บทเรียน COVID-19 นำมาจัดการวิกฤต เน้นพลังพลเมืองตื่นรู้

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ธ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 6275 ครั้ง

เวทีเสวนา “ก้าวผ่านวิกฤตโควิด ... สู่วิถีชีวิต และการจัดการใหม่ร่วมกัน” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 ได้ถอดบทเรียนรูปธรรมการสานพลังเพื่อฟันฝ่าวิกฤตสุขภาพช่วง COVID-19 - มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีมติใน 2 ระเบียบวาระ 'ความมั่นคงทางอาหาร-การจัดการโรคระบาด' เตรียมเสนอ ครม. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน

เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2563 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่าท่ามกลางโควิด-19 ที่กลับมาระลอกใหม่ หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 คือเวทีเสวนา “ก้าวผ่านวิกฤตโควิด ... สู่วิถีชีวิต และการจัดการใหม่ร่วมกัน” ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนรูปธรรมการสานพลังเพื่อฟันฝ่าวิกฤตสุขภาพในครั้งนี้

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล บอกว่า สถานการณ์การติดเชื้อทั่วโลกยังอยู่ในขาขึ้นและไม่คงที่ โดยสถิติล่าสุดขณะนี้คือทุก 3 วัน จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากถึง 1 ล้านราย ขณะที่อัตราการเสียชีวิตทะลุ 1 หมื่นรายต่อวัน

สำหรับบทเรียนของประเทศไทย นับจากเคสแรกที่เกิดขึ้นในเดือน ม.ค. 2563 ก่อนจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือการพูดคุยร่วมกันของทุกฝ่ายบนฐานข้อมูล เพื่อประเมินและฉายภาพวิเคราะห์ จนนำไปสู่การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรค ใช้มาตรการค้อนทุบในช่วงต้น และค่อยๆ เริ่มผ่อนผันลงเป็น 6 เฟส

5 ปัจจัยการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ความสำคัญของการทำงานในครั้งนี้ คือการที่ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายรัฐบาล มีการประสานการทำงานร่วมกันโดยตลอด ซึ่งอาจคล้ายกับเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ที่เป็นการเชื่อมร้อยการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ร่วมกับปัจจัยที่สำคัญคือความร่วมมือจากภาคพลเมือง ที่ค่อยๆ แปรเปลี่ยนความตื่นตระหนกเป็นตระหนัก ร่วมกันเรียนรู้และช่วยกันป้องกัน จึงเป็นส่วนที่ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดี

สำหรับการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” วิเคราะห์ว่า มีด้วยกัน 5 ปัจจัย ประกอบด้วย 1. ปัจจัยทางมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยมีความเชื่อและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชาติตะวันตก 2. ปัจจัยการบริหารจัดการ ที่มีการตัดสินใจและประสานงานร่วมกัน 3. ปัจจัยทางเทคโนโลยี ซึ่งไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเสมือนการใช้เครื่องติดตามตัวได้ 4. ปัจจัยระดับโลก ที่จะต้องคอยเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดระลอกสองเข้ามา 5. ปัจจัยของไวรัส ที่อาจมีการกลายพันธุ์มากขึ้นและเราจะต้องติดตาม

“อย่าคิดว่าจะต้องรอพึ่งพาวัคซีนอย่างเดียว เพราะเรามีวัคซีนที่ได้ผลดีอยู่แล้วคือการใส่หน้ากาก-การล้างมือ-การรักษาระยะห่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่มั่นใจได้ในเวลานี้ ควบคู่กับความร่วมมือกันของคนทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันดำเนินมาตรการต่างๆ โดยไม่ได้รอคอยแต่กลไกภาครัฐเพียงอย่างเดียว เป็นการใช้กลไกของสังคมซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า และเป็นสิ่งที่ศิริราชคุ้นเคยดี จากการที่ได้ใช้พลังทางสังคม เงินบริจาคต่างๆ ในการดำเนินงาน” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุ

ย้อนรอยสถานการณ์ตั้งแต่แรกเริ่ม มีตัวอย่างการดำเนินงานของภาคสังคมที่น่าสนใจ ภาพความสำเร็จได้รับการบอกเล่าผ่าน น.ส.สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ พัทยา ซึ่งได้สะท้อนปัญหาของพนักงานบริการจำนวนมาก ที่ประสบภาวะยากลำบากจากการถูกปิดตัวของสถานบริการ และธุรกิจการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัน ส่งผลให้คนจำนวนหลายแสนคนต้องตกงานอย่างสิ้นเชิง ขณะที่บางส่วนถึงขั้นกลายเป็นคนไร้บ้าน

คนไทยไม่ได้รอเพียงภาครัฐเข้ามาจัดการ

ทั้งนี้ สิ่งที่ทางเครือข่ายทำคือ การลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ไม่ได้รอเพียงภาครัฐเข้ามาจัดการ โดยอันดับแรกคือ การลุกขึ้นมาทำข้อมูลทางวิชาการ เพื่อสำรวจความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นให้เป็นข้อมูลที่จับต้องได้ โดยลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาและกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ นำมาสู่การแก้ไขเป็นลำดับ ตั้งแต่การตั้งกองทุนบริจาคเพื่อแจกจ่ายอาหาร จัดหาอุปกรณ์ยังชีพ อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ไปจนถึงการทำกิจกรรมสื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับโรค และแนวทางปฏิบัติตนที่ถูกต้อง

“ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โรคติดต่ออื่นๆ อย่าง HIV หรือซิฟิลิส ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง เราจึงต้องดำเนินงานควบคู่ไปพร้อมกัน โดยใช้จังหวะเดียวกันเพื่อตรวจคัดกรอง ส่งต่อผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาทันที ในเวลาเดียวกันก็ทำให้มั่นใจว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อจะไม่ขาดยาต้านไวรัสในช่วงของการล็อคดาวน์ ซึ่งได้ดำเนินการมาจนถึงวันนี้โดยไม่ได้รอหน่วยงานใด” น.ส.สุรางค์ ระบุ

ด้าน นายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกชุมชน กลุ่มใจบ้านสตูดิโอ และสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ เล่าว่า จากการสำรวจความยากลำบากของประชาชนในช่วงโควิด-19 พบว่าภาระค่าใช้จ่ายที่สำคัญมาจากค่าอาหาร ขณะเดียวกันในช่วงของการแพร่ระบาดเกิดภาวะของการกักตุนอาหาร สินค้าการเกษตรขาดช่วง ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมในเชียงใหม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และมองหาพื้นที่สาธารณะที่จะสามารถรองรับการผลิตและการกระจายอาหารในเมืองได้

นายศุภวุฒิ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือการนำพื้นที่กองขยะกลางเมืองขนาดราว 2.5 ไร่ มาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว แต่เมื่อมีการเสนอเข้าไปยังส่วนราชการ ทำให้พบว่ามีการติดขัดข้อระเบียบกฎหมายหลายส่วน จึงเกิดการระดมทุนและทรัพยากรกันเองของภาคเอกชน เข้ามาแปรเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้กลายเป็นพื้นที่ผลิตอาหารและส่งเสริมการเรียนรู้

“ด้วยมือของคนธรรมดาที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา ในเวลาเพียง 6 เดือน พื้นที่แห่งนี้ก็ปักหมุดเป็นพื้นที่สาธารณะของคนเมือง มีผลผลิตที่ชุมชนเข้ามาเก็บไปใช้บริโภค แบ่งปัน และเป็นพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองกับธรรมชาติได้ ดังนั้น วิกฤตนี้ได้ทำให้เราลุกขึ้นมาเชื่อมโยงกับคนอื่น ไม่ได้อยู่แค่เพียงปัจเจก และยังจุดประกายให้เกิดการมองความเป็นไปได้ที่จะปลดล็อคพื้นที่อื่นๆ ให้รองรับประโยชน์สาธารณะได้ต่อไป” นายศุภวุฒิ ระบุ

แต่ยังคงมีวิกฤตเชิงซ้อนอยู่ร่วมอีกมาก

สำหรับภาพใหญ่ของสถานการณ์และการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และประธานจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ทำความเข้าใจว่า ทุกวันนี้เราไม่ได้อยู่บนโลกใบเดิม แต่เป็นโลกที่มีความย้อนแย้ง ซับซ้อน เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และเรียกว่าเป็น One World, One Destiny หรือหนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม

“พูดง่ายๆ ว่าจากนี้ไป ถ้ามีสุขเราก็สุขด้วยกัน แต่ถ้าทุกข์เราก็ทุกข์ด้วยกัน เพราะภัยคุกคามจากนี้จะยกระดับเป็น Global ซึ่งโควิด-19 คือตัวอย่างของการเป็น Global Commons ร่วมกัน และเราก็ไม่ได้มีแค่เรื่องของโควิด-19 แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วย” ดร.สุวิทย์ ระบุ

ในส่วนของประเทศไทย ดร.สุวิทย์ บอกว่า แม้วิกฤตโควิด-19 จะดูเป็นผลงานที่เราสามารถจัดการได้ดี แต่ยังคงมีวิกฤตเชิงซ้อนอยู่ร่วมอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตทางการเมืองที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราพิจารณาเลือกแก้ไขปัญหาเฉพาะโควิด-19 อย่างเดียวไม่ได้ ฉะนั้น พลังพลเมืองตื่นรู้ยังจะต้องก้าวข้ามไปสู่การจัดการเพื่ออยู่กับโลกวิถีใหม่ หรือ New Normal ต่อไปด้วย

หนทางสู่ชีวิตวิถีใหม่ที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ หนทางอันจะนำไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ที่ยั่งยืน คือการสร้างสังคมที่ปกติสุข บนพื้นฐาน 3H คือการมี Hope ความหวัง Happiness ความสุข และ Harmony ความปรองดอง ซึ่งการสร้างสิ่งเหล่านี้จำเป็นจะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับจุลภาค ไปจนถึงระดับโครงสร้างมหภาค

เริ่มต้นจาก 1. New Mindset การที่ทุกคนปรับความคิดและมุมมองใหม่ โดยเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา 2. New Living Culture การมีวิถีวัฒนธรรมใหม่ โดยเฉพาะการรู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน ซึ่งมีตู้ปันสุขเป็นตัวอย่างความงดงามจากช่วงโควิด-19 ที่ต้องรักษาไว้ ควบคู่กับสร้างวัฒนธรรมความสะอาด ความปลอดภัย เป็นต้น

3. New Policy Agenda การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อให้สอดรับกับพลวัตร โดยเน้นหนักใน 2 ด้าน คือ หลักประกันความมั่นคงขั้นพื้นฐาน เช่น สุขภาพ อาหาร พลังงาน งานและรายได้ กับหลักประกันความฉลาดรู้ขั้นพื้นฐาน เช่น Health Literacy, Financial Literacy, Social Literacy และ Digital Literacy

4. New Social Ecosystem การสร้างระบบนิเวศทางสังคมใหม่ เพื่อตอบโจทย์สุขภาวะและความเป็นปกติสุขของคนในสังคม ผ่านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม (Clean & Clear) สังคมแห่งโอกาส (Free & Fair) และสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปัน (Care & Share) เปลี่ยนการมองทุกอย่างแบบ Me Society ให้เป็น We Society และฐานรากสำคัญที่จะตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่อย่างยั่งยืน คือการเปลี่ยนพลเมืองเฉยชา (Passive Citizen) ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ (Engage Citizen) นั่นเอง

สำหรับวงเสวนาดังกล่าว จัดขึ้นในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 ภายใต้ธีมหลัก “พลังพลเมืองตื่นรู้ .. .สู้วิกฤตสุขภาพ” ที่คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้นวันที่ 16-17 ธันวาคม 2563 คือการบอกเล่าเรื่องราวผ่านเวทีเสวนา “ก้าวผ่านวิกฤตโควิด ... สู่วิถีชีวิต และการจัดการใหม่ร่วมกัน” ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนรูปธรรมการสานพลังเพื่อฟันฝ่าวิกฤตสุขภาพในครั้งนี้

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีมติใน 2 ระเบียบวาระ 'ความมั่นคงทางอาหาร-การจัดการโรคระบาด' เตรียมเสนอ ครม. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกว่า 2,000 คน ที่เข้าร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 ภายใต้ประเด็นหลัก (ธีม) “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” ได้ร่วมกันพิจารณา 2 ร่างระเบียบวาระ ก่อนจะมีฉันทมติเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่มีผู้คัดค้านแม้แต่รายเดียว ประกอบด้วย มติที่หนึ่ง ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต (Food Security in Crises) และมติที่สอง การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่ (Participatory health crisis management for pandemics)

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2563 - 2564 เปิดเผยว่า หลักการของมติที่หนึ่ง ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต คือการมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีการจัดการร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในทุกภาวะวิกฤต ประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในอาหาร คือสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ได้อย่างเป็นธรรม โดยมีมติครอบคลุม 5 ประเด็นย่อย ประกอบด้วย

1. สิทธิในอาหาร เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศไทยที่ต้องได้รับการปกป้อง ดูแล และคุ้มครอง โดยเป็นหน้าที่ของรัฐและทุกภาคส่วนของสังคมที่จะดำเนินการร่วมกันด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูล และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

2. ใน 5 ปีข้างหน้า หรือภายใน พ.ศ. 2568 ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถจัดการอาหารในภาวะวิกฤตได้

3. การพัฒนาระบบอาหารให้พร้อมรับภาวะวิกฤต ครอบคลุมเรื่องการผลิต การสำรอง การกระจาย การแลกเปลี่ยน และการแบ่งปันอาหาร

4. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบดูแลประชากรเปราะบาง และประชาชนที่ขาดความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต

5. การพัฒนาระบบการจัดการร่วมกันเพื่อความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต

ส่วนมติที่สอง การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่ มีหลักการสำคัญคือ โรคระบาดใหญ่เป็นปัญหาสาธารณสุขและสาธารณภัยระดับโลก ทำให้เกิดผลกระทบในหลายมิติที่มีความซับซ้อนสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน จำเป็นต้องวางแนวทางตั้งรับอย่างเท่าทันและครอบคลุม ฉะนั้นมติจึงครอบคลุมใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย

1. ให้มีการบูรณาการด้านการบริหารจัดการ เตรียมความพร้อมศักยภาพและทรัพยากรของระบบบริการสุขภาพ มีการผสานความร่วมมือกับต่างประเทศ และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ในการบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพ โดยใช้บทเรียนจากการระบาดโรคโควิด-19

2. มีการบริหารจัดการด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และระบบข้อมูล เพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันเหตุการณ์

3. มีการจัดให้มีกำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้เพียงพอทางสาธารณสุข เพื่อการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค การชันสูตรโรค ป้องกัน รักษาและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการระบาดของโรค

4. มีการกำหนดมาตรการลดผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นทั้งในระหว่าง และหลังการเกิดวิกฤตสุขภาพ และ

5. มีการจัดให้มีกลไก นโยบายสนับสนุนส่งเสริมการจัดการความรู้ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ทันต่อเหตุการณ์ และนวัตกรรมในการป้องกันการป่วย การเสียชีวิตจากโรคระบาด

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า งานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 13 จัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมด้วยวิธีการไฮบริด คือการลดจำนวนคนที่เดินทางมาร่วมงาน และเพิ่มการเชื่อมต่อผ่านทางระบบออนไลน์ไปยังห้องประชุมทุกจังหวัดทั่วประเทศแทน มีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมประชุมมากกว่า 2,000 คน จาก 431 กลุ่มเครือข่ายทั่วประเทศ และมีประชาชนที่สนใจเข้าชมการประชุมผ่านทาง FB Live สช. มากถึง 119,130 คน

“ถึงแม้จะมีการปรับปรุงรูปแบบให้ง่ายขึ้น แต่ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยน ทำข้อเสนอด้านเนื้อหาและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกลับมีมากขึ้น ทำให้ สช. ได้ข้อสรุปและเห็นทิศทางเบื้องต้นว่า งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งต่อๆ ไป ไม่จำกัดต้องจัดประชุมอยู่ในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียวอีกต่อไป เพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยทั้งหมด แต่ด้วยรูปแบบและระบบการสื่อสารเช่นนี้ นับจากนี้ เราจะสามารถจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่จังหวัดใดก็ได้ ซึ่งนอกจากจะขยายการมีส่วนร่วมจากผู้แทนภาคส่วนต่างๆ 2,000 คน เปิดกว้างเพิ่มมากขึ้นเป็นหลายพันคนจากทั่วประเทศได้แล้ว สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งต่อๆ ไปยังสามารถให้น้ำหนักความสำคัญกับประเด็นปัญหาตามบริบทที่แตกต่างของพื้นที่นั้นๆ ได้มากกว่าเดิมด้วย” นพ.ประทีป กล่าว

อนึ่ง ทั้ง 2 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 11 ม.ค. 2564 นี้ และหลังนั้นจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติต่อไป โดยนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นปีแรกของการจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ มาจนถึงปี 2563 ประเทศไทยมีมติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้งสิ้น 87 มติ และแต่ละมติมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เกิดกฎหมาย แผนงาน และกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่อย่างมากมาย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: