เตือนคนทุจริตเคลม COVID-19 หวังเงินประกันผิดกฎหมาย

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1869 ครั้ง

เตือนคนทุจริตเคลม COVID-19 หวังเงินประกันผิดกฎหมาย

สมาคมประกันวินาศภัยไทยเตือนคนทุจริตเคลมประกันภัย COVID-19 หาทางติดเชื้อ หวังเงินประกันมีความผิดตามกฎหมาย และจะไม่ได้รับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2563 ว่านายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนสนใจทำประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคดังกล่าวจำนวนมาก ขณะนี้มีผู้ทำประกันแล้วกว่า 2 ล้านกรมธรรม์ โดยปัจจุบันกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 มีหลายแบบให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้ตามความต้องการ เช่น 1. ความคุ้มครองกรณีตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือเจอ จ่าย จบ 2. ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลจากการติดเชื้อ 3. คุ้มครองการเจ็บป่วยขั้นโคม่าและเสียชีวิต และ 4. การชดเชยรายได้กรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และบางกรมธรรม์มีการแถมความคุ้มครองการเสียชีวิตและทุพพลภาพจากอุบัติเหตุทุกชนิดด้วย ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของตนเองได้

ซึ่งช่วงแรกกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองแบบเจอ จ่าย จบ ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมาก แต่จากการที่อัตราการระบาดของโควิด-19 ช่วงหลังนี้มีความรุนแรงต่างจากช่วงแรกมาก ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนอัตราการการระบาดประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 50 คน แต่ปัจจุปันเพิ่มขึ้นกว่า 600 คนแล้ว ประกันแบบเจอ จ่าย จบ จึงมีโอกาสจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูง เพราะความถี่คนที่ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น การกำหนดอัตราเบี้ยก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุ ถ้าความเสี่ยงสูงขึ้นต้องมีการปรับขึ้นค่าเบี้ยประกันภัยหรือจำกัดเงื่อนไขสำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การกำหนดให้มีระยะเวลารอคอย 14 วัน เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงของบริษัทลง ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยออกมาขายแต่ละครั้ง บริษัทจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงสะสมที่ได้รับประกันภัยไว้ และบริษัทมีสัญญาประกันภัยต่อรองรับขนาดไหน บริษัทมีสถานะเงินกองทุนที่มั่นคงเพียงใด ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ก็สามารถรับประกันภัยได้มาก บริษัทเล็กก็รับได้น้อย จึงเป็นข้อจำกัดของแต่ละบริษัทจะเห็นว่าบางบริษัทขายเต็มจำนวนเต็มขีดความสามารถในการรับแล้วก็ต้องหยุดการขาย เพราะไม่มีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับได้

ส่วนแนวโน้มการเติบโตของการประกันภัยโควิด-19 มองว่ายังสามารถเติบโตได้อีก เพราะว่าตอนนี้ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อใด ยังคงขายต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับภาครัฐออกนโยบายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลโควิด-19 ว่าหากมีประกันสุขภาพหรือประกันภัยโควิด-19 ที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลก็ควรเคลมประกันภัยก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ ส่วนใครที่มีประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครองที่เพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม แต่คนที่ยังไม่มีประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ ประกันภัยโควิด-19 ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะราคาไม่สูงมากและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในสถานการณ์เช่นนี้ได้เป็นอย่างดี

นายอานนท์ กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มคนตระเวณซื้อกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ จำนวนหลายกรมธรรม์เกือบทุกบริษัทและประกาศว่าจะยอมเสี่ยงให้ตนเองติดเชื้อ เพื่อจะได้เงินค่าสินไหมทดแทนว่า การกระทำลักษณะนี้ถือว่าไม่ใช่การบริหารความเสี่ยงภัยของตัวเอง แต่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งกลุ่มคนที่มีความคิดและกระทำเช่นนี้ถือว่าอันตรายมาก เพราะจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงและจะเป็นเครื่องมือในการแพร่กระจายของโรคมากขึ้น เพราะไม่กลัวและยอมให้ตัวเองเสี่ยงที่จะติดโรค สิ่งเหล่านี้จะทำให้ระบบประกันภัยและระบบการควบคุมการระบาดของโรคเสียหายไปด้วย ขอเตือนกลุ่มคนที่กระทำการลักษณะนี้ว่าการประกันภัยจะให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้เอาประกันภัยที่ใช้สิทธิ์โดยสุจริตเท่านั้น หากพิสูจน์ได้ว่าใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต ทำประกันภัยและจงใจให้ตัวเองติดเชื้อเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและจะไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน

นอกจากนี้ อยากให้ผู้บริโภคตระหนักว่า “การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่เครื่องมือเสี่ยงโชค” ใครมีความเสี่ยงเท่าไหร่ก็ซื้อประกันภัยให้เหมาะสม ครอบคลุมกับความเสี่ยงของตัวเอง กลัวการซื้อประกันภัยจำนวนมากแล้วไปแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ อยากให้ซื้อเพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงของตัวเองมากกว่า

“อยากคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตให้มีหลักประกันราคาถูกที่สุดเพียง 99 บาท ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการประกันภัยมาช่วยดูแลตัวเองได้ โดยใช้เงินแค่ไม่ถึง 100 บาท ก็ซื้อกรมธรรม์ได้แล้ว อยากให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบประกันภัยมากขึ้น รู้จักการใช้ประกันภัยเป็นเครื่องมือในการดูแลตัวเองในยามที่ประสบเคราะห์ร้าย และอยากจะฝากไว้สำหรับผู้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบว่าประกันภัยเป็นการช่วยบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่การเสี่ยงโชค” นายอานนท์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: