ยุติศึกพิมพ์ตำรา 'โรงพิมพ์จุฬาฯ' พิมพ์ ม.1,2,4,5 'องค์การค้า' พิมพ์ ม.3,6

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 ม.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2454 ครั้ง

ยุติศึกพิมพ์ตำรา 'โรงพิมพ์จุฬาฯ' พิมพ์ ม.1,2,4,5 'องค์การค้า' พิมพ์ ม.3,6

เผยหารือร่วมกับผู้บริหารสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้บริหารขององค์การค้าของ สกสค. ได้ข้อยุติเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนสาระวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับมัธยมศึกษาแล้ว 'โรงพิมพ์จุฬาฯ' พิมพ์ ม.1,2,4,5 'องค์การค้า' พิมพ์ ม.3,6 มั่นใจจัดส่งหนังสือเรียนได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 | ที่มาภาพประกอบ: thairath.co.th

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 ว่านายธนพร สมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (รองเลขาฯ สกสค.) กล่าวว่าในฐานะที่ตนกำกับดูแลหน่วยงานองค์การค้าของ สกสค. เมื่อเร็วๆ นี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกะทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มีการหารือร่วมกับผู้บริหารสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารขององค์การค้าของ สกสค. โดยขณะนี้ได้ข้อยุติเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนสาระวิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับมัธยมศึกษาแล้วว่า สำนักพิมพ์จุฬาฯ จะเป็นผู้พิมพ์แบบเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1, 2, 4 และ 5 ส่วนองค์การค้าของ สกสค.จะเป็นผู้พิมพ์แบบเรียนในส่วนของระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 เท่านั้น ทั้งนี้เมื่อจัดพิมพ์แบบเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้วโดยองค์การค้าของ สกสค. และสำนักพิมพ์จุฬาฯ จะเป็นผู้จัดส่งแบบเรียนเองในส่วนที่แต่ละหน่วยงานแบ่งกันจัดพิมพ์แบบเรียน ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวมาจากเหตุผลองค์ประกอบสำคัญ คือ ยึดประโยชน์ของผู้เรียนที่จะได้หนังสือเรียนที่มีคุณภาพและตรงตามกรอบเวลา และ หน่วยงานทั้งสองแห่งสามารถร่วมกันทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้

นายธนพร กล่าวต่อว่าทั้งนี้ตนเชื่อว่าศักยภาพขององค์การค้าของ สกสค.จะสามารถจัดส่งหนังสือเรียนได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 อย่างแน่นอน เพราะองค์การค้าของ สกสค. ก็มีเครือข่ายการจัดส่งหลากหลาย เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าปัญหานี้ถือว่าเป็นเรื่องยากในการหาข้อยุติให้สมบูรณ์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่ทุกคนก็เสียสละในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของผู้เรียน และสำหรับการจัดพิมพ์แบบเรียนปี 2563 ของทั้งสำนักพิมพ์จุฬาฯ และ องค์การค้าของ สกสค.จะมีการประเมินอย่างละเอียดทั้งจุดเด่นและจุดแข็งของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงมีการประเมินผลการจัดพิมพ์แบบเรียนในครั้งนี้ด้วย เพื่อที่จะใช้ข้อมูลตรงนี้เป็นแนวทางในการจัดพิมพ์แบบเรียนในปีการศึกษา 2564 ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงก่อนการหารือได้ข้อสรุป รศ. ดร. อรัญ หาญสืบสาย ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับผิดชอบการจัดพิมพ์หนังสือ สสวท. ได้ส่งข้อมูลชี้แจงเกี่ยวกับความรับผิดชอบการพิมพ์แบบเรียนของ สสวท.ว่า ปีที่แล้วเป็นครั้งแรกที่นักเรียนมัธยมได้รับหนังสือเรียนทันก่อนเปิดเทอม ทางจุฬาฯ รู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วย สสวท. แก้ปัญหาการศึกษาของชาติ ซึ่งท่าน รมว. ก็ได้ยืนยันมติการประชุมให้สื่อมวลชนเผยแพร่เมื่อ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า เพื่อให้หนังสือถึงมือเด็กก่อนเปิดเทอม จึงให้จุฬาฯ พิมพ์หนังสือระดับมัธยมต่อไป

ประจวบกับมีรายงานการวิจัยที่ มศว.ประสานมิตร สำรวจจาก 6,844 โรงเรียน พบว่าแบบเรียนของ สสวท. มีมาตรฐานสูง คุณภาพดีเป็นที่ยอมรับ แต่ปรากฎว่า โรงเรียนประถมร้อยละ 73 ที่สำรวจ ได้รับหนังสือไม่ทันเปิดเทอม ส่งผลให้นักเรียนประถมอย่างน้อย 500,000 คน ไม่มีหนังสือเรียนทันเวลา

สำหรับโรงเรียนมัธยม ซึ่ง สสวท.ให้ทาง จุฬาฯ ดำเนินการพบว่าร้อยละ 96 ได้รับหนังสือก่อนเปิดเทอม ซึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนโรงเรียนมัธยมมีน้อยกว่าประถมมาก

"ผมเชื่อว่าหากทุกฝ่ายตั้งเป้าหมายให้เด็กนักเรียนทั้งประเทศ ได้หนังสือเรียนทันเปิดเทอม ลดเป้าหมายเพื่อองค์กร โดยดำเนินการตามแผนที่ได้กำหนดไว้น่าจะมีทางออกที่เหมาะสมที่สุด" รศ.ดร.อรัญกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: