ชาวบ้านในท้องที่อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร ที่รวมตัวกันคัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชตามอาชญาบัตรพิเศษ 12 แปลง บนพื้นที่ประมาณ 120,000 ไร่ ของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการจัดงานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทงเป็นปีที่สี่แล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมานี่เอง ตรงกับแรม 7 ค่ำ เดือน 4 ณ ศาลาประชาคมบ้านวังบงน้อย หมู่ 11 ต.วานรนิวาส
มีสองคำที่น่าสนใจสำหรับเรื่องราวการต่อสู้คัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชของชาวบ้านที่นี่ ที่ใช้อ่างเก็บน้ำห้วยโทงเป็นกุศโลบายในการรวมตัวกันเพื่อสร้างพลังมวลชนต่อกรกับรัฐและเอกชนที่เป็นฝ่ายสนับสนุนและผลักดันโครงการพัฒนาดังกล่าว เนื่องจากคาดการณ์โดยเล็งเห็นว่าหากมีการทำเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นในพื้นที่จะมีการแย่งน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยโทงที่ชาวบ้านใช้สอยเพื่อเกษตรกรรมและประโยชน์อื่นในชีวิตประจำวันไปใช้อย่างแน่นอน จึงได้จัดงานบุญขึ้นมาเพื่อประกาศปกป้องอำนาจในการควบคุมและดูแลการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยโทงของชุมชนไว้ไม่ให้หลุดมือไป
คำแรกคือคำว่า ‘ห้วยโทง’ ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนภาวะธรรมชาติของลำธารสายหนึ่งที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากน้ำ พืชพรรณ สัตว์น้ำ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และพื้นที่สาธารณะสองฝั่งลำห้วย เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตมาอย่างยาวนาน อีกคำหนึ่งคือ ‘อ่างเก็บน้ำห้วยโทง’ ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์สร้างของมนุษย์ โดยสร้างคอนกรีตแข็งกั้นขวางลำห้วยโทงเพื่อขยายปริมาณน้ำที่อยู่ในลำห้วยให้ล้นออกไปกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและในยามขาดแคลน เป็นคำที่ไม่ใช่ธรรมชาติบริสุทธิ์เหมือนคำว่าห้วยโทง
นั่นแสดงว่าการจัดงานบุญสืบชะตาโดยใช้คำว่า ‘อ่างเก็บน้ำ’ เป็นชื่อนำหรือเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการสืบชะตา แทนที่จะสืบชะตาห้วยโทง แต่กลับสืบชะตาอ่างเก็บน้ำ นั่นแสดงว่าชาวบ้านที่นี่ชอบเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำใช่ไหม ทั้ง ๆ ที่มีขบวนประชาชนมากมายในประเทศไทยและทั่วทุกมุมโลกลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนเพื่อปกป้องธรรมชาติ ทำไมที่นี่กลับสวนทาง ?
คำตอบที่อธิบายการส่งผ่านความรู้สึกนึกคิดไปสู่การกระทำหรือปรากฎการณ์ของชาวบ้านที่นั่นได้ดีที่สุด ก็คือ การมีสิ่งประดิษฐ์สร้างเพื่อดัดแปลงธรรมชาติว่าชุมชนท้องถิ่นใดรับได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดเป็นสำคัญ ว่าขนาดใดที่ชุมชนท้องถิ่นยังสามารถมีส่วนร่วมกับรัฐในการควบคุมและบริหารจัดการได้
ซึ่งการ ‘มองโปแตชผ่านน้ำ’ ถือว่าเป็นการมองที่สำคัญไม่แพ้กับการมองในแง่มุมอื่น เพราะน้ำถือเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมแร่โปแตช แม้จะสำรวจในเชิงพาณิชย์แล้วพบแร่โปแตชมูลค่ามหาศาลเพียงใด และแม้จะแก้ไขกฎหมายแร่ตั้งแต่ปี 2545 เพื่อละเมิดแดนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทบทุกประเภท (ยกเว้นที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) โดยสามารถขุดเจาะชอนไชไปเอาแร่โปแตชใต้ผืนดินในระดับที่ลึกกว่า 100 เมตรนับจากผิวดินลงไปโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินได้ ก็ไปไม่รอดถ้าขาดน้ำ
ปัจจุบันการมีส่วนร่วมในการควบคุมและบริหารจัดการน้ำ พืชพรรณ สัตว์น้ำ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในและรอบอ่างเก็บน้ำห้วยโทงของชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาคัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช กำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยโทงที่ต้องการเก็บกักน้ำให้ได้ปริมาณมากขึ้นเพื่อเอาไปป้อนให้แก่ชุมชนท้ายน้ำที่อยู่ไกลออกไปจากตัวอ่างเก็บน้ำ (ซึ่งเป็นชุมชนที่ไม่ลุกขึ้นมาคัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชแต่อย่างใด แต่อยากได้น้ำใช้เพียงอย่างเดียว) ให้สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้มากขึ้น แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบอ่างเก็บน้ำห้วยโทงก็ยังต้านทานเอาไว้ได้จนทำให้โครงการขุดลอกดังกล่าวมีอันต้องยุติลงไป (ซึ่งอาจจะกลับมาท้าทายอีกอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้) เพราะเห็นว่าหากปล่อยให้โครงการนี้เกิดขึ้นจนทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้นก็จะทำให้อำนาจในการควบคุมและบริหารจัดการน้ำ พืชพรรณ สัตว์น้ำ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในและรอบอ่างเก็บน้ำห้วยโทงต้องหลุดไปจากมือของชุมชนอย่างแน่นอน
จะเห็นได้ว่าการที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบอ่างเก็บน้ำห้วยโทงต้องลุกขึ้นมาต่อกรกับรัฐเพื่อหยุดยั้งการเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำห้วยโทงจากโครงการขุดลอกก็คือความพยายามในการควบคุม ‘ขนาด’ ของอ่างเก็บน้ำให้สัมพันธ์กับขนาดของอำนาจของชุมชนในการที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐเพื่อควบคุมและบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรอื่น ๆ ของอ่างเก็บน้ำห้วยโทงเอาไว้ให้ได้ นั่นคือการรักษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อตอบสนองต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในเมื่อสภาพการควบคุมและบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรอื่น ๆ ของอ่างเก็บน้ำห้วยโทงตกเป็นของชุมชนร่วมกับรัฐเช่นนี้แล้ว โดยที่รัฐไม่สามารถควบคุมและบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรอื่น ๆ ของอ่างเก็บน้ำห้วยโทงเพียงฝ่ายเดียวได้ ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าการจะขอน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยโทง หรือแม้กระทั่งอ่างเก็บน้ำห้วยหินกองซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ไปใช้ประโยชน์เพื่ออุตสาหกรรมแร่โปแตชคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น จะมีหนทางอื่นใดอีกที่จะหาน้ำมาป้อนอุตสาหกรรมแร่โปแตชที่อำเภอวานรนิวาสได้ ?
โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 7 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 มีการนำเสนอญัตติเกี่ยวกับโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ป่าสัก หรือญัตติทำนองเดียวกันรวมทั้งหมด 19 ฉบับ ขึ้นมาพิจารณาในคราวเดียวกัน และเมื่อ ส.ส. จากพรรคต่าง ๆ อภิปรายจนได้เวลาพอสมควรแล้ว ที่ประชุมจึงได้มีมติตั้ง ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ’ ขึ้นมา เพื่อนำญัตติทั้ง 19 ฉบับไปพิจารณาร่วมกันในคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว โดยญัตติทั้ง 19 ฉบับ ถูกเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทยถึง 11 ฉบับ และ 1 ใน 11 ฉบับของพรรคเพื่อไทยถูกเสนอโดยนางสาวสกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร และนางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ ที่เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในบริเวณแม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูลและลำน้ำเสียวทั้งระบบ
เป็น ส.ส.สกุณา คนเดียวกับที่ลุกขึ้นอภิปรายเรื่องเหมืองแร่โปแตชอำเภอวานรนิวาสในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 7 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 และตั้งกระทู้ถามแยกเรื่องความคืบหน้าโครงการขุดเจาะแร่โปแตชที่อำเภอวานรนิวาส เมื่อคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจําปีครั้งที่สอง) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เพื่อแสดงเจตจำนงค์ยืนเคียงข้างชาวบ้านในอำเภอวานรนิวาสที่ลุกขึ้นมาคัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช
ในส่วนของภาคอีสาน คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าวได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม ขึ้นมา เพื่อที่จะส่งต่องานศึกษาให้กับรัฐบาลเพื่อผลักดันโครงการผันน้ำในกลุ่มลุ่มน้ำดังกล่าวต่อไป ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับพื้นที่อำเภอวานรนิวาสก็คือการพัฒนาลุ่มลำน้ำยาม ลำน้ำสาขาของแม่น้ำสงคราม ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างประตูกั้นปากลำน้ำยามเอาไว้แล้ว และกำลังก่อสร้างโครงการส่วนขยายเพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ในลุ่มลำน้ำยามให้มากขึ้นด้วยการทำแก้มลิงรอบลำน้ำยามในบริเวณที่ไหลพาดผ่านพื้นที่อำเภอวานรนิวาสใกล้แล้วเสร็จ เพื่อรองรับการผันน้ำจากแม่น้ำสงครามที่ได้รับน้ำจากการผันน้ำโขงเข้ามาอีกทอดหนึ่งเข้ามาเติมในลำน้ำยาม เพื่อดันน้ำให้ลึกเข้าไปถึงพื้นที่ในเขตอำเภอวานรนิวาสให้ได้มากขึ้น
ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายน้ำ หากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจากการสร้างประตูกั้นปากแม่น้ำสงครามและเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคานหรือปากชมถูกสร้างขึ้นได้ในอนาคต ก็พอเห็นแนวโน้มถึงความพยายามในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มลำน้ำยามของรัฐชัดเจนขึ้น กล่าวคือ ทั้ง 106 มาตราของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ถ้าจะสรุปสาระสำคัญสักสองประเด็น จะได้ดังนี้ (๑) เป็นการรวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการน้ำ (๒) เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาครอบครองทรัพยากรน้ำ (ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณประโยชน์) โดยนำไปซื้อขายเพื่อแสวงหากำไรร่วมกันระหว่างเอกชนกับรัฐได้
นี่คือแนวโน้มหรือทิศทางสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐที่วางหลักการใช้น้ำให้ขึ้นอยู่กับอำนาจซื้อเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องต้องกันได้ดีกับความต้องการใช้น้ำในอุตสาหกรรมแร่โปแตชที่กำลังถูกผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส
ดังนั้น ความเป็น ส.ส. ของนางสาวสกุณาจึงต้องใคร่ครวญให้ลึกซึ้งมากขึ้น เพราะน้ำจากโครงการผันน้ำนี้จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของสังคมและการเมืองในพื้นที่แถบอำเภอวานรนิวาสไปอย่างสิ้นเชิง โดยที่มันเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงอย่างสำคัญในการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดที่จะส่งผลทั้งในแง่บวกและลบต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของที่ดิน น้ำ วิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ จากการมีอุตสาหกรรมแร่โปแตชอย่างคิดไม่ถึงเลยทีเดียว
ไม่ใช่ด้านหนึ่งแสดงตนคัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชด้วยการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่เปราะบางของระบบนิเวศที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหากเกิดอุตสาหกรรมแร่โปแตชขึ้น เพื่อเอาใจมวลชนในชุมชนท้องถิ่นซึ่งผูกติดอยู่กับคะแนนเสียงของตน และผูกติดอยู่กับคะแนนเสียงของการเมืองท้องถิ่นของพรรคตนที่กำลังจะจัดทัพลงสู้ศึกในกลางปีนี้ ตามที่รัฐบาลส่งสัญญาณออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (แต่อาจจะเลื่อนออกไปจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19) แต่อีกด้านหนึ่งกลับเสนอญัตติสนับสนุนให้เกิดโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม โดยไม่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่เปราะบางของระบบนิเวศที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหากเกิดโครงการผันน้ำนี้ขึ้น เหมือนกับที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าวจากอุตสาหกรรมแร่โปแตช มีแต่การแสดงทัศนะเพียงด้านเดียวว่าโครงการผันน้ำนี้จะช่วยเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่ให้สูงขึ้นแก่ประชาชนทั่วภูมิภาคอีสาน ซึ่งเป็นการหลงลืมอย่างตั้งใจว่าโครงการผันน้ำดังกล่าวเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมแร่โปแตชอย่างมีนัยสำคัญ
เนื่องจากโครงการผันน้ำดังกล่าวประกอบกับการบังคับใช้ของกฎหมายน้ำจะส่งผลสองประการ คือ (๑) สามารถนำน้ำในลุ่มลำน้ำยามที่ได้รับน้ำจากแม่น้ำสงครามและแม่น้ำโขงอีกทอดหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ผันมาลงในอ่างเก็บน้ำห้วยโทง ให้หันปลายท่อน้ำสู่อุตสาหกรรมแร่โปแตชได้ และ (๒) สามารถสร้างแรงกดดันมากขึ้นให้อ่างเก็บน้ำห้วยโทงต้องถูกขุดลอกเพื่อรองรับน้ำที่ผันมาจากลุ่มลำน้ำยาม ที่ได้รับน้ำจากแม่น้ำสงครามและแม่น้ำโขงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้อำนาจและหน้าที่ของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาคัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชในการมีส่วนร่วมกับรัฐเพื่อควบคุมและบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรอื่น ๆ ของอ่างเก็บน้ำห้วยโทงหลุดมือไป เพื่อที่จะหันปลายท่อน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยโทงสู่อุตสาหกรรมแร่โปแตช (การทำเหมืองโปแตชและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากแร่โปแตช) ได้เช่นเดียวกัน
ที่มาภาพหน้าแรก: กรุงเทพธุรกิจ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ