ตั้งแต่ปี 2551 ไทยตั้งเป้ากำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี 2563 พบตัวเลข ‘สุนัข-แมว ไม่มีเจ้าของ’ จากการสำรวจของ อปท. มีเพียงหลักแสนตัว ส่วนกรมปศุสัตว์ประเมินไว้ 1.2-3.6 ล้านตัว ‘โครงการประชารัฐร่วมใจกำจัดภัยโรคพิษสุนัขบ้าปี 2563’ ตั้งเป้า 'ทำหมันสุนัข-แมว' ฟรี 120,000 ตัว ใช้งบประมาณ แค่ 27 ล้านบาท หรือแค่ 225 บาท/ตัว
พบว่าตั้งแต่ปี 2551 ประเทศไทยมีการตั้งเป้ากำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศ โดยจาก แผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายใน พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ระบุว่าปัญหาคนถูกสุนัขกัดในประเทศไทยนับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ผู้ที่ถูกสุนัขกัดในแต่ละปีมีจำนวนเท่าใดไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในระบบที่ต้องรายงาน แต่จากข้อมูลผู้ถูกสุนัขกัดที่มารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี หากรวมผู้ที่ไปรับบริการจากสถานบริการของมหาวิทยาลัยและเอกชนด้วยแล้วประมาณการว่าน่าจะถึงปีละ 5 แสนคน ซึ่งรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินสูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี นับว่าเป็นภาระที่รัฐบาลต้องนำเงินภาษีอากรมาใช้จ่ายเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก หากมีผู้ถูกสุนัขกัดและผู้ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าลดลง ค่าใช้จ่ายที่ลดลงจะได้นำไปทำประโยชน์อื่นๆ ได้มากมาย ผู้ที่มาขอรับบริการเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกสุนัขที่มีเจ้าของกัด มีบางรายถูกสุนัขหรือแมวที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดแล้วไม่ได้รับการล้างบาดแผล และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างถูกต้อง ทำให้ยังมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้อย่างต่อเนื่องตลอดมา จากรายงานการสอบสวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า พบว่าถูกลูกสุนัขอายุ 1-3 เดือน กัดแล้วไม่ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันเนื่องจากไม่คิดว่าลูกสุนัขจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ เช่นเดียวกับที่มีคนเข้าใจผิดคิดว่าโรคนี้เป็นเฉพาะฤดูร้อนเท่านั้น จึงไม่สนใจที่จะไปพบแพทย์เพื่อขอรับการฉีดวัคซีนเมื่อถูกสุนัขกัด
จากการสำรวจการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทยที่ผ่านมาพบว่าโรคนี้ยังเป็นปัญหาก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตคน สัตว์และเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน แผนยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และกลยุทธ์ในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นได้ทั้งในคนและสัตว์ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลการป้องกันควบคุมโรคในสัตว์ โดยอาศัยพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 และพระราชบัญญัติป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 เป็นแม่บท ส่วนกระทรวงสาธารณสุขดูแลการป้องกันควบคุมโรคในคน โดยอาศัยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 เป็น แม่บทโดยทั้งสองหน่วยงานจะต้องประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน
ประกอบกับในปี 2552 องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การควบคุมโรคระบาดสัตว์ระหว่าง ประเทศ (OIE) ได้ตกลงร่วมกันกำหนดเป้าหมายให้ประเทศที่มีอุบัติการณ์ของโรคจะต้องร่วมมือกันกำจัดโรคนี้ ให้หมดไปภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ยังคงพบโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงจำเป็นต้องเร่งรัดการป้องกันและควบคุ เพื่อให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไป ภายในปี 2563 จึงได้ทำแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคขึ้น เพื่อจะได้นำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องตามสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เปลี่ยน แปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและนอกประเทศ [1]
ต่อมากรมปศุสัตว์ร่วมกับกรมควบคุมโรค จัดทำโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและส่งเสริมการเลี้ยงสุนัขที่ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงของโรคพิษสุนัขบ้าและป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสุนัขโดยไม่เป็นภาระต่อสังคม โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล เป็นศูนย์กลางในการรณรงค์ ตามแผนยุทธศาสตร์กำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศภายในปี 2563 นี้ [2]
นอกจากนี้ไทยยังมี 'แผนยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ปี 2560-2563' ซึ่งมียุทธศาสตร์ฯ 8 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกัน และดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 5 การประชาสัมพันธ์ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบูรณาการและการบริหารจัดการข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า ยุทธศาสตร์ที่ 7 ด้านการติดตามและประเมินผล และยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี [3]
ตัวเลข ‘สุนัข-แมวจรจัด’ มีเท่าไรกันแน่?
พบตัวเลข ‘สุนัข-แมว ไม่มีเจ้าของ’ จากการสำรวจของ อปท. ต่ำกว่าตัวเลขของกรมปศุสัตว์เป็นอย่างมาก | ที่มาภาพประกอบ: I'm home
ในปี 2561 ประมาณการว่าทั่วโลกมีสุนัขที่มีเจ้าของ 471 ล้านตัว แมวที่มีเจ้าของ 373 ล้านตัว [4] สำหรับประเทศไทยจากข้อมูล จำนวนประชากรสุนัขและแมว ปี 2559 โดยกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นข้อมูลการสำรวจครั้งล่าสุดของกรมปศุสัตว์ ระบุว่าไทยมีจำนวนสุนัขที่มีเจ้าของ 6,622,364 ตัว (แบ่งเป็นตัวผู้ 3,625,733 ตัว ตัวเมีย 2,996,631 ตัว) แมวที่มีเจ้าของ 2,541,009 ตัว (แบ่งเป็นตัวผู้ 1,293,921 ตัว ตัวเมีย 1,247,088 ตัว) มีครัวเรือนที่เลี้ยงสุนัขรวม 4,251,832 ครัวเรือน ครัวเรือนที่เลี้ยงแมว 2,402,326 ครัวเรือน [5]
สำหรับสุนัขและแมวไม่มีเจ้าของนั้น ข้อมูลจาก จำนวนประชากรสุนัขและแมว ปี 2559 โดยกรมปศุสัตว์ ระบุว่ามีสุนัขไม่มีเจ้าของในกรุงเทพ 141,455 ตัว แมวไม่มีเจ้าของ 89,269 ตัว รวมทั้งประเทศมีสุนัขไม่มีเจ้าของ 758,446 ตัว แมวไม่มีเจ้าของ 474,142 ตัว รวมสุนัขและแมวไม่มีเจ้าของทั่วประเทศ 1,232,588 ตัว [6]
และข้อมูลเมื่อปลายปี 2562 จากสื่อที่อ้างข้อตัวเลขจากกรมปศุสัตว์ระบุว่ามีสุนัขจรจัดหรือด้อยโอกาสประมาณ 2.6 ล้านตัว แมวจรจัดหรือด้อยโอกาสประมาณ 1 ล้านตัว รวมทั่วประเทศประมาณ 3.6 ล้านตัว [7]
ส่วนข้อมูลจากส่วนข้อมูลจาก แผนที่แสดงจำนวนสุนัข - แมว (ปี 2562 รอบที่ 1) สำรวจโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เข้าถึงข้อมูล ณ 22 ก.พ. 2563) ระบุว่าทั่วประเทศยกเว้นกรุงเทพฯ มีสุนัขไม่มีเจ้าของ 109,123 ตัว แมวไม่มีเจ้าของ 55,021 ตัว รวมสุนัขและแมวไม่มีเจ้าของ 164,144 ตัว เท่านั้นซึ่งตัวเลขนี้ต่ำกว่าของกรมปศุสัตว์เป็นอย่างมาก
โครงการประชารัฐร่วมใจกำจัดภัยโรคพิษสุนัขบ้าปี 2563 ตั้งเป้า 'ทำหมันสุนัข-แมว' ฟรี 120,000 ตัว
เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย กรมปศุสัตว์ ได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายสัตวแพทย์ทั้ง ภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ สามารถผ่าตัดทำหมันสุนัข- แมวจรจัดหรือด้อยโอกาสได้ 282,845 ตัว แบ่งออกเป็น สุนัข 160,445 ตัว และแมว 122,400 ตัว ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีสุนัขจรจัดหรือด้อยโอกาสประมาณ 2.6 ล้านตัว แมวจรจัดหรือด้อยโอกาสประมาณ 1 ล้านตัว รวมทั่วประเทศประมาณ 3.6 ล้านตัว
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์มีเป้าหมายการผ่าตัดทำหมันสุนัข-แมวจรจัดหรือ ด้อยโอกาส รวม 3 แสนตัวต่อปี แต่ปริมาณสุนัข-แมวจรจัด ยังคงมีจำนวนมากและมีอัตราการเพิ่มจำนวนที่รวดเร็ว ดังนั้นเพื่อให้การควบคุมจำนวนสุนัข-แมวจรจัด มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้สั่งการให้ กรมปศุสัตว์จัดทำโครงการรณรงค์และเพิ่มเป้าหมาย การผ่าตัดทำหมันสุนัข-แมวจรจัดหรือด้อยโอกาส ในปีงบประมาณ 2563 จากเดิมเป้าหมาย 3 แสนตัว เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เป็น 6 แสนตัวทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการให้บริการเพิ่มมากขึ้นและลดจำนวนสุนัข-แมวจรจัดได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น [8]
ข้อมูลจาก 'โครงการประชารัฐร่วมใจกำจัดภัยโรคพิษสุนัขบ้าและควบคุมประชากรสุนัข-แมว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563' ระบุว่ามีเป้าหมายทำหมันสุนัข 86,095 ตัว แมว 33,905 ตัว รวม 120,000 ตัว งบประมาณค่าวัสดุเวชภัณฑ์ 12 ล้านบาท ค่าวัสดุวิทยาศาสตร์ 15 ล้านบาท รวมงบประมาณ 27 ล้านบาท (เฉลี่ย 225 บาท/ตัว) มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2562 - 30 ก.ย. 2563 [9]
ข้อมูลอ้างอิง
[1] แผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายใน พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) (กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ก.ย. 2552)
[2] ปศุสัตว์-สธ.จับมือองค์กรท้องถิ่นรณรงค์ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้านทั่วปท. (หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 10 ม.ค. 2553)
[3] แผนยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ปี 2560-2563 (สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 20 ก.พ. 2563)
[4] Number of dogs and cats kept as pets worldwide in 2018 (Emma Bedford, Statista, 12 Sep 2019)
[5] จำนวนประชากรสุนัขและแมว ปี 2559 (สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์, กรมปศุสัตว์, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 18 ก.พ. 2563)
[6] จำนวนประชากรสุนัขและแมว ปี 2559 (สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์, กรมปศุสัตว์, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 18 ก.พ. 2563)
[7] เฉลิมชัยสั่งปศุสัตว์ทำหมัน'หมา-แมว'จรจัดทั่วประเทศ (หนังสือพิมพ์คมชัดลึกฉบับวันที่ 2 พ.ย. 2562)
[8] อ้างแล้ว
[9] โครงการประชารัฐร่วมใจกำจัดภัยโรคพิษสุนัขบ้าและควบคุมประชากรสุนัข-แมว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 (สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 20 ก.พ. 2563)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คน กทม. อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอด ‘สุนัข-แมวจรจัด’
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ