แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แสดงความห่วงใยกรณีาวที่มีการระบุว่า นักกิจกรรมจำนวนหนึ่งถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากการชุมนุมรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. ในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ทั้งติดตามตัวนักกิจกรรมถึงที่พักอาศัย โทรศัพท์ข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม เจรจาไม่ให้ผู้ชุมนุมใช้สถานที่ รวมถึงการขอข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าร่วมชุมนุมจากผู้จัด
24 มิ.ย. 2563 จากการรายข่าวที่มีการระบุว่า นักกิจกรรมจำนวนหนึ่งถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากการชุมนุมรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. ในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัวนักกิจกรรมถึงที่พักอาศัย โทรศัพท์ข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม เจรจาไม่ให้ผู้ชุมนุมใช้สถานที่ รวมถึงการขอข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าร่วมชุมนุมจากผู้จัด
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แถลงว่าทางการไทยต้องยุติการดำเนินการใดๆ เพื่อคุกคามหรือสร้างความหวาดกลัวในการทำงานของนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและส่งเสริมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่น ๆ ให้สามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสงบ โดยปราศจากการข่มขู่ คุกคามและการฟ้องร้องดำเนินคดี
“รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าจะเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทุกคนในประเทศ รวมถึงผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองด้วย เสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนจะต้องได้รับการคุ้มครองอย่างถ้วนหน้า”
“การดำเนินการตามมาตรการเพื่อรับกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วนและเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น รัฐบาลต้องหลีกเลี่ยงการสร้างข้อจำกัดต่อการชุมนุมอย่างสงบในที่สาธารณะใด ๆ เมื่อผ่านพ้นช่วงการกักตัว โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ชุมนุมจัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในระหว่างการประท้วง”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังระบุเพิ่มเติมว่า ขอให้ทางการไทยประกันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่บุคคลทุกคนสามารถรวมตัว แสดงออกและแลกเปลี่ยนความเห็นได้อย่างสงบ พร้อมทั้งหยุดดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวอย่างสงบ และยังเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่จะไม่ควบคุมตัว คุกคาม หรือลงโทษบุคคลเพียงเพราะการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือการชุมนุมอย่างสงบ
ข้อมูลพื้นฐาน มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 05.30 น. วันที่ 24 มิ.ย. 2563 ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์พระสุนทรราชวงศา สวนสาธารณะบุ่งน้อยบุ่งใหญ่ เขตเทศบาลเมืองยโสธร กลุ่มคนรักษ์ประชาธิปไตยจังหวัดยโสธร จำนวน 4 ราย จัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 88 ปี วันอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตยโดยกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งใช้ชื่อกิจกรรมว่า 'จุดเทียนตามหา ประชาธิปไตย' กลุ่มคนรักษ์ประชาธิปไตยจังหวัดยโสธรทั้ง 4 ราย ได้ถือป้ายที่มีข้อความระบุว่า “จุดเทียนตามหาประชาธิปไตย”, ”ลบยังไง ก็ไม่ลืม”, ”88 ปี ประชาธิปไตย” และจุดเทียนเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการรำลึกครบรอบ 88 ปี วันอภิวัฒน์สยาม แหล่งข่าวในกลุ่มคนรักษ์ประชาธิปไตยจังหวัดยโสธรรายหนึ่งเปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 2563) ทางกลุ่มมีการประชาสัมพันธ์ว่า 24 มิ.ย. เวลา 17.30 น. จะมีการจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 88 ปี วันอภิวัฒน์สยามที่ลานหน้าอนุสาวรีย์พระสุนทรราชวงศา สวนสาธารณะบุ่งน้อยบุ่งใหญ่ เขตเทศบาลเมืองยโสธร แต่ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐโทรศัพท์มาบอกห้ามจัดกิจกรรม พร้อมทั้งขู่ว่าหากไม่ทำตามจะดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งทางกลุ่มคนรักษ์ประชาธิปไตยจังหวัดยโสธรได้หารือกันแล้วว่า ไม่อยากทำให้ประชาชนผู้ที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรมต้องถูกดำเนินคดีตามที่เจ้าหน้าที่รัฐกดดัน จึงจัดกิจกรรมรำลึกของกลุ่มแบบเรียบง่าย เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมาขู่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการดำเนินคดี ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เพจเยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตยประกาศยกเลิกจัดกิจกรรม #24มิถุนารำลึก #88ปี2475 ที่อนุสาวรีย์อนุสรณ์รัฐธรรมนูญ เย็นวันที่ 24 มิถุนายนนี้ หลังสมาชิกกลุ่มถูกตำรวจ 3 นาย และผู้ใหญ่บ้านไปพบที่บ้าน คุยว่าไม่อยากให้จัดกิจกรรมและยกเหตุการณ์ 6 ตุลาที่นักศึกษาถูกฆ่ามาพูดทำนองข่มขู่ พร้อมแจ้งว่า หากมีการละเมิดกฎหมายก็จะดำเนินคดี ทั้งนี้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19 และ 21 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหประชาชาติได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ใช้เป็นแนวทางในการคุ้มครองดูแลสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองประเทศของตน โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น |
ที่มา: AMNESTY INTERNATIONAL THAILAND
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ