สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ 25 ส.ค. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2176 ครั้ง

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ 25 ส.ค. 2563

25 ส.ค. 2563 เวลา 10.30 น.  ณ ห้องประชุมสุนทรภู่ ชั้น 2 โรงแรมสตาร์ คอนเวนชั่น ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการตรวจเรือ การกักเรือ การเสนอแผนแก้ไข และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ
เรือต่างประเทศที่เข้ามาในน่านน้ำไทย พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการตรวจเรือ การกักเรือ การเสนอแผนแก้ไข และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเรือต่างประเทศที่เข้ามาในน่านน้ำไทย พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่ คค. เสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการตรวจเรือ การกักเรือ การเสนอแผนแก้ไข และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเรือต่างประเทศที่เข้ามาในน่านน้ำไทย ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 และอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 (Maritime Labour Convention 2006) เพื่อให้ประเทศไทยมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศในการคุ้มครองดูแลเกี่ยวกับสวัสดิการและชีวิตความเป็นอยู่ของคนประจำเรือให้ดีขึ้น ตลอดจนเป็นการวางหลักเกณฑ์ด้านแรงงานทางทะเลสำหรับเรือต่างชาติที่มาจอดเทียบท่าเรือในฐานะรัฐเจ้าของท่าเรือ (Port State Control) อันเป็นการส่งเสริมกิจการธุรกิจพานิชยนาวีของประเทศอีกทางหนึ่ง
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจเรือโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรือมีหนังสือสอบถาม หรือเรียกเจ้าของเรือ คนประจำเรือ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้ส่งสิ่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา  
                   2. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อนายเรือ หรือเจ้าของเรือในการเข้าตรวจเรือ และนายเรือหรือเจ้าของเรือต้องอำนวยความสะดวกและไม่ขัดขวางการปฏิบัติตามหน้าที่ 
                   3. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการสอบถามข้อเท็จจริง เก็บเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ และกระทำการอย่างอื่นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานทางทะเล ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบที่อาจทำให้เจ้าของเรือ นายเรือ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความเสียหาย ห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยโดยไม่มีเหตุอันควร 
                   4. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องรายงานการตรวจเรือต่างประเทศตามแบบของบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยการควบคุมเรือของรัฐเมืองท่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Report of Inspection in Accordance with the Memorandum of Understanding on Port State Control in the Asia – Pacific Region) หากมีข้อบกพร่อง ให้เจ้าของเรือดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง แล้วแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า
ไม่น้อยกว่า 1 วันทำการ เพื่อให้ไปทำการตรวจสอบการแก้ไขข้อบกพร่อง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่สลักหลังการแก้ไขดังกล่าวไว้ 
                   5. กำหนดให้หากพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าข้อบกพร่องของเรือเป็นการฝ่าฝืนอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 อย่างร้ายแรง หรือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่เกิดขึ้นซ้ำ ให้ดำเนินการกักเรือ และออกคำสั่งเป็นหนังสือให้นายเรือของเรือต่างประเทศนั้นดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องให้ถูกต้อง พร้อมทั้งแจ้งการกักเรือไปยังรัฐเจ้าของธงของเรือต่างประเทศ องค์กรด้านคนประจำเรือและองค์กรเจ้าของเรือที่เกี่ยวข้องกับเรือนั้น เฉพาะในกรณีที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือกรณีเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวได้ทันที อาจให้นายเรือหรือเจ้าของเรือจัดทำแผนแก้ไขข้อบกพร่องและระบุระยะเวลาการแก้ไขข้อบกพร่องแล้วเสร็จ โดยนายเรือหรือเจ้าของเรือจะต้องส่งแผนแก้ไขข้อบกพร่องนั้นเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐเจ้าของธงของเรือ และจะได้รับการปล่อยเรือเมื่อได้แก้ไขข้อบกพร่องแล้ว 
                   6. กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายการตรวจสอบเรือ ดังนี้

ประเภท อัตราค่าใช้จ่าย
ค่าเดินทางในการตรวจสอบ - กรณีไม่ค้างคืน
- กรณีต้องค้างคืน
- กรณีวันหยุดราชการไม่ค้างคืน
- กรณีวันหยุดราชการและต้องค้างคืน
3,000 บาท/วัน
6,000 บาท/คืน
6,000 บาท/คืน
9,000 บาท/คืน
ค่าเดินทางโดยสารเครื่องบิน หรือเช่าเหมาเรือ หรือยานพาหนะอื่น ๆ นอกจากรถยนต์ จ่ายตามที่จ่ายจริง
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ใช้ในการตรวจสอบ จ่ายตามที่จ่ายจริง
     

หมายเหตุ : การตรวจสอบที่ใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ให้คิดอัตราค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 1 วัน และเวลาที่เกิน
24 ชั่วโมง ให้คิดอัตราค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเท่ากับ 1 วัน
 
2.  เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้  
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 
                   ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม             (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นการกำหนดให้มีการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
                   ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดให้ยังคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) จะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน อันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย ดังนั้น เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงเห็นควรกำหนดให้มีการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
                   ผลกระทบ
                   การขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรการข้างต้น คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้
                   1. ประมาณการการสูญเสียรายได้
                             (1) การปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มทุก ๆ ร้อยละ 1 จะทำให้ภาครัฐมีรายได้
เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 70,000 ล้านบาท
                             (2) การกำหนดให้คงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น)
จะไม่มีผลกระทบต่อการประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เนื่องจากในการจัดทำงบประมาณได้มีการคำนวณประมาณการรายได้ โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานการคำนวณของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น)
                   2. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
                             (1) ในส่วนของประชาชน จะช่วยลดผลกระทบจากค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ภาคธุรกิจมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัว
                             (2) ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ ทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษี ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้แก่ภาคเอกชนและสามารถวางแผนการบริหารธุรกิจได้ต่อไป
 
3. เรื่อง  การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ขยายระยะเวลาการประกาศ
สถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 กันยายน 2563
                 เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ราชอาณาจักร (คราวที่ 4) ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 และสิ้นสุดในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ
                 การดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.) ได้เชิญหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการ  ตามพระราชกำหนดฯ ในด้านต่าง ๆ ผู้แทนส่วนราชการและประชาคมข่าวกรองเข้าร่วมการประชุม โดยมีเลขาธิการ  สภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติของส่วนราชการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
                 1. ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด–19 ในภาพรวมทั่วโลกยังรุนแรงอยู่ในหลายภูมิภาค และมีคนไทยจากต่างประเทศเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันได้มีการบังคับใช้มาตรการผ่อนคลายกิจกรรม/กิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด–19 และอนุญาตให้ชาวต่างชาติหลายกลุ่มสามารถเดินทางเข้ามาภายในราชอาณาจักร จึงมีความจำเป็น  ต้องมีอำนาจตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มงวด เป็นเอกภาพและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคภายในประเทศในช่วงการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีน
                   2. ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่ายังมีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฯ เพื่อกำกับดูแลและบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ 1) การควบคุมการเดินทางเข้า – ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง 2) การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย และ 3) การกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่มีการบูรณาการกำลังจากพลเรือน ตำรวจ และทหาร เข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง        
                   3. ที่ประชุมให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าอำนาจตามพระราชกำหนดฯ ถือเป็นเครื่องมือทางกฎหมายของภาครัฐเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด–19 ภายในประเทศที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในขณะที่พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ยังมีข้อจำกัดในการปฏิบัติงานหลายประการ โดยเฉพาะอำนาจที่ไม่ครอบคลุมการปฏิบัติงานในทุกภารกิจ และปัญหาในการบูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ได้อย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ
                       4. สมช. ได้นำผลการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบผลการประชุม และมีมติให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไป
 
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ  และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   ให้ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี และตอนพระประแดง  - บางแค ช่วงพระประแดง – ต่างระดับบางขุนเทียน ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันที่ 3 กันยายน 2563 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 8 กันยายน 2563
 

เศรษฐกิจ- สังคม

 
5. เรื่อง การต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี วงเงิน 500 ล้านบาท ของสำนักงานธนานุเคราะห์
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
[สำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.)] ต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารออมสิน วงเงิน 500 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 เพื่อเป็นเงินทุนสำรองสำหรับหมุนเวียนรับจำนำและสำหรับใช้จ่ายในการบริหารการเงินให้เกิดสภาพคล่องในกิจการ ตามที่ พม. เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง 
                   พม. รายงานว่า 
                   1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 เห็นชอบให้ พม. ต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของ สธค. จำนวน 500 ล้านบาท โดยสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2563 แต่เนื่องจาก สธค. ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนสำรองหมุนเวียนรับจำนำและสำหรับใช้จ่ายในการบริหาร เพื่อให้มีสภาพคล่องในกิจการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 โดยการกู้เงินประเภทเบิกเงินเกินบัญชีนั้น หาก สธค. ไม่ได้เบิกมาจะไม่เสียดอกเบี้ยจ่าย นอกจากนี้ สธค. มีความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถนำส่งเงินรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) กำหนด จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารทางการเงินการคลังของรัฐบาลในภาพรวม ดังนั้น คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ ในการประชุมครั้งที่ 11 ปีงบประมาณ 2562 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 จึงมีมติเห็นชอบการต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี วงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2563 ออกไปอีกเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 
                   2. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินงานของ สธค. มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ประสบปัญหาเฉพาะหน้าด้านการเงิน ประกอบกับการให้บริการรับจำนำไม่สามารถกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนได้ สธค. จึงมีความเสี่ยงในการขาดสภาพคล่องในบางช่วงเวลา อีกทั้งผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยต้องการใช้เงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน สธค. จึงจำเป็นต้องมีเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเพื่อใช้เป็นเงินทุนสำรองสำหรับหมุนเวียนรับจำนำและรองรับการดำเนินงานในการให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงให้ความเห็นชอบให้ พม. ต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารออมสิน เพื่อใช้ในกิจการของ สธค. วงเงิน 500 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 โดย กค. ไม่ค้ำประกัน ทั้งนี้ พม. (สธค.) ต้องพิจารณาดำเนินการกู้เงินให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยต้องกระทำด้วยความรอบคอบ และคำนึงถึงความคุ้มค่า ความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งการกระจายภาระการชำระหนี้ 
                   3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เห็นชอบการต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารออมสิน วงเงิน 500 ล้านบาทของ สธค. แล้ว
 
6. เรื่อง ขออนุมัติใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในการจ่ายเงินงบอุดหนุนเฉพาะกิจโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในการจ่ายเงินงบอุดหนุนเฉพาะกิจโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวน 2,899,649,900 บาท ให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) (กรมกิจการเด็กและเยาวชน) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่จะได้รับเงินต่อเนื่อง 4 เดือน (เดือนมิถุนายน – กันยายน 2563) จำนวน 1,745,207 คน ตามที่ พม. เสนอ
                   เรื่องเดิมและสาระสำคัญ
                   พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผนบูรณาการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต เพื่อดำเนินงานโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลโดยอุดหนุนให้กับเด็กแรกเกิดถึง 1 ปี ที่อยู่ในครัวเรือนยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน เดือนละ 400 บาท ต่อคน ในปีงบประมาณ 2559 และขยายอายุเป็น 0 - 3 ปี เดือนละ 600 บาท ต่อคน ในปีงบประมาณ 2560 ถึงปีงบประมาณ 2562 ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เห็นชอบขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดอายุ 0 – 6 ปี และขยายฐานรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ให้กลุ่มเป้าหมายเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558
                   กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้รับงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบอุดหนุนเฉพาะกิจ (เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด) เพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิฯ จำนวน 1,745,207 ราย จำนวนเงิน 10,875,914,400 บาท เงินกันเหลื่อมปี งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2561 ของโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวนเงิน 973,258,500 บาท และเงินเหลือจ่ายที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนำส่งคืน จำนวน 215,400 บาท รวมเป็นเงิน 11,849,388,300 บาท 
                   กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้เบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้มีสิทธิฯ ตามที่ได้รับงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 10,095,615,800 บาท คงเหลือเงินจำนวน 1,753,772,500 บาท และกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ประมาณการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้มีสิทธิตามโครงการฯ ระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2563 จำนวน 1,745,207 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,653,422,400 บาท
                   ดังนั้น เพื่อให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กแรกเกิดในโครงการฯ จึงจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพิ่มเติม เป็นเงิน 2,899,649,900 บาท เพื่อให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนฯ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน - กันยายน 2563 อย่างต่อเนื่อง
 
7. เรื่อง ขออนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 ตามแผนปฏิบัติการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2565) ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้
                   1. รับทราบผลการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในช่วงแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 1 – 2 (พ.ศ. 2554 – 2562) และแผนปฏิบัติการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2565) ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริและสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ  
                   2. เห็นชอบสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ตามแผนปฏิบัติการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2565) โดยมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีในหมวดเงินอุดหนุนตามแผนดังกล่าว ภายในกรอบวงเงิน 572.58 ล้านบาท
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้เสนอร่างแผนปฏิบัติการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2565) โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
                   1. นโยบายหลัก
                             1) พัฒนาพื้นที่ต้นแบบของสถาบันฯ ทั้งหมด ด้วยการเสริมประสิทธิภาพและยกระดับสู่ความยั่งยืน สามารถเชื่อมโยงกับภายนอกได้ และให้ความสำคัญกับการเป็นห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า หารูปแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ที่เหมาะสม รวมทั้งเป็นสถานที่เรียนรู้ระบบการพัฒนาที่จะนำไปสู่การขยายผล และเป็นทิศทางหลักในการพัฒนาประเทศ 
                             2) เน้นการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริโดยใช้รูปแบบ แนวทางกระบวนการองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจริง และประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคงของประเทศ ทั้งจังหวัดชายแดนภาคเหนือและจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ 
                             3) ส่งเสริมการขยายผลและเผยแพร่รูปแบบการพัฒนาที่เกิดขึ้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา เข้ามาเรียนรู้รูปแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่มีความหลากหลายเหมาะสมกับภูมิสังคม โดยจัดกระบวนการเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติ ควบคู่กับการขยายผลรูปแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริสู่ระบบราชการ อันจะนำไปสู่การเป็นทิศทางหลักในการพัฒนาประเทศระยะต่อไป 
                   2.  วัตถุประสงค์ 
                             1) เพื่อประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยอย่างกว้างขวางมากขึ้น 
                             2) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่ต้นแบบเดิมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
                             3) เพื่อขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริไปยังพื้นที่ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล 
                             4) เพื่อสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ และสร้างนักพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริให้มากยิ่งขึ้น  
                   3. เป้าหมายการพัฒนา  เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงได้กำหนดเป้าหมายของแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2565) ดังนี้  
                             1) พัฒนาพื้นที่ต้นแบบทั้ง 9 จังหวัด (น่าน อุดรธานี กาฬสินธุ์ อุทัยธานี เพชรบุรี ขอนแก่น ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ให้พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักทฤษฎีใหม่   
                             2) ขยายพื้นที่การปฏิบัติงานเพื่อประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริไปในพื้นที่ความมั่นคงตามแนวชายแดนภาคเหนือและชายแดนภาคใต้ 
                             3) สร้างนักพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นวิทยากร/พี่เลี้ยง และผู้ประสานงานการพัฒนาที่ยั่งยืน
                   4. ประเด็นแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2565) ของมูลนิธิฯ และสถาบันฯ เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแผนงาน 
                             ประเด็นแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 3 ประกอบด้วย 3 แนวทางคือ แนวทางการพัฒนาที่ 1 การสร้างเสริมความเข้มแข็งของพื้นที่ต้นแบบเดิมให้ไปสู่ความยั่งยืน สามารถรองรับสถานการณ์ภายนอกที่เปลี่ยนแปลง แนวทางการพัฒนาที่ 2 ส่งเสริมการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคงของประเทศ และ แนวทางการพัฒนาที่ 3 การบริหารจัดการเพื่อขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริให้สอดคล้องกับภูมิสังคมและสภาพแวดล้อม โดยมีเป้าหมาย ตัวชี้วัด แผนงาน และโครงการ รวมปีละ 10 แผนงาน 40 โครงการ ที่ดำเนินงานในระยะเวลา 2 ปี                  
                   5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ  
                             1) ได้โมเดลการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะเป็นแบบแผนในการพัฒนาประเทศในอนาคตสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี คือ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  
                             2) ได้แนวทางการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในมิติที่เป็นความสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในมิติความมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง เช่น การค้าและการแพร่ระบาดของยาเสพติด   
                             3) ได้แนวทางการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริไปในพื้นที่ที่หลากหลายภูมิสังคม สอดคล้องกับหลักการสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่ยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาที่ยั่งยืน และคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา 
                             4) ประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่ต้นแบบจะได้รับในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่อื่นเห็นประโยชน์และนำไปปรับใช้มากขึ้น ตามพันธกิจขององค์กรกล่าวคือ 
                                      4.1) ร้อยละ 80 ของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการในหมู่บ้านต้นแบบ ที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่ มีรายได้สูงกว่าการพัฒนาในระยะที่ผ่านมา (ปี 2563) 
                                      4.2) ชุมชนมีผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าให้พื้นที่ต้นแบบ 5 ผลิตภัณฑ์ ภายในระยะ 2 ปี (พ.ศ. 2564 – 2565) 
                                      4.3) เกิดความสามัคคีในชุมชน มีการทำงานร่วมกัน แบ่งปันทรัพยากร โดยมีการรวมกลุ่มอาชีพและกองทุน ที่บริหารจัดการโดยชุมชน ได้รับมาตรฐานตามหลักเกณฑ์จากหน่วยงาน เช่น กลุ่มเกษตร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และมีการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง 
                                      4.4) พื้นที่ป่าไม้ เช่น ป่าเศรษฐกิจ ป่าใช้สอย ป่าชุมชนฯ ในโครงกร ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ได้รับการดูแลรักษา และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้  มีสัดส่วนร้อยละ 55 ของพื้นที่โครงการ 
 
8. เรื่อง โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG) 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้ 
                   1. เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568) 
                   2. อนุมัติกรอบวงเงินในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อดำเนินโครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG) จำนวน 5,408.77 ล้านบาท
                   สาระสำคัญของโครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG) มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2568) วงเงินลงทุนรวม 5,408.77 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต  ผู้พัฒนาระบบ (SI) นักนวัตกร  ตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้ และการทดลองปฏิบัติจริง ซึ่งครอบคลุม Industry Assessment Tools, Learning Station/Line และ testbed/sandbox และรวมไปถึงกิจกรรมวิจัยเพื่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ โดยมีสถานที่ตั้งโครงการ บนพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEci) วังจันทร์วัลเลย์โซน E (ARIPOLIS Pilot Plant) อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
                   แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ  
                   กรอบกิจกรรมการดำเนินงานและเป้าหมายในการจัดตั้ง SMC เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรม โดยกลยุทธ์การดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ EECi ผสมผสานกับแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ที่เกี่ยวข้อง จัดกลุ่มเป็น 2 ส่วนงานหลักคือ  
                   1. ส่วนงานด้านพัฒนาผลงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบการผลิต (Manufacturing Management and Process Development) เพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัย พัฒนาและทดสอบในด้านกระบวนการพัฒนาต้นแบบการผลิตให้กับผู้ประกอบการ 
                   2. ส่วนงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ (Manufacturing Product Development) เพื่อรองรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทดสอบศักยภาพ ในด้านกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ตลาดให้กับผู้ประกอบการ
                   โดยกิจกรรมย่อยทั้งหมดของโครงการ SMC ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ได้แก่
                   (1) Reference Architecture and Standards หมายถึง งานบริการทดสอบและจัดทำมาตรฐาน  
                   (2) Service & Industry Promotion หมายถึง งานบริการและสนับสนุนอุตสาหกรรม : สร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่และสนับสนุนการประกอบธุรกิจเทคโนโลยีด้วยบริการครบวงจร  
                   (3) Workforce Development หมายถึง งานด้านการพัฒนาคน : เตรียมความพร้อมและยกระดับทักษะแรงงาน สร้างและพัฒนาทักษะและความสามารถของบุคลากรในภาคเอกชน 
                   (4) Pilot Line หมายถึง ศูนย์สาธิต ด้านอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ได้แก่ 1) Re-Manufacturing 2) Warehouse 3) Smart Energy & utility 4) Command unit 5) Maintenance 
                   (5) Industry 4.0 Testlabs/Tested bed and R&I หมายถึง งานบริการทดสอบต้นแบบและผลิตภัณฑ์ งานวิจัยพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการร่วมวิจัยและนวัตกรรมกับภาคอุตสาหกรรม  
                   ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ในการดำเนินงานจำเป็นต้องมีกลุ่มพันธมิตรสำคัญในการขับเคลื่อน SMC ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก 3 กลุ่มสมาชิก ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงข้อมูลและบริการลดหลั่นกันไปตามลำดับ ได้แก่ 
                             Tier 1 ได้แก่ กลุ่มร่วมทุน (Anchor) โดยมีเป้าหมายสำคัญในการก่อตั้งศูนย์ฯ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยตลอดห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ผลิตบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ตลอดจนผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องทั่วไป  
                             Tier 2 ได้แก่ กลุ่มสมาชิก (member) ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 
                             (1) ผู้ประกอบการที่นำผลิตภัณฑ์มาร่วมวาง/สาธิต/ทดสอบ ในศูนย์
                             (2) ผู้ประกอบการที่ใช้บริการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ 
                             โดยกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญ คือ การพัฒนาต่อยอดผลงานบนฐานนวัตกรรมสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจรวมถึงการเผยแพร่ผลงาน เพื่อให้บริการในเชิงธุรกิจแก่กลุ่มอุตสาหกรรมและการบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  
                             Tier 3 ได้แก่ กลุ่มเครือข่าย (Partners) เช่น กลุ่มเมกเกอร์ นักศึกษา บุคคลทั่วไป โดยมีบทบาทสำคัญ คือ การร่วมส่งเสริมให้มีการขยายผลการใช้งานและแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะทำให้เกิดการส่วนร่วมในระบบนิเวศนวัตกรรมอุตสาหกรรม
                   ขั้นตอนและแผนการดำเนินงาน โครงการ SMC ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 
                   1. ระยะที่ 1 เริ่มปีงบประมาณ 2564 กลุ่มปฏิบัติการมุ่งเน้นด้านกระบวนการวางพื้นฐานองค์ความรู้ และองค์ประกอบสำหรับกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ   
                   2. ระยะที่ 2 เริ่มปีงบประมาณ 2565 – 2567 กลุ่มปฏิบัติการมุ่งเน้นด้านยกระดับกระบวนการการวางพื้นฐานทดสอบต้นแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ 
                   3. ระยะที่ 3 เริ่มปีงบประมาณ 2568 กลุ่มปฏิบัติการมุ่งเน้นด้านการพัฒนากระบวนการผลิตก้าวหน้า สู่การวางพื้นฐานและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตขั้นสูงของภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
                   ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ  
                   1. โครงสร้างพื้นฐานและกำลังคนเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ พร้อมให้บริการแก่หน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยตลอดห่วงโซ่การผลิต (Value chain) 
                   2. ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ รวมถึงหน่วยงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสามารถทดสอบการขยายผลการวิจัยพัฒนาไปสู่การลงทุนต่อยอดผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ด้วยความพร้อมทั้งทางเทคนิคและศักยภาพการแข่งขัน
                   3. ศูนย์กลางเครือข่ายองค์ความรู้และโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีเพื่อการยกระดับการผลิตสินค้าและบริการของเขตนวัตกรรมอุตสาหกรรมเกิดใหม่แบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยและพร้อมสู่ระดับสากล ซึ่งจะเป็นปัจจัยดึงดูดนักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยต่างชาติ และนักลงทุน
                   ประมาณการรายได้รวมของโครงการและผลตอบแทนจากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาใน EECi ในระยะ 10 ปี 
                   1. เกิดรายได้สำหรับการพึ่งพาตนเองลดภาระรายจ่ายงบประมาณภาครัฐของโครงการ SMC จะมุ่งเน้นการบริการในกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่และกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนรวม 2,349.25 ล้านบาท  
                   2. เกิดโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ BCG โดยคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม เสริมมศักยภาพความเข้มแข็งทางการแข่งขันของผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมถึงก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและพัฒนาคุณค่าผลิตภัณฑ์และบริการด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมอัจฉริยะทั้งการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต รวมถึงการผลิตสินค้าและบริการใหม่ให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 จึงนับได้ว่าเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในการลงทุน  
                   3. เกิดมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มเติมของผู้ประกอบการที่เข้ารับบริการจากโครงการ ศูนย์ฯ คาดว่าจะมีการปรับปรุงพัฒนากระบวนการ ผลิตอัจฉริยะเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นรวม 26,136.84 ล้านบาท
 

ต่างประเทศ

9. เรื่อง ขออนุมัติร่างความตกลงโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และการกีฬาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการพัฒนาสถาบันเทคโนโลยีกำปงเฌอเตียลและสถาบันเทคโนโลยีกำปงสปือ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างความตกลงโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ด้านการศึกษา ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และการกีฬาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการพัฒนาสถาบันเทคโนโลยีกำปงเฌอเตียลและสถาบันเทคโนโลยีกำปงสปือ และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่เนื้อหาสาระสำคัญก่อนการลงนาม ให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามความตกลงโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ด้านการศึกษา ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และการกีฬาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการพัฒนาสถาบันเทคโนโลยีกำปงเฌอเตียลและสถาบันเทคโนโลยีกำปงสปือ โดยมีกำหนดหารลงนามความตกลงฯ ในวันที่ 1 กันยายน 2563 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                   สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ
                   ร่างความตกลงโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชาตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการศึกษา ฉบับใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คู่ภาคี (กระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และการกีฬาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา) ร่วมมือกันพัฒนาสถาบันเทคโนโลยีกำปงเฌอเตียล และสถาบันเทคโนโลยีกำปงสปือเพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา ระดับอนุปริญญา ระดับปริญญา ครูทักษะชีวิต และครูวิชาชีพในระดับอุดมศึกษา โดยได้กำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของคู่ภาคีในการดำเนินงานโครงการ ซึ่งฝ่ายไทยจะรับผิดชอบการก่อสร้าง ปรับปรุง และซ่อมแซมอาคาร ระบบสาธารณูปโภค สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของสถาบัน ทั้งด้านหลักสูตร และบุคลากร รวมทั้งอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนตามที่คู่ภาคีเห็นว่าจำเป็นและได้ตกลงร่วมกันแล้ว ในขณะที่ฝ่ายกัมพูชาจะรับผิดชอบการประสานงานและให้ความร่วมมือด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคาร กำกับดูแลการบริหารงานของสถาบันทั้งสองแห่งให้สอดคล้องกับหลักสูตรการสอน สนับสนุนทางวิชาการและการเงิน เพื่อการบริหารสถาบัน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ เพื่อยกเว้นภาษีศุลกากรและอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายใต้โครงการ รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของบุคลากรฝ่ายไทยที่ปฏิบัติงานภายใต้โครงการ และความปลอดภัยของสิ่งก่อสร้างและสาธารณูปโภคต่าง ๆ
 
10. เรื่อง ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมไปปฏิบัติและติดตามผลการประชุมดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กต. รายงานว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนปี 2563 ได้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 โดยมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม  สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                   1. ภาพรวม ผู้นำอาเซียนได้ดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ เช่น  ยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด “แน่นแฟ้นและตอบสนอง”  หารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  และรับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง ก้าวข้ามความท้าทายและเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
                   2. การส่งเสริมพหุภาคีนิยมการค้าเสรี และความมั่นคงระหว่างประเทศ เช่น เน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างพหุภาคีนิยมและการช่วยเหลือเกื้อกูลระดับโลก  เน้นย้ำบทบาทนำและความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาค การเสริมสร้างความร่วมมือที่จะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ  เน้นย้ำการสนับสนุนการค้าเสรีที่เปิดกว้างและบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการเร่งรัดการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปี 2563 เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมความมั่นคงระหว่างประเทศ
                   3. การส่งเสริมความร่วมมือของอาเซียนในการรับมือกับโควิด-19 เช่น ประกาศจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทย  เห็นชอบแนวทางและเงื่อนเวลาสำหรับการจัดทำแผนงานฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน  เร่งรัดการจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์และการจัดทำมาตรฐานวิธีปฏิบัติของอาเซียนสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
                   สำหรับประเด็นที่ไทยผลักดัน โดยได้เสนอแนวทาง 3 ประการเพื่อการฟื้นตัวของอาเซียนหลังโควิด-19 ได้แก่ (1)  ให้อาเซียนกลับมาเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ  (2) ให้อาเซียนสร้างความเข้มแข็งมากขึ้น ผ่านการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล และแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG)  (3) ให้อาเซียนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยสนับสนุนการจัดทำแผนฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน ซึ่งควรมุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข
 

แต่งตั้ง

11. เรื่อง ขอให้คณะรัฐมนตรีส่งรายชื่อผู้แทนคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา และมอบหมายให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประสานงานในการเลือกสรรผู้สมควรดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร
                   คณะรัฐมนตรีมีมติดังนี้ 
                   1. มอบมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) เป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรีเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งรายชื่อดังกล่าวให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                   2. มอบหมายให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประสานงานในการเลือกสรรผู้สมควรดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร แล้วเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้ง แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ
 
12. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์      
 
13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง ประเภทบริหารระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง เนื่องจากผู้ครองตำแหน่งเดิมเกษียณอายุราชการสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพลังงาน)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกระทรวงพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้  
                   1. นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 
                   2. นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                   ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้ง นายกิตติพัฒน์ เดชะพหุล รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (นักบริหารสูง)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติสนอแต่งตั้ง นายธนากร บัวรัษฏ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (นักบริหารสูง) ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (นักบริหารสูง) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
18. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวม 9 คน ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2554 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ดังนี้  
                   1. นางอรรชกา สีบุญเรือง                    ประธานกรรมการ
                   2. นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา       กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน 
                   3. นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์                     กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 
                   4. นายสราวุธ เบญจกุล                      กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ 
                   5. นายอนุชิต อนุชิตานุกูล                   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ 
                   6. นายกนิษฐ์ สารสิน                         กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์  
                   7. นางสาวช่อผกา วิริยานนท์                กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์
                   8. นายเฉลิมรัฐ นาควิเชียร                   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารธุรกิจ หรือตัวแทน Startup
                   9. นายยรรยง เต็งอำนวย                     กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป
 
19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป
 
20. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี 
                   คณะรัฐมนตรีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสำราญ รอดเพชร เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้งและมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี
 
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงวัฒนธรรม
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เพื่อทดแทนผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 

…………………………
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: