ในวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่าแม้ตัวเลขอาชญากรรมทางกายภาพในพื้นที่สาธารณะบางแห่งลดลง โดยเฉพาะช่วงที่มีการล็อกดาวน์ไม่ให้ประชาชนออกไปไหนมาไหนอย่างเสรี แต่กระนั้นก็พบความรุนแรงในมิติต่าง ๆ หลายพื้นที่ในโลกที่น่าสนใจ อาทิ อาชญากรรมออนไลน์พุ่งสูงขึ้น, ความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น, สุขภาพจิตที่แย่ลง และ ‘ความเกลียดชัง’ ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ‘คนเอเชีย’ ในโลกตะวันตก | ที่มาภาพประกอบ: TerriAnneAllen (Pixabay License)
ในวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 แม้ว่าตัวเลขอาชญากรรมทางกายภาพในพื้นที่สาธารณะบางแห่งลดลง โดยเฉพาะช่วงที่มีการล็อกดาวน์ไม่ให้ประชาชนออกไปไหนมาไหนอย่างเสรี ตัวอย่างเช่น ที่สหรัฐอเมริกา ในชิคาโก การจับกุมยาเสพติดลดลง 42% ในหลายสัปดาห์นับตั้งแต่มีการล็อกดาวน์ ในขณะที่ในลอสแองเจลิสอัตราการก่ออาชญากรรมที่สำคัญลดลงถึง 30% หลังวันที่ 15 มี.ค. 2020 เช่นเดียวกับนิวยอร์กพบว่าสถิติอาชญากรรมลดลง นอกจากนี้มีสถิติจากหน่วยงานตำรวจ 19 แห่งพบว่าสถิติอาชญากรรมลดลงเป็นอย่างมากในช่วงการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2020 บางพื้นที่ลดลงถึง 92% เลยทีเดียว (ข้อมูล ณ เดือน เม.ย. 2020) [1]
ส่วนในไทยเราเอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 สถิติการก่อเหตุอาชญากรรมโดยเฉพาะการลัก จี้ ชิง ปล้น ลดน้อยลงด้วยเช่นกัน ในช่วงการควบคุมการระบาด COVID-19 ในประเทศอย่างเข้มงวดจากภาครัฐ [2]
แต่กระนั้นพบว่าสถิติตัวเลขความรุนแรงในมิติต่าง ๆ กลับเพิ่มขึ้น
อาชญากรรมออนไลน์พุ่งสูงขึ้น
การล็อกดาวน์และนโยบายของภาครัฐและเอกชนที่ให้ประชาชนทำงานทางไกลที่บ้านผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ได้ส่งผลให้อาชญากรรมทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน | ที่มาภาพประกอบ: Blogtrepreneur (CC BY 2.0)
การล็อกดาวน์และนโยบายของภาครัฐและเอกชนที่ให้ประชาชนทำงานทางไกลที่บ้านผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ในด้านหนึ่งกลับกลายเป็นการที่คนหลายล้านคนทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยและมาตรการความปลอดภัยด้านความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ตต่ำกว่าที่ทำงาน ส่งผลให้อาชญากรรมทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน มีการหลอกลวงขายสินค้าที่เกี่ยวพันกับการระบาดของโรค COVID-19 ตามดาร์กเว็บ (dark web) รวมทั้งมีการหลอกลวงและฉ้อโกงผ่านระบบออนไลน์โดยการแอบอ้างเป็นหน่วยงานภาครัฐ
ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา เหล่าแฮกเกอร์ได้ใช้ความกลัวหลอกให้คนคลิกลิงก์หรือไฟล์แนบที่มีมัลแวร์ ควบคู่ไปกับการใช้ความใจดีหลอกให้คนบริจาคเงินให้เพจระดมทุนหลอกลวง หน่วยงานดูแลสุขภาพเสี่ยงถูกโจมตีไซเบอร์มากเป็นพิเศษในเวลานี้เพราะกำลังยุ่งอยู่กับการตรวจรักษาและดูแลผู้ป่วย
แม้แต่องค์กรโลกบาลที่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการจัดการปัญหา COVID-19 อย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังถูกแอบอ้างทางออนไลน์จากกลุ่มมิจฉาชีพเพื่อแสวงประโยชน์มิชอบ โดยเมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2020 ที่ผ่านมา WHO ได้ออกประกาศเตือนให้ระมัดระวังแคมเปญ Phishing ที่คนร้ายจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่และหลอกขโมย Credentials จากเหยื่อหรือหลอกให้เปิดไฟล์มัลแวร์ในอีเมล โดยแนะนำว่า ควรตรวจสอบอีเมลที่ส่งมาว่าเป็นของ WHO จริงหรือไม่ ซึ่งจะเป็นโดเมน person@who.int, ลิงก์ที่ปรากฏอยู่ภายใต้โดเมนของ WHO จริงหรือไม่ โดยโดเมนจริงคือ https://www.who.int หรือลองนำ URL ใส่เข้าไปเองใน Address Bar ก็ได้, อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะ Credentials แก่ Third-party แม้กระทั่ง WHO, อย่าตกเป็นเหยื่อของความรู้สึกกดดันที่คนร้ายพยายามทำให้เรารู้สึกร้อนใจ, ถ้าตระหนักได้ว่าพลาดให้ข้อมูลละเอียดอ่อนไปแล้ว ก็รีบเปลี่ยน Credentials ที่เกี่ยวข้องทันที และหากพบแคมเปญการหลอกลวง กรุณาแจ้ง WHO ได้ที่ https://www.who.int/about/report_scam/en/ [3]
เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2020 มีการเปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) พบว่าตัวเลขการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งการหลอกลวงประชาชนเกี่ยวกับไวรัส และการพยายามเจาะข้อมูลของโรงพยาบาลและสถาบันวิจัยทางการแพทย์ที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับ COVID-19
ตัวอย่างที่สหรัฐฯ ศูนย์ร้องเรียนอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต FBI ได้รับการร้องเรียนกว่า 3,600 เรื่องเกี่ยวกับการหลอกลวงและการฉ้อโกงด้วยเรื่องของการแพร่ระบาด COVID-19 อาชญากรจำนวนมากมักใช้ประโยชน์จากเหตุภัยธรรมชาติและมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลในการหลอกลวงประชาชนผ่านระบบออนไลน์ คนอเมริกันต้องสูญเสียเงินไปประมาณ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว ด้านกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เปิดเผยว่ามีการกล่าวหาว่ามีความพยายามโจมตีทางออนไลน์ของแฮกเกอร์จากหน่วยงานจีนที่พยายามบุกรุกเข้าไปในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ รวมทั้งยังมีการโจมตีของทีมแฮกเกอร์จากเกาหลีเหนืออีกด้วย [4]
นอกจากนี้ เหล่าบรรดาแฮกเกอร์ยังได้เพิ่มเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อใช้หลอกล่อเหยื่อโดยอาศัยความหวาดกลัวต่อโรคระบาดระดับโลกนี้เช่นกัน นักวิจัยของ Kaspersky บริษัทซอฟต์แวร์ความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ได้ตรวจพบทูลโจมตีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2020 Kaspersky ได้แจ้งเตือนสาธารณะชนเกี่ยวกับไฟล์ร้ายนามสกุล pdf mp4 และ docx ที่ปลอมแปลงเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการค้นพบเชื้อ COVID-19 สัปดาห์ต่อมาผู้เชี่ยวชาญสามารถถอดหน้ากากอีเมลฟิชชิ่งที่หลอกว่าส่งมาจากศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอยู่จริง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อีเมลนี้ดูเหมือนเป็นอีเมลจากหน่วยงานจริง แต่เมื่อผู้รับคลิกที่ link ไปยังโดเมน cdc-gov.org ก็จะไปโผล่ที่หน้าล็อกอินอีเมล Outlook ซึ่งเป็นเว็บเพจที่สร้างเพื่อขโมยข้อมูลล็อกอินต่าง ๆ
อาชญากรไซเบอร์ได้ใช้ช่วงเวลาวิกฤตนี้สร้างเทคนิคและกลยุทธ์ร้ายใหม่ ๆ เพื่อหาเงินจากประชาชนและองค์กรต่าง ๆ โดยใช้ความหวาดกลัวต่อสถานการณ์โรคระบาดเป็นเครื่องมือ Kaspersky ระบุว่าได้ตรวจพบมัลแวร์ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดังนี้ บังคลาเทศ 93 ตัว ฟิลิปปินส์ 53 ตัว จีน 40 ตัว เวียดนาม 23 ตัว อินเดีย 22 ตัว และมาเลเซีย 20 ตัว และพบมัลแวร์จำนวนหลักหน่วยในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฮ่องกง เมียนมาร์ และไทย [5]
ไทย - สถิติการก่อเหตุอาชญากรรมโดยเฉพาะการลัก จี้ ชิง ปล้น ลดน้อยลง แต่สถิติอาชญากรรมออนไลน์เพิ่ม ส่วนในไทย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 สถิติการก่อเหตุอาชญากรรมโดยเฉพาะการลัก จี้ ชิง ปล้น ลดน้อยลง แต่สถิติที่เพิ่มมากขึ้นคือเรื่องของการ ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ และอาชญากรรมออนไลน์ เช่น การสร้างเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน เพื่อแฮกข้อมูล หรือหลอกเอาทรัพย์สิน [6] ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2563 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระบุว่าได้ใช้ระบบ DSI CRIME MAP โดยการใช้ระบบภูมิสารสนเทศ หรือ GIS มาใช้ในการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจากข้อมูลเบาะแสต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสินค้าควบคุมและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามายังศูนย์ DSI COVID-19 ในห้วงเดือน เม.ย. 2563 พบว่ากลุ่มสินค้าที่มีการหลอกลวงขายพี่น้องประชาชนจากมากไปหาน้อย คือ หน้ากากอนามัย ชุดตรวจโควิดแม่นยำ เจลล้างมือ ยาฟ้าทะลายโจร เครื่องพ่นเชื้อนาโน ยาฆ่าเชื้อโรคเดทตอล เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ กางเกง ที่นอนและโทรศัพท์มือถือ ตามลำดับ โดยพื้นที่ที่มีการแจ้งเบาะแสว่าถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ ภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ แต่ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคใต้ มีจำนวนน้อย ส่วนวิธีการกระทำผิด พบว่าคนร้ายมีการหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ผ่าน Facebook, เว็บไซต์, Twitter และ Line เป็นหลัก โดยใช้การชำระเงินผ่านธนาคารมากที่สุด โดยใช้ Application Mobile Banking และจะใช้วิธี Pre-Order หรือจ่ายเงินทั้งหมดก่อนส่งของหรือให้จ่ายมัดจำเป็นเงินจำนวนมาก เมื่อได้เงินก็จะปิดช่องทางติดต่อ [7] |
ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น
ความรุนแรงภายในครอบครัวพุ่งสูงขึ้นในประเทศที่มีการปิดเมืองท่ามกลางการระบาดของโรค COVID-19 ผู้หญิงถูกคู่ครองใช้ความรุนแรงต่อพวกเธอมากขึ้น เนื่องจากจำต้องให้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันที่บ้านมากกว่าเดิม | ที่มาภาพประกอบ: HelpGuide.org
การกักตัวอยู่บ้าน ทำให้ประชาชนในที่ต่าง ๆ ไม่ได้ออกไปเผชิญต่อความรุนแรงตามที่ต่าง ๆ แต่ในวิกฤต COVID-19 นี้ได้เผยให้เห็นอีกด้าน นั่นก็คือเรื่องความรุนแรงในครอบครัว องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เปิดเผยเมื่อต้นเดือน เม.ย. 2020 ว่าความรุนแรงภายในครอบครัวพุ่งสูงขึ้นในประเทศที่มีการปิดเมืองท่ามกลางการระบาดของโรค COVID-19 ผู้หญิงถูกคู่ครองใช้ความรุนแรงต่อพวกเธอมากขึ้น เนื่องจากจำต้องให้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันที่บ้านมากกว่าเดิม
UN Women ระบุอีกว่ามีรายงานความรุนแรงภายในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น 30% ในฝรั่งเศส นับตั้งแต่ที่ผู้คนถูกสั่งให้อยู่กับบ้านเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2020 ในสิงคโปร์ มีผู้หญิงโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น 33% รวมทั้งมีสถิติความต้องการย้ายไปสถานพักพิงความรุนแรงก็กำลังเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ แคนาดา และอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม ยอดผู้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือก็ลดลงเป็นระยะเวลาหนึ่งในบางพื้นที่ เนื่องจากคู่ครองของหญิงผู้เป็นเหยื่ออยู่บ้านตลอดเวลาในอิตาลี การเข้าถึงเว็บไซต์ช่วยเหลือลดลง 55% ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน มี.ค. สถานการณ์ที่คล้ายกันก็เกิดขึ้นในฝรั่งเศสตอนเหนือเช่นกัน UN Women เรียกร้องให้รัฐบาลชาติต่าง ๆ เปิดให้บริการออนไลน์ที่ผู้หญิงสามารถส่งข้อความไปหาอย่างลับ ๆ ได้หรือรับรองผู้หญิงเหล่านี้ว่าจะมีสถานที่พักพิงก่อนที่ความรุนแรงต่อพวกเธอจะเพิ่มมากขึ้น [8]
ในรายงานพิเศษของ The Guardian เผยแพร่เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2020 ระบุว่าจากการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค COVID-19 ทำให้ประชาชนหลายร้อยล้านคนต้องอยู่แต่ในบ้าน ความเครียดจากสถานการณ์การระบาดรวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้ผู้หญิงและเด็กจำนวนมากตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากผู้ชายผู้เป็นผู้นำในครอบครัว หลังจากมีประกาศปิดประเทศในทุกทวีปต่างมีจำนวนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ระยะเวลาเพียง 1 เดือนที่ทางการจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นนั้น มีผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวไปแจ้งความเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากสถิติการแจ้งความทั้งประเทศ ในปี 2019 มี 47 คดี ช่วงประกาศปิดเมือง 1 เดือน มี 162 คดี และสื่อในประเทศจีนยังรายงานว่า 90% ของผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงแจ้งว่าสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มเลวร้ายลง
ในสเปน จำนวนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น หลังจากการประกาศปิดเมืองและพรมแดนได้เพียง 5 วัน ก็มีผู้หญิง 1 คนถูกฆาตกรรมโดยสามีต่อหน้าลูกภายในบ้าน เรื่องนี้ทางการสเปนคาดว่าน่าจะเป็นเพราะผู้ใช้ความรุนแรงมีความเครียดจากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ทำให้บันดาลโทสะและฆ่าภรรยาตัวเอง ในบราซิลก็ประสบปัญหาเดียวกันรัฐบาลประกาศขอร้องให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน (ยังไม่บังคับล็อกดาวน์) ก็พบว่ามีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงติดต่อขอเข้าบ้านพักฉุกเฉินเพิ่มขึ้นถึง 50% แล้ว
ในสหราชอาณาจักร Mandu Reid หัวหน้าพรรค Women’s Equality ได้เรียกร้องรัฐบาลให้อำนาจพิเศษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงสถานการณ์ COVID-19 โดยให้ตำรวจมีอำนาจสั่งให้ผู้ใช้ความรุนแรงออกจากบ้านได้ในช่วงล็อกดาวน์ และตำรวจควรมีอำนาจยกเลิกค่าธรรมเนียมการขอคำสั่งคุ้มครองจากศาลในช่วงเวลานี้อีกด้วย [9]
สุขภาพจิตที่แย่ลง
รายงานของ UN ระบุว่าผู้คนมากมายทั่วโลกได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตในระหว่างที่ต้องอยู่แต่ภายในบ้านตามคำสั่งของรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ | ที่มาภาพประกอบ: ryan melaugh (CC BY 2.0)
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2020 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เผยแพร่รายงานสรุปด้านนโยบายเรื่อง COVID-19 กับความจำเป็นในการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต (Policy Brief: COVID-19 and the Need for Action on Mental Health) ระบุว่าผู้คนมากมายทั่วโลกได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตในระหว่างที่ต้องอยู่แต่ภายในบ้านตามคำสั่งของรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ และสาเหตุของความทุกข์ใจรวมถึงความรู้สึกหวั่นเกรงว่าจะติดเชื้อและความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตข้างหน้า รายงานของ UN ฉบับนี้ระบุว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานอยู่ในแนวหน้ากำลังตกอยู่ในภาวะเครียดมากเป็นพิเศษ โดยระบุว่ามีรายงานว่าคนที่ทำงานลักษณะดังกล่าวในแคนาดาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตถึงเกือบ 50% ขณะที่คนกลุ่มนี้ในจีนมีรายงานภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และภาวะนอนไม่หลับในอัตราที่สูง
นอกจากนี้รายงานยังชี้ไปที่เด็ก ๆ ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยระบุว่าเด็กเครียดมากเนื่องจากต้องทนกับการอยู่ในพื้นที่จำกัดและไปโรงเรียนไม่ได้เพราะโรงเรียนปิด พร้อมอ้างอิงรายงานของผู้ปกครองในอิตาลีและสเปนที่แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อภาวะทางอารมณ์และพฤติกรรมของเด็ก ๆ อย่างไรบ้าง รายงานของสหประชาชาติยังเรียกร้องให้ตระหนักถึงความจำเป็นด้านสุขภาพจิตของผู้หญิงและคนที่อยู่ท่ามกลางภาวะขัดแย้ง และเรียกร้องให้รัฐบาลชาติต่าง ๆ รวมเอามาตรการรับมือสุขภาพจิตของผู้คนเข้าไว้ในการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัส เช่น เพิ่มการสนับสนุนบริการต่าง ๆ ที่เข้าถึงได้ง่าย [10]
นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือน พ.ค. 2020 สถาบันด้านการเสพติดแอลกอฮอล์แห่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ ยังได้เปิดเผยตัวเลขผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐฯ ว่าสูงถึง 70% แล้ว และในแง่ปริมาณการดื่มก็เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 นี้ด้วย สถาบันด้านการเสพติดแอลกอฮอล์ เตือนว่าการที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่บ้านและมีความวิตกกังวลช่วงการระบาดของโรค ยิ่งไปเพิ่มความต้องการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้มากขึ้น และอาจกระทบต่อผู้คนที่มีปัญหาการติดเหล้าในสหรัฐฯ อยู่แล้วซึ่งมีอยู่ราว 14.5 ล้านคน และว่าการดื่มแอลกอฮอล์ จะกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และทำให้เสี่ยงต่อการติด COVID-19 ได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ใน 49 จาก 50 รัฐ และในกรุงวอชิงตันเปิดทำการช่วง COVID-19 ระบาด จากที่ยังถือเป็นธุรกิจจำเป็น แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายในระยะนี้เท่านั้น ด้าน WHO ได้แนะให้หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงนี้ โดยบอกว่าผู้ที่เชื่อว่าการนำแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดจะช่วยป้องกัน COVID-19 นั้นเป็นเรื่องที่ไม่จริง [11]
พบ'ความเกลียดชัง' คนเอเชียในโลกตะวันตกเพิ่มขึ้น
คนเชื้อสายเอเชียในหลายประเทศทั่วโลก เผชิญกับกระแสความเกลียดชัง มีการเหยียดหยามและทำร้ายมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 | ที่มาภาพ: Steven Senne/AP (อ้างใน WBUR)
ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2020 ที่โรค COVID-19 ยังคงระบาดอย่างหนักโดยเฉพาะในประเทศจีน ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพลเมืองชาวจีน ต้องรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ในประเทศ แต่มีรายงานว่าชาวเอเชียในหลายประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญกับกระแสต่อต้านชาวจีนอย่างหนักหน่วงเช่นกัน
รายงานจาก The Guardian ระบุว่ามีนักศึกษาชาวอังกฤษเชื้อสายเวียดนาม ร้องเรียนเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติระหว่างเดินทางด้วยรถบัสสาธารณะ จากที่มีผู้คนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเข้าใกล้เธออย่างเห็นได้ชัด ขณะที่มีชาวเกาหลีเชื้อสายจีนที่ถูกเลือกปฏิบัติระหว่างพาลูกชายเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล อีกทั้งยังพบพฤติกรรมเข้าข่าย 'หวาดกลัวชาวต่างชาติ' หรือ 'xenophobia' โดยเฉพาะกับนักเรียนชาวจีนในโรงเรียนประจำที่อังกฤษด้วย
ที่ร้านอาหารทะเลในกรุงโซล ของเกาหลีใต้ ติดป้ายเตือนห้ามลูกค้าจีนเข้าร้าน นอกจากนี้ทางสหภาพแรงงานผู้ให้บริการส่งอาหารในเกาหลีใต้ เรียกร้องให้ยุติการส่งอาหารในย่านที่มีคนจีนอยู่หนาแน่นในเกาหลีใต้
ที่แคนาดา มีผู้ปกครองจำนวนหนึ่งยื่นหนังสือร้องเรียนต่อเขตพื้นที่การศึกษาในออนทาริโอ เพื่อขอให้เด็กนักเรียนที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศจีนในช่วงนี้หยุดการเรียน และให้ออกห่างจากผู้คนรอบข้างเป็นเวลาอย่างน้อย 17 วัน เพื่อสังเกตอาการ ขณะที่นักธุรกิจชาวแคนาดาเชื้อสายจีน กังวลว่าการระบาดของ COVID-19 อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจชาวชาวจีนและชาวเอเชียที่นี่อย่างมาก จากเมื่อปี 2003 ที่มีการระบาดของโรคซาร์ส ทำให้ธุรกิจของชาวจีนที่นั่นรายได้ลดฮวบราว 40-80%
ที่ฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเอเชียต่างโพสต์เรื่องราวการถูกเลือกปฏิบัติและผู้คนมีท่าทีรังเกียจชาวเอเชียในฝรั่งเศส หลังการระบาดของ COVID-19 ทั้งถูกตะโกนใส่หน้าให้สวมหน้ากากอนามัยเวลาออกไปข้างนอก ถูกไล่ให้กลับไปอยู่แต่ภายในบ้าน และถูกมองว่าเป็นบุคคลที่ติดเชื้อ COVID-19 ไปแล้ว โดยไม่มีใครให้การช่วยเหลือพวกเขาแต่อย่างใด [12]
ต่อมาในช่วงเดือน ก.พ. 2020 กระแสความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 กลายมาเป็นปัญหาที่ชัดเจนขึ้นในกลุ่มคนที่มีเชื้อสายเอเชีย มีรายงานว่าในสหรัฐฯ ลูกค้าของผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเรียกรถโดยสาร Uber และ Lyft ที่มีเชื้อสายเอเชีย รายงานกรณีถูกเลือกปฏิบัติโดยผู้ขับรถที่เหยียดเชื้อชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่ยังมีการระบาดของCOVID-19 อย่างต่อเนื่อง มีการอ้างถึงกลุ่มเฟซบุ๊คที่มีสมาชิกเป็นคนขับ Uber และ Lyft กว่า 12,000 คนซึ่งระบุว่าในแต่ละวันมีสมาชิกโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องไวรัสไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง และมีคนขับจำนวนไม่น้อยบอกว่า ไม่ต้องการจะรับผู้โดยสารที่มีเชื้อสายเอเชียเพราะไม่ปลอดภัย
คนขับและผู้โดยสารบริการเรียกรถมากมายส่งข้อความทางทวิตเตอร์ ที่พูดถึงความไม่เต็มใจที่จะนั่งหรือขับรถให้คนที่ดูเป็นคนเอเชีย ผู้โดยสารหลายคนมีความเห็นว่าคนขับที่เรียกใช้บริการแสดงความไม่เต็มใจหรือแม้กระทั่งปฏิเสธที่จะเปิดประตูให้เมื่อพบว่าตนมีรูปลักษณ์เป็นคนเอเชียและได้ใช้บริการต่อเมื่อยืนยันว่า ตนไม่ใช่คนจีน [13]
ช่วงปลายเดือน มี.ค. 2020 สำนักข่าว VOA รวบรวมรายงานข่าวจากสื่อในสหรัฐฯ ระบุว่ากลุ่มคนผิวขาวที่เหยียดเชื้อชาติและมีความคิดสุดโต่ง ซึ่งรวมถึงผู้ฝักใฝ่ลัทธินาซีใหม่ (Neo-Nazism) มีแนวคิดให้คนในกลุ่มที่ติดเชื้อ COVID-19 ใช้โรคร้ายนี้ แพร่ความเจ็บป่วยไปสู่ตำรวจและชาวยิว มีรายงานข่าวว่าสมาชิกเหล่านี้ของกลุ่มความคิดสุดโต่ง ได้รับคำแนะนำว่าให้ใช้น้ำลาย เป็นอาวุธในการแพร่เชื้อ COVID-19 ซึ่งอาจทำโดยผ่านการสเปรย์ หรือ ผ่านการป้าย และการปนเปื้อนในรูปแบบต่าง ๆ โดยเป็นการอ้างข้อมูลข่าวกรองรายสัปดาห์ ของหน่วยงานรักษากฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เมื่อเดือน ก.พ. 2020
มีการระบุว่าข้อมูลนี้มาจากสำนักงานสาขานิวยอร์กของหน่วยงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) ระบุว่ากลุ่มหัวรุนแรงแนะนำให้สมาชิกที่ติด COVID-19 แพร่เชื้อโรคที่ศาสนสถานชาวยิว ที่ทำการของนักการเมืองชาวยิว และร้านค้าชาวยิว แม้ FBI จะแสดงความคิดเห็นต่อข่าวนี้เมื่อถูกสอบถามจากนักข่าว แต่ก็ได้ออกเเถลงการณ์ที่ระบุว่า "สำนักงานเอฟบีไอสาขาตามพื้นที่ต่าง ๆ แบ่งปันข้อมูลกันอย่างสม่ำเสมอกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายส่วนท้องถิ่น เพื่อคุ้มครองชุมชนให้ปลอดภัย"
ทั้งนี้ รายงานข่าวชี้ว่ากลุ่มหัวรุนแรงใช้การสื่อสารระหว่างกันผ่าน Telegram ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมในหมู่สมาชิกกลุ่ม Neo-Nazism ระบุด้วยว่าผู้มีความคิดสุดโต่งเหล่านี้มีเป้าหมายของการแพร่เชื้อ COVID-19 ไปยังตำรวจและ 'ประชาชนที่ไม่ใช่คนผิวขาว' [14]
ทั้งนี้จากสถิติของเว็บไซต์ Racismiscongtagious.com ซึ่งติดตามกระแสการทำร้ายและเหยียดคนเอเชียในสหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-6 พ.ค. 2020 พบว่ามีกรณีเกลียดชังคนเอเชีย 1,497 กรณี ในจำนวนนี้เกิดขึ้นในธุรกิจห้างร้านถึง 44% และเหยื่อ 69% เป็นผู้หญิง [15]
ในสหราชอาณาจักร พบการเพิ่มขึ้นของการต่อต้านเกลียดชังคนเอเชียสูงขึ้นถึง 21% ในช่วงวิกฤต COVID-19 เหตุการณ์การต่อต้าน เกลียดชังคนเอเชีย ในสหราชอาณาจักรเกิดขึ้นและเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับชาวจีน ซึ่งมีการบันทึกไว้ทั้งหมดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาและในช่วงเวลาที่มีการล็อกดาวน์ มีทั้งการทำร้ายร่างกาย การถ่มน้ำลายใส่ ไปจนถึงการตะโกน ต่อว่าด่าทอด้วยความเกลียดชัง โดยตำรวจประเมินว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2020 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 [16]
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2020 ที่ผ่านมาองค์กรสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch (HRW) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงและการเหยียดเชื้อชาติและเกลียดกลัวชาวต่างชาติที่เชื่อมโยงกับการระบาดใหญ่ของ COVID-19 และให้ดำเนินคดีกับการโจมตีทางเชื้อชาติต่อชาวเอเชียและคนเชื้อสายเอเชีย
แถลงการณนี้ยังอ้างถึงกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ใช้คำว่า "ไวรัสจีน" โดย HRW ชี้ว่าอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐ แม้ว่าในเวลาต่อมาทรัมป์จะเลิกใช้คำนี้และยังได้ทวีตข้อความสนับสนุนชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย โดยบอกว่าไม่ใช่ความผิดของพวกเขาก็ตาม รวมถึงกรณีผู้ว่าการแคว้นเวนีโต ในอิตาลี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของเชื้อ COVID-19 ในช่วงต้นๆ ที่อิตาลี ที่กล่าวเมื่อเดือนก.พ. 2020 ว่า ชาวจีนแตกต่างกับชาวอิตาลี เพราะ "พวกเขาไม่มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่ดี" และ "กินหนูเป็น ๆ" ก่อนที่ในเวลาต่อมา เขาจะออกมาขอโทษต่อถ้อยคำเหล่านี้
HRW ยังได้อ้างถึงรายงานของสื่ออังกฤษระบุว่าในช่วงต้นเดือน พ.ค. 2020 มีการก่อคดีอาชญากรรมจากความเกลียดชัง และต่อต้านชาวเอเชียอย่างน้อย 267 ครั้งทั่วสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึงการก่ออาชญากรรมทำนองเดียวกันนี้ ทั้งจากฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สเปน รัสเซีย เคนยา เอธิโอเปีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ส่วนในศรีลังกาและอินเดีย มีรายงานว่าชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมตกเป็นเป้าของความเกลียดชัง และถูกโทษว่าเป็นต้นตอการระบาดของเชื้อ COVID-19 ส่วนที่พม่ากลุ่มชาตินิยมชาวพุทธก็ใช้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้โจมตีชาวมุสลิมด้วยเช่นกัน ในมาเลเซียมีการจับกุมแรงงานต่างชาติโดยใช้เหตุผลด้านการควบคุมโรค [17]
ข้อมูลอ้างอิง
[1] Crime Rates Across U.S. Drop Amid The Coronavirus Pandemic (Marley Coyne, Forbes, 11 April 2020)
[2] ผบช.น. เผย คดีฉ้อโกง-อาชญากรรมไซเบอร์ พุ่งช่วงโควิด (คมชัดลึก, 20 พ.ค. 2563)
[3] องค์การอนามัยโลกเตือนระวังแคมเปญ Phishing เรื่องไวรัสโคโรน่า (techtalkthai.com, 20 ก.พ. 2563)
[4] US accuses China of trying to hack coronavirus vaccine research (Alfred Ng, CNET, 14 May 2020)
[5] แคสเปอร์สกี้แนะวิธี 'ทำงานที่บ้าน’ ให้ปลอดภัย เหตุโจรไซเบอร์ใช้วิกฤติ Covid-19 แพร่มัลแวร์ผ่านอีเมลฟิชชิ่ง (ThaiPR.net, 17 มี.ค. 2563)
[6] ผบช.น. เผย คดีฉ้อโกง-อาชญากรรมไซเบอร์ พุ่งช่วงโควิด (คมชัดลึก, 20 พ.ค. 2563)
[7] DSI ขอบคุณประชาชน ส่งข้อมูลร้องเรียนให้ศูนย์ DSI COVID-19 แนะประชาชนระวังกลุ่มสินค้าที่เสี่ยงหลอกลวงสูง ตรวจสอบก่อนสั่งซื้อ (คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ, 1 พ.ค. 2563)
[8] COVID-19 and ending violence against women and girls (UN Women, 6 April 2020)
[9] Lockdowns around the world bring rise in domestic violence (Emma Graham-Harrison, Angela Giuffrida, Helena Smith และ Liz Ford, The Guardian, 28 March 2020)
[10] UN urges mental-health care amid outbreak (NHK World-Japan, 14 May 2020)
[11] เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขายหมดร้าน หลังสหรัฐฯ สั่งให้เป็นธุรกิจจำเป็นช่วงโควิด (VOA, 14 May 2020)
[12] น่ากลัวกว่าไวรัส! กระแสต่อต้านชาวเอเชียพุ่งสูงหลังโคโรนาไวรัสระบาด (VOA, 30 January 2020)
[13] พลเมืองสหรัฐฯ เชื้อสายเอเชียร้องเรียนกรณีเหยียดเชื้อชาติจากกระแสกลัวโคโรนาไวรัส (VOA, 5 February 2020)
[14] “นีโอนาซี” ในสหรัฐฯวางแผนแพร่โคโรนาไวรัสสู่ ชุมชนยิวและตำรวจ (VOA, 24 March 2020)
[15] คนเอเชียในโลกตะวันตกถูกทำร้ายถูกเหยียดมากขึ้น (โพสต์ทูเดย์, 6 พ.ค. 2563)
[16] ความเกลียดชังต่อคนเอเชียในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 21% ในช่วงวิกฤตโควิด-19 (The Momentum, 13 May 2020)
[17] Covid-19 Fueling Anti-Asian Racism and Xenophobia Worldwide (HRW, 12 May 2020)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ