดยพิจารณาความเหมาะสมของราคายางในตลาด รวมถึงการนำยางในสต๊อกไปใช้ในหน่วยงานภาครัฐ
                              3.5 มอบหมายให้ กษ. โดย กยท. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
                    4. การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง
                              4.1 เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ 1) ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ               (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ได้ทุกธนาคาร 2) ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อในทุก ๆ 1 ล้านบาท จะต้องมีการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศอย่างน้อย 2 ตันต่อปี  ในปีการผลิต 2563 หรือระยะเวลาตามที่คณะกรรมการบริหารโครงการฯ กำหนด และ 3) ให้ กยท. ตรวจสอบการใช้ยางของผู้ประกอบการเป็นรายปี ในปีการผลิต 2563              หรือระยะเวลาตามที่คณะกรรมการบริหารโครงการฯ กำหนด 
                              4.2 มอบหมายให้ กษ. โดย กยท. จัดทำรายละเอียดโครงการ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจาราต่อไป
                    5. การเพิ่มกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ภายใต้โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท
                              5.1 เห็นชอบการเพิ่มกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ภายใต้โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง  (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท
                              5.2 เห็นชอบในหลักการของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการชดเชยดอกเบี้ย ได้แก่
                                        5.2.1 ผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องซื้อยางมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตของฤดูกาลใหม่ (รายเดือน) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และหากผู้เข้าร่วมโครงการไม่มีการซื้อยางก็จะไม่ได้รับการชดเชยในเดือนนั้น 
                                        5.2.2 หลักฐานและเอกสารในการชดเชยดอกเบี้ย ต้องเป็นหลักฐานการซื้อยางมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในแต่ละเดือน เอกสารบัญชียางที่ส่งให้กรมวิชาการเกษตรตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 และเอกสารและหลักฐานอื่น ๆ  ตามที่ กยท. กำหนด 
                                        5.2.3 รัฐบาลจะสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี
                              5.3 มอบหมายให้ กษ. โดย กยท. จัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
                              ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (ประธาน กนย.)
                              1. มอบหมายให้ กค. เร่งรัดการตรวจสอบข้อมูลในการคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่หักไว้ในอัตราร้อยละ 0.75
                              2. มอบหมายให้ กยท. หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะส่งเสริมเทคโนโลยีของผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางให้สามารถแข่งขันได้ และให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการน้ำยางข้นด้วย
                    6. การเพิ่มเติมวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1
                              6.1 เห็นชอบการเพิ่มวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง
ระยะที่ 1 งบประมาณสำหรับประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 2,347,900,329.32 บาท  และงบประมาณสำหรับชดเชยต้นทุนเงิน   ในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 ในอัตรา 2.40 จำนวน 56,349,607.90 บาท โดยใช้ทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายแทนรัฐบาลไปก่อน และให้ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นไปตามหลักการเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (15 ตุลาคม 2562) อนุมัติโครงการดังกล่าวไปแล้ว
                              6.2 มอบหมายให้ กษ. โดย กยท. หารือกับสำนักงบประมาณ กค. และ ธ.ก.ส. ในประเด็นกรอบวงเงินตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และจัดทำรายละเอียดโครงการที่ได้ปรับปรุงตามมติการประชุม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
                    7. แนวทางการสนับสนุนเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19  สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย และสมาคมยางพาราไทย ได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูเกษตรกรชาวสวนยางหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19  โดยขอรับการสนับสนุนเงินลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีของผู้ประกอบกิจการยาง ได้แก่  อุตสาหกรรมถุงมือยาง อุตสาหกรรมน้ำยางข้น เพื่อให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนรวมถึงการแก้ไขปัญหามาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐอเมริกา
                    ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (ประธาน กนย.)
                    1. มอบหมายให้ กยท. หารือกับ สกท. สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเงินลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตให้แก่เครือข่ายอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง ได้แก่  อุตสาหกรรมถุงมือยาง อุตสาหกรรมน้ำยางข้น
                    2. มอบหมายให้ กษ. แก้ไขระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินกองทุนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558
                    3. มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาจัดสรรงบประมาณที่จะสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการในส่วนของงบประมาณภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19
                    4. มอบหมายให้ อก. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข  พณ. กษ. ในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางของไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ 
                    5. มอบหมายให้ พณ. เจรจาเพื่อแก้ไขปัญหามาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐอเมริกา
                    ทั้งนี้ กษ. โดย กยท. จะจัดทำรายละเอียดของการดำเนินการตามข้อ 1-6 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
 
14. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2563
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ  ณ เดือนพฤษภาคม 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เสนอ ดังนี้
 

หัวข้อ สาระสำคัญ
1. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
1.1 ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
Ÿ เผยแพร่สื่อวีดิทัศน์ประกอบการชี้แจงวิธีการและขั้นตอนการดำเนินงานจัดทำโครงการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ  ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้หน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าเข้าใจบทบาทและหน้าที่ โดยคาดว่าจะได้โครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 ที่จะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทย่อยทั้ง 140 เป้าหมาย ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 จากนั้นจะจัดลำดับความเร่งด่วนของโครงการและบรรจุในแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของส่วนราชการต่อไป
  Ÿ หารือร่วมกับองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การทุนเพื่อเด็ก              แห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ธนาคารโลก (World Bank) เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน  การแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติโดยหน่วยงานของรัฐ  และความเป็นไปได้ขององค์กรต่าง ๆ ในการเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เช่น การสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในมิติต่าง ๆ
Ÿ ประสานขอข้อมูลระบบเกษตรกรกลาง (Famer One) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  เพื่อนำมาบูรณาการกับระบบ(Thailand People Map and Analytics Platfrom : TPMAP)  และใช้ประโยชน์ในการระบุเกษตรกรกลุ่มเปราะบางยากจนในระดับครัวเรือนและระดับบุคคล รวมทั้งหารือร่วมกับหน่วยงานที่มีความสนใจในการนำข้อมูลของ TPMAP ใช้ประโยชน์ เช่น World Bank ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาใช้ข้อมูลจาก TPMAP Logbook เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาบูรณาการฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย TPMAP เพื่อวิเคราะห์ความซ้ำซ้อนของกลุ่มเป้าหมายและการให้ความช่วยเหลือรวมทั้งประเมินมาตรการให้ความช่วยเหลือในมิติอื่น ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งจากฐานรากต่อไป   
1.2 ผลการดำเนินการอื่น ๆ Ÿ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ให้สามารถรองรับการติดตาม  ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้เงื่อนไขของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม  ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 รวมทั้งสามารถพิจารณาความเชื่อมโยงและสอดคล้องระหว่างโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ ยุทธศาสตร์ชาติ  แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 3 ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบŸ อยู่ระหว่างการเชื่อมโยงข้อมูลของระบบ eMENSCR เข้ากับระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการวางแผนและประเมินผลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-Plan) เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน/โครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยไม่เป็นภาระการรายงานของหน่วยงานจนเกินไป
Ÿ สร้างการตระหนักรู้  ความเข้าใจ  และการมีส่วนร่วมของภาคี             ต่าง ๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ  และแผนการปฏิรูปประเทศ เช่น จัดทำเกมกระดาน “เมืองพัฒน์” ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เล่นวางแผนแก้ไขสถานการณ์ที่ต้องคำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และจัดทำวีดิทัศน์เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศประกอบด้วย  โครงการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (ด้านการศึกษา) โครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ (ด้านกระบวนการยุติธรรม) และโครงการไม้มีค่า(ด้านสังคม)
2. การดำเนินงานในระยะต่อไป Ÿ เร่งรัดจัดทำโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่จะสามารถส่งผลต่อการบรรลุเป้ามายของแผนแม่บทย่อยทั้ง 140 เป้าหมาย และการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2565 ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด
Ÿ เร่งประมวลผลแผนปฏิบัติการด้าน ... ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 3 เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการรวมแผนที่มีความสอดคล้องกัน การยกเลิกแผนที่ไม่มีความจำเป็น และการจัดทำแผนที่ควรต้องมีเพิ่มเติม
Ÿ เร่งประมวลผลการสำรวจหลักสูตรที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  ที่ได้รวบรวมจากภาคี เพื่อประกอบการขยายผลการจัดทำหลักสูตรการเรียนออนไลน์ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นิสิต และนักศึกษา

 
15. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)  และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 6
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)  และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 6 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ  โดยสรุปข้อมูล ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2563 ซึ่งได้รับข้อมูลจาก 146 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 99 ของ              ส่วนราชการทั้งหมด (147 ส่วนราชการ) สรุปข้อมูล ดังนี้
                    1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work From Home)
                       1.1 ส่วนราชการร้อยละ 89 (130 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ และส่วนราชการร้อยละ 41 (60 ส่วนราชการ) กำหนดให้มีจำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งร้อยละ 50 ขึ้นไป (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 63 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 43) โดยในจำนวนนี้มีส่วนราชการร้อยละ 16 (23 ส่วนราชการ) มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา) ทั้งนี้ มีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บ้านในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับการมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ วันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น
                   1.2 ส่วนราชการร้อยละ 10 (16 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 14 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 9)
                    2. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ
                       2.1 ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 46 กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น               3 ช่วงเวลา คือ เวลา 7.30 – 15.30 น. เวลา 8.30 – 16.30 น. และเวลา 9.30 – 17.30 น. และส่วนราชการร้อยละ 14 ไม่ได้กำหนดให้มีการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงาน
                       2.2 ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ คือ งานให้บริการประชาชน งานพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต งานในห้องปฏิบัติการ งานจัดเก็บภาษี
                   3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
                       3.1 การกำกับดูแลและบริหารผลการทำงาน ส่วนราชการร้อยละ 100 กำหนดให้มีระบบรายงานผลงานผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 50 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google Form
                       3.2 การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานโดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE ร้อยละ 99 Application Zoom ร้อยละ 66 Microsoft Team ร้อยละ 33 Cisco Webex ร้อยละ 27 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพาและโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่นเดียวกับข้อมูลในสัปดาห์ที่ผ่านมา
                   4. ข้อจำกัดของส่วนราชการ ในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน ความไม่สะดวกในการติดต่อสื่อสารและการประสานงานในกรณีเร่งด่วน งานเกี่ยวกับเอกสารราชการที่ยังคงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง
                   5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน – นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น การให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service)  การใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น การสนับสนุนอุปกรณ์การปฏิบัติงานและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าโทรศัพท์  ค่าบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
 
16. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ ในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 8 – 12 มิถุนายน 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีจำนวน 55 แห่ง โดยผลสัมฤทธิ์ฯ ของรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 8 – 12 มิถุนายน 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนด)
                   รัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งและมีรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การยางแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การยาสูบแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย องค์การสุรา กรมสรรพสามิต และการประปาส่วนภูมิภาค ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว เพิ่มขึ้น 1 แห่ง จากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 1 – 5 มิถุนายน 2563) ทั้งนี้ จากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจำนวน 272,490 คน มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งจำนวน 40,666 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 15
                   2. การปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                   รัฐวิสาหกิจ 34 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา โดยมีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.30 น. เท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 1 – 5 มิถุนายน 2563
                   3. แนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ
                   รัฐวิสาหกิจที่ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งมีการติดตามผลการปฏิบัติงานทั้งเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการกำกับ ติดตาม และบริหารผลการปฏิบัติงานผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง โดยรัฐวิสาหกิจยังคงใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ ซึ่งรวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งควรพิจารณาลักษณะงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งเท่านั้น เช่น การให้บริการประชาชน และสำหรับงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ควรพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งแทน
 

ต่างประเทศ

 
17. เรื่อง กรอบการเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของอาเซียน ภายใต้รัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อกรอบการเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของอาเซียน ภายใต้รัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายพิจารณาใช้ดุลยพินิจตามสถานการณ์ตามความเหมาะสมในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. กษ. รายงานว่า กษ. โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดทำความตกลง MAMRASCA เมื่อวันที่ 14 และ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ประกอบด้วยส่วยราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนจากภาคเอกชน เช่น ส่วนราชการภายในของ กษ. (กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อดำเนินการพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างความตกลงที่เกี่ยวข้องมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของอาเซียน รวมถึงการจัดทำกรอบเจรจาความตกลงดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ต่อไทย รวมทั้งได้เสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกรอบเจรจาความตกลงดังกล่าวแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                   (1) เพื่อกำหนดหรือพิจารณามาตรฐานของอาเซียนด้านระบบการผลิตพืช ปศุสัตว์ และประมง ในระดับฟาร์ม และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ในการตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียน
                   (2) เพื่อกำหนดขอบข่ายและเงื่อนไขในการยอมรับผลการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน
                   (3) เพื่อพัฒนากลไกการประสานงานของอาเซียนและการปฏิบัติตามความตกลงของประเทศสมาชิก โดยกำหนดกลไกในการดำเนินการให้ยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นไปตามเงื่อนไขในความตกลงในการนำเข้าและส่งออกในภูมิภาค
                   (4) ประเด็นอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามความตกลงนี้ เช่น การระงับข้อพิพาท ความโปร่งใส การเพิ่มบทบาทของอาเซียนและของประเทศสมาชิกอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร การมีผลใช้บังคับ และการแก้ไขความตกลง รวมทั้งประเด็นอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อไทย
                   ทั้งนี้ กรอบการเจรจาดังกล่าวจะมีการเจรจาเพิ่มเติมในรายละเอียดระหว่างการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจฯ (MRA Task Force on MAMRASCA) ภายใต้รัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (AMAF) ซึ่งจะจัดขึ้นภายในเดือนมิถุนายน 2563
                   2. กรอบการเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของอาเซียน ภายใต้รัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและจัดอยู่ในด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
 
18. เรื่อง การลงนามหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ (Deed of Grant) และการส่งมอบเรือลาดตระเวนจากสาธารณรัฐสิงคโปร์
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้
                   1. การลงนามในหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ ระหว่าง Police Coast Guard (PCG) และสำนักงาน ป.ป.ส. โดยฝ่ายไทยเป็นผู้รับมอบเรือลาดตระเวน จำนวน 3 ลำ คือ เรือแบบ PT จำนวน 1 ลำ และเรือแบบ SU จำนวน 2 ลำ จากฝ่ายสิงคโปร์
                   2. การลงนามในหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และ Loa National Commission for Drug Control and Supervision (LCDC) โดยฝ่าย สปป. ลาว เป็นผู้รับมอบเรือลาดตระเวนแบบ SU จำนวน 1 ลำ จากฝ่ายไทย
                   3. การลงนามในหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และ Drug Enforcement Division of Myanmar Police Force (DED) โดยฝ่ายเมียนมาเป็นผู้รับมอบเรือลาดตระเวน จำนวน 2 ลำ คือ เรือแบบ PT จำนวน 1 ลำ และเรือแบบ SU จำนวน 1 ลำ จากฝ่ายไทย
                   4. สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการส่งมอบเรือลาดตระเวนแบบ SU จำนวน 2 ลำ ให้แก่ฝ่าย สปป.ลาว และฝ่ายเมียนมา ประเทศละ 1 ลำ เมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม 2563 ณ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน 1 จังหวัดเชียงราย
                   5. ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการส่งมอบเรือลาดตระเวนแบบ PT จำนวน 1 ลำ ให้แก่ฝ่ายเมียนมา เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2563 ณ ท่าเรือระนอง จังหวัดระนอง
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย เดินทางไปลงนามในหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์รับมอบเรือลาดตระเวนจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ จำนวน 3 ลำ เมื่อวันพุธที่ 16 ตุลาคม 2562 ณ สำนักงานใหญ่หน่วยงานตำรวจตระเวนชายฝั่งสิงคโปร์ (Police Coast Guard: PCG) โดยมีนายเชียง เคง ค็อง (Mr.Cheang Keng Keong) ผู้บังคับการ PCG เป็นผู้แทนฝ่ายสิงคโปร์ในการลงนาม โอกาสนี้ นายอึ้ง เซอ ซง (Mr.Ng Ser Song) ผู้อำนวยการหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของสาธารณรัฐสิงคโปร์ (Central Narcotics Bureau: CNB) ร่วมเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าว
                   2. สำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดพิธีลงนามหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบเรือลาดตระเวน ระหว่างไทย - สปป.ลาว และไทย - เมียนมา เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 ณ ท่าเรือ BMT Pacific Ltd. (BMTP) จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายเควิน ฉ็อก (H.E. Mr.Kevin Cheok) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบเรือลาดตระเวน ระหว่างไทย - สปป.ลาว และไทย - เมียนมา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการลาดตระเวนสกัดกั้นยาเสพติด ตามแนวชายแดนลุ่มน้ำโขง โดยมีเลขาธิการ ป.ป.ส. นายวงเพ็ด แสนวงสา (Mr.Vongphet Senvongsa) รองเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อตรวจตราและควบคุมยาเสพติด สปป.ลาว (Loa National Commission for Drug Control and Supervision: LCDC) และพันตำรวจเอก ลา มิน (Pol.Col. Hla Min) ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการและแผน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเมียนมา (Drug Enforcement Division of Myanmar Police Force: DED) เป็นผู้แทนในการลงนามหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์
                   3. ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการส่งมอบเรือลาดตระเวนแบบ SU จำนวน 2 ลำ ให้แก่ฝ่าย สปป.ลาว และฝ่ายเมียนมา ประเทศละ 1 ลำ เพื่อใช้ในการลาดตระเวนสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่แม่น้ำโขงและสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม 2563 ณ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน 1 จังหวัดเชียงราย
                   4. ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการส่งมอบเรือลาดตระเวนแบบ PT จำนวน 1 ลำ ให้แก่ฝ่ายเมียนมา เพื่อใช้ในการลาดตระเวนสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันมิให้เข้าสู่ราชอาณาจักรไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2563 ณ ท่าเรือระนอง จังหวัดระนอง
 
19. เรื่อง การลงคะแนนรับรองข้อเสนอเลื่อนกำหนดจัดงาน World Expo 2020 Dubai
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการลงคะแนนรับรองข้อเสนอเลื่อนกำหนดจัดงาน World Expo 2020 Dubai จาก 20 ตุลาคม 2563 - 10 เมษายน 2564 เป็น 1 ตุลาคม 2564 - 31 มีนาคม 2565 ตามที่รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสนอต่อองค์การนิทรรศการนานาชาติ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2020 Dubai จึงได้ยื่นข้อเสนอเลื่อนกำหนดการจัดงานต่อองค์การนิทรรศการนานาชาติ จาก 20 ตุลาคม 2563 - 10 เมษายน 2564 เป็น 1 ตุลาคม 2564 - 31 มีนาคม 2565 โดยข้อเสนอดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกสมัชชาใหญ่ จำนวน 2 ใน 3 ซึ่งองค์การนิทรรศการนานาชาติได้เห็นชอบกับข้อเสนอของรัฐบาลอาหรับเอมิเรตส์และกำหนดให้ประเทศสมาชิกสมัชชาใหญ่ดำเนินการผ่านช่องทางระบบออนไลน์ขององค์การนิทรรศการนานาชาติ ระหว่างวันที่ 24 เมษายน - 29 พฤษภาคม 2563 ดังนั้น ดศ. จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการจัดงาน World Expo 2020 Dubai ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 เพื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมอบหมายให้ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้มีสิทธิออกเสียง
                   อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้แทนไทยที่เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในองค์การนิทรรศการนานาชาติได้ลงคะแนนรับรองข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ผ่านระบบออนไลน์แล้ว เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 และองค์การนิทรรศการนานาชาติได้มีหนังสือแจ้งว่าสมาชิกในสมัชชาใหญ่ได้ลงคะแนนเสียงเกินกว่า 2 ใน 3 แล้ว เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 จึงถือเป็นการรับรองข้อเสนอในการเลื่อนกำหนดจัดงาน World Expo 2020 Dubai เป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 31 มีนาคม 2565 และยังคงใช้ชื่องานว่า “Expo 2020 Dubai”
 
20. เรื่อง รายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2563 และการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2563 และการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets) และรับทราบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาตามขั้นตอนต่อไปโดยเร็ว พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ได้แก่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กวดขันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในท้องตลาดและบนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในตลาดที่มีการระบุในรายงานการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets) ตลอดจนสกัดกั้นการลำเลียงและขนส่งสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาและ ดศ. ดำเนินการร่วมกันเพื่อให้มีการระงับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาออกจากระบบคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องต่อไป ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างเข้มงวด ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   สถานะของไทยและประเทศคู่ค้าอื่นของสหรัฐฯ ประจำปี 2563
                   เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 United State Trade Representative (USTR) ได้ประกาศสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าฯ ประจำปี 2563 ซึ่งไทยยังคงสถานะอยู่ในบัญชี Watch List (WL) ร่วมกับประเทศอื่นอีก 22 ประเทศ เช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ประเทศแคนาดา สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สหรัฐเม็กซิโก และมีประเทศที่อยู่ใน Priority Watch List (PWL) จำนวน 10 ประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐรัสเซีย ส่วนรายงาน Notorious Markets ประจำปี 2562 ได้มีการระบุชื่อตลาดในไทย 2 แห่ง โดยเป็นการละเมิดในท้องตลาด 1 แห่ง คือ ย่านพัฒน์พงษ์ และตลาดออนไลน์ 1 แห่ง คือ www.shopee.co.th ทั้งนี้ สหรัฐฯ แสดงความพอใจต่อนโยบายและผลการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยที่สำคัญ ได้แก่
                   1. การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้กลไกของคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ
                   2. การป้องปรามการละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง การเผยแพร่สถิติการจับกุมผ่านช่องทางออนไลน์ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ และสร้างความตระหนักรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา
                   3. การเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียงในสภาพแวดล้อมดิจิทัลและการเตรียมการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก รวมทั้งการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนและเตรียมการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ
                   4. การเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหางานค้างสะสมการจดทะเบียนสิทธิบัตร
                   ทั้งนี้ ยังมีข้องกังวลและข้อเสนอแนะของสหรัฐฯ ดังนี้
                   1. การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายังคงมีอยู่ เช่น การจำหน่ายสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ทั้งในท้องตลาดและตลาดออนไลน์ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
                   2. การดำเนินคดีทางแพ่งใช้เวลานานและค่าเสียหายที่เจ้าของสิทธิได้รับไม่เหมาะสม
                   3. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมยังไม่ตอบสนองต่อข้อกังวลของสหรัฐฯ เช่น การคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีการบังคับใช้สิทธิ กรณีมีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ และการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์โดยมิชอบ
                   4. พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ยังมีการกำหนดสัดส่วนระหว่างภาพยนตร์ไทยกับภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะนำออกฉายในโรงภาพยนตร์
                   5. ปัญหาด้านการจดทะเบียนสิทธิบัตรค้างสะสม โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา
                   6. การให้ความสำคัญกับการป้องกันการนำข้อมูลผลการทดสอบยาและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่ไม่เป็นธรรมหรือการเปิดเผยข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
                   พณ. เห็นว่าไทยควรมีการพัฒนาระบบการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในทุกรูปแบบ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ
 
21. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                   โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
                   1. แนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
                             1.1 ที่ประชุมฯ เน้นย้ำการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการป้องกัน การรักษา การถอดบทเรียนและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างทันท่วงทีและโปรงใส รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ และการส่งเสริมให้ใช้กลไกที่มีอยู่เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด เช่น การประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน
                             1.2 จีนเสนอให้จัดประชุมสุดยอดอาเซียน–จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและผลการวิจัยอย่างเปิดเผย ตลอดจนเสนอจัดตั้งกลไกการประสนงานถาวรระหว่างอาเซียนกับจีนเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และศูนย์สำรองอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งจีนคาดหวังว่าภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ประเทศสมาชิกอาเซียนจะพิจารณายกเลิกข้อจำกัดการเดินทางและส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดผลกระทบต่อการค้า
                             1.3 ประเทศสมาชิกอาเซียนมีข้อเสนอ เช่น สาธารณรัฐอินโดนีเซียเสนอจัดตั้งสายด่วนและศูนย์จัดการเฉพาะกิจระหว่างอาเซียนกับจีน สาธารณรัฐสิงคโปร์เสนอเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องมีข้อจำกัดในการเดินทางตามบริบทของแต่ละประเทศ และประเทศไทยสนับสนุนการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน–จีน สมัยพิเศษฯ ในเวลาที่เหมาะสม
                   2. ที่ประชุมได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน
สมัยพิเศษฯ ซึ่งมีสาระสำคัญในการสนับสนุนความร่วมมือด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติ 2) ความร่วมมือภายใต้กลไกอาเซียนและความร่วมมือกับภาคีนอกภูมิภาค 3) การสื่อสารต่อสาธารณชนและการมีส่วนร่วมและการตั้งรับของชุมชน 4) การหารือเชิงนโยบายและการแลกเปลี่ยนพัฒนาการล่าสุดของเชื้อไวรัสผ่านกลไกที่มีอยู่แล้ว 5) การเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อต่าง ๆ
6) การบรรเทาผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของสินค้าทางการแพทย์ที่เป็นที่ต้องการเร่งด่วนและการพัฒนาการวิจัยยาและวัคซีน 7) การสนับสนุนกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดผ่านความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล   8) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการพัฒนาสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และ 9) ความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
 
22. เรื่อง การจัดทำข้อตกลงการบริหารจัดการกองทุน UN COVID-19 Response and Recovery Multi-Partner Trust Fund (UN COVID-19 MPTF)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อการจัดทำข้อตกลงการบริหารจัดการกองทุน UN COVID-19 MPTF และอนุมัติให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นผู้ลงนามข้อตกลงฯ ของฝ่ายไทย ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นจะต้องแก้ไขปรับปรุงร่างข้อตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนการลงนาม ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า การสนับสนุนงบประมาณแก่กองทุนฯ ดังกล่าว เป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมของไทยในกรอบสหประชาชาติในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเป็นการสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่ไทยเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council – ECOSOC) วาระปี ค.ศ. 2020 – 2022 ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยแสดงจุดยืนในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงอนุมัติงบประมาณ จำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,300,000 บาท เพื่อบริจาคสมทบกองทุนฯ ดังกล่าว และจะต้องจัดทำข้อตกลงการบริหารจัดการกองทุนฯ กับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) ตามขั้นตอนที่สหประชาชาติกำหนด เพื่อความโปร่งใสในการบริหารจัดการเงินบริจาค
                    2. ร่างข้อตกลงฯ ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับรายละเอียดการบริจาคเงินให้แก่กองทุนฯ และการใช้เงินของกองทุนฯ ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขซึ่งจะบังคับกับองค์การภายใต้สหประชาชาติที่เป็นผู้รับ (UN Recipient Organization) และตัวแทนบริหารจัดการ (Administrative Agent) โดยไม่มีการกำหนดพันธกรณีใด ๆ สำหรับผู้บริจาค (Donor)
                    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 เลขาธิการสหประชาชาติประกาศจัดตั้งกองทุน “United Nations COVID-19 Response and Recovery Multi-Partner Trust Fund” หรือ “UN COVID-19 MPTF” เพื่อเป็นกองทุนระหว่างหน่วยงาน (inter-agency fund) ของสหประชาชาติ สำหรับสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง โดยกองทุนฯ มีเป้างบประมาณจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีระยะเวลาในการบริหารกองทุนฯ 2 ปี (จนถึงเดือนเมษายน 2565) ตามที่ข้อมูลเปิดเผย สถานะ ณ เดือนมิถุนายน 2563 มีประเทศต่าง ๆ บริจาคเพื่อสนับสนุนงบประมาณแก่กองทุนฯ แล้ว ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และสโลวาเกีย
 
23. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการลงนามหรือรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน  ครั้งที่ 36
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง: ก้าวข้ามความท้าทายและเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในที่ส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศหรือส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก หลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป และให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างวิสัยทัศน์ฯ และร่างปฏิญญาฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. ร่างวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง: ก้าวข้ามความท้าทายและเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (ASEAN Leader’s Vision Statement on a Cohesive and Responsive ASEAN: Rising Above Challenge and Sustaining Growth) เป็นเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียนที่สอดคล้องกับแนวคิดหลักของประธานอาเซียนในปี 2563 โดยเน้นการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่แน่นแฟ้นและเป็นเอกภาพในทุกมิติ รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถของกลไกต่าง ๆ ของอาเซียนและการปฏิบัติตามหลักการสำคัญที่อาเซียนยึดถือ รวมทั้งหลักการที่ระบุในเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด – แปซิฟิก เพื่อรับมือกับความ ท้าทายและโอกาสอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เช่น ภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นต้น
                    2. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน (ASEAN Declaration on Human Resources Development for the Changing World of Work) ประกอบด้วยบทนำที่กล่าวถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในโลกของงานและเอกสารตลอดจนกลไกสำคัญที่มีในอาเซียนที่เกี่ยวกับอนาคตของงาน และมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาทิ (1) การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดช่วงวัย (2) การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและโอกาสการจ้างงานของสตรี                คนพิการ และผู้สูงอายุ (3) การใช้ประโยชน์จากการอาชีวศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงงานที่มีคุณค่า และ  (4) การเพิ่มบทบาทของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและการฝึกงาน เป็นต้น
                    ทั้งนี้ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในฐานะประธานอาเซียน ปี 2563 มีกำหนดจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ในวันที่ 26 มิถุนายน 2563
 
24. เรื่อง รายงานผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน สมัยพิเศษ เกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) และการขอความเห็นชอบรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน สมัยพิเศษเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) และเห็นชอบการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน
                    สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ได้แก่ (1) การจัดให้มีการสนับสนุนความเป็นอยู่และสุขภาพของแรงงานทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานกลุ่มเสี่ยง (2) การจัดหาค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมให้แก่แรงงานทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และสิทธิที่จะเข้าถึงการช่วยเหลือทางสังคมหรือสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากภาครัฐ (3) อำนวยความสะดวกให้แรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่จำเป็น และ (4) ส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้เกิดการรายงานความคืบหน้าของนโยบายและมาตรการของภาครัฐต่อแรงงานและการจ้างงานในการตอบสนองต่อโรคระบาด
                    ร่างถ้อยแถลงร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงานมีเจตนารมณ์ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบต่อแรงงานและการจ้างงาน อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงส่งเสริมให้ไตรภาคี (ภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง) ที่เกี่ยวข้องในอาเซียน เข้ามามีส่วนร่วมในการลดผลกระทบดังกล่าว โดยมาตรการในร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ฉบับนี้ มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีแนวทางความร่วมมือด้านแรงงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่อแรงงานและการจ้างงานในภูมิภาค

 

แต่งตั้ง

25. เรื่อง รายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาของส่วนราชการต่าง ๆ (จำนวน 4 ราย)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา (ปคร.) ของส่วนราชการต่าง ๆ เพิ่มเติม (จำนวน 4 ราย) ประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เนื่องจาก ปคร. เดิมของส่วนราชการดังกล่าวที่ได้รับการแต่งตั้งมีการเกษียณอายุราชการและมีการโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่ง ดังนี้ 
                   1. กระทรวงแรงงาน นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน 
                   2. สำนักงาน ก.พ.ร. นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. 
                   3. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
                   4. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา นางดวงตา ตันโช เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา
 
26. เรื่อง ขอเพิ่มเติมองค์ประกอบในคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอการเพิ่มเติมองค์ประกอบในคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง ทส. รายงานว่า เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้ง (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 ตุลาคม 2562) สามารถบูรณาการในการบริหารจัดการถ้ำแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมาย ตามกรอบแนวคิดการบริหารจัดการถ้ำของประเทศไทยที่มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ นโยบาย และแผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งนโยบายและแผนการบริหารจัดการถ้ำของต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนของท้องถิ่น คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าว จำนวน 4 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าว (เดิมมีคณะกรรมการฯ รวม 26 คน เสนอเพิ่มเติมครั้งนี้ 4 คน รวมเป็น 30 คน)
 
27. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอการแต่งตั้ง นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ  690,000 บาท (ตามมติคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563) ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และให้ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ลาออกจากการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ก่อนลงนามในสัญญาจ้างด้วย
 
28. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง นางผุสดี ตามไท เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน แทนผู้ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ โดยให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
 
29. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 10 คน เนื่องจากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ได้พ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับ พ.ศ. 2558 ดังนี้ 
                   1. นางสาวปฐมา จันทรักษ์  
                   2. นายสุรพล โอภาสเสถียร 
                   3. นายมงคล ลีลาธรรม 
                   4. นายสรกิจ มั่นบุปผชาติ          ผู้แทนองค์การเอกชน 
                   5. นายโอฬาร วีระนนท์             ผู้แทนองค์การเอกชน 
                   6. นายมนตรี จงวิเศษ               ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค  
                   7. นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ       ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค   
                   8. นายเกรียงไกร วีระฤทธิพันธ์     ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค 
                   9. นายภูวดิท ปรีชานนท์           ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค  
                   10. นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ   ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในส่วนกลาง   
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
 
 

 
 
..............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: