สตง.ชี้ ‘โครงการสูบน้ำโซลาร์เซลล์สู้ภัยแล้ง’ งบ 520 ล้าน ไม่บรรลุเป้า

กองบรรณาธิการ TCIJ | 24 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 12577 ครั้ง

สตง.ตรวจสอบ 'โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง' จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2559 (เพิ่มเติม) จำนวน 520,100,120 บาท  พบการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ, สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เกษตรบางส่วนยังไม่มีแหล่งเก็บน้ำเพิ่มเติม และผู้ใช้น้ำบางแห่งไม่ได้ดูแลบำรุงรักษาระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ตามแนวทางที่กำหนด – ด้าน สนง.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ก.พลังงาน ชี้อุปสรรคโครงการฯ พบบุคลากร สนง.พลังงานจังหวัด ไม่พร้อม ระเบียบว่าด้วยการบริหารพัสดุภาครัฐมีการปรับเปลี่ยนทำให้การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้ากว่าที่กำหนด | ที่มาภาพประกอบ: กระทรวงพลังงาน (สถานที่ในภาพไม่เกี่ยวข้องกับรายงานของ สตง.)

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2563 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่ รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง โดยเป็นการตรวจสอบกรณีที่สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานได้รับจัดสรรงบประมาณ จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2559 (เพิ่มเติม) จำนวน 520,100,120 บาท สำหรับดำเนินโครงการสูบนำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งของประชาชนและเกษตรกร โดยการติดตั้งระบบสูบน้ำใต้ดินด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ และส่งมอบเทคโนโลยีพลังงานให้กลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งส่งเสริมการบูรณาการระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานพลังงานจังหวัด (สพจ.) องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ประกาศภัยแล้งทั่วประเทศจำนวน 900 ระบบ

ซึ่งข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงพลังงาน ระบุถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ นี้ว่า    1. เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งของประชาชนและเกษตรกรโดยการจัดระบบสูบน้าใต้ดินด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ และส่งมอบเทคโนโลยีพลังงานให้กลุ่มเป้าหมาย และ 2. เพื่อส่งเสริมการบูรณาการระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานพลังงานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้คัดเลือกกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ให้เกิดการใช้ประโยชน์และยั่งยืน และสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน หรือสำนักงานพลังงานจังหวัด เป็นหน่วยงานผู้ว่าจ้างจัดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

ข้อมูลรายละเอียดโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง | ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงพลังงาน

ผลที่คาดว่าจะได้รับของโครงการฯ นี้คือ 1.ได้กำลังผลิตติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นประมาณ 2,250 กิโลวัตต์ 2.สูบน้ำช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ภัยแล้งไม่น้อยกว่า 18,000 ลบ.ม.ต่อวัน และ 3.ราษฎรได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 6,300 ครัวเรือน กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากการดาเนินโครงการ ได้แก่ กลุ่มประชาชนในพื้นที่ประกาศภัยแล้งทั่วประเทศ จำนวน 9,571 ราย 1. รวมกลุ่มไม่น้อยกว่า 7 ราย พื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่น้อยกว่า 15 ไร่ และ 2.ดำเนินงานใน 56 จังหวัด จำนวน 846 ระบบ (บ่อเกษตร 755 ระบบ บ่อประปา 91 ระบบ) รอบที่ 1 จานวน 701 ระบบ (บ่อเกษตร 630 ระบบ บ่อประปา 71 ระบบ) รอบที่ 2 จานวน 145 ระบบ (บ่อเกษตร 125 ระบบ บ่อประปา 20 ระบบ)

และความคาดหวังต่อผลจากการดำเนินโครงการฯ ประเมินว่าจะเพิ่มมูลค่าการผลิตให้เกษตรกร 199 ล้านบาท/ปี แบ่งเป็น 1.ลดการใช้พลังงาน (ลดการใช้นามัน 7.77 ล้านบาท/ปี, ลดการใช้ไฟฟ้า1.47 ล้านบาท/ปี) และ 2.เพิ่มรายได้ผลผลิตการเกษตร (เพิ่มรายได้ผลผลิต 189.80 ล้านบาท/ปี)

ทั้งนี้ สตง. ได้ทำการตรวจสอบการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2559 สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ย. 2561 มีข้อตรวจพบที่น่าสนใจดังนี้

การติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ภาพรวมระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ | ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงพลังงาน

สตง. ระบุว่าจากการตรวจสอบรายงานผลการดำเนินโครงการ พบว่ามีผลการติดตั้งระบบสูบน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่กลุ่มผู้ใช้น้ำที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 842 ระบบ คิดเป็นร้อยละ 93.56 ของเป้าหมายโครงการ การที่โครงการมีผลการติดตั้งระบบสูบน้ำต่ำกว่าเป้าหมายดังกล่าว ส่งผลให้ กําลังผลิตติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์และพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดด้วย นอกจากนี้ จากการตรวจสอบปริมาณน้ำที่สูบเข้าระบบหอถังตามมาตรวัดน้ำ จำนวน 50 ระบบ พบว่า มีปริมาณน้ำที่สูบได้จริงโดยเฉลี่ยต่อวันน้อยกว่า 20 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 24 ระบบ ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายในระดับผลลัพธ์ของโครงการ

ในประเด็นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดนั้น จากการตรวจสอบเอการข้อเสนอโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้งพร้อมเอกสารแนบ จำนวน 50 แห่ง พบว่าสมาชิกของกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกัน จำนวน 15 กลุ่ม คิดเป็นร้อยละ 37.50 ของกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรที่สุ่มตรวจสอบ นอกจากนี้บ่อน้ำบาดาลที่เข้าร่วมโครงการบางแห่ง มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยพบว่าบ่อน้ำบาดาลของกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เข้าร่วมโครงการรจำนวน 2 แห่ง มีอัตราการ ผลิตน้ำน้อยกว่าที่กำหนดไว้ 5 ลบ.ม./ชม. และบ่อน้ำบาดาลของกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 3 แห่ง ไม่มีเอกสารแสดงข้อมูลกการทดสอบปริมาณน้ำหรือแผ่นป้ายข้อมูลบ่อน้ำบาดาล และบ่อน้ำบาดาลของกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 5 แห่ง มีข้อมูลบ่อน้ำบาดาลในรายงานทดสอบปริมาณน้ำไม่ตรงกับข้อมูลในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลที่แนบมาพร้อมข้อเสนอโครงการ สาเหตุเกิดจากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ต้องการเข้าร่วมโครงการและบ่อน้ำบาดาลของผู้ที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่าง ๆ ขาดความรอบคอบรัดกุม

สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

จากการตรวจสอบกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 40 กลุ่ม สมาชิก กลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 272 ราย พบว่ามีสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรไม่ได้ใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำ เพื่อทำการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง ณ วันที่ตรวจสอบ จำนวน 152 ราย คิดเป็นร้อยละ 55.89 ของ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด โดยสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำบางรายไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือลาออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มแล้ว บางรายได้ขายที่ดินหรือ ปล่อยเช่าให้ผู้อื่นเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ที่ใช้เข้าร่วมโครงการแทนตนเอง หรือใช้พื้นที่บ้านพักอาศัยเข้าร่วมโครงการ บางรายมีแปลงเกษตรตั้งอยู่ไกลจากที่ตั้งระบบสูบน้ำของโครงการ และอีกส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกที่ใช้น้ำจากแหล่งอื่นสำหรับทำการเกษตร รวมทั้งมีบางรายยังไม่เริ่มทำการเกษตรในพื้นที่ ณ วันที่ตรวจสอบ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจําแนกตามกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรที่สุ่มตรวจสอบ พบว่ามีกลุ่มผู้ใช้น้ำที่สมาชิกภายในกลุ่มใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำเพียงรายเดียว จำนวน 13 กลุ่ม โดยเป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ใช้ในการติดตั้งระบบสูบน้ำของโครงการทุกราย

กลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคบางแห่งไม่ได้ใช้ประโยชน์

จากการตรวจสอบกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 กลุ่ม พบว่ามีกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคจำนวน 1 กลุ่ม ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาหมู่บ้านตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยถังเก็บน้ำสำหรับกิจการประปาของ หมู่บ้านที่ใช้ในการเข้าร่วมโครงการเป็นหอถังสูงมีสภาพชํารุดและไม่ได้ใช้งานมานานแล้ว

การที่ผลการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ส่งผลทำให้ราษฎรในพื้นที่ ประสบปัญหาภัยแล้งที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข เสียโอกาสในการได้รับการสนับสนุนระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และยังคงได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการไม่เกิดความคุ้มค่า โดยสาเหตุเกิดจากสำนักงานพลังงานจังหวัด (สพจ.) มีระยะเวลาเตรียมการที่สั้นทำให้ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลและจัดส่งข้อเสนอโครงการได้ครบตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการไม่ได้กำหนดรายละเอียดหรือเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากระบบให้ชัดเจน รวมทั้งคณะกรรมการดําเนินงานโครงการไม่ได้กําหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพลังงานจังหวัด ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติของสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ บ่อน้ำบาดาล และพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการตามประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ ทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำบางกลุ่มไม่ได้ใช้ประโยชน์จากระบบอย่างเต็มศักยภาพ

สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรบางส่วนยังไม่มีแหล่งเก็บน้ำเพิ่มเติม

จากการตรวจสอบสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ จำนวน 272 ราย พบว่า สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ยังไม่มีแหล่งเก็บน้ำเพิ่มเติม จำนวน 129 ราย คิดเป็นร้อยละ 47.43 ของสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร ที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด โดยสมาชิกจะใช้วิธีการต่อท่อส่งน้ำจากระบบไปยังแปลงเกษตรโดยตรง และในกรณีที่สมาชิกภายในกลุ่มมีความต้องการใช้น้ำปริมาณมากในช่วงเวลาเดียวกัน จะใช้วิธีหมุนเวียนกันใช้น้ำ เพื่อให้สมาชิกแต่ละรายสามารถใช้น้ำได้อย่างเพียงพอ

กลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดการกลุ่มที่ชัดเจนตามแนวทางที่กำหนด

สตง. ยังพบว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดการกลุ่มที่ชัดเจนตามแนวทางที่กำหนดไว้ใน คู่มือการใช้งานและบำรุงรักษาระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยจากการตรวจสอบกลุ่ม ผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรจำนวน 40 กลุ่ม พบว่า กลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ ยังไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำในการบริหารจัดการกลุ่มที่ชัดเจนจำนวน 35 กลุ่ม โดยไม่ปรากฏเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มีการประชุมกลุ่มเพื่อคัดเลือกสมาชิกเป็นคณะ กรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำ และกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำดังกล่าวจะให้ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำตามเอกสารแนบข้อเสนอโครงการเป็นผู้ตัดสินใจในการดำเนินการต่าง ๆ เป็นหลัก

กลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรทุกกลุ่ม ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางการจัดสรรน้ำที่ชัดเจน โดยกลุ่มผู้ใช้น้ำส่วนใหญ่จำนวน 39 กลุ่ม สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำจะใช้น้ำตามความต้องการของตนเองโดยไม่ได้มีการจัดทำข้อตกลงกัน และกลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 1 กลุ่ม มีการตกลงกัน ให้มีการหมุนเวียนการใช้น้ำคนละช่วงเวลาหรือคนละวัน แต่ไม่ได้จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร

และกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ยังไม่ได้กำหนดข้อบังคับกลุ่ม เกี่ยวกับการจัดเก็บเงินจากสมาชิกเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการในอนาคต จำนวน 37 กลุ่ม คิดเป็น ร้อยละ 92.50 ของกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด โดยไม่ปรากฏเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มีการประชุมหรือกำหนดข้อตกลงหรือหลักเกณฑ์การเก็บเงินทุนเข้ากลุ่มจากสมาชิกผู้ใช้น้ำ นอกจากนี้ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำบางส่วนมีความเห็นว่าอาจจะไม่มีการเก็บเงินสะสมเข้ากลุ่ม แต่จะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในกลุ่มโดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายแบ่งกันรับผิดชอบเป็นครั้งไป บางส่วนเห็นว่าอาจจะมีการเก็บเงินทุนเมื่อสมาชิกในกลุ่มเริ่มมีรายได้จากการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำจากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว

กลุ่มผู้ใช้น้ำบางแห่งไม่ได้ดูแลบำรุงรักษาระบบตามแนวทางที่กำหนด

สตง. ระบุว่าจากการตรวจสอบกลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 50 กลุ่ม พบว่าระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ บางแห่งไม่ได้รับการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดี โดยผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลระบบของกลุ่มผู้ใช้น้ำ บางแห่งไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางการดูแลบำรุงรักษาระบบอย่างสม่ำเสมอ เช่น ไม่เคยล้างทำความสะอาด แผงเซลล์แสงอาทิตย์ตั้งแต่เริ่มใช้งาน ไม่ได้ตรวจสอบสภาพภายในตู้ควบคุมการทำงานของระบบ หรือ ไม่ได้กําจัดวัชพืชที่ปกคลุ่มพื้นที่ใต้แผงเซลล์แสงอาทิตย์

การที่กลุ่มผู้ใช้น้ำที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้บริหารจัดการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ตามแนวทางที่กำหนด มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในการบริหารจัดการระบบ โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่มผู้ใช้น้ำ และส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ของระบบ มีความเสี่ยงที่ประสิทธิภาพการทำงานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือไม่สามารถใช้งานได้ตามอายุการใช้งานที่กำหนด

สาเหตุเกิดจากกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความจําเป็นในการแต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำ การกำหนดข้อตกลงหรือหลักเกณฑ์การจัดสรรน้ำ หรือการกำหนดข้อบังคับกลุ่มเกี่ยวกับการจัดเก็บเงินจากสมาชิก เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายบริหารจัดการระบบในอนาคต กลุ่มผู้ใช้น้ำบางส่วนยังไม่ได้กำหนดหรือมอบหมายให้มีผู้ดูแลระบบที่ชัดเจน และสำนักงานพลังงานจังหวัดไม่มีการติดตามผลการดําเนินงานของกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เข้าร่วมโครงการอย่างเป็นระบบ ภายหลังจากติดตั้งระบบแล้วเสร็จ

สนง.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ก.พลังงาน ชี้อุปสรรคโครงการฯ

นอกจากนี้ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงพลังงาน ระบุถึงปัญหา/อุปสรรคที่สำคัญของโครงการ ในด้านการปฏิบัติงานพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า บุคลาการสำนักงานพลังงานจังหวัดไม่มีความชำนาญ และมีการร้องเรียน TOR ขณะจัดซื้อจัดจ้าง, สำนักงานพลังงานจังหวัดดำเนินการติดตั้งระบบล่าช้า ผู้รับจ้างไม่สามารถส่งงานได้ตามกำหนด เพราะอุปสรรคน้ำท่วม หรือบางบริษัทรับงานหลายสัญญา กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องดำเนินการ 2 ครั้ง เนื่องด้วยมีผู้เสนอรายเดียว นอกจากนี้ยังพบผู้ว่าราชการบางจังหวัดให้ดำเนินการใหม่

ด้านกฎระเบียบ พบว่ามีความไม่ชัดเจนในประเด็นการส่งมอบสิ่งของใหม่ให้กับกลุ่มเป้าหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ นอกจากนี้ระเบียบว่าด้วยการบริหารพัสดุภาครัฐมีการปรับเปลี่ยน ทำให้บางสำนักงานพลังงานจังหวัดจัดซื้อจัดจ้างล่าช้ากว่าที่กำหนด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: