จับตา: เปิดรายละเอียดเปลี่ยนแปลง EIA รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 7429 ครั้ง


ครม. เห็นชอบการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี โดยขอเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และสถานีนพรัตนราชธานี (PK26)

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้เห็นชอบการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี โดยขอเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และสถานีนพรัตนราชธานี (PK26)

โดยที่ตั้งสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ให้ขยับตำแหน่งจากเดิมไปทางขวา (ทิศตะวันออก) ประมาณ 337 เมตร มาอยู่บริเวณด้านหน้าซอยรัตนาธิเบศร์ 4 เพื่อไม่ให้ต้องใช้พื้นที่อุทยานมกุฏรมยสราญ และไม่บดบังด้านหน้าอุทยานมกุฏรมยสราญ ทั้งนี้จะมีการก่อสร้างทางเดินยกระดับ (Skywalk) พร้อมติดตั้งระบบทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) บนทางเดินยกระดับ ทั้งขาไปและขากลับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร

ส่วนที่ตั้งสถานีนพรัตนราชธานี (PK26) ขยับตำแหน่งจากเดิมไปทางซ้าย (ทิศตะวันตก) ของแนวทางโครงการประมาณ 313 เมตร มาอยู่บริเวณด้านหน้าสนามกีฬาไนติงเกล เนื่องจากกรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกบริเวณหน้าโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี (ทางแยกจุดตัดถนนรามอินทรา) ซึ่งเป็นตำแหน่งของสถานี PK26 เดิม ทำให้ตำแหน่งที่ตั้งของสถานี PK26 มีระยะห่างในแนวดิ่งจากผิวถนนถึงโครงสร้างใต้สถานีไม่เพียงพอตามมาตรฐานของกรมทางหลวงที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 5.5 เมตร

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้กำชับให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่ในระบบอาณัติสัญญาของรถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการใช้ย่านความถี่ที่ไม่กระทบกับการดำเนินงานของกสทช.ในเรื่องอื่นๆ

พร้อมกันนี้ได้ให้ รฟม.ตรวจสอบระเบียบต่างๆ เนื่องจากกรณีที่มีการหยุดให้บริการรถไฟฟ้า ในช่วงที่ผ่านมา ตามที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประเด็นที่รถไฟฟ้าหยุดให้บริการแล้ว รฟม.จะต้องมีการชดเชยค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ของเอกชนผู้ให้บริการหรือไม่อย่างไร รฟม.ต้องดูว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุ้มครองอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งในฐานะผู้ให้บริการสาธารณะ ต้องยึดปฎิบัติตามกฎระเบียบและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เรื่อง การขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (โครงการฯ) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า

1. ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 พฤษภาคม 2560) โดย รฟม. ได้เสนอขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการฯ โดยขอเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และสถานีนพรัตนราชธานี (PK26)1 ดังนี้

1.1 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01)

หัวข้อ

รายละเอียด

เหตุผลและความจำเป็น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น (พลอากาศเอก ประจิน        จั่นตอง) ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 ให้ รฟม. เร่งรัดการแก้ไขปัญหาจุดเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยเฉพาะการกำหนดตำแหน่งสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ของโครงการฯ ควรพิจารณาทางเลือกจุดที่ตั้งโดยไม่ใช้พื้นที่ของอุทยานมกุฏรมยสราญรวมทั้งการจัดให้มีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างสถานี PK01 กับสถานีศูนย์ราชการนนทบุรีของโครงการรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ)

ทางเลือกพื้นที่

รฟม. ได้ดำเนินการศึกษาสภาพพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดินริมถนนรัตนาธิเบศร์แล้วพบว่า มีทางเลือกพื้นที่ที่สามารถกำหนดเป็นตำแหน่งที่ตั้งของสถานี PK01 ใหม่ จำนวน 3 ทางเลือก ได้แก่ (1) บริเวณด้านหน้าซอยรัตนาธิเบศร์ 4 (2) บริเวณด้านหน้าสถานีควบคุมดาวเทียมไทยคม และ (3) บริเวณด้านข้างสถานีควบคุมดาวเทียมไทยคม

ตำแหน่งที่ตั้ง

ทางเลือกที่ 1 บริเวณด้านหน้าชอยรัตนาธิเบศร์ 4 มีความหมาะสมมากที่สุดเนื่องจาก

- ขยับจากตำแหน่งเดิมไปทางขวา (ทิศตะวันออก) ประมาณ 337 เมตร บนถนนรัตนาธิเบศร์ จึงไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่อุทยานมกุฏรมยสราญ และไม่บดบังด้านหน้าอุทยานมกุฏรมยสราญ

- สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี และสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี)

- การบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยสามารถกำหนด

ระยะห่างระหว่างขบวนรถ (Headway) ต่ำ ในช่วงเวลาเร่งด่วนได้

- โครงสร้างสถานีอยู่บนแนวเส้นทางโครงการเดิม จึงสามารถคงระดับสถานีและทางวิ่งได้ตามเดิม ทำให้คงคุณภาพการบริการและความสะดวกสบายของผู้โดยสารในการเข้าออกสถานีได้ดีที่สุด (ในกรณีทางเลือกที่ 2 และ 3จำเป็นต้องยกระดับโครงสร้างสถานีและทางวิ่งให้สูงขึ้น เพื่อข้ามโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีม่วง)

- จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดินของเอกชนบางส่วน เพื่อให้คงขนาดความกว้างทางเท้าไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร (รฟม. ได้ตั้งงบประมาณรองรับไว้แล้ว)

การเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรถไฟฟ้า

- โครงการฯ จะก่อสร้างทางเดินยกระดับ (Skywalk) ระยะทาง 340 เมตร

พร้อมติดตั้งระบบทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) บนทางเดินยกระดับทั้งขาไปและขากลับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร รวมทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ ในการเชื่อมต่อกับสถานีศูนย์ราชการนนทบุรีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง

- ผลการศึกษาออกแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้กำหนดตำแหน่งสถานีต้นทาง (Terminal Station) อยู่ใกล้กับตำแหน่งสถานี PK01 ใหม่ ไว้แล้ว ทำให้ผู้โดยสารของทั้งสองโครงการสามารถเชื่อมต่อโดยตรงด้วยทางเดินยกระดับ (Skywalk) ระยะทางประมาณ 45 เมตร ประกอบกับจังหวัดนนทบุรีได้สงวนพื้นที่ราชพัสดุบริเวณที่จะก่อสร้างสถานีต้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลดังกล่าว เพื่อรองรับแนวคิดที่จะพัฒนาเป็นอาคารศูนย์เชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนไว้ด้วยแล้ว

การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

- การประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการ จำนวน 250 ชุด ครอบคลุมประชาชนและผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ใกล้เคียงตำแหน่งสถานี

- การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งสิ้น 299 ราย โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 71.4) เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีมีความเหมาะสม เนื่องจากสะดวกในการมาใช้บริการห้างสรรพสินค้าและใกล้ที่พักอาศัยมากกว่า และคาคว่าจะมีผู้มาใช้บริการมากกว่าตำแหน่งเดิม

- หารือร่วมกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและผู้เช่าที่ดินที่ถูกเวนคืน จำนวน       6 ราย ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ขอให้พิจารณาลดขนาดพื้นที่เวนคืน และขอให้เปิดทางเข้า - ออกแปลงที่ดิน

- ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ

จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี

เป็นประธาน และมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบที่ตั้งตำแหน่งสถานี PK01 ใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงมาจากตำแหน่งเดิม รวมทั้งรับทราบรูปแบบการก่อสร้างโครงการ และการจัดให้มีทางเดินยกระดับ (Skywalk) และทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) เชื่อมต่อโดยตรงกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง

1.2 สถานีนพรัตนราชธานี (PK26)

หัวข้อ

รายละเอียด

เหตุผลและความจำเป็น

กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกบริเวณหน้าโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี (ทางแยกจุดตัดถนนรามอินทรา) ซึ่งเป็นตำแหน่งของสถานี PK26 เดิม ทำให้ตำแหน่งที่ตั้งของสถานี PK26 มีระยะห่างในแนวดิ่ง (Vertical Clearance) จากผิวถนนถึงโครงสร้างใต้สถานีไม่เพียงพอตามมาตรฐานของกรมทางหลวงที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 5.5 เมตร จึงจำเป็นต้องขยับตำแหน่งสถานี PK26 จากตำแหน่งเดิมไปทางซ้าย (ทิศตะวันตก) ของแนวเส้นทางโครงการประมาณ 313 เมตร มาอยู่บริเวณด้านหน้าสนามกีฬาไนติงเกล หมู่บ้านวิสุทธาวิลล์ และร้านอาหารเทอเรช 61

การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

- การประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการ จำนวน 250 ชุด ครอบคลุมประชาชนและผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ใกล้เคียงตำแหน่งสถานี

- การสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งสิ้น 401 ราย โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 74.6) เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีมีความเหมาะสมเนื่องจากตำแหน่งสถานีอยู่ใกล้ที่พักอาศัยทำให้มีความสะดวกในการมาใช้บริการ

- หารือกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 5 ราย เพื่อชี้แจงข้อมูลการออกแบบสถานี และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ถึงมกราคม 2561 โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินขอให้ปรับรูปแบบสถานีให้ไม่มีโครงสร้างทางขึ้น – ลงสถานีพาดผ่านหน้าหมู่บ้าน        วิสุทธาวิลล์ และปรับลดแนวเวนคืนไม่ให้มีการเวนคืนที่ดินภายในรั้วบ้านหรือมีผลกระทบต่อตัวอาคารบ้านพักอาศัย ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้ดำเนินการตามที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ร้องขอเรียบร้อยแล้ว

2. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2562เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี(PK01) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในศูนย์ราชการและประชาชนที่มาติดต่อราชการได้ประโยชน์จำนวนมาก รฟม. ต้องมีเหตุผลที่จะสามารถอธิบายให้สังคมเข้าใจได้อย่างชัดเจนและได้รับการยืนยันจากจังหวัดนนทบุรีว่า เพราะเหตุใดจึงต้องเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานี และการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งมาอยู่บริเวณห้างสรรพสินค้าใกล้บริเวณสี่แยกแคราย และมีสะพานลอยข้ามแยก ซึ่งมีปัญหาจราจรติดขัดตลอดทั้งวัน จึงควรทบทวนว่าจะจัดการการจราจรบริเวณดังกล่าวอย่างไร เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด ซึ่ง กก.วล. ได้มีมติ ดังนี้

2.1 เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ ในคราวประชุมครั้งที่ 38/2562 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562    ต่อรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการฯ โดยให้ รฟม. รับความเห็นของ กก.วล. ไปพิจารณาดำเนินการ สำหรับการขอย้ายสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ในประเด็น ดังนี้ (1) การมีส่วนร่วมของประชาชน (2) การประชุมหารือศูนย์ราชการนนทบุรี (3) การจัดการจราจรในช่วงการก่อสร้างสถานีบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเอสพลานาด และ (4) การกำหนดเวลาเปิด - ปิดการใช้งานทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) และ (5) การตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในช่วงการก่อสร้างโครงการของทั้งสองสถานี และดำเนินการ ดังนี้

2.1.1 ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

2.1.2 ให้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการในข้อ 2.1.1

2.1.3 นำความเห็นของ กก.วล. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

2.2 มอบหมายให้ คค. โดย รฟม. ประชุมหารือศูนย์ราชการนนทบุรี และจังหวัดนนทบุรี เพื่อยืนยันเหตุผลในการขอย้ายสถานี PK01 ตามข้อกังวลของ กก.วล. ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

3. รฟม. ได้ดำเนินการตามความเห็นของ กก.วล. แล้ว ดังนี้

ความเห็นของ กก.วล.

การดำเนินการของ รฟม.

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติม

รฟม. ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ติดต่อราชการกับศูนย์ราชการนนทบุรีเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 385 ราย ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 93.0) แสดงความคิดเห็นว่าสถานี PK01 ใหม่มีความหมาะสม เนื่องจากไม่บดบังทัศนียภาพของอุทยานมกุฏรมยสราญ นอกจากนี้ยังลดปัญหาการจราจรบริเวณทางเข้า – ออก ศูนย์ราชการนนทบุรีในช่วงก่อสร้าง

การประชุมหารือกับหน่วยงาน

ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์ราชการนนทบุรี

รฟม. ได้จัดประชุมหารือกับหน่วยงานในพื้นที่ศูนย์ราชการนนทบุรี รวม 49 หน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85.1) แสดงความคิดเห็นว่า ตำแหน่งสถานี PK01 ใหม่มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นการลดปัญหาการจราจรบริเวณทางเข้า – ออก ศูนย์ราชการนนทบุรี ประกอบกับตำแหน่งสถานีใหม่ไม่ใช้พื้นที่และไม่บดบังทัศนียภาพของอุทยานมกุฏรมยสราญ นอกจากนี้ การที่ รฟม. จะจัดให้มีทางเดินยกระดับ (Skywak) และทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ไปยังสถานีโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้งสองระบบ

การจัดการจราจรในช่วงการก่อสร้างสถานีบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเอสพลานาด

กองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีได้ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรทางบกจังหวัดนนทบุรี ว่าด้วยการปิดกั้นจราจรบนถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ และถนนแจ้งวัฒนะ ในเขตจังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2562 เพื่อจัดการจราจรในช่วงการก่อสร้างสถานีบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเอสพลานาดด้วยแล้ว

การจัดให้มีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ

รฟม. และผู้รับสัมปทานได้ออกแบบทางเดินลอยฟ้า (Skywalk) เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ระยะทางประมาณ 340 เมตร มีความสูงประมาณ 12 เมตร ความกว้างประมาณ 10 เมตร รวมทั้งจัดให้มีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ ความกว้าง 1.4 เมตร ทั้งขาไปและขากลับ ด้านละ 1 ตัว ซึ่งจะเปิดใช้งานตลอดช่วงเวลาที่เปิดให้บริการเดินรถ

การตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในช่วงการก่อสร้าง

รฟม. และผู้รับสัมปทานได้เพิ่มเติมแผนการตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงการก่อสร้างบริเวณวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ นนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงการก่อสร้างสถานี PK01 และในช่วงการก่อสร้างบริเวณหมู่บ้านวิสุทธาวิลล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงการก่อสร้างสถานี PK26 แล้ว

__________________________
1การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีไม่มีผลกระทบต่อกรอบวงเงินรวมของโครงการและผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบค่าก่อสร้างสถานีดังกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: