เผยขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มปีละ 4 แสนตัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2617 ครั้ง

เผยขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มปีละ 4 แสนตัน

ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นปีละ 4 แสนตันกำลังสร้างปัญหาให้ประเทศ กฟผ. สนับสนุนงบ 5 ล้านบาท ศึกษาโครงการกำจัดซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท ทั้ง คอมพิวเตอร์ มือถือ แอร์ ทีวีและตู้เย็น ให้กำจัดอย่างถูกวิธี เบื้องต้นนำร่อง 2 พื้นที่ จันนทบุรี-บุรีรัมย์ โดยผลวิจัยจะใช้ประกอบร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พ.ศ….ที่ กรมควบคุมมลพิษ คาดว่าจะออกบังคับใช้ได้ปลายปี 2564 | ที่มาภาพประกอบ: Posttoday

Energy News Center รายงานเมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย. 2563 ที่ผ่านมาว่านายยงยุทธ ศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้จัดสรรงบวิจัยและพัฒนาจำนวน 5 ล้านบาท จากงบทั้งหมด 1,300 ล้านบาทต่อปี สำหรับนำมาดำเนินโครงการศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำผลวิจัยที่ได้ไปประกอบในร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พ.ศ…. โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 15 เดือน ตั้งแต่ก.ย.2563-พ.ย. 2564 ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นต้นแบบของการกำจัดซากเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มชุมชนเมืองและจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นต้นแบบของการกำจัดซากเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มชุมชนชนบท

ด้านนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในแต่ละปี เกิดขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นในประเทศไทยจำนวนมาก ที่มีการกำจัดอย่างไม่ถูกต้องและเกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ดังนั้นกรมฯ เตรียมออกกฎหมายควบคุมขยะดังกล่าว โดยเบื้องต้นร่างกฎหมายนี้ได้กำหนดประเภทขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่ต้องกำจัดอย่างถูกต้องไว้ 5 ประเภท ได้แก่ 1.คอมพิวเตอร์ 2. เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย 3. เครื่องปรับอากาศ 4. เครื่องรับโทรทัศน์ และ 5. ตู้เย็น ก่อนที่จะครอบคลุมผลิตภัณฑ์อื่นๆต่อไป ซึ่งจากการสำรวจพบว่าแต่ละปีขยะจาก 5 ประเภทอุปกรณ์ดังกล่าวมีมากถึง 4 แสนตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันกำจัดไปได้ไม่ถึง 1% ของปริมาณดังกล่าว

ดังนั้นแนวทางการจัดการขยะทั้ง 5 ประเภทในร่างกฎหมายนี้ จะใช้วิธีให้คิดค่ากำจัดซากขยะรวมอยู่ในราคาขายสินค้าด้วย ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้ง 5 ประเภทจะกำหนดราคาค่ากำจัดซากขยะไว้แตกต่างกันตามความเหมาะสม โดยเงินที่เก็บได้จะต้องตั้งเป็นกองทุน มีหน่วยงานกลางขึ้นมาดูแล เพื่อนำเงินดังกล่าวเก็บไว้สำหรับกำจัดซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างตั้งกองทุน และหน่วยงานขึ้นมาดูแล

สำหรับวิธีกำจัดซากขยะดังกล่าวที่เหมาะสม จะต้องมีการศึกษาวิจัยและจำลองเสมือนจริง เพื่อมาประกอบให้เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวดำเนินการได้จริง ทั้งนี้คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.ย. 2564 และมีผลบังคับใช้ได้ประมาณปลายปี 2564 ต่อไป

นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) กล่าวว่า โครงการศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะเริ่มต้นจากการจำลองตั้งองค์กรกลางขึ้นมาบริหารจัดการขยะทั้ง 5 ประเภท ซึ่งจะมีทั้งแผนกรวบรวมขยะ ถอดแยกขยะ และกำจัดขยะ โดยแผนกรวบรวมขยะนั้นจะมีศูนย์รวบรวมขยะขึ้น เช่น เทศบาลจังหวัดนนทบุรี เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เป็นต้น รวมถึงกลุ่มซาเล้ง และห้างสรรพสินค้าเป็นผู้รวบรวมขยะที่มีอยู่ ส่งไปยังแผนกคัดแยก ซึ่งแผนกนี้จะมีการจัดตั้งโรงถอดแยกขยะขึ้นมาเพื่อพิจารณาว่าขยะชนิดใดนำกลับไปรีไซเคิลได้หรือต้องกำจัดก็จะส่งไปยังแผนกโรงกำจัดต่อไป

โดยแบบจำลองนี้จะทำให้เห็นว่าในอนาคตควรมีโรงถอดแยกขยะกี่แห่งจึงจะกำจัดขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มี 4 แสนตันต่อปีได้หมด และในอนาคตจะต้องมีโรงกำจัดและที่รวบรวมขยะดังกล่าวกระจายไปที่ใดบ้าง เป็นต้น แนวทางดังกล่าวจะช่วยไม่ให้ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลุดลอดออกไปจากระบบ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการทิ้งขยะอย่างไม่ถูกต้องได้และช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: