งานเสวนาวิพากษ์หลักสูตรแบบเรียนเนื้อหาลดคุณค่าผู้หญิง

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 5579 ครั้ง

งานเสวนาวิพากษ์หลักสูตรแบบเรียนเนื้อหาลดคุณค่าผู้หญิง

งานเสวนาวิพากษ์หลักสูตรแบบเรียนชั้นประถม-มัธยม เนื้อหาลดทอนคุณค่าผู้หญิง ตอกย้ำความเชื่อชายเป็นใหญ่ ยกให้เป็นผู้นำเหนือ กว่าส่วนผู้หญิงต้องดีรักนวลสงวนตัว ทำงานอยู่บ้านเลี้ยงลูก จี้ ศธ.รื้อถอนระบบตำราเรียนใหม่ ด้านนักวิชาการ ชี้แบบเรียนที่กดทับเป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ นำไปสู่ความก้าวร้าวรุนแรง | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ว่ามูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม จัดเวทีเสวนา “เมื่อแบบเรียนเป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ” น.ส.ศศิธร สรฤทธิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ทางมูลนิธิได้ศึกษาข้อมูลเนื้อหาหนังสือเรียน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ระดับประถมศึกษาปีที่1-ระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ปีการศึกษา 2561-2563 พบเนื้อหาในหนังสือเรียนสะท้อนความแตกต่างผู้ชายอยู่เหนือผู้หญิงชัดเจน แบบเรียนไม่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เนื่องจากเนื้อหาแบบเรียนระดับประถม พบว่า 1.แตกต่างกันระหว่างเพศด้านอารมณ์ ลักษณะนิสัย คือเพศชาย ชอบเล่นกีฬา ใช้พละกำลัง ที่ท้าทาย ส่วนเพศหญิง จะทำกิจกรรมที่ใช้พละกำลังน้อย เช่น เล่นขายของ ทำอาหาร เล่นตุ๊กตา 2.แตกต่างด้านบทบาทหน้าที่ พบว่า เพศชาย เป็นผู้นำครอบครัว หารายได้เลี้ยงครอบครัว ส่วนเพศหญิง ดูแลความสะอาดในบ้าน ช่วยเก็บออมและหารายได้เลี้ยงครอบครัว ทำอาหารให้ทุกคนรับประทาน 3.แตกต่างด้านพฤติกรรมทางเพศนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ พบเนื้อหา การแต่งกายล่อแหลม ยั่วยุอารมณ์ทางเพศของเพศหญิง คือในแบบเรียนระบุว่า ผู้หญิงต้องรู้จักรักนวลสงวนตัว แต่งกายไม่รัดรูป ไม่เปิดเผยเนื้อตัวมากเกินไป ระมัดระวังตนเองไม่ปล่อยตัวปล่อยใจตามอารมณ์ นอกจากนี้ การใช้ภาพประกอบในหนังสือเรียน ยังผูกขาด ให้ผู้หญิง เป็นบทบาทของแม่ ดูแลลูก ทำงานบ้าน ใช้ชีวิตในบ้าน ส่วนผู้ชาย เป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานนอกบ้าน ใช้ชีวิตนอกบ้าน หารายได้ เป็นต้น

ทางมูลนิธิฯ จึงมีข้อเสนอเพื่อให้กระทรวงศึกษานำไปพิจารณา ดังนี้

1.หลักสูตรแกนกลางต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยออกแบบหลักสูตรที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมกันทุกเพศ ทุกวัย เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองที่เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตนเองและผู้อื่นอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

2.ปรับปรุง พัฒนา แก้ไข และยกเลิกเนื้อหาแบบเรียนที่กดทับ ตอกย้ำทางความคิดความเชื่อที่มองว่าเพศชายเหนือกว่าเพศอื่นๆ เช่น ผู้ชายเป็นผู้นำ เข้มแข็ง ผู้หญิงเป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูก เป็นต้น

3.ต้องพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา โดยเฉพาะวิชาชีพครูที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิดการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตัวเองและผู้อื่น และมีแนวทางการสอนที่สอดคล้องกับช่วงวัยของเด็ก 3 ช่วง คือ เด็กเล็ก เด็กก่อนวัยรุ่น และวัยรุ่น

4.ผู้บริหารโรงเรียนต้องยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติในการเลือกแบบเรียนที่มีความก้าวหน้า ไม่มีเนื้อหาการละเมิดสิทธิเด็ก

5.ควรพัฒนาให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกเพศทุกวัย เป็นพื้นที่เคารพในเนื้อตัวร่างกายของกันและกัน

ด้าน “ดิว” ตัวแทน “นักเรียนเลว” กล่าวว่าในฐานะที่เป็น LGBT จะไม่ถูกยอมรับในเนื้อหาแบบเรียนใดๆ และมองว่ากลุ่มเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเป็นผู้ป่วย นอกจากนี้ยังอยากให้ปรับเนื้อหา แบบเรียนให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในสภาพสังคมปัจจุบัน

พลอย “กลุ่มนักเรียนเลว” ให้ความเห็นในประเด็น LGBTว่าในแบบเรียนจะพยายามยัดเยียดเนื้อหาให้เข้าใจว่าคนพวกนี้มีกรรม ผิดลูกผิดเมียมาในชาติก่อน เช่นเดียวกับเนื้อหาในแบบเรียนวิชาหน้าที่พลเมือง ก็จะแบ่งหน้าที่ให้พ่อต้องซ่อมไฟ แม่ต้องเย็บปักถักร้อยซึ่งในความเป็นจริงอาจจะเปลี่ยนหน้าที่กันก็ได้

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าวิธีคิดของคนที่สร้างหลักสูตรนี้ถือว่าล้าหลัง ไม่เสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศ เนื่องจากแบ่งแยกเนื้อหาออกเป็น 2 ขั้วชายหญิง ปลูกฝังระบบเพศสภาพที่มากำกับพฤติกรรม วิธีคิด การใช้ชีวิต การมองโลก ปลูกฝังขั้วตรงข้ามให้กับผู้เรียน ปลูกฝังผู้เรียนไม่ให้ยืดหยุ่น ไม่ปรับตัว เอาเพศตัวเองเป็นศูนย์กลาง ยึดมั่นกับกฎกติกาที่ตายตัว จึงยากที่จะปรับเปลี่ยน เพราะเป็นการปลูกฝังทางอ้อมที่แนบเนียนและเป็นอันตราย นำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด

ดร.ชเนตตี กล่าวว่า การคิดที่เนื้อหาฝังหัวให้มองว่าโลกนี้มีแค่หญิงกับชาย ส่วนผู้หญิงต้องเป็นผู้หญิงที่ดี รักนวลสงวนตัว สุภาพอ่อนหวานน่ารัก ทำงานบ้าน เป็นภรรยาเป็นแม่ สุดท้ายจะกลายเป็นกับดักทำให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือกมากในชีวิต ทำให้เยาวชนหญิงเติบโตอย่างไร้คุณภาพเพราะมองไม่เห็นทางเลือกอื่น ซึ่งเป็นแนวคิดที่เน้นการเปรียบเทียบ อำนาจครอบงำกำกับอยู่เบื้องหลังระหว่างเพศ ทำให้อีกเพศหนึ่งนั้นสยบยอม ส่วนอีกฝ่ายกลายเป็นคนที่มีความแข็งกร้าว ดุดัน กดขี่ ไม่รับฟัง เพราะใช้อำนาจในฐานะที่ถูกปลูกฝังให้เป็นผู้นำ สุดท้ายจะผลิตเยาวชนไม่ให้ยอมรับในความแตกต่าง ไม่ยืดหยุ่นไม่ปรับตัว ไม่ยอมรับความหลากหลาย ใช้อำนาจเหนือครอบงำ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มักจะเป็นคนพิพากษาสิ่งต่างๆในสังคม นอกจากวิธีคิดแบบนี้จะไม่เหลือพื้นที่ให้กับเพศสภาพแล้ว ความหลากหลายอื่นๆก็จะถูกขจัด สร้างความร้าวฉานรุนแรงได้

“ศธ.ต้องยกระดับเนื้อหาหลักสูตร เพราะโลกไปไกลแล้ว ต้องรื้อถอนวิธีคิดแบบเพศออกไป แล้วเอาคุณลักษณะความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ก็ต้องมีทางเลือกหลากหลาย ไม่ยึดติดไม่ตีตราเพศใดเพศหนึ่ง ไม่พยายามจัดกล่องให้ผู้หญิงผู้ชายมีคุณลักษณะตายตัว แต่ต้องสามารถเรียนรู้ที่จะเติบโตเป็นคนที่มีคุณค่า และหลักสูตรต้องเน้นให้เด็กรู้จักระบบโครงสร้างวัฒนธรรมต่างๆในสังคม สอนให้รู้เท่าทัน ที่สำคัญหาก ศธ.มีตำราเรียนมีเนื้อหาปรับปรุงใหม่และพร้อมสำหรับเด็กแล้ว ศธ.ต้องสร้างครูผู้สอนรุ่นใหม่ที่มีสำนึกเข้าใจ มีความเท่าเทียม มองเห็นความยุติธรรมในเรื่องเพศ เลิกจัดวางเด็กหญิงเด็กชายลงตามกรอบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า เรามีตำราที่ก้าวหน้า แต่ผู้สอนยังเข้าไม่ถึงตำรา” ดร.ชเนตตี กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: