หมู่บ้านชนเผ่าชาติพันธุ์หลายหมู่บ้านในภาคเหนือ ทยอยปิดชุมชน ห้ามคนในออก-คนนอกเข้า ด้วยพิธีกรรมโบราณ 'เกราะหยี่' หรือ 'พิธีปิดหมู่บ้าน' เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
26 มี.ค. 2563 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าภายหลังจากที่เกิดข่าวการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ประกอบกับมีพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านและในพื้นที่ใกล้เคียง เดินทางกลับมาจาก กรุงเทพ และ ต่างจังหวัด ทำให้เกิดความหวาดกลัว หมู่บ้านบนดอยกว่า 15 หมู่บ้าน ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง อ.แม่ลาน้อย บางส่วนได้ทยอยปิดการเข้าออกหมู่บ้าน เช่นเดียวกับชาวบ้านบ้านห้วยหนองหวาย หมู่ที่ 10 ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการประชุมและมีมติทำการปิดหมู่บ้าน จัดเวรยาม ตลอด 24 ชั่วโมง ห้ามบุคคลภายนอกเข้า - ออก หมู่บ้าน เพื่อป้องกันโรคระบาด รวมทั้งหน่วยงานราชการทุกหน่วย และหากมีญาติมาจากต่างจังหวัด ให้กักตัวภายในบ้านห้ามออกจากบ้าน โดยเด็ดขาดภายใน 14 วัน
เช่นเดียวกับในพื้นที่ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมี 12 หมู่บ้านที่ทำการปิดไม่ให้บุคคลเข้าออก ซึ่งหลายหมู่บ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปิดหมู่บ้านเพื่อป้องกันโรคแล้วหลายแห่ง ด้วยสถานการณ์ล่าสุดในขณะนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอนพบผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 รายแรกของจังหวัด เป็นเพศชาย จำนวน 1 ราย นอกจากนี้มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค 23 ราย รักษาหาย 18 ราย ยังรักษาอยู่โรงพยาบาล 5 ราย ไม่มีผู้ป่วยอาการรุนแรง และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 3 ราย ผู้ป่วยยืนยันโรคโควิต-19 รายนี้มีประวัติเดินทางไปประเทศปากีสถานซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network: IMN) รายงานคำอธิบายจากปรากฎการณ์ที่ชาวกะเหรี่ยงบนดอยหลายชุมชน เริ่มตื่นตัวทยอยปิดชุมชน ห้ามคนในออก – คนนอกเข้า ด้วยพิธีกรรมโบราณ “เกราะหยี่” หรือ พิธีปิดหมู่บ้าน โดยสัมภาษณ์ ดร. ประเสริฐ ตระการศุภกร และ วุฒิ บุญเลิศ สองนักวิชาการชาวกะเหรี่ยง เพื่อมาอธิบายความหมายและที่มาของพิธีกรรมนี้ว่า คำว่า “เกราะ” แปลว่า “ปิด – กั้น – หรือปกป้อง” ส่วนคำว่า “หยี่ หรือ หี่” แปลว่าหมู่บ้าน บางแห่งเรียก “เกราะแกล๊ะ” หมายถึง “ปิดถนน” เพราะส่วนใหญ่จะทำพิธีบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน การประกอบพิธีลักษณะนี้มีขึ้นใน 2 กรณี คือเป็นพิธีประจำปี เรียกอีกอย่างว่า “บัวหยี่ บัวฆอ” เป็นการสะเดาะเคราะห์หมู่บ้าน โดยกำหนดปิดหมู่บ้านห้ามคนเข้าออกเป็นระยะเวลา 3 วัน 7 วัน หรือ 9 วัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำแต่ละชุมชน ปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่บ้างที่ชุมชนกะเหรี่ยงทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ส่วนใหญ่จะทำพิธีในช่วงเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ ระหว่างที่ปิดหมู่บ้านหากมีคนนอกเผลอเข้าไป ก็จะต้องอยู่ในชุมชนจนกว่าจะครบกำหนด
ส่วนพิธีปิดหมู่บ้านที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นพิธีใหญ่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก มักใช้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น มีคนเสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุติดต่อกันหลายคน เกิดโรคระบาดที่รักษาไม่ได้ แต่ละชุมชนก็จะทำพิธีปิดหมู่บ้าน ห้ามไปมาหาสู่กัน พบว่าเคยมีการประกอบพิธีเช่นนี้เมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว สมัยที่มีการระบาดของอหิวาตกโรค หรือ โรคห่า ระดับความตึงเครียดของพิธีปิดหมู่บ้านจะสังเกตได้จากสัญลักษณ์ที่ติดไว้บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน หากติดแค่ “ตะแหลว” หรือไม่ไผ่สานหกเหลี่ยมยังไม่ถือว่าเหตุการณ์รุนแรงเท่าไหร่นัก แต่กรณีที่มีหอก ดาบ หรือหลาวปลายแหลมประดับไว้ด้วย นั่นหมายถึงสถานการณ์อยู่ในขั้นรุนแรงสูงสุด เช่น การระบาดของ COVID-19 ในขณะนี้
ต่อประเด็นคำถามที่ว่าเมื่อปิดชุมชนจะอยู่ได้อย่างไรนั้น ดร. ประเสริฐ ยกกรณีตัวอย่างบ้านหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ที่ยังมีระบบการผลิตทางการเกษตรแบบครบวงจร สามารถผลิตอาหารเลี้ยงชุมชนตนเองได้ตลอดทั้งปี กล่าวคือ มีไร่ข้าว มีพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล มีแหล่งน้ำบริโภค มีการใช้ฟืนเป็นพลังงาน แม้จะไม่มีไฟฟ้าใช้ก็สามารถอยู่ได้ เพราะวัตถุดิบในการประกอบอาหารเก็บหาจากแปลงเพาะปลูก หรือจากป่าใช้สอยของชุมชน ไม่ต้องกลัวของเน่าเสีย เพราะป่าก็เปรียบเสมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวกะเหรี่ยงอยู่แล้ว ดังนั้นหากสถานการณ์แย่ลงและต้องปิดชุมชนจริง ตนเชื่อว่าชาวบ้านแห่งนี้สามารถอยู่ได้เป็นปี อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ต้องพึ่งพาชุมชนข้างนอกบ้าง เช่น เกลือ
นอกจากเรื่องอาหารในการดำรงชีวิตแล้ว เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ชุมชนยังมีฐานองค์ความรู้เดิมในการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษา อย่างไรก็ตาม ดร. ประเสริฐ เห็นว่าการติดตามข้อมูลข่าวสาร และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารยังมีความจำเป็นอย่างมาก และสิ่งที่น่าห่วงคือชุมชนหันไปพึ่งพาภายนอกมากขึ้น ทำให้หลายแห่งสูญเสียศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง
ทั้งนี้เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network: IMN) ยังได้จัดทำแผนที่การปิดหมู่บ้านตามความเชื่อ กัน COVID-19 ด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ