เปิดรายงาน กมธ.ศึกษา CPTPP ส.ส.ชี้ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม-ได้ไม่คุ้มเสีย

ทีมข่าว TCIJ | 23 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 8578 ครั้ง

เปิดรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสาหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร - ส.ส. อภิปรายชี้ประเทศไทยไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างเพียงพอในการเข้าร่วม ได้ไม่คุ้มเสีย - ด้าน FTA Watch ตั้งข้อสังเกตประเด็น 'ผลกระทบต่อด้านเกษตรและพันธุ์พืช-ผลกระทบต่อด้านการแพทย์และสาธารณสุข-ผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน'

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รับทราบ รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยคณะกรรมาธิการ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เนื่องจากรัฐบาลไม่มีความพร้อมในการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม งบประมาณด้านการวิจัย ยังไม่เพียงพอ จึงทำให้การวิจัยพันธุ์พืชและพันธุ์ข้าวนั้นล่าช้า และไม่ทันต่อสากลโลก ดังนั้นรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รัฐต้องมีนโยบายและแผนงานแบบบูรณาการด้านพันธุ์พืชกับการพัฒนาการเกษตรแบบพึ่งตนเองได้ ทั้งด้านพันธุ์พืชและศูนย์ผลิตพันธุ์พืชชุมชน เพื่อให้สามารถให้บริการด้านเมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์พืชที่เหมาะสมแก่เกษตรกรได้อย่างมีมาตรฐานและเพียงพอกับความต้องการ โดยการสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรให้เพียงพอ รวมถึงด้านการแพทย์และระบบสาธารณสุข

ทั้งนี้ภายหลังเปิดให้สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างแล้วนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมาธิการศึกษาผลกระทบ CPTPP ได้ชี้แจงถึงกรณีความหลากหลายทางชีวภาพของไทยก่อนจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP ซึ่งยืนยันว่า ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด แต่หากไทยเข้าร่วมความตกลงนี้ ก็ต้องเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 ด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบ เพราะ UPOV 1991 ไม่ได้บังคับให้แจ้งที่มาของเมล็ดพันธุ์และจะกระทบต่อการแบ่งปันผลประโยชน์ทางชีวภาพ แต่กรรมาธิการได้เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพันธุ์พืช เพื่อแก้ปัญหาการใช้กฎหมายในปัจจุบัน และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มเกษตรกรในการปรับตัว รวมทั้ง สร้างความเข้มแข็งในการปรับปรุงพันธุ์ พัฒนาพันธุ์พืชเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตรอย่างยั่งยืน จนที่สุดแล้วที่ประชุมเห็นชอบกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ซึ่งจะนำเสนอไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป [1]

ส.ส.ชี้ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม - ได้ไม่คุ้มเสีย

ในการอภิปรายเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า ตอนเสนอญัตติเข้าสภาฯ มีความเห็นต่างกัน แต่หลังจากทุกฝ่ายร่วมกันทำงาน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดกรรมาธิการก็มีความเห็นค่อนข้างจะไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากเมื่อนำเปรียบเทียบข้อดี และข้อเสียในการเข้าร่วม CPTPP แต่ในทางธุรกิจจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่เมื่อศึกษาต่อก็พบว่า ข้อเสียอาจจะมากกว่าข้อดี และที่สำคัญคือประเทศเราไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างเพียงพอในการเข้าร่วม CPTPP ดังนั้นกรรมาธิการจึงมีความเห็นว่าประเทศต้องมีการเตรียมความพร้อมภายในประเทศจากทุกภาคส่วนโดยด่วนให้ทัน

"ผมคิดว่ารัฐบาลควรต้องเร่งตั้งคณะกรรมการที่จะมารับผิดชอบเรื่องการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมโดยด่วน ต้องมีเจ้าภาพที่ต้องรับผิดชอบที่ชัดเจนต้องหาข้อมูล และสรุปทุกประเด็นให้ชัดเจน และต้องมีแผนงบประมาณให้ชัดเจน เพราะว่าในงบปี 2564 ผ่านสภาไปแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มีงบเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้เลย" นพ.ระวี กล่าว [2] 

นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายเพื่อสรุปยืนยันหลังจากมีการศึกษาผลกระทบ CPTPP ของกมธ. อีกครั้งว่า ประเทศไทย “ได้ไม่คุ้มเสีย” จากการเข้าร่วม CPTPP เพราะประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้นั้นเล็กน้อย แต่กระทบกับภาคเกษตรโดยตรง และเงื่อนไขจำกัดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่จะขัดขวางการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทย

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้นั้นถือว่าเล็กน้อยมาก เพราะมีเพียง 2 ประเทศ คือ แคนาดาและเม็กซิโก ที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี และเป็นสัดส่วนการส่งออกของไทยเพียง 2% เท่านั้น และที่สำคัญ ตัวเลขเหล่านี้ มองข้ามผลกระทบต่อเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าสินค้าเกษตรในหลากหลายอาชีพ ทั้ง ข้าวโพด 425,000 ครัวเรือน ผู้เลี้ยงหมู 173,000 ครัวเรือน มะพร้าว 163,000 ครัวเรือน

รัฐบาลต้องมีคำตอบให้เกษตรกรเหล่านี้ว่าจะให้พวกเค้าเตรียมรับมือกับผลกระทบจากการเปิดรับสินค้านำเข้าเหล่านี้ยังไง เพราะว่ามันหมายถึงรายได้ทั้งชีวิตและอีกหลายชีวิตที่พวกเค้าต้องเลี้ยงดูอยู่ และรัฐบาลจะอ้างถึงกองทุน FTA (เขตการค้าเสรี เป็นการทำความตกลงทางการค้าของประเทศ) สำหรับใช้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบก็ไม่มีเกษตรกรไหนเค้าเชื่ออีกแล้ว เพราะกองทุน FTA ผ่านมา 10 กว่าปี งบประมาณที่ใช้พันกว่าล้านบาท ก็ยืนยันว่าไม่สามารถยกระดับการแข่งขันให้กับเกษตรกรโคเนื้อและโคนมตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน FTA ได้เลย

สำหรับประเด็น เงื่อนไขการเข้าร่วม UPOV 1991(อนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่โดยให้สิทธิเด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์ ) นั้นชัดเจนจากรายงานของ กมธ.ว่าการเข้าร่วมข้อตกลง UPOV นั้น จะทำให้กลุ่มทุนเมล็ดพันธุ์ที่ถือครองพันธุ์พืชใหม่มีความได้เปรียบจากสิทธิในพันธ์พืชใหม่ที่ครอบครองอยู่ และเกษตรกรเกือบทุกกลุ่มเห็นว่าประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการเข้าร่วม UPOV 1991 และจะต้องเป็นหน้าที่ภาครัฐ ที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านการลงทุน R&D เมล็ดพันธุ์ ในระดับเดียวกับ ประเทศสมาชิก UPOV ก่อนเข้าร่วม ยิ่งเป็นอีกประเด็นที่ทำให้การเข้าร่วม CPTPP นั้นจะทำให้เกษตรกรเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง

แต่ประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด และไม่ค่อยถูกพูดถึง คือ เงื่อนไขของ CPTPP ที่จะกระทบนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย ถ้าประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP ภาครัฐจะห้ามตั้งเงื่อนไขให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ห้ามให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการในประเทศ ห้ามกำหนดมาตรการชดเชยเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับประเทศไทยยุคสมัยนี้

"ผมอยากฝากข้อสังเกตุให้ทุกท่านและรัฐบาลคิดตาม ว่านานเท่าไหร่แล้ว ที่ประเทศไทยไม่มีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลขายฝันไว้ว่าจะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้จาก EEC ไปถึงไหนแล้ว ผมมั่นใจว่ามันถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องเริ่มสร้างอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศ ให้การสร้างอุตสาหกรรมใหม่เป็นกลไกหลักในการพาประเทศไทยก้าวข้ามความเป็นประเทศกำลังพัฒนาไปได้" 

และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนี่เองที่จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการเป็นกลไกให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ภายในประเทศได้ง่ายขึ้น อุตสาหกรรมรถเมล์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมรถไฟ อุตสาหกรรมกำจัดขยะ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตร หรือแม้แต่อุตสาหกรรมอาวุธความมั่นคง จะถูกเร่งพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่และกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยได้ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

จากความต้องการในอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ภายในประเทศไทยเอง และงบประมาณจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประเทศไทยสามารถกำหนดให้สนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม มีแผนแม่บทที่สะท้อนถึงขนาดตลาดภายในประเทศและสิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการในประเทศที่ชัดเจน เอกชนถึงจะมั่นใจในการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศไทย

แต่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ จะถูกจำกัดถ้าประเทศไทย เข้าร่วม CPTPP เพราะเป็นเงื่อนไขของประเทศที่พัฒนาแล้วที่ต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนาซื้อสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศพัฒนาแล้วแทนการพัฒนาอุตสาหกรรม

และถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดให้มีช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน สำหรับประเทศกำลังพัฒนาเหมือนอย่างที่เวียดนาม หรือ มาเลเซียได้ แต่มันก็เป็นเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ว่าจะภายใน 12 ปี หรือ 25 ปี และด้วยวงเงินที่จำกัดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างลงทุกปี จนสุดท้ายจะเหลือเพียงโครงการจัดซื้อจัดจ้างสูงสุดที่ให้สิทธิพิเศษกับผู้ประกอบการในประเทศ ไม่เกิน 6 ล้านบาทต่อโครงการเท่านั้น ซึ่งแน่นอนครับว่า โครงการจัดซื้อจัดจ้าง 6 ล้านบาท ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นกลไกสร้างอุตสาหกรรมใหม่ได้แน่นอน

ดังนั้นโดยสรุป ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้จากการเข้าร่วม CPTPP เป็นเพียงประโยชน์ระยะสั้นๆ จากการค้าเสรี 2 ประเทศที่จะเพิ่มขึ้น ไม่คุ้มค่ากับผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกร ที่เป็นกลุ่มที่อ่อนแอที่สุดของสังคมไทย และขัดขวางการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ที่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการมากที่สุดในการพัฒนาประเทศต่อจากนี้ไปในระยะยาว

และประเด็นทิ้งท้ายที่ผมอยากให้กรรมาธิการชี้แจง ถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งประเทศอเมริก จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคเดโมแครต และอเมริกาอาจจะอยากเข้าร่วม CPTPP อีกครั้ง เงื่อนไขด้านสาธารณสุข ทั้งเรื่องสิทธิบัตรยา ที่เคยยกเว้นไว้อาจะถูกมาเป็นเงื่อนไขอีกครั้งและจะส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง เพราะถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลอเมริกา แต่ข้อเท็จจริงคือ อุตสาหกรรมยาเป็นผู้สนับสนุนหลักในทุกพรรคการเมือง ดังนั้นเงื่อนไขผลประโยชน์ด้านสิทธิบัตรยา จะมีโอกาสสูงที่จะถูกหยิบขึ้นมาเป็นเงื่อนไขต่อรองอีกครั้งสำหรับการเข้าร่วม CPTPP แน่นอน [3]

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และประธานกรรมาธิการ ระบุว่าทางประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมการเจรจา เพราะถ้าไม่ร่วมไทยจะเสียโอกาสในเวทีโลก หากเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนามที่เข้าร่วม CPTPP ไปแล้ว เวียดนามมีเอฟทีเอกับ 53 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ไทยมีเพียง 18 ประเทศ แน่นอนว่าย่อมทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้าไปที่เวียดนามจำนวนมาก อีกด้านหนึ่ง ภาคประชาชน และเกษตรกรก็เป็นห่วง หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะถูกบังคับให้เข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 โดยอัตโนมัติ

นายอนันต์ ศรีพันธุ์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ประธานคณะอนุฯ ด้านการเกษตรฯ ระบุว่าไทยมีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชปี 2563 เพียง 129 ล้านบาท จากที่เสนอขอไป 1,447 ล้านบาท เทียบกับประเทศอื่นที่มีมากกว่าพันล้าน และมีจำนวนนักวิจัยแค่ 38 คน ขณะที่เวียดนามมีนักวิจัย 1 พันคน สะท้อนว่าไทยยังต้องเตรียมพร้อมเรื่องนี้ก่อนเข้าร่วม เช่น จัดทำฐานข้อมูลรายชื่อพืชก่อน โดยรัฐบาลต้องจัดทำกฎหมายรองรับ และวางแนวทางส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ใหม่ ซึ่งอาจจะต้องขอเวลาในการปรับตัวนาน 3-5 ปี

ประเด็นการเปิดตลาดการค้าสินค้า หากเข้าร่วม CPTPP จะมีข้อตกลงให้เปิดตลาดสินค้ามากถึง 95-99% ของสินค้าทั้งหมด จะช่วยให้ ข้าว, ยาง, กุ้ง จะมีการส่งออกดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดแคนาดา ซึ่งไทยไม่เคยมีเอฟทีเอด้วยมาก่อน แต่อีกด้านสินค้าเกษตรที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบมาก คือ “ข้าวโพด, ถั่วเหลือง, หมู” โดยเฉพาะหมูต้นทุนการผลิตของไทยสูงถึง กก.ละ 60-70 บาท ขณะที่หมูจากแคนาดา มีต้นทุนเพียง กก.ละ 36 บาท ดังนั้นการเปิดเสรีจะกระทบผู้เลี้ยงสุกร

ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ประธานคณะอนุฯ ด้านการแพทย์ กล่าวว่า การเข้าร่วม CPTPP ขึ้นอยู่กับความพร้อมของไทย ซึ่งรัฐบาลต้องมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ ทั้งยังต้องจัดรับฟังความเห็นของประชาชนในประเด็นที่อ่อนไหว และต้องดูแลผลกระทบต่อประชาชน โดยการจัดให้มีกองทุนช่วยเหลือที่มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ 

ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข หากปฏิบัติตามความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาโลก (TRIPs) ก็จะไม่มีปัญหา แต่กังวลว่าการใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตร (CL) จะเสี่ยงที่เอกชนผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจะฟ้องรัฐไทย ที่ไปผลิตสินค้าที่ติดสิทธิบัตร โดยอาศัยกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างเอกชนฟ้องรัฐ หรือ ISDS

แต่จริง ๆ ถึงจะไม่มี CPTPP ก็มีข้อตกลงอื่นที่เป็น “ประตู” อนุญาตให้ฟ้องได้อยู่แล้ว หนึ่งในนั้นคือคดีเหมืองทองที่ฟ้องโดยใช้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียนั่นเอง

นอกจากนี้จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลสิทธิบัตรยา (patent linkage) ซึ่งไทยไม่มีผู้สร้างสิทธิบัตรยาต้นแบบ มีแต่ผู้ผลิตยาตามคนอื่น (generic) ซึ่งหน่วยงานทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา และคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องแบ่งบทบาทหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ให้พร้อมก่อน

ขณะที่เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ CPTPP กำหนดให้เปิดให้แข่งขันเสรี และโปร่งใส ซึ่งอาจจะกระทบต่อ “องค์การเภสัชกรรม” (อภ.) เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีสิทธิพิเศษจากประกาศของกระทรวงการคลัง กำหนดให้โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งต้องซื้อยาที่ อภ.ผลิต ห้ามซื้อจากผู้ผลิตเอกชน ซึ่ง “ไม่ใช่การผูกขาด แต่เป็นการให้สิทธิประโยชน์” ในฐานะหน่วยงานที่ต้องให้บริการประชาชนให้สามารถเข้าถึงยา 

หาก อภ.ไม่สามารถขายยาแข่งขันกับต่างประเทศก็กระทบต่อรายได้และถ้าไม่มีระบบ อภ.ราคายาในประเทศแพงขึ้น ไทยก็เสี่ยงจะสูญเสียโอกาสการเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (medical hub) ดังนั้น หากต้องเจรจาอาจต้องใช้แนวทางเดียวกับเวียดนาม คือ ขอให้ขยายเวลาเพื่อปรับตัวก่อน 20 ปี

สุดท้ายเรื่องวิชาชีพ ซึ่งขณะนี้ยังมีสภาวิชาชีพ 4 สภาวิชาชีพที่กังวลจะได้รับผลกระทบ ในสาขาเภสัช ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด สัตวแพทย์ โดยมีข้อกำหนดเรื่องการสอบใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพไม่เน้นเปิดเสรี [4]

 

FTA Watch ตั้งประเด็นข้อสังเกตจากรายงาน

ด้าน กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch ได้เผยแพร่ ประเด็นข้อสังเกตต่อรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยได้แบ่งเป็น 4 ส่วน ดังต่อไปนี้

ส่วนที่ 1
ประเด็นข้อสังเกตต่อรายงานของคณะกรรมาธิการ
CPTPP ในภาพรวม
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการในภาพรวม (บทสรุปผู้บริหาร หน้า ง-
1)
ข้อสังเกต

  1. จากข้อเสนอแนะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของสาระการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ตัดกระบวนการการมีส่วนร่วมก่อนการเจรจาไม่ว่าจะในส่วนของการทำกรอบการเจรจา การรับฟังความคิด ตัดบทบาทของรัฐสภาในการพิจารณากรอบเจรจาก่อนเริ่มไปเจรจา ซึ่งทำให้การเริ่มต้นการเจรจาการค้าเสรีไม่ว่าฉบับใด ไม่มีการสร้างความไว้วางใจ ไม่มีความเชื่อมั่น และไม่แน่ใจว่า การเจรจานั้น ๆ จะเจรจาให้ผลประโยชน์หรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตั้งอยู่บนข้อมูลงานศึกษาที่เป็นจริงและเป็นธรรม ซึ่งต่างจากสาระในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ดังนั้น จึงต้องสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนนี้
  2. ไม่เพียงเท่านั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 178 ยังได้เปลี่ยนการเยียวยาที่รวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม ซึ่งเคยเป็นสาระสำคัญของ มาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เหลือแค่การเยียวยาเท่าที่จำเป็น โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้น ดังนั้น นอกเหนือจากการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบนอกจากจะต้องมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องให้ผู้ที่ได้ประโยชน์จากเอฟทีเอฉบับต่าง ๆ มีส่วนในการแบ่งปันผลประโยชน์มาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้สัดส่วน
  3. รายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แม้จะใช้เวลาการทำงานน้อยกว่างานศึกษาที่จัดจ้างของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แต่สามารถรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวลของฝ่ายต่าง ๆ มาได้อย่างครบถ้วน ลดความขัดแย้ง จึงควรเป็นแบบอย่างในการเตรียมความพร้อมในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่หากจะเกิดขึ้นนับจากนี้ ซึ่งทำให้เห็นว่า การทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนประชาชนมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเตรียมการเจรจา เพื่อความรอบคอบและได้ผลประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่มีหน้าที่เฉพาะเมื่อเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศสิ้นสุดลงเท่านั้น
  4. สาระสำคัญและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ควรนำไปเป็นแนวทางการเจรจาความตกลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้

ส่วนที่ 2
ประเด็นข้อสังเกตต่อรายงานของคณะกรรมาธิการ
CPTPP
กรณีผลกระทบต่อด้านเกษตรและพันธุ์พืช

  1. เห็นด้วยและสนับสนุนความเห็นโดยสรุปของ กมธ. ว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมจะเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช (หน้า ง-1 บทสรุปผู้บริหาร) ดังข้อความว่า

“คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง ถ้าประเทศไทยเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ทั้งจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตรและจากการรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าหลังจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังไม่พร้อมจะเข้าเจรจาความตกลง CPTPP จนกว่าจะมีการทำความเข้าใจให้เกษตรกรยอมรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV การเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร ซึ่งยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองและไม่สามารถสู้ได้ในเวทีโลก โดยการสนับสนุนเชิงนโยบาย และเพิ่มงบประมาณ วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืช เพื่อเผยแพร่แก่เกษตรกร และเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้าน ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และจัดทำกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ”

  1. ข้อสังเกตที่สำคัญจากการศึกษาของ กมธ.

2.1. เกษตรกรเกือบทุกกลุ่ม รวมทั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของเกษตรกร ที่เข้ามาชี้แจงกับกรรมาธิการไม่ยอมรับการเข้าเป็นภาคี UPOV1991 (ยกเว้นเกษตรกรรุ่นใหม่ 1 คนที่เห็นด้วย และเกษตรกรที่ปลูกเบญจมาศที่ยังไม่แน่ใจ) (เอกสารหน้า 31-32)

2.2. มีหน่วยงานของรัฐ 4 หน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม UPOV1991 ได้แก่ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพ มีเฉพาะกรมวิชาการเกษตรเท่านั้นที่สนับสนุนการเข้าร่วม (เอกสารหน้า 31-32)

2.3. ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนการเข้าร่วมคือภาคเอกชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้าและสมาคมด้านการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะเป็นกลุ่มที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการขยายสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ตาม UPOV 1991

  1. ผลการศึกษาของ กมธ.ชี้ให้เห็นเรื่องผลกระทบอย่างกว้างขวางดังที่พรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายและชี้ให้เห็นปัญหาดังกล่าวก่อนหน้านี้ โดยที่ กมธ. ได้สรุปให้เห็นปัญหาถึง 7 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพันธุ์พืช (หน้า 33-34) ได้แก่

3.1. สูญเสียประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการขออนุญาต และแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณี ที่มีการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าวในการปรับปรุงพันธุ์ เนื่องจากไม่สามารถกําหนดให้แสดงหลักฐานการขออนุญาตและแบ่งปัน ผลประโยชน์ในการยื่นขอจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้อีกต่อไป

3.2. อาจสร้างปัญหาการละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชโดยไม่เจตนา หากเกสรจากพันธุ์พืชใหม่ถูกลมหรือสัตว์พาหะนําไปผสมกับพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปในแปลงข้างเคียง และส่งผลกระทบต่อการคัดเลือก และพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชน ท้องถิ่นโดยอาจไม่สามารถทำตามวิถีของเกษตรกรที่มีมาแต่เดิม

3.3. สูญเสียความได้เปรียบจากการที่ประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิดของความหลากหลายของ พันธุ์ข้าว (ในปัจจุบันได้รวบรวมเชื้อพันธุกรรมไว้กว่า 24,552 ตัวอย่าง) โดยยังไม่มีการจัดทำฐานข้อมูล พันธุกรรมข้าวให้ถูกต้องสมบูรณ์

3.4. ทำให้ต้องจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม จากเดิมพระราชบัญญัติ คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ไม่จดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ให้พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ยังไม่ผ่านกระบวนการ ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ

3.5. ทำให้เกษตรกรรายย่อยอาจต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่สูงขึ้น

3.6. อาจทำให้เกษตรกรและพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ซึ่งนําผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ไปจําหน่ายปลีก ในตลาด ถูกดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง เนื่องจากอนุสัญญา UPOV ขยายสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชให้รวมถึง ผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาโดยละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืช

3.7. จะเป็นอุปสรรคแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อยและนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายใหม่ แต่จะ เอื้อประโยชน์แก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชรายใหญ่ที่มีทุน กําลังคน และเทคโนโลยีซึ่งเหนือกว่า

  1. ประเด็นที่ใช้ให้เห็นเกี่ยวกับความไม่พร้อมของประเทศไทย คือการสนับสนุนการวิจัยของประเทศไทย ตัวเลขที่น่าตกใจคือกรณีงบประมาณเกี่ยวกับการวิจัยพันธุ์ข้าว ทั้ง ๆ ที่การปลูกข้าวเกี่ยวข้องกับเกษตรกรครึ่งหนึ่งของประเทศ มีการส่งออกปีละแสนล้านบาท แต่งบการวิจัยเรื่องพันธุ์ข้าวเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาได้รับงบเพียง 57.14 ล้านบาทเท่านั้น (เอกสารหน้า 31) โดยกรมการข้าวได้รับงบประมาณด้านการวิจัยดังนี้

- ในปี 2554 ได้รับงบประมาณจำนวน 194.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณด้านการปรับปรุงพันธุ์ร้อยละ 50.61

- ปี 2560 ได้รับงบประมาณจำนวน 294.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณด้านการปรับปรุงพันธุ์ร้อยละ 49.11

- ปี 2561 ได้รับงบประมาณจำนวน 225.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณด้านการปรับปรุงพันธุ์ร้อยละ 47.58

- ปี 2562 ได้รับงบประมาณจำนวน 187.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณด้านการปรับปรุงพันธุ์ร้อยละ 47.04

- และปี 2563 ได้รับงบประมาณจำนวน 193.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณด้านการปรับปรุงพันธุ์ร้อยละ 29.50

อนึ่ง งบประมาณการวิจัยของประเทศ จากข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเมื่อปี 2548 ได้เสนอว่าควรจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยเรื่องพันธุ์พืช 10.9 % ของ GDP ประเทศ (หน้า 36)

ส่วนที่ 3
ประเด็นข้อสังเกตต่อรายงานของคณะกรรมาธิการ
CPTPP
กรณีผลกระทบต่อด้านการแพทย์และสาธารณสุข

  1. เห็นด้วยกับข้อสรุปในภาพรวมของรายงานในส่วนที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเป็นขั้นเป็นตอน มีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านประกอบการตัดสินใจ มีการระบุประเด็นอ่อนไหวที่ยอมรับไม่ได้ในการเจรจาไว้เป็นกรอบการเจรจาจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเตรียมระบบการเยียวยาหากเกิดผลกระทบในเชิงลบ ข้อสรุปในภาพรวมในรายงานในหน้า 38 – 39 มีดังนี้

1.1. รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณที่จะเกิดจากผลกระทบด้านลบ การดำเนินการที่จะทำให้อุตสาหกรรมในประเทศสามารถแข่งขันและใช้ประโยชน์จากข้อกำหนดของความตกลง และผลประโยชน์ด้านการสาธารณสุขของประชาชนที่อาจถูกกระทบจากความตกลง

1.2. การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากการเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง

1.3. รัฐบาลจะต้องผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า ที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. อย่างไรก็ดี จากข้อมูลในรายงานและการประชุมของคณะกรรมาธิการชุดย่อย มีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

2.1. นอกจากภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของความตกลง ซึ่งจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมแล้ว ภาระงบประมาณนี้จะต้องครอบคลุมงบประมาณในด้านต่าง ๆ ที่ต้องเพิ่มมากกว่าที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ในภาวะปกติ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านยา งบประมาณที่จะสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพทั้งสามระบบ งบประมาณสนับสนุนอัตรากำลังเจ้าหน้าที่และการปรับโครงสร้างการทำงานของหน่วยรัฐที่เกี่ยวข้อง งบประมาณสนับสนุนพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ และงบประมาณในการคัดกรอง ตรวจสอบ และติดตามเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้วและปรับปรุงให้เสมือนใหม่ ที่จะไม่ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมเมื่อหมดอายุการใช้งาน

ทั้งนี้ ภาระงบประมาณที่กล่าวมา นอกจากจะต้องอยู่ในกองทุนช่วยเหลือที่จะจัดตั้งขึ้นด้วย และจะต้องเพิ่มอยู่ใน่งบประมาณประจำปีของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

2.2. หน่วยงานรัฐที่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมเป็นภาคี (หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์) มักจะตีความความตกลงตามตัวอักษร ในขณะที่หน่วยงานรัฐที่เห็นต่าง (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ภาคประชาสังคม และอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริงและจะได้รับผลกระทบโดยตรง นำเสนอความห่วงกังวลโดยประเมินจากสถานการณ์จริง ประสบการณ์ และข้อความในความตกลง

นอกจากนี้ ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าผลกระทบที่แสดงความห่วงกังวลต่าง ๆ จะไม่เกิดขึ้น หากตีความตามตัวอักษรดังที่หน่วยงานรัฐที่เห็นด้วยนำเสนอ เช่น การเชื่อมโยงการขึ้นทะเบียนยาเข้ากับการจดสิทธิบัตร (patent linkage) ในบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา และการใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (compulsory license) แล้วจะไม่ถูกฟ้องผ่านกลไกคณะอนุญาโตตุลาการ ที่เกี่ยวข้องกับบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน และการระงับข้อพิพาท ทั้งนี้ ความตกลงนี้เพิ่งมีผลบังคับใช้ได้ไม่นาน จึงยังไม่อาจเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบในเชิงลบที่จะต้องใช้เวลานานจึงจะปรากฎแต่เป็นผลกระทบที่รุนแรง ในส่วนนี้ ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้

2.3. ประเทศไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ และโครงสร้างการทำงานของภาครัฐแบบขนาดใหญ่ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพในกับเจ้าหน้าที่และกลไกต่าง ๆ ที่จะสามารถรองรับหรือป้องกันผลกระทบด้านลบที่จะเกิดจากความตกลง ถ้าตัดสินใจเข้าร่วมเป็นภาคี ทั้งนี้ จะเชื่อมโยงกับข้อ 2.1 ในเรื่องงบประมาณที่จะต้องเพิ่มขึ้นและต้องเตรียมไว ถึงแม้ว่าจะมีการต่อรองขอมีระยะเวลาผ่อนผันหรือปรับตัว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าระยะเวลานานเท่าไรถึงจะเพียงพอ การเจรจาและยอมตกลงในขณะที่ประเทศยังไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวถือเป็นความเสี่ยงและมีราคาที่ต้องจ่ายแพงมาก

2.4. ข้อสงวนหรือการทำจดหมายแนบความตกลง (side letter) ที่จะขอให้มีการคุ้มครองไม่บังคับใช้ข้อกำหนดในความตกลงกับประเทศไทย ไม่ควรจะมีเฉพาะในเรื่องการลงทุนและการระงับข้อพิพาทเฉพาะที่เกี่ยวกับสินค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่และยาสูบเท่านั้น แต่ควรจะมีในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งมีเรื่องที่เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขโดยตรงคือ การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรม การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาและเวชภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมของคนไทย การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ปัจจุบันยังไม่อนุญาติให้โรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการใช้งานมาแล้วและได้รับการปรับปรุงให้เหมือนใหม่ การไม่อนุญาตให้จดกลิ่นเป็นเครื่องหมายการค้า

นอกจากนี้ ควรจะมีข้อสงวนที่ระบุให้ชัดว่าการใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (compulsory license) ที่ถูกต้องตามความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก ประเทศไทยจะต้องไม่ถูกดำเนินการฟ้องร้องผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการ เพื่อเป็นการขจัดข้อกังวลที่ถกเถียงกันไม่ลงตัวในคณะกรรมาธิการย่อย ทั้งนี้ หากประเทศไทยจะร่วมเป็นภาคีความตกลง

2.5. ในเรื่องอาหารและเครื่องสำอาง เรามีความคิดเห็นว่ายังหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบยังไม่มีความพร้อมหรือกระบวนการเตรียมความพร้อมที่ชัดเจน ที่จะป้องกันกังวลในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้เกิดขึ้น เช่น อาหารที่ผลิตจากพืชตัดต่อพันธุกรรม (GMO) การยกเลิกหมายเลขกำกับที่บรรจุภัณฑ์ของเครื่องสำอาง โดยอ้างเพียงจะปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านอาหาร (CODEX) หรือจะหาวิธีการปรับเปลี่ยนใช้สิ่งอื่นแทนหมายเลขกำกับ

2.6. ข้อบทที่ถูกระงับ (Suspended Provisions) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เป็นข้อบทที่จะสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อการเข้าถึงยาและระบบสาธารณสุข เช่น การผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) การขยายอายุสิทธิบัตร (Patent Term Extension) การขยายสิ่งที่จดสิทธิบัตรได้ (Patentability) แม้ว่ากรมเจรจาการค้าฯ จะพยายามยืนยันว่าข้อบทเหล่านี้จะไม่ถูกนำกลับมาเจรจา ถ้าประเทศสมาชิกความตกลงไม่ยินยอม และถ้าไทยเข้าร่วมเป็นภาคีแล้วก็จะสามารถไม่ยินยอมได้ อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้เป็นการคาดการณ์และยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงสถานการณ์จริง การเจรจาดังกล่าวจะเข้มข้นและกดดันมาเท่าไร โดยเฉพาะถ้าสหรัฐฯ เปลี่ยนท่าทีกลับมาร่วมเจรจา เพราะต้องยอมรับว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่และมีอำนาจต่อรองสูง

ส่วนที่ 4
ประเด็นข้อสังเกตต่อรายงานของคณะกรรมาธิการ
CPTPP
กรณีผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน

1) ภาพรวมการประเมินผลกระทบ หน้า 59 และข้อสังเกตของคณะอนุกรรมาธิการหน้า 77

ข้อสังเกต: ชี้ให้เห็นว่า การจัดจ้างศึกษาของหน่วยราชการ มีข้อจำกัดอย่างมาก ทั้งการคำนวนจากการลดภาษีสินค้าเท่านั้น แต่นำมาประเมินผลได้ทางเศรษฐกิจและเพิ่มการลงทุนในภาพรวม ซึ่งถือเป็นการตั้งสมมุติฐานที่ผิด จนนำไปสู่ผลการศึกษาที่ไม่เป็นจริง จะนำไปสุ่การตัดสินใจที่ผิดพลาดของฝ่ายนโยบายได้

2) ประเด็น Free Zone หน้า 62 และข้อสังเกตของคณะอนุกรรมาธิการหน้า 78

ข้อสังเกต: สะท้อนให้เห็นปัญหาการเตรียมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ได้คำนึงถึงการปฏิบัติจริง และสะท้อนปัญหาสะสมของการเจรจาการค้าที่ทยอยลดภาษีนำเข้า แต่คงภาษีภายในประเทศทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้นำเข้า และผู้ผลิตในประเทศ จนหน่วยงานต่าง ๆ ต้องหาทางออกโดยการให้สิทธิยกเว้นอากรแก่ภาคเอกชนเป็นการชั่วคราวแต่ไม่กำหนดเวลา มีมูลค่ารวมกันเกือบห้าแสนล้านบาทต่อปี หากยอมรับเงื่อนไขยกเลิกมาตรการสนับสนุนภายในโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงก็ย่อมกระทบกับผู้ผลิตในประเทศอย่างรุนแรง แต่ความเดือดร้อนเหล่านี้ ไม่ถูกสะท้อนจากตัวแทนอุตสาหกรรมใหญ่ๆที่อยู่ในสภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม

3) ประเด็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หน้า 63-64 และข้อสังเกต หน้า 79-80

ข้อสังเกต: เห็นด้วยกับข้อเสนอ แต่ต้องจริงจังมาก ๆ โดยเฉพาะภาษีดิจิทัล การคุ้มครองผู้บริโภค และการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

4) ประเด็นกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) หน้า 64-65

และข้อสังเกตของคณะอนุกรรมาธิการหน้า 80

ข้อสังเกต: ความแตกต่างของ CPTPP กับการเอฟทีเอฉบับอื่น ๆ ตรงที่นิยามของการลงทุนเพิ่มการคุ้มครอง Portfolio และ Pre-establishment ซึ่งไม่มีนิยามที่ชัดเจน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกเอกชนต่างชาติฟ้องร้อง ไม่เห็นด้วยกับคณะอนุกรรมาธิการว่า เป็นเพียงการเพิ่มช่องทาง ซึ่งประเด็นนี้ ข้อสรุปของคณะอนุกรรมาธิการด้านสาธารณสุขจะเห็นภาพผลกระทบชัดเจนกว่า อาจจะเป็นเพราะด้านสาธารณสุขมีประเด็นที่จะจำกัดสิทธิเอกชนเพื่อประโยชน์สาธารณะมากกว่า จึงเห็นกรณีตัวอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงต้องฟังฝ่ายกำกับดูแลตามกฎหมาย มากกว่าหน่วยราชการที่อำนวยความสะดวกแก่เอกชน

5) ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 65-68 และข้อสังเกตหน้า 80-81

ข้อสังเกต

- ในแต่ละปีประเทศไทยใช้เงินมหาศาลในการจัดซื้อจัดจ้าง หากจะเปิดให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาแข่งขัน ภาครัฐไทยต้องเริ่มมีนโยบาย offset คือให้การใช้จ่ายงบประมาณโครงการขนาดใหญ่วงเงินสูงได้รับการแลกเปลี่ยนกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ถ้าไม่เริ่มทำตั้งแต่บัดนี้ การเข้าร่วมความตกลงลักษณะนี้จะปิดโอกาสไทยในการรับเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆในประเทศ

- ต้องเจรจาจัดทำภาคผนวก เพื่อยกเว้น SME บัญชีนวัตกรรม และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชน

6) องค์การเภสัชกรรม คาบเกี่ยว 2 หัวข้อคือการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ข้อสังเกตหน้า 67-70

ข้อสังเกต: ในการเจรจาต้องขอสงวนรัฐวิสาหกิจที่สำคัญที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์จากการบังคับของความตกลง CPTPP แล้ว ยังต้องดำเนินนโยบายที่ทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถดำเนินตามพันธกิจรักษาความมั่นทางยาและสุขภาพของประชาชนด้วย โดยไม่ต้องนำเงินรายได้ส่งเข้าคลัง แต่นำกลับไปลงทุนสนับสนุนการดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน

7) ประเด็นสินค้าขยะอันตราย หน้า 74 และข้อสังเกต หน้า 83

ข้อสังเกต: ขยะอันตรายถูกใส่พิกัดศุลกากร ตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ทำให้ไทยเปิดอนุญาตให้มีการนำเข้ากับเอฟทีเอ ฉบับต่อ ๆ มา จนกระทั่งก่อให้เกิดปัญหาการนำเข้าขยะมาทิ้งที่ประเทศไทยหลังจากที่จีนปิดประเทศรุนแรงมากยิ่งขึ้น ขณะที่กฎหมายภายในของไทย กว่า 10 ปีสามารถห้ามนำเข้าขยะเทศบาล และขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ขณะที่ขยะอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายยังแยกย่อยอยู่ตามพิกัดต่าง ๆ ดังนั้น ข้อน่าห่วงกังวลนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มจำนวนประเทศที่เกิดรับจาก CPTPP อีก 11 ประเทศ ดังนั้น ข้อเสนอของอนุกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญในการจัดการปัญหาในประเทศ โดยเฉพาะนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานให้เข้มงวดมากขึ้น การอนุญาตโรงงานรีไซเคิลในไทย ขณะที่จีนไม่อนุญาตแล้ว รวมทั้งให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลเพื่อห้ามการส่งออกขยะ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถจำกัดการนำเข้าขยะอันตรายให้ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น [5]

รายงาน กมธ. พิจารณาศึกษาผลก... by TCIJ

 

ที่มาข้อมูล
[1] ที่ประชุมสภาเห็นชอบข้อสังเกต กมธ.ศึกษา CPTPP (สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 12 พ.ย. 2563)
[2] “หมอระวี”ย้ำไทยไม่พร้อมร่วม CPTPP จี้ รบ.ตั้งกก.เตรียมพร้อมด่วน ข้องใจงบปี 64 ไม่ตั้งงบรองรับเลย (สยามรัฐออนไลน์, 12 พ.ย. 2563)
[3] รายงาน กมธ. #CPTPP - ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้จากการเข้าร่วม CPTPP เป็นเพียงประโยชน์ระยะสั้นๆ ไม่คุ้มค่ากับเกษตรกรโดยตรง (Woraphop Viriyaroj - วรภพ วิริยะโรจน์, 12 พ.ย. 2563)
[4] กมธ. ฟันธงไทยไม่เข้า CPTPP (ประชาชาติธุรกิจ, 15 พ.ย. 2563)
[5] ประเด็นข้อสังเกตต่อรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP (FTA Watch, 13 พ.ย. 2563)

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: