กสศ.- สพฐ. หนุน 850 โรงเรียนพัฒนาคุณภาพลดเหลื่อมล้ำในวิกฤต COVID-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2110 ครั้ง

กสศ.- สพฐ. หนุน 850 โรงเรียนพัฒนาคุณภาพลดเหลื่อมล้ำในวิกฤต COVID-19

กสศ.- สพฐ. และ เครือข่ายด้านการศึกษา เตรียมหนุน 850 โรงเรียนพัฒนาคุณภาพนำร่อง ช่วยครูปรับรูปแบบการสอนให้เด็กเรียนรู้ได้เต็มที่ มุ่งลดเหลื่อมล้ำแม้ในวิกฤต COVID-19

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 ว่า ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์ PISA 2018 ที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำด้านความรู้ระหว่างนักเรียนในเมืองกับนักเรียนในชนบทที่ต่างกันถึง 2 ปีการศึกษาจากคุณภาพของโรงเรียนที่ไม่เท่ากัน มีความแตกต่างทั้งด้านงบประมาณและทรัพยากร เมื่อมาเจอสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนยังไปโรงเรียนไม่ได้และมีแนวโน้มต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนใหม่แบบออนไลน์ โรงเรียนในชนบทห่างไกลย่อมได้รับผลกระทบนี้อย่างแน่นอน กสศ. ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ 5 เครือข่ายด้านการศึกษา ได้แก่ มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดินหน้าโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teacher School Quality Program : TSQP) เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนพัฒนาคุณภาพได้ด้วยตนเอง เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยสนับสนุนการพัฒนาระบบบริหารจัดการโรงเรียนให้มีความพร้อมและเอื้อต่อการเรียนรู้ เอื้อต่อการพัฒนานักเรียนตามความถนัดและศักยภาพของผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับคุณภาพชั้นเรียนให้เป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning สามารถพัฒนาให้เกิดทักษะการเรียนรู้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 โดยปีการศึกษา 2562 มีโรงเรียนขนาดกลางร่วมโครงการ 290 แห่ง ใน 35 จังหวัด และกำลังขยายรุ่นที่ 2 อีก 560 โรงเรียนในปีการศึกษา 2563 รวมทั้งสิ้น 850 โรงเรียน ทั่วประเทศ

เป้าหมายคือให้ 850 โรงเรียน เหล่านี้หรือประมาณร้อยละ 10 ของโรงเรียนขนาดกลาง ให้สามารถจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ โดยคำนึงถึงบริบทของแต่ละโรงเรียนในสถานการณ์ของโควิด-19 ด้วย เช่น สามารถปรับวิธีการเรียนรู้เพื่อให้โรงเรียนในเครือข่ายมีการช่วยเหลือครูและนักเรียนได้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในขณะนี้ เปิดโอกาสให้ผู้บริหารและครูเสนอแนวทางการทำงานรูปแบบใหม่เพื่อให้นักเรียนไม่หยุดการเรียนรู้แม้ในสภาวะที่ไม่สามารถมาโรงเรียนได้ รวมถึงการดูแลสุขอนามัยทั้งนักเรียนและผู้ปกครองให้ผ่านพ้นวิกฤติช่วงนี้ไปให้ได้อีกด้วย ส่วนครู อาจจะต้องมีการเพิ่มทักษะการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านการออกแบบแผนการเรียนการสอน การวัดผลประเมินผล และช่วยให้นักเรียนด้อยโอกาสได้รับการดูแลและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพด้วย

ผศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ หนึ่งในเครือข่ายร่วมพัฒนาโรงเรียน TSQP กสศ. กล่าวว่า ในสถานการณ์ COVID-19 ในมิติของการจัดการเรียนรู้ที่ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการจัดการเรียนรู้แบบ active learning ใน virtual classroom ยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนัก ส่วนใหญ่มุ่งประเด็นไปที่เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ยังมิใช่หัวใจสำคัญของการศึกษา

การจัดการเรียนออนไลน์แบบ Active Learning ให้เป็น ห้องเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งกระบวนการและผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนได้นั้น องค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ครูทำงานง่ายขึ้น ควรเริ่มจาก การศึกษาธรรมชาติผู้เรียน สภาพแวดล้อม และบริบทต่างๆ ที่พวกเขาโตมา และสถานการณ์ของโลกที่เด็กต้องเจอ จะช่วยให้ครูสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้ง่ายและตรงโจทย์ความต้องการมากขึ้น วิชาที่สอนอาจไม่ใช่วิชาสามัญแต่เป็น “Life Project” ที่มีความสอดคล้องกับชีวิตจริง ให้เด็กๆลงมือทำเกิดการเรียนรู้เองได้จริง เป็นการควบรวมวิชาแบบบูรณาการ มีทั้ง สัมมนา วิชาค้นคว้าอิสระ และวิชาการสร้างสรรค์ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้และมอบหมายงานจะไม่ได้มีนักเรียนแค่ 1 คนอีกต่อไป แต่จะนับรวมพ่อแม่ ผู้ปกครองด้วย นั่นหมายความว่าครอบครัวของนักเรียนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะเป็นตัวกลางระหว่างคุณครูและนักเรียน รับรู้ว่าบุตร หลานกำลังเรียนอะไร ทำอะไรอยู่

ส่วนการสร้าง Active Learning บนโลกออนไลน์ ประกอบด้วย การเปิดเวทีให้เด็ก แชร์เรื่องราวตัวเอง /เรียนในออนไลน์ แล้วไปต่อในชีวิตจริง /ติดตามผลงานไปพร้อมกัน และรีวิวบทเรียนที่ผ่านมาเพื่อก้าวต่อไป ซึ่งครูจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้ห้องเรียนออนไลน์เกิดความ Active Learning ได้อย่างต่อเนื่องและเกิดเป็นห้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ และครูจะต้องปรับตัวเองจากการเป็นนักบรรยาย มาเป็นนักออกแบบสื่อประสมที่สอดคล้องและสัมพันธ์กับเนื้อหาวิชา

“อย่างไรก็ตามมากกว่า 50% ของนักเรียนในไทยมีภาวะยากลำบากในการเรียนรู้ออนไลน์ ขาดแคลนอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการเรียนรู้ทางไกล เช่น รายการโทรทัศน์ทางการเรียนรู้ที่เป็น Multimedia จริงๆ ไม่ใช่แค่การบรรยาย หรือถ้าเป็นกรณีที่ห่างไกลไม่มีสัญญาณโทรทัศน์หรือไฟฟ้า ก็ต้องใช้ชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่เป็น Paper-based ตามแนวทางการจัดการศึกษาแบบ Self-Directed Learning ที่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ผ่านชุดเครื่องมือดังกล่าวสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองโดยมีครูเป็นผู้แนะนำอยู่ห่างๆ ผ่านทางไปรษณีย์ หรือผ่านศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่เป็นตัวประสาน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: