ช่วง COVID-19 นักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น 1.7 แสนคน-ปี 2562 พบความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพชัดเจนขึ้น

ทีมข่าว TCIJ | 25 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 11236 ครั้ง

กสศ. เปิดเผยสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลัง COVID-19 พบกระทบเด็กนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.7 แสนคน ครัวเรือนรายได้เฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 36 บาทต่อวันพร้อมเดินหน้าช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษปี 2563 เพิ่มเป็น 1 ล้านคน - ด้านผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในไทยล่าสุด (พ.ค.-พ.ย. 2562) โดย ‘สนง.สถิติ-ยูนิเซฟ’ พบภาวะทุพโภชนาการของเด็กและการไม่เรียนต่อระดับมัธยมเพิ่มขึ้น ผลสำรวจยังชี้ความเหลื่อมล้ำชัดเจนด้านสุขภาพ การศึกษาและพัฒนาการของเด็ก | ที่มาภาพประกอบ: mfu.ac.th

หลัง COVID-19 พบกระทบเด็กนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.7 แสนคน

ช่วงต้นเดือน ต.ค. 2563 สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ต่อรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษ ภาคเรียนที่ 1/2563

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลัง COVID-19 ภาคเรียนที่ 1/2563 พบว่ามีนักเรียนยากจน 1.7 ล้านคน แบ่งเป็นนักเรียนยากจนพิเศษ 1 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าภาคเรียน 2/2562 มากกว่า 1.7 แสนคน ทั้งนี้หากเปรียบเทียบก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ในภาคเรียนที่ 1/2562 เทียบกับสถานการณ์เกิดการแพร่ระบาดแล้วในภาคเรียนที่ 1/2563 พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษ (นักเรียนทุนเสมอภาค) ที่ผ่านการคัดกรองใหม่ จำนวน 652,341 คน ประกอบไปด้วย กลุ่มเป้าหมายใหม่คือนักเรียนอนุบาลสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ 146,693 คน นักเรียนกลุ่มเดิมที่คัดใหม่เนื่องจากครบ 3 ปีการศึกษา 313,361 คน นักเรียนสังกัด อปท.และ ตชด. 14,834 คน และกลุ่มใหม่ที่คาดว่ายากจนเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจผนวกกับสถานการณ์ COVID-19 จำนวน 177,453 คน หรือ เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 50 ของนักเรียนยากจนพิเศษ ก่อนมีสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19

ช่วง COVID-19 ครอบครัว นร.ยากจนพิเศษ รายได้ลดลงเหลือวันละ 36 บาท

สถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มใหม่ ทำให้รายได้เฉลี่ยลดลง จาก 1,205 บาท/คน/ครัวเรือน เหลือเพียง 1,077 บาท/คน/ครัวเรือน หรือเฉลี่ยเหลือเพียงวันละ 36 บาท | ที่มาภาพประกอบ: ไทยรัฐออนไลน์

นส.ณัฐชา ก๋องแก้ว นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) นำเสนอผลการวิเคราะห์เชิงลึกข้อมูลครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า 6 แสนครัวเรือนพบว่า สถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มใหม่ ทำให้รายได้เฉลี่ยลดลง จาก 1,205 บาท/คน/ครัวเรือน เหลือเพียง 1,077 บาท/คน/ครัวเรือน หรือเฉลี่ยเหลือเพียงวันละ 36 บาท ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์ และ พบว่าสมาชิกในครัวเรือนอายุ 15 – 65 ปี ว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44 เป็นร้อยละ 73 ของนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่หลังสถานการณ์ COVID-19 และส่งผลให้สมาชิกครัวเรือนเฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น จาก 4 เป็น 5 คน หรืออย่างน้อย 1 คน จึงคาดว่าเป็นผลมาจากการกลับภูมิลำเนาเนื่องจากว่างงานในช่วง COVID-19

ที่สำคัญยังพบว่าผู้ปกครองนักเรียนลงทะเบียนบัตรสวัสดิการรัฐถึงร้อยละ 42 และยังพบว่า มีการประกอบอาชีพเกษตรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44 หากเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ที่มีประมาณร้อยละ 36 และเพื่อให้ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชน ได้นำองค์ความรู้และข้อมูลไปช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมไทย กสศ. จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำคลังข้อมูลด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทยที่ชื่อว่า “EEF IN Number” ขึ้น เพื่อนำเสนอเรื่องราวของเด็กยากจนพิเศษที่เสี่ยงจะหลุดออกนอกระบบการศึกษา สถิติ ตัวเลข รวมถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งนี้ กสศ. คาดหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้และทำให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยได้รับโอกาสเข้าถึงความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น

กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษเสี่ยงไม่ได้เรียนต่อ เพราะผลกระทบ COVID-19

ผลสำรวจพบกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษที่เรียนจบชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 และ ม.3 ขึ้น ม.4 หรือ ปวช. ที่มีความเสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษา เพราะสถานการณ์ COVID-19 | ที่มาภาพประกอบ: ร้อยพลังการศึกษา

ดร.ไกรยส กล่าวว่าจากสถานการณ์นี้ ทำให้คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้พิจารณาปรับแผนการช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนพิเศษทั้งกลุ่มเดิม จำนวน 414,688 คน และกลุ่มใหม่ จำนวน 652,341 คน รวมเป็น 1,067,029 คน จากเดิมที่เคยให้ความช่วยเหลือ 761,729 คน ในปีการศึกษา 2562

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่การขยายกลุ่มเป้าหมาย แต่ กสศ.ได้วิเคราะห์ผลลัพธ์ในเชิงคุณภาพ ยืนยันว่า เมื่อนักเรียนยากจนพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอัตราการมาเรียนต่ำกว่าร้อยละ 80 ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาคอย่างต่อเนื่องสามารถช่วยลดผลกระทบ ป้องกันไม่ให้หลุดออกนอกระบบการศึกษาได้ โดยเด็กกลุ่มนี้มีอัตราการมาเรียนที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากมาเรียนร้อยละ 69.4 หรือราว 3 วันต่อสัปดาห์ เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 89.4 หรือราว 4 วันครึ่ง และเมื่อเด็กได้รับเงินอุดหนุนต่อเนื่องอีกหนึ่งภาคเรียน อัตราการมาเรียนเฉลี่ยก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

“ยอมรับว่า COVID-19 ส่งผลกระทบหนักมาก แต่ความร่วมมือระหว่าง กสศ. และหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. ตชด. อปท. จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ให้เบาลงได้ไม่มากก็น้อย ส่วนหนึ่งต้องขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรที่พิจารณาแปรญัตติเพิ่มงบประมาณกลับมาให้กับ กสศ.จนสามารถให้ความช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหานี้มีขนาดใหญ่มาก และยังมีกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษที่เรียนจบชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 และ ม.3 ขึ้น ม.4 หรือ ปวช. ที่มีความเสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษา เพราะสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งเรื่องรายได้ของครอบครัวที่อาจเป็นอุปสรรคทำให้เด็ก ๆ ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา จึงอยากเชิญชวนภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมเติมเต็มความช่วยเหลือให้กับน้อง ๆ กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มิให้หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร เพื่อให้เด็กเยาวชนในระบบการศึกษาผ่านพ้นสถานการณ์ COVID-19 ไปได้ด้วยกันทุกคน” ดร.ไกรยส กล่าว [1]

เผยผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในไทยล่าสุด โดย ‘สนง.สถิติ-ยูนิเซฟ’

เจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ยูนิเซฟลงพื้นที่เก็บข้อมูลเด็กและสตรีใน จ. แม่ฮ่องสอน การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือ MICS (Multiple Indicators Cluster Survey) ได้สำรวจ 40,660 ครัวเรือนทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ค.-พ.ย. 2562 ผลสำรวจชี้ความเหลื่อมล้ำชัดเจนด้านสุขภาพ การศึกษาและพัฒนาการของเด็ก | ที่มาภาพประกอบ: ยูนิเซฟ/เรืองฤทธิ์ คงเมือง

ช่วงปลายเดือน ต.ค. 2563 องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รายงานว่าผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟ แสดงให้เห็นความก้าวหน้าด้านเด็กและสตรีหลายด้าน เช่น อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นและการลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านซึ่งมีแนวโน้มลดลง แต่ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลด้านภาวะโภชนาการของเด็ก และอัตราการเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา

การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือ MICS (Multiple Indicators Cluster Survey) จัดทำขึ้นทุก 3 ปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ในระดับนานาชาติ (MICS 6) และนับเป็นครั้งที่ 4 ของประเทศไทย มีการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีในด้านต่าง ๆ เช่น สุขภาพ พัฒนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก จากครัวเรือน 40,660 ครัวเรือนทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ค.-พ.ย. 2562  และถือเป็นการสำรวจระดับประเทศที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างประชากรเด็กและสตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นในประเทศไทยลดลง

ผลสำรวจพบว่า อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นในประเทศไทยลดลงอย่างมาก จาก 51 คนต่อ 1,000 คน ในปี 2558 เหลือเพียง 23 คนต่อ 1,000 คนในปี 2562 ขณะที่อัตราของเด็กอายุ 1-14 ปีที่เคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านก็ลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 75 ใน 2558 เหลือร้อยละ 58 ในปี 2562 นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านอื่น ๆ เช่น อัตราการได้รับภูมิคุ้มกันครบถ้วนของเด็กอายุ 12-23 เดือน (ร้อยละ 82)  การบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน (ร้อยละ 85) และอัตราการเข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัย (ร้อยละ 86)

ภาวะทุพโภชนาการของเด็กเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจครั้งนี้ระบุว่าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ร้อยละ 13 มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน | ที่มาภาพประกอบ: แฟ้มภาพ TCIJ

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจก็สะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวลด้านภาวะโภชนาการของเด็กในประเทศไทย โดยพบว่า อัตราของเด็กที่เตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง และมีน้ำหนักเกิน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของเด็ก สุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็กในระยะยาว

ผลสำรวจ ระบุว่าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ในประเทศไทย ร้อยละ 13 มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ในขณะเดียวกันเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ร้อยละ 8 มีภาวะผอมแห้ง และร้อยละ 9 มีน้ำหนักเกิน ซึ่งเพิ่มจากปี 2558 ที่ภาวะเตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง หรือน้ำหนักเกิน อยู่ที่ร้อยละ 11, 5 และ 8 ตามลำดับ

ผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ว่า แม้นมแม่จะเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกซึ่งช่วยส่งเสริมการพัฒนาสมองและป้องกันทารกจากการเจ็บป่วย แต่มีทารกอายุไม่เกิน 6 เดือนเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งลดลงจากปี 2558 ที่ร้อยละ 23

ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่น่ากังวล โดยความแตกต่างขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ระดับการศึกษาของแม่ และชาติพันธุ์ ตัวอย่างเช่น เด็กที่แม่ขาดการศึกษา เด็กที่อาศัยในครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้พูดภาษาไทย และเด็กที่อาศัยในครัวเรือนยากจนมาก มักขาดสารอาหารมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ๆ โดยอัตราของเด็กเตี้ยแคระแกร็นคิดเป็นร้อยละ 19, 18 และ 16 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (ร้อยละ 13) มีข้อสังเกตว่า กรุงเทพมหานครมีเด็กที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นและน้ำหนักเกินมากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 17)

เด็กจากครัวเรือนยากจนไม่ได้เรียนต่อมัธยมเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังสะท้อนความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษา ในขณะที่เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทยเข้าเรียนและจบชั้นประถมศึกษา แต่อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่มครัวเรือนยากจนมาก เหลือเพียงร้อยละ 82 และ 53 ตามลำดับ และภาคใต้มีอัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายต่ำกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 77 และ 56 ตามลำดับ)

ผลสำรวจด้านอื่น ๆ ที่สำคัญในการสำรวจครั้งนี้ ได้แก่

  • การมีหนังสือสำหรับเด็ก: หนังสือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการของเด็ก แต่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในประเทศไทยเพียงร้อยละ 34 ที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อยสามเล่มที่บ้าน
  • โดยลดลงจากร้อยละ 41 ในปี 2558 อัตรานี้ลดลงอีกในครัวเรือนที่ยากจนมาก (ร้อยละ 14) เทียบกับเด็กในครัวเรือนที่ร่ำรวยมาก (ร้อยละ 65)
  • การมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นของเล่นในเด็กเล็ก: เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ร้อยละ 53 เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเด็กจำนวนครึ่งหนึ่งเล่นอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง และร้อยละ 8 เล่นอย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง
  • การมีส่วนร่วมของพ่อแม่: พ่อแม่ในครัวเรือนร่ำรวยมีแนวโน้มทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้กับลูกมากกว่าครัวเรือนยากจน แต่พ่อมักทำกิจกรรมกับลูกน้อยกว่าแม่ ทั่วประเทศมีพ่อเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นที่ทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้กับลูก โดยสัดส่วนพ่อที่ทำกิจกรรมร่วมกับลูกยิ่งน้อยลงในครัวเรือนที่ยากจนมาก (ร้อยละ 20) เมื่อเทียบกับพ่อในครัวเรือนที่ร่ำรวยมาก (ร้อยละ 55)
  • ทักษะขั้นพื้นฐานด้านการอ่านและการคำนวณ: มีเด็กที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 ไม่ถึง 6 ใน 10 คน (ร้อยละ 57) ที่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน ในขณะที่มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น (ร้อยละ 51) ที่มีทักษะการคำนวณขั้นพื้นฐาน
  • เด็กที่ไม่ได้เข้าเรียน: ทั่วประเทศมีเด็กวัยมัธยมศึกษาตอนปลายที่ไม่ได้เข้าเรียนถึงร้อยละ 18 อัตรานี้เพิ่มขึ้นในกลุ่มครัวเรือนยากจนมาก (ร้อยละ 32) เด็กในครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้พูดภาษาไทย (ร้อยละ 31) และเด็กที่แม่ขาดการศึกษา (ร้อยละ 29) นอกจากนี้ พบว่า เด็กชายมักไม่ได้เข้าเรียนมากกว่าเด็กหญิง
  • เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่: เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีร้อยละ 24 ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ เนื่องจากพ่อแม่มักย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ อัตรานี้สูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 36) และกลุ่มเด็กในครัวเรือนที่ยากจนมาก (ร้อยละ 39)

 

ชี้วิกฤต COVID-19 อาจเป็นโอกาสให้จัดลำดับความสำคัญและลงทุนกับการพัฒนาเด็กมากขึ้น

วันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า “ผลสำรวจเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบความเป็นอยู่ของเด็ก และหวังว่าผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ สื่อมวลชนจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการเผยแพร่ อภิปราย วิเคราะห์และวางแผนนโยบายเพื่อความอยู่ดีมีสุขของเด็กทุกคนในประเทศไทย”

โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยการดำเนินงานของรัฐบาลและองค์กรภาคสังคมได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กหลายล้านคนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจครั้งนี้ก็ตอกย้ำปัญหาหลายด้านที่ยังคงคุกคามพัฒนาการของเด็กในประเทศไทยมาโดยตลอดหลายปี เช่น ภาวะโภชนาการของเด็ก การไม่เรียนต่อระดับชั้นมัธยม หรือ จำนวนเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ปัญหาเหล่านี้ยิ่งถูกซ้ำเติมอีกจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19  และหากไม่ได้รับการแก้ไข จะคุกคามศักยภาพของเด็ก ๆ ซึ่งเป็นทรัพยกรที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งหมดนี้กระตุ้นให้เราทุกคนต้องทำงานมากขึ้นและทำให้เร็วกว่าเดิม โดยวิกฤตโควิด-19 อาจเป็นโอกาสให้เราจัดลำดับความสำคัญและลงทุนกับการพัฒนาเด็กมากขึ้น ข้อมูลจากผลสำรวจครั้งนี้เป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายต้องให้ความสนใจเพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กทุกคนในประเทศไทยอย่างยั่งยืน” [2] [3]

 

ที่มาข้อมูล
[1] กสศ.ช่วยนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มเป็น 1 ล้านคน (สำนักข่าวไทย, 9 ต.ค. 2563)
[2] ศธ.ร่วมกับยูเนสโกเปิดตัวสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2563 (สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, 16 ก.ย. 2563)
[3] ผลสำรวจชี้อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นลดลง แต่ภาวะทุพโภชนาการของเด็กและการไม่เรียนต่อมัธยมเพิ่มขึ้น (ประชาไท, 21 ต.ค. 2563)
 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: