ชาวเมืองเชียงใหม่ร่วมออกแบบภาพอนาคต 'เชียงใหม่ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี'

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 4791 ครั้ง

ชาวเมืองเชียงใหม่ร่วมออกแบบภาพอนาคต 'เชียงใหม่ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี'

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงใหม่ และภาคีพัฒนาจัดงาน 'เชียงใหม่: เมืองเดินได้-เมืองเดินดี' ครั้งที่ 2 หวังชาวเมืองเชียงใหม่ร่วมออกแบบภาพอนาคต 'เชียงใหม่ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี' นำร่องย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม ถ.ราชดำเนิน และ ถ.ท่าแพ

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงใหม่ และภาคีพัฒนา จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม “เชียงใหม่: เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ครั้งที่ 2 พื้นที่นำร่องถนนราชดำเนินและถนนท่าแพ ย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่และย่านท่องเที่ยวสำคัญระดับประเทศ มุ่งสู่ภาพอนาคต “เมืองศูนย์กลางการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม ที่ผสานความเข้มข้นขององค์ความรู้สู่งานวิจัยและนวัตกรรมระดับนานาชาติ รวมถึงทางเดินริมน้ำ แหล่งบริการด้านสุขภาพจ ากภูมิปัญญาชาวบ้าน” ได้รับความร่วมมือ ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคมร่วมกระบวนการ พร้อมผลักดันเทศบาลนครเชียงใหม่สู่ต้นแบบเมืองสุขภาวะแห่งการเดินและการท่องเที่ยว พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน คาดแผนแล้วเสร็จต้นปี 2564

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) มอบหมายให้ คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการฝ่าย Urban Intelligence พร้อมคณะทำงาน จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ครั้งที่ 2 “เชียงใหม่: เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ครั้งที่ 2 ณ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ มีผู้แทนผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคมร่วมกระบวนการ ก่อนกระบวนการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ รองผู้อำนวยการ UddC-CEUS ได้นำเสนอ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาย่านเดินได้เดินดีเมืองเชียงใหม่ คือ “เมืองศูนย์กลางการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม ที่ผสานความเข้มข้นขององค์ความรู้สู่งานวิจัยและนวัตกรรมระดับนานาชาติ รวมถึงทางเดินริมน้ำ แหล่งบริการด้านสุขภาพจากภูมิปัญญาชาวบ้าน” ซึ่งเป็นภาพอนาคตการพัฒนาภายใต้แนวโน้มความท้าทายใหญ่ของโลกในศตวรรษที่ 21 อาทิ การเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้เชิงกว้าง ตลอดจนการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ฯลฯ ประกอบกับ โอกาสจากการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของเมือง อาทิ การพัฒนารถไฟฟ้ารางเบานครพิงค์ และเส้นทางรถโดยสารประจำทาง

รายละเอียด (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนา “เชียงใหม่ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ประกอบด้วย

- พื้นที่เมืองเก่าผลิกฟื้นสู่การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม จากการผลักดันสู่การเป็นเมืองมรดกโลก มีข้อกำหนดการพัฒนาและการใช้พื้นที่เมืองเก่าอย่างชัดเจน อาคารใหม่จากการพัฒนาจะอยู่บริเวณรอบนอกคูเมือง
- แนวคิดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวถูกพัฒนาอยู่ทั่วบริเวณ ทางเดินร่มรื่นน่าเดินส่งเสริมการเดินหาประสบการณ์ทุกเวลา ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ทั่วพื้นที่
- กิจกรรมทางเศรษฐกิจเน้นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และบริการสุขภาพที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นจากภูมิปัญญาชาวบ้าน
- เกิด New S-curve นำพาเศรษฐกิจของประเทศ จากธุรกิจ R&D ด้านศิลปะและมรดกวัฒนธรรมที่อุดมไปด้วยทรัพยากรความรู้และบุคคล เป็นศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมระดับนานาชาติ
- การเดินทางท่องเที่ยวในเมืองง่ายขึ้นจนการพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้ารางเบา

นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอข้อเสนอด้านการออกแบบพื้นที่นำร่อง ถ.ราชดำเนิน และ ถ.ท่าแพ มีรายละเอียด อาทิ ขนาดถนน กว้างไม่ต่ำกว่า 7 เมตร คงการเดินรถสองทาง เพิ่มพื้นที่จอดรถริมทางเท้า ให้ความสำคัญกับจุดข้าม เพิ่มทางข้าม และจำกัดความเร็วตามกฎหมาย ทางเดินเท้า ขยายทางเท้า เพิ่มทางจักรยาน ลดความสูงทางเท้า วัสดุปูพื้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น เชื่อมต่อเข้าพื้นที่ส่วนบุคคล Street furniture เพิ่มพื้นที่นั่งพักผ่อน ปลูกต้นไม้ เพิ่มไฟฟ้าส่องสว่างและถังขยะ ต้นไม้ เพิ่มความเขียวบนถนน ส่งเสริมอาคาร เน้นไม้ดอกพื้นถิ่นหรือไม้ดูดซับมลพิษ ฯลฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ผลการศึกษาโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (GoodWalk) ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่เกือบ 45% ของพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยการเดินเท้า แต่อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาในปัจจุบันที่ผู้คนและนักท่องเที่ยวต้องเผชิญอยู่คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพของถนนและทางเท้าที่ยังไม่ดีเพียงพอ รวมถึงสภาพปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนและฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งนี้อาจจะด้วยข้อจำกัดบางประการของระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ ที่ยังต้องพัฒนาให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยส่งเสริม “วิถีการเดินเท้า” ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“เมืองใดที่ยังเดินไม่ได้เดินไม่ดี เมืองนั้นเสี่ยงที่จะไม่มีอนาคตในการแข่งขันระหว่างเมือง ท่ามกลางยุคเศรษฐกิจเสรีนิยม ซึ่งเมืองแข่งกันสร่างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อดึงดูดทุนและแรงงานกลุ่มเศรษฐกิจฐานความรู้ แม้ว่าเชียงใหม่จะมีศักยภาพที่จะเป็นเมืองเดินได้ แต่ความท้าทายของเมืองเชียงใหม่คือการสร้างพื้นที่เดินได้เหล่านั้นให้มีคุณภาพการเดินเท้าที่ดี นั่นคือการสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อและสนับสนุนต่อการเดินเท้า ทั้งลักษณะทางกายภาพและโครงสร้างพื้นที่สำคัญของเมือง เพื่อจะนำไปสู่การเป็นเมืองเชียงใหม่เดินได้เดินดีในอนาคต นอกจากนี้ การส่งเสริมและพัฒนาย่านเดินได้ยังสนับสนุนให้เกิดพลวัตด้านการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญของเมืองในการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน” ผู้อำนวยการ UddC-CEUS กล่าว

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ครั้งที่ 2 “เชียงใหม่: เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนาย่านเดินได้เดินดี เพื่อยกระดับสุขภาวะคนเมือง นำร่องในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อยกระดับสุขภาวะคนเมืองเชียงใหม่ มีเป้าหมายผลักดันวาระการเดินในเมืองเพื่อเสริมสร้างกิจกรรมทางกาย ยกระดับสุขภาวะคนเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากจากการท่องเที่ยว และผลักดันย่านเดินได้เดินดีให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (CE.US) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ใจบ้านสตูดิโอ บริษัท ระฟ้า จำกัด กลุ่มเขียวสวยหอม เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ กรรมาธิการสถาปนิกผังเมืองล้านนา สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีพัฒนาย่านเดินได้เดินดีเชียงใหม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: