เผยยอดใช้ 'B10' พุ่งเป็น 21.7 ล้านลิตรต่อวันหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น 'ดีเซล'

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 3872 ครั้ง

เผยยอดใช้ 'B10' พุ่งเป็น 21.7 ล้านลิตรต่อวันหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น 'ดีเซล'

กรมธุรกิจพลังงานเผยกลยุทธ์เปลี่ยนชื่อ 'B10' เป็น 'ดีเซล' และ 'ดีเซล' เป็น 'B7' ได้ผล โดยยอดขายหลังเปลี่ยนชื่อเพิ่มจาก 13.3 ล้านลิตรต่อวัน ในช่วงเดือน ก.ย. 2563 เป็น 19.20 ล้านลิตรต่อวันในเดือน ต.ค. และเพิ่มเป็น 21.75 ล้านลิตรต่อวันในเดือน พ.ย. เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาเสนอแผนดันยอดใช้ดีเซลให้ถึงเป้าหมาย 50 ล้านลิตรต่อวันในปี 2564 | ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ว่า น.ส.ลักขณา สุมาบัติ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่าหลังจากกรมฯ กำหนดให้ทุกปั๊มต้องเปลี่ยนชื่อน้ำมันไบโอดีเซล B10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10%ในทุกลิตร) มาเป็นชื่อใหม่ คือ “ดีเซล” และ ดีเซลเดิม เปลี่ยนเป็น “ดีเซลB7” ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา ปัจจุบันพบว่า ยอดการใช้น้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 21.75 ล้านลิตรต่อวันในเดือนพ.ย. 2563 (อัพเดทถึง 15 พ.ย.63 ) สูงกว่าเดือน ต.ค.2563 ที่มียอดใช้ 19.20 ล้านลิตรต่อวัน (เดือน ก.ย. ก่อนการเปลี่ยนชื่อมียอดใช้ 13.3 ล้านลิตรต่อวัน)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานยังคงเป้าหมายผลักดันการใช้ดีเซลให้ถึง 50 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 21.75 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นกรมฯ เตรียมจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำการประชาสัมพันธ์การใช้ดีเซลให้มากขึ้น ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้รถเครื่องยนต์ดีเซลทุกคันหันมาใช้น้ำมันดีเซลแทนการใช้ B7 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์ม 7% ในทุกลิตร) และให้เฉพาะรถเก่าใช้ B7 ได้เท่านั้น

นอกจากนี้ทางที่ปรึกษาก็จะเสนอแผนงานส่งเสริมให้รถเก่าที่หมดการการันตีจากค่ายรถยนต์แล้วให้หันมาใช้น้ำมันดีเซลด้วยโดยอาจมีมาตรการช่วยเหลือเป็นพิเศษให้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในปี 2564 นอกจากจะมีมาตรการกระตุ้นการใช้ดีเซลดังกล่าวแล้ว ยังจะมีมาตรการผลักดันการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 20% ในทุกลิตร) อีกด้วย ซึ่งอาจใช้วิธีสร้างส่วนต่างราคาเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ E20 โดยขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาแนวทางชดเชยราคาน้ำมันดังกล่าวจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ว่าจะมีเงินเพียงพอต่อการดำเนินงานมาตรการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

น.ส.ลักขณา กล่าวว่าส่วนสถานการณ์การใช้ดีเซลB10 หลังจากเริ่มเปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นดีเซลนั้น พบปัญหาเล็กน้อยเพียงผู้ประกอบการบางรายไม่เข้าใจว่าการเปลี่ยนชื่อน้ำมันจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำมันหรือไม่ ซึ่งกรมฯได้ชี้แจงทำความเข้าใจเรียบร้อยแล้วว่าคุณภาพยังเหมือนเดิม โดยขณะนี้ปั๊มน้ำมันที่มีแบรนด์ ได้เปลี่ยนชื่อน้ำมันดีเซลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงปั๊มอิสระบางแห่งที่ภาครัฐต้องเข้าไปชี้แจงว่าการจำหน่ายน้ำมันไม่ตรงตามชื่อจะมีความผิด เพราะจะเกิดปัญหาสับสนตอนที่กรมฯส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน แต่โดยภาพรวมการเปลี่ยนชื่อและการใช้ดีเซลไม่มีปัญหาใหญ่แต่อย่างไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: